xs
xsm
sm
md
lg

สัมภาษณ์อิทธิพล ช้างหลำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พาณิชย์”เร่งแก้ปัญหาปลอมปนข้าวหอมมะลิไทย
ปัจจุบันตลาดจีน เป็นตลาดสำคัญที่สั่งซื้อข้าวหอมมะลิไทย มีการนำเข้าปีละไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนตัน และมีแนวโน้มที่ความต้องการจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีปัญหาตามมาเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะปัญหาข้าวไม่ได้มาตรฐาน หรือข้าวไม่หอม ซึ่งนายอิทธิพล ช้างหลำ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ที่ได้รับมอบหมายให้มีการติดตามและตรวจสอบในเรื่องนี้ ได้เปิดโอกาสให้ “ASTVผู้จัดการรายวัน”ได้สัมภาษณ์ถึงภารกิจที่กำลังดำเนินการอยู่ไว้อย่างน่าสนใจ

ทำไมถึงต้องมีการตรวจสอบในเรื่องนี้
ก็อย่างที่บอกจีนเป็นตลาดสำคัญในการส่งออกข้าวหอมมะลิของไทย แต่ละปีนำเข้าไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนตัน แต่มาระยะหลังๆ ได้รับข่าว และมีการร้องเรียนว่าข้าวหอมแต่ไม่หอม ข้าวไม่ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่กรมการค้าต่างประเทศกำหนด ท่านอธิบดี (นางอภิรดี ตันตราภรณ์) จึงได้มอบหมายให้จัดคณะไปตรวจสอบสอบในเรื่องนี้ จึงได้เดินทางไปจีน ไปยังเมืองกวางโจว เซินเจิ้น และเซี้ยะเหมิน ซึ่งเป็นตลาดที่ข้าวไทยประมาณ 70-80% มาเข้าผ่านทางนี้

ไปแล้วเจออะไรบ้าง เป็นไปตามที่มีการตั้งข้อสังเกตเอาไว้หรือไม่
สิ่งที่ผมเห็น มี 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นข้าวหอมมะลิไทยที่มีตราเครื่องหมายรับรองถูกต้อง เป็นตราสีเขียวที่ออกโดยกรมการค้าต่างประเทศ อีกส่วนเป็นข้าวหอมมะลิที่พยายามสื่อว่าเป็นข้าวหอมมะลิไทย โดยข้างถุงมีการพิมพ์เป็นภาษาจีน และภาษาอังกฤษที่พยายามจะสื่อว่าเป็นข้าวหอมมะลิไทย

ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อข้าวไทยอย่างไร
ข้าวหอมมะลิที่เราไปพบ และพยายามทำเลียนแบบ เขาคงต้องการสื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเป็นข้าวหอมมะลิไทย และหากผู้บริโภคหลงเชื่อแล้วซื้อไปรับประทาน ก็คงจะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของข้าวไทย เพราะคุณภาพมาตรฐานคงไม่ได้ โดยข้าวข้างในอาจจะไม่ใช่ข้าวหอมมะลิไทยเลย หรือมีข้าวหอมมะลิไทยผสมอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ที่รู้ ไทยเสียชื่อแน่
“ว่าไปแล้ว การทีจีนพยายามเลียนแบบข้าวหอมมะลิไทย เพราะปัจจุบันนี้ ข้าวหอมมะลิไทยมีชื่อเสียง เป็นข้าวคุณภาพดี และมีความต้องการบริโภคมาก จึงเป็นโอกาสที่พ่อค้าจีน ทำเลียนแบบขึ้นมา แต่เราก็จะหาทางป้องกันอย่างเต็มที่”

กรมฯ จะมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้อย่างไร
อย่างแรกที่จะดำเนินการ และได้มีการดำเนินการมาแล้วอย่างต่อเนื่อง ก็คือ การประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิไทยว่าของแท้ๆ นั้นดูอย่างไร อย่างแรกต้องดูว่ามีเครื่องหมายของกรมการค้าต่างประเทศกำกับหรือไม่ เพื่อให้ผู้บริโภคชาวจีนสามารถแยกแยะให้ได้ว่าข้าวถุงไหนเป็นข้าวหอมมะลิไทย เพราะข้าวที่บรรจุถุงขายในจีน ส่วนใหญ่จะมีอักษรชื่อสื่อให้รู้ว่าเป็นข้าวหอมไทย ข้าวหอมมะลิไทย ทำให้เกิดความเข้าใจว่าได้ซื้อข้าวหอมมะลิไทยไปบริโภค แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ก็ต้องมีการทำการประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ จะดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยอักษรอังกฤษเพิ่มเติมในจีน เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเพื่อประโยชน์ในการป้องกันรักษาสิทธิและกำกับดูแลการใช้เครื่องหมายรับรองของกรมฯ หากมีผู้ละเมิดหรือลอกเลียนแบบ ก็ไม่ต้องตีความหรือพิสูจน์อีกว่าเป็นการลอกเลียนแบบหรือไม่ สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ทันที
ขณะเดียวกัน จะมีการประสานงานไปยังสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ที่กวางโจวและเซี่ยะเหมิน ให้มีการตรวจสอบการใช้เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยอย่างต่อเนื่อง หากพบว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น กรมฯ จะดำเนินการมอบอำนาจให้หน่วยงานในจีน เช่น กงสุล หรือสำนักงานทนายความดำเนินคดีต่อไป
ส่วนความร่วมมือกับหน่วยงานของจีน จะร่วมมือกับหน่วยงานที่ดูแลตรวจสอบและกักกันของจีน (Entry-Exit Inspection and Quarantine of P R China – CIQ) เพื่อดูแลการนำเข้าว่ามีคุณภาพถูกต้องตามที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบของไทยก่อนส่งออกหรือไม่ ร่วมมือกับหน่วยงานที่ดูแลการบรรจุใหม่และมาตรฐาน (Bureau of Quality and Technical Supervision – QTS) ว่าข้าวที่นำเข้ามาบรรจุภัณฑ์ใหม่ มีมาตรฐานถูกต้องตามที่ไทยกำหนดหรือไม่ และร่วมมือกับหน่วยงานที่ดูแลเครื่องหมายการค้า (State Administration Industry of Commerce – SAIC) เพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดเครื่องหมายตราข้าวหอมมะลิไทยในจีน

ตลาดจีนนอกเหนือจากข้าวหอมมะลิไทย จะส่งเสริมข้าวชนิดอื่นๆ เข้าสู่ตลาดหรือไม่
เท่าที่ประเมินตลาดการค้าข้าวในจีน เห็นว่า ขณะนี้ข้าวออแกนนิก เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และมีราคาสูงมาก เพราะคนจีนเริ่มใส่ใจคุณภาพชีวิตมากขึ้น จึงเป็นโอกาสดีที่ไทยจะผลักดันการส่งออกข้าวออแกนนิกเข้าสู่ตลาดจีน ซึ่งถือเป็นนโยบายของกรมฯ อยู่แล้วที่จะส่งเสริมและผลักดัน
กำลังโหลดความคิดเห็น