xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายลุ่มน้ำโขงร้องรัฐบาล-ยูเอ็น แก้ปัญหาเขื่อนจีนทำเดือดร้อนหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการ -เครือข่ายชาวบ้านลุ่มแม่น้ำโขงยื่นหนังสือถึงรัฐบาลจีน – รัฐบาลไทย และยูเอ็น แก้ไขปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขงของจีน เผยหากเพิกเฉยเกิดปัญหาขัดแย้งรุนแรงบานปลายแน่ ขณะที่ชุมชนทั่วทุกภาคร่วมกันสร้างตลิ่ง- เยียวยา-ให้กำลังใจชาวเชียงของ พร้อมผลักดันตั้งสภาลุ่มน้ำโขงร่วมจัดการทรัพยากรท้องถิ่น

ผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขงของรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นต้นทางของลำน้ำสายนี้เริ่มส่งผลรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อปลายเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ชาวชุมชนทั่วประเทศจึงจัดงานเสวนาหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว บริเวณริมแม่น้ำโขงบ้านปากอิงใต้ อ.เชียงของ จ.เชียงราย โดยมีชาวบ้านจากชุมชนต่างๆ ทั่วทุกภาคกว่า 10 แห่ง เช่น ชุมชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชุมชนคนไทยพลัดถิ่น จ.ระนอง ชุมชนบางขุนเทียน ชุมชนเมืองอุบล ชาวบ้านปากอิง ฯลฯ กว่า 200 คน พร้อมกับร่วมกันสร้างตลิ่งริมแม่น้ำโขงหลังเกิดการพังทลายตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่เมื่อเดือนสิงหาคม 2551 โดยชาวบ้านเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนในประเทศจีน

นายบุญคง บุญวาส ผู้ใหญ่บ้านปากอิงใต้ กล่าวว่า ทุกวันนี้แม่น้ำโขงเกิดการเปลี่ยนแปลงไปมาก จากเดิมที่เคยคาดการณ์ได้ว่าน้ำจะลดหรือเพิ่มช่วงไหน แต่ทุกวันนี้กลับทำไม่ได้เลย โดยเฉพาะการเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อครั้งก่อน ทำให้บ้านเรือนและไร่นาเสียหายอย่างหนักมากกว่า 300 ไร่

“เราไม่รู้เลยว่าน้ำจะท่วม เมื่อก่อนพอฝนตกหนักน้ำจากแม่น้ำอิงก็จะไหลลงแม่น้ำโขง ขณะที่น้ำจากทิศเหนือของแม่น้ำโขงก็จะไหลลงมาเช่นกันทำให้กระแสน้ำมาดันกันอยู่แถวนี้ แต่น้ำท่วมครั้งก่อนกลับมีแต่น้ำโขงไหลทะลักมามหาศาลโดยชาวบ้านไม่รู้ตัวเลย พวกเราจึงเชื่อว่าเป็นการปล่อยน้ำมาจากเขื่อนในประเทศจีน” นายบุญคง กล่าว

ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว แกนนำกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า ความเสียหายจากน้ำท่วมครั้งก่อนมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 85 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจีนต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านที่อยู่ท้ายน้ำ เพราะมีความชัดเจนว่ามีสาเหตุจากโครงการพัฒนาของจีน โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ซึ่งเรื่องนี้ทางการจีนจะนิ่งเฉยต่อความเดือดร้อนของชาวบ้านต่อไปไม่ได้ มิฉะนั้นจะเกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้น เพราะต้องไม่ลืมว่าจีนมีผลประโยชน์มหาศาลอยู่ในย่านนี้ หากไม่สะสางปัญหาก็จะกลายเป็นประเด็นขัดแย้งกับชาวบ้านเพิ่มขึ้นทุกวัน

“ในอนาคตเราพยายามจะเชื่อมต่อให้ประชาชนตลอดลำน้ำโขงจัดตั้งเป็นสภาลุ่มน้ำโขง เพื่อให้มีสิทธิมีเสียงในการจัดการทรัพยากรของตัวเอง แต่ตอนนี้อย่างน้อยรัฐบาลจีนควรเจรจากับรัฐบาลไทยถึงประเด็นปัญหาเฉพาะหน้านี้ก่อน มิฉะนั้นจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคต” นายนิวัฒน์ กล่าว

นางสังวาล บุญน้อย ชาวบ้านจากบ้านสองคอน อ.โพธิไทร จ.อุบลฯกล่าวว่า แม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านจ.เชียงรายมีความแตกต่างจากแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านชุมชนของตนเอง แต่ปัญหาหนึ่งที่ประสบเหมือนกันคือเกิดความเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงในลักษณะเดียวกัน โดยชาวบ้านไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าน้ำจะขึ้นหรือลงเมื่อใด

ล่าสุดชาวบ้านที่ปลูกถั่วและทำเกษตรริมโขงต่างได้รับความเสียหายอย่างหนัก เนื่องจากเมื่อน้ำลดก็คิดว่าถึงเวลาเพาะปลูกแล้ว แต่ปรากฏว่าจู่ๆ น้ำก็ท่วมขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นการปล่อยน้ำมาจากเขื่อนในจีน

“ตอนนี้ชาวบ้านยังไม่รู้เลยว่าเขาจะมีการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงที่บ้านกุ่มหรือไม่ เพราะถามใครก็ไม่มีใครรู้ แม้แต่ทางอำเภอ แต่เราเชื่อว่าเขาคงตั้งใจจะสร้างแน่เพราะมีการเขียนแผนผังต่างๆ แล้ว และยังมีคนไปสำรวจด้วย” นางสังวาล กล่าว

ด้านนายมาหามัดนาซือรี เมาตี ชาวบ้านจากอ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส กล่าวว่า การที่ชาวบ้านรวมตัวกันมาสร้างตลิ่งในครั้งนี้ถือว่าเป็นความเข้มแข็งที่ควรเอาเป็นแบบอย่าง และบรรยากาศแตกต่างจาก 3 จังหวัดภาคใต้มากเพราะไม่ต้องวิตกกังวลเกี่ยวกับความรุนแรง ซึ่งการได้แลกเปลี่ยนปัญหาระหว่างชุมชนต่างๆ ในครั้งนี้ พวกตนจะนำไปปรับใช้ในชุมชนของตัวเอง

ในโอกาสนี้ เครือข่ายชาวบ้าน ได้ออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาลจีนโดยจะยื่นหนังสือผ่านสถานทูตจีนประจำประเทศไทย และทำหนังสือถึงองค์การสหประชาชาติ รวมทั้งรัฐบาลไทย เพื่อให้มีการเจรจาแก้ไขปัญหาของชาวบ้านที่อยู่ท้ายน้ำ ซึ่งหากรัฐบาลจีนยังไม่คิดที่จะรับผิดชอบ เครือข่ายชาวบ้านของไทยก็จะประสานไปยังประเทศต่างๆ ที่อยู่ท้ายน้ำโขงเพื่อหามาตรการตอบโต้ประเทศจีน

เนื้อหาแถลงการณ์ สรุปว่า การพัฒนาของประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในช่วงเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา ได้เกิดโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นมากมาย เช่น โครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบนของจีนยูนนาน จำนวน 8 เขื่อน (สร้างเสร็จและเปิดใช้แล้ว 3 เขื่อน) โครงการระเบิดเกาะแก่งในลำน้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ เป็นต้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่นริมฝั่งแม่น้ำโขงอย่างมหาศาล จนแทบล่มสลาย เพราะปริมาณพันธุ์ปลาลดลง พื้นที่เกษตรริมฝั่งโขงถูกน้ำท่วม บางชุมชนผู้คนต้องอพยพไปหากินต่างถิ่น หลายชุมชนต้องเปลี่ยนอาชีพ

เมื่อเดือนสิงหาคม 2551 เกิดน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบ 40 ปีในเขตแม่น้ำโขง-อิงและกกตอนปลาย สาเหตุหลักมาจากการเปิดเขื่อนในจีนอย่างฉับพลัน เพราะน้ำท่วมหนักหน้าเขื่อนจนมีรายงานข่าวของทางการจีนว่า มีผู้เสียชีวิต 40 คน ด้วยเหตุนี้น้ำจึงท่วมฉับพลันเพียงในวันเดียวเกือบ 2 เมตร ก่อผลเสียหายเบื้องต้นเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 85 ล้านบาท

แถลงการณ์ ระบุว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลไทยโดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ต้องตระหนักและหันกลับมาทบทวนแนวนโยบายและช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่น ซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของประเทศในลุ่มน้ำโขง โดยต้องมีนโยบายและแผนพัฒนาที่สนับสนุนชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง ไม่ใช่มีเพียงแนวนโยบายที่ให้สิทธิพิเศษและโอกาสแต่เพียงองค์กรภาคทุนเศรษฐกิจ หรือองค์กรทุนข้ามชาติแต่เพียงด้านเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น