เชียงราย – “ชุมชนไทยริมน้ำโขง”สุดทน หลังโครงการพัฒนาแม่น้ำโขงเพื่อการพาณิชย์ แถม จีน สร้างเขื่อนยักษ์กั้นลำน้ำ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่อง ทำสูญเสียทรัพย์สิน-พื้นที่การเกษตร นับ 100 ล้านบาท นัดรวมพลังเครือข่ายร่วมเสริมคันดินกันตลิ่งริมโขงพังเอง 24-27 เม.ย.นี้
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่าในวันที่ 24-27 เมษายน นี้ "กลุ่มรักษ์เชียงของ" มีกำหนดจัดกิจกรรม "ร่วมพลังปักหลักเสริมดินป้องกันตลิ่งพังริมฝั่งโขง ณ หมู่บ้านปากอิงใต้ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย" เนื่องจากหลายปีติดต่อกันที่ผ่านมาริมฝั่งแม่น้ำโขงตั้งแต่ อ.เชียงแสน เชียงของ และเวียงแก่น ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมและตลิ่งพังทลายอันเกิดจากความผิดปกติของแม่น้ำโขง โดยเฉพาะช่วงวันที่ 9-15 สิงหาคม 2551 แม่น้ำโขงได้เอ่อเข้าท่วมจนทำให้พื้นที่ทางการเกษตรและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านริมฝั่งเสียหายอย่างหนัก
จากการสำรวจเบื้องต้น ของเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา พบความเสียหายทางเศรษฐกิจประเมินค่าได้อย่างน้อย 85 ล้านบาท มีหมู่บ้านที่ได้รับความเสียหาย 38 หมู่บ้าน แยกเป็น อ.เชียงแสน 6 หมู่บ้าน อ.เชียงของ 26 หมู่บ้าน และ อ.เวียงแก่น 6 หมู่บ้าน
นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง-ล้านนา เปิดเผย "ASTVผู้จัดการ" ว่า สาเหตุหลักของวิกฤตน้ำท่วมในครั้งนี้เกิดจากการเปิด-ปิดเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบน ในมณฑลหยุนหนัน ประเทศจีน ซึ่งสร้างเขื่อนจำนวน 3 เขื่อน คือ เขื่อนมันวาน เปิดใช้ในปี 2539 ผลิตไฟฟ้าได้ 1,500 เมกะวัตต์ ขนาดบรรจุน้ำหน้าเขื่อน 920 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนต้าเชาชาน เปิดใช้ในปี 2546ขนาดบรรจุน้ำหน้าเขื่อน 890 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนจิ่งหง ซึ่งอยู่ห่างจากประเทศไทยไปตามแม่น้ำโขงเพียง 280 กิโลเมตร เปิดใช้ในเดือน มิถุนายน 2551ขนาดบรรจุน้ำหน้าเขื่อน 1,233 ล้านลูกบาศก์เมตร
สาเหตุที่เขื่อนเหล่านี้สร้างผลกระทบต่อฝั่งไทย เพราะได้เกิดพายุฝนที่ตกหนักสุดรอบศตวรรษในมณฑลหยุนหนัน ทำให้มีน้ำหน้าเขื่อนมากกว่าที่ตัวเขื่อนจะรับไหว จีนจึงต้องเร่งระบายน้ำในเขื่อน แต่ก็ทำให้เกิดผลต่อประชาชนที่อยู่ท้ายเขื่อน โดยเฉพาะพื้นที่ราบใหญ่แถบลุ่มแม่น้ำอิง – แม่น้ำกก ในประเทศไทย และชายฝั่งโขงในเขตเชียงแสน เชียงของ เวียงแก่น ประกอบกับเกาะแก่งธรรมชาติ ซึ่งเป็นตัวชะลอน้ำในลำโขงตั้งแต่เหนือสามเหลี่ยมทองคำขึ้นไปได้ถูกระเบิดทิ้งไปแล้ว จากโครงการระเบิดเกาะแก่งเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ ตามนโยบายการค้าเสรีของประเทศและกระแสโลก ได้ถูกผลักดันอย่างหนักในปี 2544-2547 จนมีการระเบิดเกาะแก่งออกไปได้เกือบทั้งหมด ยกเว้นบริเวณคอนผีหลงในเขตพรมแดนไทย-ลาว เพราะชาวบ้านในท้องถิ่นไม่เห็นด้วย
จากการที่ไม่มีเกาะแก่งทางเหนือแม่น้ำโขงในประเทศไทยขึ้นไป ทำให้น้ำไหลหลากท่วมอย่างรวดเร็ว
เขาบอกว่า จากความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อพื้นที่การเกษตร บ้านเรือน และทรัพย์สินของชุมชน นั้นส่วนหนึ่งได้เกิดขึ้นที่บ้านปากอิงใต้ โดยมีฝั่งแม่น้ำโขงพังทลายลง 2 จุด มีความยาวจุดละ 500 เมตร และลึกประมาณ 5 เมตร ชุมชนในเขตน้ำอิงตอนปลายและชายฝั่งโขง จึงร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำโขง สื่อมวลชน ระดมทุนและแรงงานช่วยเหลือชุมชนบ้านปากอิงใต้ในการสร้างแนวกันตลิ่ง รวมถึงแลกเปลี่ยนสถานการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นในแต่ละชุมชนและหาทางรับมือกับผลกระทบที่อาจจะตามมาในอนาคต
"วัตถุประสงค์การจัดงานครั้งนี้ เพื่อสร้างความตระหนักให้แก่สาธารณะในการแก้ไขผลกระทบอันเกิดจากการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการพังทลายของชายฝั่ง รวมทั้งชาวบ้านจะได้ร่วมลงนามกันนำเสนอปัญหาของภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบส่งต่อไปยังรัฐบาลของ 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง" นายสมเกียรติ กล่าวและว่า
นอกจากจะมีชาวบ้านในพื้นที่ จ.เชียงราย แล้วยังมีพันธมิตรจาก จ.อุบลราชธานี ทีมจากฝั่งอันดามัน ทีมจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทีมเหมืองทองพิจิตร ทีมบางขุนเทียน ทีมปากชม จ.เลย ทีมเชียงใหม่ ทีมคนรุ่นใหม่ เข้าร่วมงานด้วย
ภายในงานชาวบ้านจะมีการนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ กระสอบทรายฯลฯ มาทำเป็นแนวกันตลิ่งพังเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในปีนี้ และแสดงให้เห็นว่าพวกเขาได้รับผลกกระทบจริงๆ นอกจากนี้จะมีการจัดเวทีเสวนา "Teacher camp" เกี่ยวกับภาพรวมของแม่น้ำโขง สถานการณ์และการพัฒนาที่เกิดขึ้นบนอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง การก่อเกิดและทำงานของเครือข่ายอนุรักษ์ฯ ทำความเข้าใจเรื่องการทำตลิ่งบ้านปากอิง การลงเรือดูงานสภาพริมฝั่งแม่น้ำโขง
ทั้งนี้ชาวบ้านปากอิงใต้ได้มีการเตรียมกระสอบใส่ทรายเอาไว้อย่างน้อย 2,000 ใบ ซึ่งเบื้องต้นอาจจะไม่เพียงพอ เพราะจากการประมาณการขั้นต้นในการทำแนวกันตลิ่งที่หมู่บ้านปากอิงใต้จะต้องใช้กระสอบทรายจำนวน 23,400 ใบ และไม้ยูคาฯหรือไม้ไผ่ จำนวน 1,000 ท่อน