xs
xsm
sm
md
lg

ค้าไทย-ญี่ปุ่น 9 เดือนทะลุ 4 หมื่นล้าน-เล็งเป้าเป็นลูกค้าเบอร์ 1 สินค้าเกษตรและอาหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – กรมการค้าต่างประเทศ เผย 9 เดือนแรก การค้าไทย-อาเซียน มูลค่ารวมกว่า 54,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นับเฉพาะส่งออกมีมูลค่ากว่า 31,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้านการค้าไทย-ญี่ปุ่น ภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจมูลค่ารวมกว่า 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 13% เล็งเป็นเป้าหมายส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารอันดับหนึ่งของไทย ขณะเดียวกัน เผย กองทุน FTA ยังมีเงินเหลือกว่า 165 ล้านบาท หนุนผู้ประกอบการทำโครงการขอสนับสนุนเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน

วันนี้ (18 ธ.ค.) กรมการค้าต่างประเทศ จัดการสัมมนาเรื่อง “สิทธิพิเศษของสินค้าไทยในอาเซียนและญี่ปุ่น” เพื่อให้ความรู้และเสริมสร้างความเข้าใจในการใช้ประโยชน์จากการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area:AFTA) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) รวมทั้งแนะนำแนวทางการจัดทำโครงการขอความช่วยเหลือจากกองทุน FTA โดยมีผู้ประกอบการส่งออกในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ที่โรงแรมเซนทารา ดวงตะวัน จังหวัดเชียงใหม่

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่าประมาณ 54,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยอาเซียนนับเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย ซึ่งมีมูลค่ากว่า 31,000 เหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 23

สินค้าไทยของไทยที่ส่งออก โดยใช้สิทธิภายใต้ AFTA หรือมีการลดภาษีนำเข้าแก่กันและกัน ได้แก่ รถยนต์ รถปิกอัพ ส่วนประกอบรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ และตู้เย็น เป็นต้น ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนที่ไทยส่งออกโดยใช้สิทธิพิเศษมากสุด ได้แก่ อินโดนีเซีย คิดเป็นร้อยละ 36 ของมูลค่าการส่งออก เวียดนาม ร้อยละ 22 และ ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 15

ขณะที่การค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 นี้ มีมูลค่ากว่า 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารมากกว่าร้อยละ 60 ของความต้องการบริโภค ดังนั้น ตลาดญี่ปุ่นจึงเป็นตลาดสินค้าเกษตรและอาหารอันดับหนึ่งของไทย ซึ่งการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับญี่ปุ่น จึงน่าจะเป็นการขยายโอกาสให้แก่เกษตรกรไทยโดยตรง

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ยอมรับว่า การเปิดเสรีทางการค้า แม้จะทำให้การค้ามีการขยายตัวมากขึ้น แต่ก็มีสินค้าบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม และธุรกิจภาคบริการ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือการปรับตัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรีทางการค้าขึ้นมา เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบให้สามารถปรับตัวให้แข่งขันได้

ปัจจุบันกองทุนนี้ยังมีงบประมาณเหลืออยู่ประมาณ 165 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบไปแล้ว 13 โครงการ เป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 74 ล้านบาท ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือจะพิจารณาจากโครงการที่มีการนำเสนอขอความช่วยเหลือมา ซึ่งจะต้องเป็นไปในลักษณะที่เป็นการรวมกลุ่มกัน ของผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ต้องการพัฒนายกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน หากผ่านการพิจารณาแล้ว กรมการค้าต่างประเทศจะเข้ามาสนับสนุนด้วยการทำงานกับสถาบันการศึกษาหรือบริษัทที่ปรึกษา ในการวิจัยพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ
กำลังโหลดความคิดเห็น