xs
xsm
sm
md
lg

ลูกค้าอสังหาฯชะลอโอนบ้าน เอกชนผวารัฐไม่ต่ออายุภาษี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ผู้ประกอบการอสังหาฯ หน้ามืด! มาตรการลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะ-ค่าธรรมเนียมโอน ต่อไม่ทัน หลังใกล้จวนเจียนสิ้นสุด 28 มี.ค.52 “อธิป” จี้รัฐเร่งประกาศใช้ หากล่าช้ากลายเป็นมาตรการชะลอเศรษฐกิจ ยอมรับลูกค้าชะลอโอนแน่ ด้านLPN แก้ปัญหาเจรจาแบงก์ให้ลูกค้ากู้ก่อนโอน กรมที่ดินรับสภาพไม่ทันก็เก็บอัตราเดิม ส่วนสรรพากรยันจ่ายแล้วขอคืนไม่ได้

กลายเป็นระเบิดลูกใหม่ต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เมื่อมาตรการภาษีอสังหาริมทรัพย์ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 28 มี.ค. 2552 มีความเป็นไปได้สูงว่า การจะต่อมาตรการดังกล่าวจะไม่ทัน และยังไม่มีความชัดเจนว่า จะมีการต่อมาตรการในช่วงไหน เวลาใด ที่สำคัญแล้ว ในช่วงทุกๆสิ้นไตรมาส บริษัทอสังหาฯที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จะพยายามเร่งทำการตลาดและขาย เพื่อเร่งโอนบ้าน เพราะจะมีผลต่อผลการดำเนินงานในงวดไตรมาสแรกของปี 52 ก็ได้

ผวาลูกค้าเลื่อนโอนบ้านรอมาตรการ
นายอธิป พีชานนท์ กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีการต่ออายุมาตรการภาษีอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอาจจะมีปัญหาประกาศใช้ไม่ทันในวันที่ 28มี.ค.นี้ ว่า ปัญหาดังกล่าวไม่ควรจะเกิดขึ้น เนื่องจากการต่ออายุมาตรการภาษีอสังหาฯนั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.)รัฐบาลในชุดก่อนหน้าได้มีมติเห็นชอบให้ต่ออายุมาตรการก่อนที่จะหมดวาระไปแล้ว ซึ่งรัฐบาลในชุดปัจจุบันเพียงนำมาตรการดังกล่าวมาสานต่อเท่านั้น แต่กระบวนการประกาศใช้กฎหมายกลับไม่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
“ก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมกระบวนการประกาศใช้จึงล่าช้าขนาดนี้ ทั้งที่ครม.มีมติมาแล้ว 2 เดือน หรือรัฐบาลเพียงชงเรื่อง เอาหน้าเท่านั้น การสั่งงานข้าราชการเองก็ไม่มีออกมา ขณะเดียวกันข้าราชการเองก็ใส่เกียร์ว่าง ไม่มีคำสั่งมาก็ไม่ดำเนินการ ทั้งที่มีมติครม.ออกมาแล้ว” นายอธิปกล่าวและว่า
เรื่องที่เกิดขึ้น ถือว่าสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจ และตลาดอสังหาฯอย่างมาก เพราะจะส่งผลให้ประชาชนที่เตรียมจะรับโอนบ้านต้องชะลอออกไป ในขณะที่ผู้บริโภค ซึ่งอยู่ระหว่างการตัดสินใจซื้อบ้านก็จะชะลอการตัดสินใจ เพราะขาดความเชื่อมั่นต่อมาตรการของรัฐบาล เนื่องจากมีการประกาศนโยบายออกไปแล้วไม่สามารถดำเนินการได้จริงเมื่อถึงเวลา ดังนั้นเรื่องการต่ออายุมาตรการนั้นรัฐบาลควรเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการต่ออายุมาตรการดังกล่าวนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวชี้แจงมาว่า หากมาตรการไม่สามารถต่ออายุการใช้งานได้ตามกำหนดเวลาที่ประกาศไว้ ให้ผู้ประกอบการชำระเงินในส่วนของค่าธรรมเนียมการโอน ค่าภาษีจดจำนอง และค่าภาษีธุรกิจเฉพาะไปก่อน และหลังจากที่มาตรการประกาศใช้แล้วให้สามารถนำใบเสร็จ และหลักฐานต่างๆ มาขอเบิกเงินคืนได้
“การชำระเงินแทนลูกค้านั้น ผู้ประกอบการเองก็ไม่มีความมั่นใจ เพราะไม่รู้ว่าจะสามารถเบิกคืนได้จริงหรือไม่ หรือหากสามารถเบิกคืนได้จริงก็ไม่รู้จะต้องใช้ระยะเวลานานแค่ไหน ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไป มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะกลายเป็นมาตรการชะลอเศรษฐกิจแทน”
ปัจจุบัน บริษัท ศุภาลัยฯ มียอดขายรอโอนในเดือนมี.ค.ในมือประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งบางส่วนที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว ก็จำเป็นต้องเร่งโอนให้เสร็จก่อนวันที่ 28มี.ค.นี้ แต่ยังมีบางส่วนที่ยังไม่สามารถโอนได้ เพราะลูกค้ายังรอการอนุมัติเงินกู้จากสถาบันการเงิน และบางส่วนก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จดี ซึ่งในส่วนดังกล่าว บริษัทศุภาลัยฯจำเป็นต้องเจรจากับลูกค้าให้เลื่อนการโอนออกไปเพื่อรอให้รัฐบาลต่ออายุมาตรการให้เสร็จสิ้นก่อน

LPNแก้ลำ!เจรจาแบงก์ให้ลูกค้ากู้ก่อนโอน
ด้านนายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความชัดเจนของรัฐบาลที่มีต่อมาตรการดังกล่าวนั้น มีความต่อเนื่องมาโดยตลอด และก็เป็นนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นให้ทันก่อนการหมดอายุของมาตรการเดิม เพราะหากการต่ออายุมาตรการภาษีอสังหาฯไม่มีความชัดเจนแล้วจะส่งผลกระทบต่อการชะลอการตัดสินใจของผู้บริโภคให้ชะลอออกไปแน่นอน
อย่างไรก็ตาม การส่งหนังสือเวียนของสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เพื่อบอกกล่าวถึงปัญหาการต่ออายุมาตรการอสังหาฯต่อสมาชิกสมาคมฯในช่วงก่อนหน้านั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยให้ผู้ประกอบการระวังตัวและหาแนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้บางส่วน
ทั้งนี้ ในส่วนของ LPN นั้น ปัญหาดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อบริษัทเนื่องจากก่อนหน้านั้น บริษัทได้มีการเร่งดำเนินการก่อสร้างและเร่งโอนห้องชุดแก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขณะนี้ LPN ยังมีโครงการลุมพินี วิลล์ - พงษ์เพชร ที่พร้อมจะโอนแล้ว 1 โครงการ และคาดว่าจะสามารถโอนได้ก่อนมาตรการจะหมดอายุ(มาตรการสิ้นสุด 28 มี.ค.52) ส่วนโครงการต่อไปที่จะครบกำหนดโอน จะก่อสร้างเสร็จพร้อมโอนในเดือน พ.ค. ซึ่งเชื่อว่าถึงตอนนั้น รัฐบาลก็สามารถต่ออายุมาตรการออกไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม LPN เองก็เตรียมมาตรการทางการเงินป้องกันเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว โดย LPN ได้เจรจากับสถาบันการเงินให้ลูกค้าสามารถกู้ได้ก่อนโอน ซึ่งบริษัทจะมีโครงการรับประกันกับลูกค้า โดยให้ลูกค้าจ่ายเงินให้โครงการก่อนแล้วรับโอนห้องชุดได้ในภายหลัง สามารถช่วยให้ลูกค้าไม่ต้องรีบเร่งโอน หรือรอให้มาตรการต่ออายุเสร็จสิ้นก่อนจึงรับโอนห้องชุดก็สามารถทำได้

”พิษย้อนศร”โปรโมชันส่วนลดบ้าน
นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการบริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า จากการตรวจสอบไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทราบว่า การต่ออายุมาตรการดังกล่าวไม่สามารถทำได้ทันก่อนการหมดอายุมาตรการเดิมในวันที่ 28 มี.ค.นี้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่เข้าใจว่าเกิดจากปัญหาอะไร เพราะการต่ออายุไม่ใช่เรื่องใหม่เพียงดำเนินการประกาศใช้มาตรการเดิม ซึ่งไม่ควรเกิดความล่าช้าในเรื่องนี้
ทั้งนี้ หลังจากรัฐบาลนำเรื่องดังกล่าวาเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ผู้ประกอบการเองเมื่อเห็นว่า ครม.มีมติออกมาแล้วก็ได้มีการนำประโยชน์ที่ได้จากมาตรการดังกล่าวมาใช้ในการทำตลาด จัดโปรโมชัน แคมเปญการเงิน และใช้เป็นส่วนลดให้แก่ลูกค้าไปแล้ว ทั้งนี้ เมื่อไม่มีการต่ออายุมาตรการได้ทันเวลา หลังวันที่ 28มี.ค.ไป ก็จะทำให้เกิดช่วงสูญญากาศ ลูกค้าจะชะลอการตัดสินใจโอนออกไป รวมถึงการชะลอการตัดสินใจซื้อออกไปด้วย
ขณะที่ ปัญหาจากกรณีที่ผู้ประกอบการยอมจ่ายในส่วนของภาษีและค่าธรรมเนียมแทนผู้บริโภคก่อนแล้ว จะขอเบิกคืนจากรัฐบาลนั้น ก็ยังมีปัญหาว่าในส่วนของภาษีการโอน และภาษีการจดจำนอง นั้นจะสามารถเบิกจ่ายคืนได้ลำบากเนื่องจากต้องเบิกจ่ายคืนในส่วนของลูกค้า ส่วนภาษีธุรกิจเฉพาะนั้นไม่น่ามีปัญหาเพราะเป็นการเบิกคืนภายใต้ชื่อของผู้ประกอบการเอง
“ความล่าช้าที่เกิดขึ้น ไม่เข้าใจว่าเกิดจากความปัญหาใด หรืออาจจะมีการรวมเอาเรื่องของการหักลดหน่อยภาษีจากเงินต้น 300,000 บาท และดอกเบี้ย 100,000 บาทเข้าไปรวมกับการต่ออายุมาตรการภาษีอสังหาฯด้วยหรือไม่ จึงทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการ”
นายสืบวงษ์ สุขะมงคล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วิจิตรา กรุ๊ป กล่าวว่า ภาคเอกชนจะมีปัญหาในเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์อย่างแน่นอน เพราะไม่ได้มีการเตรียมการณ์รับปัญหาไว้ล่วงหน้า ทางที่ดี รัฐบาลควรจะแก้ไขในระบบงานของหน่วยงานราชการ ให้ดำเนินการอย่างรวดเร็วมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาการดำเนินงานพรรคประชาธิปัตย์ จะมีปัญหาในเรื่องความเชื่องช้า แต่ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ นี้ผมเชื่อว่าไม่น่าจะเชื่องช้า เพราะอย่างกรณี แจกเช็ค 2,000 บาท แก่ผู้มีเงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท ท่านนายกฯก็บอกว่าขณะนี้เป็นเหตุการณ์ที่ผิดปกติ ไฟจะไหม้บ้าน จะเสียดายน้ำไม่ได้ กรณีเรื่องมาตรการภาษีก็เช่นกัน ดังนั้นจะต้องนำน้ำออกมาดับไฟให้ได้จริงๆ
“ในส่วนของบริษัทฯเองต้องยอมรับว่าได้รับความเสียหายเช่นกัน เพราะที่ผ่านมามีการมอบส่วนลด และแจกของแถมแก่ลูกค้า นอกเหนือจากมาตรการทางภาษี แต่ไม่ถึงกับกระทบมากนัก ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยรวดเร็ว ”นายสืบวงษ์กล่าว
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ในงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 20 เมื่อวันที่ 20-22 ก.พ.ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการจำนวนมาก ต่างได้ออกแคมเปญในการกระตุ้นยอดขาย ทั้งการให้ส่วนลดมูลค่าตั้งแต่ 50,000-100,000 บาท ฟรีเฟอร์นิเจอร์และชุดครัว

คลังชี้ ขอคืนภาษี-ค่าใช้จ่ายไม่ได้
แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถประกาศต่อมาตรการได้ เพราะอยู่ระหว่างการพิจารณา และยังไม่ชัดเจนว่าจะทันหรือไม่ ถึงกระนั้น หากถึงวันที่ 28 มี.ค.52 แล้ว ยังไม่มีความคืบหน้าของผลจะใช้มาตรการต่อไปหรือไม่ ทางโครงการจัดสรรและผู้ซื้อที่อยู่อาศัย รวมถึงที่ทำธุรกรรมการซื้อและขายที่ดิน จะต้องเสียอัตราภาษีในอัตราเดิม
“ เชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการโครงการที่อยู่อาศัยจะเร่งลูกค้าโอนบ้านก่อนมาตรการจะสิ้นสุด ส่วนใครที่ไปโอนหลัง 28 มี.ค.52 ก็ต้องจ่ายอัตราเดิม จ่ายแล้วจ่ายเลย ไม่สามารถมาขอคืนได้ ” แหล่งข่าวกล่าว

กรมที่ดินยันต้องเก็บอัตราเดิม
ด้านแหล่งข่าวกรมที่ดิน เปิดเผยว่า กรมฯได้มีการทำเรื่องเกี่ยวกับการขยายมาตรการลดภาษีอสังหาฯไปยังเลขานุการคณะรัฐมนตรี(ครม.)นานแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าในการประกาศขยายมาตรการดังกล่าว แต่ถึงกระนั้น ต่อให้ประกาศตอนนี้และเวลานี้ ก็ไม่ทันอยู่ดี
“มีประชาชนโทรศัพท์เข้ามายังกรมฯในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางกรมฯก็อธิบายได้แต่เพียงว่า ถ้าไม่ทันก็ต้องมาใช้การจัดเก็บในอัตราเดิม และเท่าที่สังเกตยังไม่พบความผิดปกติเกี่ยวกับความหนาแน่นของประชาชนมาเร่งโอนก่อนมาตรการจะสิ้นสุด ”แหล่งข่าวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น