xs
xsm
sm
md
lg

สั่งจับตาแก๊ง “นช.ทักษิณ” พบเข้าออกไทยถี่ผิดสังเกต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - นายกรัฐมนตรี เรียก ผบ.เหล่าทัพ พร้อมหน่วยงานด้านความมั่นคงประเมินสถานการณ์ รับเหตุการณ์ยังไม่นิ่ง ฝ่ายก่อความวุ่นวายยังจ้องก่อม็อบป่วน แถมให้ข่าวใส่ร้ายทั้งในและต่างประเทศ เผยจับตาเครือข่าย “ทักษิณ” เกือบ 10 คนเข้า-ออกประเทศไทยถี่จนผิดสังเกต พร้อมสั่ง “พัชรวาท” แจงความคืบหน้าทุกคดีวันนี้ “อภิสิทธิ์”อ่อนยวบหลังถูกม็อบและฝ่ายการเมืองกดดันหนัก ยอมแก้ รธน.แทนปฏิรูปการเมือง โดยให้ทุกพรรคเสนอมาตราที่เป็นปัญหามาให้พิจารณาใน 2 สัปดาห์ ขณะเดียวกันแบะท่านิรโทษกรรมนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิ พร้อมปัดฝุ่น กม.คุมม็อบ อ้างจะได้ไม่ต้องประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ย้ำรัฐบาลไม่ได้ 2 มาตรฐาน ทหารและตำรวจไม่เลือกข้าง

เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (19 เม.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมฝ่ายความมั่นคง ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีผู้บัญชาการ 4 เหล่าทัพ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง โดยใช้เวลาการประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง

นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า นายกรัฐมนตรีได้หารือกับผู้บัญชาการเหล่าทัพเพื่อประเมินสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยมีการรายงานสถานการณ์ทั่วไป ทางด้านความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยตลอดจนเหตุการณ์ลอบยิง นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้มีการชี้แจงทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหา หรือข้อมูลที่คลาดเคลื่อน จากความเป็นจริง และขอร้องให้สื่อมวลชน ช่วยแจ้งเข้ามายังทำเนียบรัฐบาล หากมีกรณีใดที่ยังเป็นข้อสงสัย หรือไม่ชัดเจนในการปฏิบัติงานของทหาร ตำรวจและเจ้าหน้าที่

**สถานการณ์ยังไม่นิ่งคงพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
นายปณิธาน กล่าวว่า สำหรับพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางไว้ว่า หากทุกอย่างเรียบร้อยจะยกเลิกให้เร็วที่สุด โดยต้องขึ้นอยู่กับเรื่อง ความปลอดภัยของประชาชน ผู้นำความเคลื่อนไหวทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงแนวโน้มการชุมนุม เข้าใจว่าขณะนี้ตัวแปร ปัจจัยต่างๆ เริ่มคลี่คลายลงไป ค่อนข้างมาก แนวโน้มค่อนข้างเป็นบวก แต่ต้องขอเวลาประเมินกันอีกระยะหนึ่ง เพราะยังมีหลายปัจจัยที่ฝ่ายความมั่นคงยังเป็นกังวลอยู่ ขณะนี้ฝ่ายความมั่นคงมีการประเมินกันทุกวัน 24 ชั่วโมง โดยจะประชุมกันเป็นระยะที่ทำเนียบรัฐบาล ถ้าสถานการณ์คลี่คลายแนวโน้มการยกเลิกก็จะเร็วขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ยังมีจุดไหนที่ยังมีสถานการณ์ล่อแหลม นายปณิธาน กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีความพยายามเคลื่อนไหวบ้างในหลายพื้นที่ที่จะระดมคนเข้ามา อย่างเช่นที่ท้องสนามหลวง รวมทั้งต่างจังหวัดบางแห่ง ซึ่งตรงนี้เป็นความกังวลของบางหน่วย แต่ส่วนใหญ่ก็คลี่คลายไปเกือบหมดแล้ว และการเดินทางกลับเข้า กทม.ของประชาชนวันนี้ก็เรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนการก่อการชุมนุมใหญ่ๆ ทั้งในกทม.และต่างจังหวัดถือว่า คลี่คลายเกือบหมด

**มีการเคลื่อนไหวใส่ร้ายทั้งในและตปท.
ส่วนที่ทางผบ.ทบ.ห่วงว่าจะมีแหล่งสาธารณูปโภคถูกเป็นเป้าหมายในการ โจมตีนั้น นายปณิธาน กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีกองกำลังทหาร ตำรวจ พลเรือนในระดับหนึ่งที่คงไว้ ตามจุดต่างๆ แต่ตอนนี้ถือได้ว่าได้ลดกำลังลงตามลำดับ เพื่อปรับให้เข้ากับสถานการณ์มากขึ้นคงไว้เฉพาะจุดสำคัญๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการพูดถึงการเคลื่อนไหวใต้ดินหรือไม่ นายปณิธาน กล่าวว่า การเคลื่อนไหวต่างๆเหล่านี้ขณะนี้ทางคณะกรรมการกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ ฉุกเฉิน (กอฉ.) กำลังประเมินและติดตามเราได้รับเบาะแสจากหลายแห่ง ความจริงแล้ว มีการเคลื่อนไหวมีทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในส่วนของต่างประเทศมีการพูดคุยกันพอสมควร ซึ่งมีความพยายามในการ ให้ข้อมูลที่แตกต่างกันออกไป และขณะนี้ได้มีการกำหนดให้มีการชี้แจงเรื่องนี้ให้เป็นระบบโดยเฉพาะในต่างประเทศ

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวในต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการให้ข่าวสารกับสื่อ และอาจจะมีการเดินทางของกลุ่มบุคคลบ้างที่เคลื่อนไหวเข้า-ออกจากประเทศไทยไปยังต่างประเทศ ตรงนี้เป็นอีก 1 กลุ่มที่มีการตรวจตราและเฝ้าระวังการเดินทางของกลุ่มเหล่านี้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเวลานี้ ฝ่ายความมั่นคงกำลังเฝ้าระวังการเดินทางของคนเหล่านี้ และบางท่านเข้าใจว่าเดินทางออกไปแล้ว

**แก๊งทักษิณเข้า-ออกผิดปกติเกือบ10คน
ผู้สื่อข่าวถามว่านายจักรภพ เพ็ญแข ได้เดินทางออกจากต่างประเทศหรือยัง นายปณิธาน กล่าวว่า เฉพาะบุคคลเวลานี้ฝ่ายความมั่นคงขอให้มีการตรวจสอบกันก่อนคิดว่าคงจะใช้เวลาสักพัก เพราะความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ยังไม่ชัดเจน แต่การเดินทางออกนอกประเทศของกลุ่มคนเหล่านี้เพิ่งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ซึ่งรายละเอียดอยู่ที่ ผบ.ทบ. และผบ.ตร. ตัวเลขไม่น่าถึง 10 คน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการอยู่

“ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะแถลงในเรื่องนี้ที่เกี่ยวข้องกับคดีต่างๆในวันนี้(20 เม.ย.) เป็นเรื่องความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีต่างๆ ของหลายๆ กลุ่ม ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่ก่อความไม่สงบภายใน 2-3 สัปดาห์ก่อนนี้ เข้าใจว่าประมาณ บ่าย 3-4 โมงเย็น ผบ.ตร. จะแถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจรวมถึงการทำงานร่วมกับสื่อในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คงจะมีการชี้แจงในขั้นตอนกระบวนการกฎเกณฑ์ โดยเฉพาะสื่อต่างๆ ที่คิดว่ามีผลกระทบต่อการทำงาน จะได้มีการพูดคุยชี้แจงกัน”

**ยังไม่น่าไว้วางใจในเรื่องลอบสังหาร
สำหรับข่าวการลอบสังหารผู้นำหรือบุคคลสำคัญนั้น นายปณิธานกล่าวว่า ตอนนี้แนวโน้มดีขึ้น แต่ยังไม่สามารถไว้ใจได้ ยังไม่ได้อยู่ในระดับที่ไว้วางใจการรักษาความปลอดภัยนายกรัฐมนตรี ขณะนี้ยังเข้มงวดอยู่ ต้องขออภัยพี่น้องสื่อมวลชน และประชาชนด้วย ซึ่งช่วงนี้สถานการณ์กำลังคลี่คลายไม่อยากให้สถานการณ์ย้อนกลับไปเหมือนเดิม ฉะนั้นการวางระบบรักษาความปลอดภัยอาจจะเข้มข้นนิดหน่อย เพื่อให้สถานการณ์คืนสู่ปกติโดยเร็ว หากเราสามารถรักษาความปลอดภัยของประชาชนและผู้นำได้ในระดับนี้เชื่อว่าไม่นาน จะสามารถคลี่คลายได้ ช่วงนี้อาจจะกระทบต่อการเดินทาง และวาระงานของนายกฯ ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง

ต่อข้อถามว่าที่ประชุมด้านความมั่นคงได้พูดถึงคดีการลอบทำร้ายนายสนธิ ลิ้มทองกุล หรือไม่ว่ามีความเกี่ยวโยงกับสถานการณ์ทางการเมืองอย่างไร นายปณิธาน กล่าวว่า ไม่มี แต่เป็นการพูดถึงความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของทุกคน โดยเฉพาะคนที่เป็นเป้า โดยนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า หากใครรู้สึกไม่ปลอดภัยขอให้แจ้งเบาะแสเข้ามาที่ทำเนียบฯ โดยรัฐบาลจะดูแลทุกฝ่าย ขณะนี้เข้าใจว่า หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมต่างๆ ก็เริ่มร้องขอมาให้รัฐบาลช่วยดูแล ความเรียบร้อยโดยทั่วไป ซึ่งเราก็ทำอยู่ รายละเอียดอยู่ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวถามว่าทาง กอฉ.ขานรับข้อเสนอของพรรคร่วมที่เสนอให้มีการเจรจากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มากน้อยแค่ไหน นายปณิธานกล่าวว่า ขณะนี้มีการพิจารณาข้อเสนอหลายข้อทั้งด้านความปลอดภัย การเมือง ซึ่งในส่วนของพรรคการเมือง นายกรัฐมนตรี รอให้มีการเปิดสภาเพื่อชี้แจงในสภาอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการพูดถึง 4 กลุ่มอำนาจเกสตาโปหรือไม่ นายปณิธานกล่าวว่า ไม่มีในรายละเอียด เป็นเรื่องของฝ่ายปฏิบัติ เมื่อถามว่า กำลังทหารที่บอกว่าลดลงนั้น กี่เปอร์เซ็นต์ นายปณิธาน กล่าวว่า ตัวเลขไม่เปิดเผย แต่ลดลงไปพอสมควร เป็นการทยอยลดกำลัง กอฉ.เป็นผู้พิจารณา หลังเปิดทำการคงจะมีการลดกำลังลงอีก ไม่อยากให้เกิด เหตุการณ์ขึ้นอีกโดยเฉพาะชุมชนต่างๆที่มีปัญหา

**เล็งปัดฝุ่นกฎหมายคุมม็อบ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตี กล่าวตอนหนึ่งในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ว่า ในการประชุม ครม.นัดพิเศษ หลังเกิดเหตุการณ์ ไม่สงบช่วงสงกรานต์ นอกจากมีมติให้ดูแลเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ก่อความไม่สงบ และฟื้นฟูการท่องเที่ยวโดยให้เป็นวาระแห่งชาติแล้ว ที่ประชุม ครม.ยังพิจารณาว่าในวันข้างหน้าเราคงจะต้องมีแนวทางในการที่จะป้องกันไม่ให้การชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ จนนำมาซึ่งการก่อจลาจลได้ ซึ่งทำให้เกิดความยากลำบากในการดำเนินการ ซึ่งตำรวจเคยเสนอกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมในที่สาธารณะมาแล้ว ซึ่งรัฐบาลก็เห็นชอบในหลักการ แต่ต้องไม่ไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ให้เจ้าหน้าที่มีเครื่องมือในการดำเนินการจะได้ไม่ต้องประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

**ส่อแก้รธน.แทนปฏิรูปการเมือง
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปการเมืองว่า ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่สำคัญที่ตนจับได้ประการ แรกเป็นเรื่องกติกาทางการเมืองในปัจจุบันไม่เป็นธรรม สืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร จากบทบัญญัติในบางมาตราของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งข้อเรียกร้องนี้ ตนได้ให้ความสำคัญมาตลอด ก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์นี้ ตนก็ได้พยายามริเริ่มกระบวนการของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขกฎหมาย หรือการปฏิรูป ทางการเมือง เพียงแต่ตนเห็นว่ามีประชาชนอีกจำนวนมาก ซึ่งไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ และเคยได้มีการออกมาชุมนุมเรียกร้องเมื่อปีที่แล้ว ก็ไม่ต้องการให้ สถานการณ์ย้อนกลับไปเหมือนปีที่แล้ว ตนจึงได้เสนอให้เอาสถาบันหรือคนกลาง เข้ามาดำเนินการ แต่ว่ายังไม่ได้รับการขานรับจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน

“วันนี้ครับ ผม ครม.และพรรคร่วมรัฐบาล ก็จึงได้ตั้งหลักกันใหม่ว่าจะให้ทุกพรรคการเมืองลองไปสรุปว่า ปัญหาที่ไม่เป็นธรรมในบทบัญญัติต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ หรือความไม่เป็นประชาธิปไตยนี้มีประเด็นใดบ้าง ให้รวบรวมมาภายใน 2 สัปดาห์ แล้วเราก็จะมาดูว่ามีกี่ประเด็น และจะดำเนินการและขอฉันทามติจากสังคม เพื่อให้แก้ไขตรงนี้ได้อย่างไร และพร้อมที่จะเดินหน้าแก้ไข ฉะนั้นพี่น้องประชาชนท่านใด ที่ออกมาชุมนุม ที่ยังเรียกร้องประชาธิปไตยอยู่ ผมย้ำอีกครั้งว่า รัฐบาลพร้อมที่จะตอบสนองตรงนี้ ผมเชื่อว่า ไม่ใช้เวลามากจนเกินไป ขอให้เราได้ใช้วิธีการของความสงบ ใช้กระบวนการตามกฎหมาย ใช้เหตุใช้ผล ใช้วิธีการของการพูดคุย เพื่อนำไปสู่เป้าหมายนี้ ตรงนี้ก็จะได้เป็นการตอบสนอง หรือตอบโจทย์ที่อาจจะเป็นที่มาของการชุมนุมและความขัดแย้งทางการเมืองได้”

**ไฟเขียวนิรโทษกรรมนักการเมือง
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แม้แต่ในประเด็นที่มีการพูดถึงว่าความผิดทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม สมควรที่จะได้รับการแก้ไขหรือไม่ ตรงนี้ตน ก็เปิดใจกว้างพร้อมที่จะรับฟัง แต่ขอย้ำอีกครั้งว่าเราต้องแยกความผิดทางการเมือง ออกจากความผิดทางอาญา ความผิดทางอาญาก็เช่น การจลาจล การยุยงปลุกปั่นที่อยู่นอกเหนือจุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการกระทำผิดอื่นๆ เช่นการใช้อำนาจรัฐไปในทางที่ไม่ถูกต้อง การทุจริตคอรัปชั่น เป็นต้น เหล่านี้ต้องแยกออกมา และไม่ควรมารวมกัน เพราะว่าในส่วนหลังนี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นประชาธิปไตยแต่ อย่างใด

**ย้ำสื่อชุมชนมีได้แต่ต้องไม่ทำผิดกม.
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่สอง ตนทราบดีว่าขณะนี้ประชาชนที่ไม่เห็น ด้วยกับรัฐบาล อาจจะเข้าใจว่ามีการไปปิดสถานีวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เพราะสถานีเหล่านั้นไม่เป็นมิตรกับรัฐบาล ตนเรียนว่าไม่ใช่ ขอย้ำอีกครั้งว่าเมื่อสถานการณ์ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ การใช้สื่อแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ติชมโดยสุจริตนั้นจะทำได้เต็มที่ แต่ที่ได้มีการปิดไปจะเป็นเฉพาะสถานีที่มีส่วนในการยุยุง ปลุกปั่น ปลุกระดม ให้พี่น้องประชาชนทำผิดกฎหมาย ซึ่งอย่างที่เรียนก็คือตรงนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย และเราคงจะปล่อยภาวะเช่นนั้นไปไม่ได้ เพราะว่าถ้านำบ้านเมืองไปสู่ความโกลาหล เราก็จะสูญเสียประชาธิปไตย ตนจะเร่งทำงานต่าง ๆ ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้รวดเร็วที่สุด เพื่อยกเลิก และคืนสภาพต่าง ๆ กลับไป แต่ขอย้ำอีกครั้งว่า ขอให้การใช้สื่อเหล่านี้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญเท่านั้น

**ยันทหาร-ตร.ไม่เลือกข้าง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเด็น ที่สาม ที่ตนรู้ว่ายังเป็นประเด็นที่ค้างคาใจประชาชนอยู่ก็คือว่า รัฐบาลใช้สองมาตรฐานในการดำเนินคดีกับการชุมนุมหรือไม่ โดยเฉพาะมีการเปรียบเทียบกับการชุมนุมในปีนี้กับปีทีแล้ว ตนอยากให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจว่า เราไม่มีสองมาตรฐาน แต่ว่าเราจะแก้ไขสิ่งที่ยังค้างคาใจของ พี่น้องประชาชนอยู่ บางเรื่องตนคงต้องอธิบาย เช่น มีการพยายาม พูดว่าการที่กองทัพได้เข้ามาร่วมในการปฏิบัติการภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินนั้น เป็นการบ่งบอกว่า ทหารเลือกข้าง เพราะปีที่แล้วมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ทหารไม่ได้เข้าดำเนินการ

“ผมขอยืนยันเลยครับว่าทหารไม่มีข้างครับ ทหารไม่มีข้างทางการเมือง และทหาร ตำรวจ ก็ไม่ควรมีข้างทางการเมือง แต่ต้องทำหน้าที่ตามกฎหมาย ตามที่ได้รับมอบหมาย และตามนโยบาย และโดยยึดประโยชน์ส่วนรวม และเห็นพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มเป็นมิตร หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง เพียงแต่ว่าข้อแตกต่าง เป็นอย่างนี้ครับ”

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ปีที่แล้วมีการประกาศภาวะ ฉุกเฉิน 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งนั้นรัฐบาลในขณะนั้นก็ได้มอบภารกิจหลักให้ตำรวจ อีกครั้งหนึ่งแม้มีการตั้ง ผบ.ทบ. เป็นผู้กำกับงานในการบริหารตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินก็จริง แต่ว่าต่างจากที่ตนได้ทำ คือครั้งที่แล้วนั้นเมื่อมีการมอบให้ ผบ.ทบ. ดำเนินการ เป็นเหตุของการที่ผู้ชุมนุมสองฝ่ายปะทะกัน แต่ว่าพอประกาศภาวะฉุกเฉินเหตุนั้นก็ได้หมดลงไป จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องมีการปฏิบัติการอะไรเพิ่มเติม

ส่วนการดำเนินการอื่น ๆ นั้นก็ขอเรียนว่า ก่อนที่ตนได้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้สอบถามผู้บัญชาการเหล่าทัพ ว่าเหตุใดการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในอดีตที่ผ่านมา ทางกองทัพหรือเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ ก็ได้รับคำตอบว่า ขณะนั้นต้องการที่จะให้ฝ่ายประจำไม่ว่าจะเป็นกองทัพหรือตำรวจ ตัดสินใจเองว่าจะทำอะไร ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องก็มองว่าเขาไม่ใช่ฝ่ายนโยบาย

“ดังนั้นเวลาที่ผมประกาศใช้พระราชกำหนดครั้งนี้ ผมจึงบอกว่าการตัดสินใจ ในเชิงนโยบายทั้งหมดเป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง ผมและท่านรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงต้องรับผิดชอบ ส่วนทางกองทัพ ทางตำรวจนั้นก็จะมีหน้าที่ในการปฏิบัติตามนโยบายเท่านั้น และแน่นอนนโยบายที่ผมย้ำไปก็คือว่า ต้องเป็นนโยบาย ที่ชอบเท่านั้น ต้องเป็นนโยบายที่ไม่ไปทำร้ายประชาชน เพราะฉะนั้นตรงนี้ จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ จึงเข้ามาดำเนินการในครั้งนี้ได้ ในขณะที่มีข้อจำกัดเมื่อปีที่แล้ว”

**แจงเหตุผลออกหมายจับเสื้อแดง
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ประการ ที่ 4 มีคนสงสัยว่าทำไมขณะนี้แกนนำ ผู้ชุมนุมต่างๆ มีการออกหมายจับ แต่ว่าการชุมนุมปีที่แล้วไม่ได้มีการออกหมายจับนั้น เรียนว่าในส่วนการออกหมายจับหรือไม่นั้น ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัย แต่ความแตกต่างคือ ถ้าหากผู้ชุมนุมหรือแกนนำซึ่งทำผิดกฎหมายและถูกดำเนินคดี พร้อมที่จะเข้ามาต่อสู้ตามกระบวนการ ไม่มีพฤติกรรมที่จะหลบหนีและที่สำคัญที่สุดก็คือว่า ไม่มีพฤติกรรมที่จะไปทำความผิดซ้ำ โดยเฉพาะความผิดที่จะกระทบกับความมั่นคง ก็จะไม่มีการออกหมายจับหรอก

“ที่ออกหมายจับจะเป็นกลุ่มคนซึ่งขณะนี้ก็ยังประกาศอยู่ว่ายังจะต่อสู้ต่อไป บางคนพูดถึงการไปต่อสู้ใต้ดินซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นภัยกับความมั่นคง ผมเรียนว่า ถ้ามีผู้ชุมนุมปีที่แล้ว ซึ่งยังยืนยันที่จะทำผิดกฎหมายอยู่ แล้วประกาศว่าจะทำผิดกฎหมายเป็นภัยกับความมั่นคง เราก็จะออกหมายจับบุคคลเหล่านั้นเช่นเดียวกัน ไม่มีสองมาตรฐานอย่างแน่นอน”

นายกฯ กล่าวอีกว่า อย่าง ไรก็ตามตนได้รับรู้ความรู้สึกของประชาชนว่า เหตุใด คดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมในปีที่แล้ว ล่าช้า ตรงนี้ตนยอมรับครับว่า ตนเองก็มีความรู้สึกอึดอัดว่ายังล่าช้าอยู่ แล้วก็ได้กำชับไปอีกครั้งหนึ่งว่าจะต้องเร่งรัดคดีต่างๆ ในปีที่แล้วออกมา ไม่ใช่ว่าไปดำเนินการเฉพาะคดีจากเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นในปีนี้หรือในช่วงที่ตนเข้ามาเป็นรัฐบาล เพราะฉะนั้นขอเวลาให้ตน ได้พิสูจน์ให้เห็นตรงนี้ต่อไป

**นิรโทษกรรมไม่เกี่ยวคดีทักษิณ
นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เห็นด้วยกับแนวทางการนิรโทษกรรมเพื่อแก้ไขวิกฤติทางการเมือง ว่า แนวทางดังกล่าวจะต้อง ไม่ร่วมถึงคดี ที่มีความผิดทางอาญาที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่การจะนิรโทษกรรมอดีตนักการเมือง ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองจะต้องพิจารณา อย่างรอบคอบว่า มีส่วนเกี่ยงข้องกับการกระทำผิดด้วยหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนว่าสังคมจะยอมรับได้อย่างไร ว่าการนิรโทษกรรม ไม่ได้อยู่บนผลประโยชน์ของนักการเมือง ดังนั้นจึงอยากให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วม เพราะก่อนหน้านี้ ในการเสนอการร่างกฎหมายปรองดองแห่งชาติ ก็มีประเด็นนี้รวมอยู่ด้วย ส่วนจะเกิดขึ้นได้แค่ไหน ก็ต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันหาทางออก
กำลังโหลดความคิดเห็น