xs
xsm
sm
md
lg

เฟดยันสารพัดมาตรการเริ่มส่งผล แจงสัญญาณภาวะถดถอยใกล้ยุติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ – เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯหลายๆ ราย ประสานเสียงยืนยัน เศรษฐกิจทรุดตัวน่าจะผ่านพ้นช่วงย่ำแย่ที่สุดแล้ว จากความพยายามในการรักษาการไหลเวียนของสินเชื่อชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างไรก็ดี ก็มีการยอมรับว่า การฟื้นตัวคงจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ
วันเสาร์ที่ผ่านมา (18) เจ้าหน้าที่ระดับผู้วางนโยบายสองคนของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) 2 คน ได้แก่ โดนัลด์ โคห์น รองประธานเฟด และวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก ได้ออกมาชี้ถึงสัญญาณๆ ที่ระบุว่ามาตรการของเฟดช่วยให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างแท้จริง
นอกจากนั้น พอล โวล์กเกอร์ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านเศรษฐกิจของคณะรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา อีกทั้งเป็นอดีตประธานเฟด ก็สำทับว่าอัตราการถดถอยเริ่มช้าลง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจกำลังเผชิญช่วงเวลาวิบากอันยาวนานที่มุ่งหน้าสู่การฟื้นตัว
ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่เฟดย้ำบ่อยครั้งว่าเศรษฐกิจจะชะลอลงก่อนที่จะสามารถตอบสนองต่อมาตรการส่งเสริมการเติบโต เช่น การลดดอกเบี้ย และช่วงเวลาของการชะลอตัวอาจไม่แน่นอน
นับจากวิกฤตการเงินระเบิดขึ้นในปี 2007 เฟดลดดอกเบี้ยนโยบายเฟดฟันด์เรต จากระดับสูงสุด 5.25% มาอยู่ที่ 0.25% ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว นอกจากนั้น เฟดยังออกมาตรการอีกมากมายเพื่อส่งเสริมตลาดสินเชื่อและฟื้นการปล่อยกู้ในภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะสินเชื่อบ้าน
แม้มาตรการฉุกเฉินเหล่านี้ทำให้งบดุลของเฟดเบ่งบานเป็นกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ แต่โคห์นและดัดลีย์ไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องกังวลว่ามาตรการเหล่านี้อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาใหม่ โดยระบุว่ามีเครื่องมือมากมายในการดูดเงินสดส่วนเกินออกจากระบบหากจำเป็น
โวล์กเกอร์ ที่เคยขึ้นดอกเบี้ยแรงเมื่อครั้งเป็นประธานเฟดในทศวรรษ 1980 เสริมว่า กิจกรรมเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในช่วงปลายปีที่แล้ว อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยรุนแรงแต่คงไม่สาหัสเท่าที่เคยเกิดขึ้นในสมัยเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในทศวรรษ 1930
ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่าไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้วที่อัตราเติบโตของสหรัฐฯ หดตัว 6.3% และตัวเลขในไตรมาสแรกของปีนี้เป็นจุดต่ำสุดแล้ว
โคห์น ซึ่งก็เช่นเดียวกับดัดลีย์และโวล์กเกอร์ แสดงความคิดเห็นคราวนี้ ณ การประชุมสัมมนาของพวกผู้วางนโยบายและนักวิชาการ ที่มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ เมืองแนชวิลล์ มลรัฐเทนเนสซี ได้กล่าวย้ำว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยปัจจุบันเป็นสถานการณ์ระดับโลก ซึ่งต้องการการตอบสนองโดยพร้อมเพรียงจากทั่วโลก และยุคที่พึ่งพิงการใช้จ่ายอย่างเสรีของผู้บริโภคอเมริกันจบสิ้นลงแล้ว ทั้งยังเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่มีทางยั่งยืนได้ เนื่องจากขณะนี้คนอเมริกันชะลอการใช้จ่ายและเก็บออมมากขึ้น
ทว่า แม้สหรัฐฯ เข้าสู่ไตรมาสที่หกของการถดถอย แต่โคห์นกล่าวว่าความพยายามของเฟดในการเยียวยาตลาดสินเชื่อและกระตุ้นการฟื้นตัวเริ่มส่งผลอย่างช้าๆ
แฟรงก์ นอตแทฟต์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเฟรดดี แมค สถาบันสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐฯ ระบุว่า อีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจเริ่มมีอาการดีขึ้นคือ ยอดขายบ้านกำลังทรุดตัวใกล้ถึงจุดต่ำสุด ซึ่งการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยถือเป็นสิ่งสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
นอตแทฟต์เสริมว่า ขณะนี้ยอดขายหนึ่งในสามมาจากอสังหาริมทรัพย์หลุดจำนอง
กระนั้น แม้สถานการณ์เลวร้ายที่สุดใกล้จบลงในส่วนยอดขายบ้าน แต่เดนนิส ล็อกฮาร์ต ประธานเฟดสาขาแอตแลนตา เตือนว่าปัญหาจากตลาดอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ยังคงเป็นความเสี่ยงที่แท้จริงต่อเศรษฐกิจ โดยปัญหาดังกล่าวถูกเน้นย้ำขึ้นมาเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว ที่เจเนอรัล โกรท พรอพเพอร์ตี้ส์ เจ้าของชอปปิ้งมอลล์อันดับ 2 ของสหรัฐฯ ยื่นขอการคุ้มครองจากศาลล้มละลาย
ขณะเดียวกัน โวล์กเกอร์กล่าวว่าปัญหาในระบบการเงินยังคงส่งผลต่อเศรษฐกิจ และในทางกลับกัน การที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เข้มแข็งก็ทำให้ระบบการเงินขาดความเข้มแข็งตามไปด้วย
ดัดลีย์ ประธานเฟดสาขาที่มีความสำคัญที่สุด กล่าวว่าขณะที่มาตรการฉุกเฉินของเฟด เริ่มส่งผลโดยทั่วไปในการฟื้นเสถียรภาพตลาด แต่บางมาตรการกลับถูกบั่นทอนโดยมุมมองแง่ลบต่อการนำไปใช้ โดยเฉพาะเรื่องอื้อฉาวทางการเมืองเกี่ยวกับการจ่ายโบนัสให้ผู้บริหารแบงก์ ที่ทำให้นักลงทุนบางรายกังวลกับการเข้าไปมีส่วนร่วมในแผนการใหม่ของเฟดเพื่อกระตุ้นการปล่อยกู้แก่ภาคธุรกิจและผู้บริโภค
นักลงทุนบางรายวิตกว่าอาจตกเป็นเป้าหมายของเรื่องอื้อฉาวทางการเมือง หากถูกมองว่าหากำไรจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐ และกลัวว่ามาตรการเหล่านั้นอาจมีเงื่อนไขซ่อนเร้นอยู่
ดัดลีย์ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ควรเน้นย้ำคือการดำเนินการต่างๆ ที่ทำให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงความเสี่ยง โดยเฉพาะในสภาวะแวดล้อมปัจจุบันนั้น จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความสามารถของครัวเรือนและภาคธุรกิจในการได้รับสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม
กำลังโหลดความคิดเห็น