xs
xsm
sm
md
lg

จวกรัฐฯแก้แรงงานหลงทิศ ต้นกล้าอาชีพส่อแววเหลว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานพิเศษ “วิกฤตแรงงานไทย” โดยทีมข่าวพิเศษ (ความยาว 2 ตอนจบ)

ตอนที่ 2 (จบ)


ASTVผู้จัดการรายวัน - ปัญหาแรงงานสุดอลหม่าน ชี้มาตรการรัฐแก้ไขไม่ตรงจุด ต้นกล้าอาชีพส่อแววเหลว นักศึกษาจบใหม่อีกกว่า 5 แสนยังเคว้ง เผยวิกฤตซ้อนวิกฤตในบางอุตสาหกรรมมีสัญญาณฟื้นตัวหลังออเดอร์เริ่มเข้ามายาวถึงสิงหาคม แต่กลับเตรียมแรงงานป้อนไม่ทัน

นางวิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวในระหว่างเดินทางไปเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงานเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ นายจ้างฉวยโอกาสลดเงินเดือน และลดสวัสดิการของลูกจ้าง ขณะที่ภาครัฐก็แก้ไขปัญหายังไม่ตรงจุด อย่างเช่น โครงการต้นกล้าอาชีพ ที่ยังไม่ใช่แนวทางการแก้ไขปัญหา ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จึงร่วมกันออกแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลตระหนักถือปัญหาแรงงานให้มากขึ้น

ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 เป็นการขยายภาพให้เห็นถึงความเดือดร้อนจากปัญหาแรงงานที่ส่งทอดเป็นลูกโซ่ไปถึงคนทุกคนในครอบครัว ใจความโดยสรุป ระบุว่า ณ วันนี้ลูกจ้างผู้เดือดร้อน เพราะครอบครัวกำลังจะอดตาย ลูกจะต้องออกจากโรงเรียน และพ่อแม่ที่อยู่บ้านนอก ต้องรอคอยเงินหล่อเลี้ยงชีวิตอย่างสิ้นหวัง ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้องไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อให้รีบเร่งในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

แถลงการณ์ยังอ้างอิงสถิติการเลิกจ้าง โดยระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 ถึงสิ้นเดือนมีนาคม ลูกจ้าง 23,712 คน ถูกเลิกจ้าง โรงงาน/บริษัทปิดกิจการไปแล้ว 272 แห่ง ทำให้คาดการณ์ว่า ภายในสิ้นปีนี้ลูกจ้างจะถูกเลิกจ้าง 2 ล้านคน เป็นอย่างต่ำ โดย 5 จังหวัดที่มีการเลิกจ้างมากที่สุด คือ สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร และฉะเชิงเทรา ตามลำดับ โดยก่อนหน้านี้เคย ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เคยเข้าพบ นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้แก้ไขปัญหา แต่ไม่มีการตอบสนองใดๆ

**ต้นกล้าอาชีพส่อแววเหลว

ทางออกหนึ่ง ในการแก้ปัญหาแรงงานในเบื้องต้น ทางรัฐบาลได้คลอดโครงการต้นกล้าอาชีพครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่มคือ 1. ผู้ว่างงานจำนวน 500,000 คน โดยจะแบ่งการฝึกอบรมออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรกภายในปี 2552 จำนวน 240,000 คน และระยะที่ 2 จำนวน 260,000 คน โดยจะเริ่มในปี 2553

2. ผู้ที่สำเร็จการศึกษา และยังไม่มีงานทำ เช่น บัณฑิตจบใหม่ 3. ผู้ที่ถูกเลิกจ้างจากภาคแรงงานอุตสาหกรรม และต้องการเข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาฝีมือ สำหรับประกอบกิจการส่วนตัวในท้องถิ่น หรือภูมิลำเนา และ 4. แรงงานที่อยู่ในข่ายจะถูกเลิกจ้าง

มีการอบรม 7 กลุ่มอาชีพ จำนวน 935 หลักสูตร 1. การเกษตรและการแปรรูปจำนวน 118 หลักสูตร 2. ภาคการผลิต จำนวน 319 หลักสูตร 3. การบริการและการท่องเที่ยว จำนวน 298 หลักสูตร 4. การค้าและเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 12 หลักสูตร 5. คอมพิวเตอร์และธุรการ จำนวน 117 หลักสูตร 6. คมนาคมและการขนส่ง จำนวน 1 หลักสูตร และ 7. การก่อสร้าง จำนวน 23 หลักสูตร ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 6,900 ล้านบาท

แต่ภายหลังจากเริ่มโครงการได้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการอย่างหนัก เริ่มจากความสนใจของประชาชนในการเข้าร่วมโครงการที่ต่ำกว่าเป้าหมายค่อนข้างมาก โดยตัวเลขผู้สมัครเข้าร่วมโครงการผ่านกระทรวงแรงงานมีจำนวนเพียง 50,000 คนเท่านั้น และเมื่อถึงช่วงเวลาที่ให้ผู้สมัครมารายงานตัวกลับต้องเจอกับปัญหาหลายพื้นที่มีผู้มารายงานตัวไม่ถึง 50% ทั้งที่เกณฑ์กำหนดให้มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 75% ถึงจะสามารถเปิดอบรมได้ ทำให้ต้องยุบไปหลายหลักสูตร

เมื่อถึงเวลาอบรมในวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา ก็ต้องเลื่อนวันออกไป เพราะยังไม่มีงบประมาณตกลงมา หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการจึงต้องเลื่อนเวลาการฝึกอบรมออกไปอย่างไม่มีกำหนด และเนื่องจากมีคนเข้าร่วมอบรมไม่ตรงตามเป้าหมาย ทางภาครัฐจึงมีแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นคือให้มีการเปิดรับสมัครให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการทุกเดือน เพื่อรองรับคนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ

**จบใหม่จ่อคิวนับแสน

วิกฤตแรงงานที่มาพร้อมวิกฤตเศรษฐกิจ ยังลามไปถึงผู้จบการศึกษาที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในปีนี้ด้วย โดยกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยผลการประมาณการณ์นักศึกษาจบใหม่ที่เตรียมเข้าสู่ตลาดแรงงานประจำปี 2552 พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 525,940 คน แบ่งเป็นระดับ ม.3 จำนวน 126,084 คิดเป็นร้อยละ 23.97 คน ระดับม.6 จำนวน 74,111 คน คิดเป็นร้อยละ 14.09 ระดับ ปวช.ชั้นปีที่ 3 จำนวน 46,835 คน คิดเป็นร้อยละ 8.91 ระดับปวส.หรืออนุปริญญา จำนวน 80,985 คน คิดเป็นร้อยละ 15.4 และระดับปริญญาตรี จำนวน 197,925 คน คิดเป็นร้อยละ 37.63

สำหรับสาขาวิชาที่พบว่ามีการจบการศึกษาสูงสุด 3 อันดับแรก ในแต่ละระดับการศึกษา คือ ระดับปริญญาตรี ได้แก่ สาขาบริหารธุรกิจ สาขาวิทยาการจัดการ และ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ ระดับ ปวส. ได้แก่ สาขาบริหารธุรกิจ สาขาอุตสาหกรรม และสาขาเกษตรกรรม และระดับ ปวช. ได้แก่ สาขาบริหารธุรกิจ สาขาอุตสาหกรรม และสาขาคหกรรม ตามลำดับ

**วิกฤตซ้ำเตรียมแรงงานไม่ทัน

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า หากวิเคราะห์ภาพรวมทางเศรษฐกิจ โดยตัดปัจจัยด้านการเมืองออกไป ต้องบอกว่ายังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัว และยิ่งผลการประชุมจี 20 ที่ชาติผู้นำยังไม่สามารถตกลงในกรอบความร่วมมืออย่างมีทิศทางเดียวกัน โดยมีความเห็นขัดแย้งกันในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลกหลายประเด็น ดังนั้นจึงยังหวังไม่ได้ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยต้องได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะเศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพิงการส่งออกเกือบร้อยละ 70

นายธนิต กล่าวต่อว่า แต่ก็มีสัญญาณที่ดีในบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ที่ทางสมาชิก แจ้งมายังสภาอุตสาหกรรม ว่า เริ่มมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามา และมียอดคำสั่งซื้อยาวไปถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งจะมีส่วนช่วยชะลอการเลิกจ้างในอุตสาหกรรมนี้ได้ระดับหนึ่ง

สำหรับเหตุผลสำคัญที่ทำให้มียอดคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ เพราะว่า ภาคอุตสาหกรรมในประเทศจีนในรอบปีที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องมาตรฐาน มีข่าวในเชิงลบออกมาอยู่ตลอด ทำให้บริษัทแม่ที่มีฐานการผลิตทั้งในจีนและไทย ตัดสินใจโยกการผลิตมาที่ประเทศไทยแทน

ทางด้าน นายกาสชัย แจ่มขจรเกียรติ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ระบุว่า การส่งออกเครื่องนุ่งห่มในปีนี้ มีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 0-5% โดยยอดการส่งออกเมื่อปี 2551 ที่ส่งออกได้ 135,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมไม่ลดลง

ในขณะนี้มีโรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่มขนาดใหญ่ รับคำสั่งซื้อเต็มไปจนถึงเดือน สิงหาคม 2552 แล้ว จึงต้องการแรงงานเข้ามาเพิ่ม แต่ปัญหาคือช่วงก่อนหน้านี้มีการปรับลดคนงานและการหาคนงานเข้ามาเสริมใหม่อยู่ในช่วงการปรับตัว แต่ถ้าไม่มีแรงงานเข้ามา อาจต้องปรับแผนการผลิตใหม่

“การส่งออกเครื่องนุ่งห่มใน 2 เดือนแรกของปี 2552 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 7% แต่ในบางตลาดมีการขยายตัว เช่น ญี่ปุ่นขยายตัว 20% ซึ่งบางโรงงานมีความต้องการแรงงานเพิ่ม เพื่อผลิตป้อนตลาดที่ยังขยายตัว” เขา กล่าว

ทางด้านสมาคมรองเท้าไทย นายสกล ศิกษมัต นายกสมาคม ระบุว่า จากปัญหาในเรื่องมาตรฐานการผลิตในประเทศจีน ส่งผลให้ผู้นำเข้าหลายประเทศเปลี่ยนคำสั่งซื้อจากจีนมาสั่งซื้อจากไทยมากขึ้น อุตสาหกรรมรองเท้าจึงอยู่ตัวระดับหนึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกมากนัก

ขณะนี้ทางผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อมรับกับคำสั่งซื้อที่เข้ามา โดยทั้งภาคอุตสาหกรรมยังคงต้องการแรงงานเพิ่มในกลุ่มการผลิตอีก 3 กลุ่ม จำนวนรวมกันกว่า 3,000 คน ประกอบด้วย กลุ่มช่างเย็บหนังหน้า กลุ่มช่างตัดและวาดหนังหน้า และ กลุ่มช่างประกอบและอัดพื้น โดยขาดแคลนทั้งในส่วนของรองเท้าแฟชั่นและรองเท้ากีฬา

**พบ 5 กลุ่มอุตฯ ต้องการเพิ่ม

นายปราโมทย์ วิทยาสุข อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวถึง การสำรวจสถานการณ์แรงงานร่วมกันระหว่างกรมฯ กับ กับผู้ประกอบการที่ต้องการแรงงาน ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2552 จนถึงปัจจุบัน พบว่า ถึงแม้บางภาคอุตสาหกรรมจะมีการเลิกจ้างคนงาน แต่ก็พบว่ายังมีอุตสาหกรรม 5 กลุ่ม ที่ต้องการแรงงานเพิ่ม คือ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มต้องการแรงงาน 12,900 คน อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ ต้องการช่างติดตั้ง 1,000 คน อุตสาหกรรมรองเท้า 3,000 คน อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ 3,000 คน และ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ระบบสมองกลฝังตัวและแอนิเมชัน 3,000 คน รวมต้องแรงงานทั้งสิ้น 22,900 คน

ทางกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เข้าร่วมในโครงการต้นกล้าอาชีพ เพื่อให้มีการอบรมทักษะใหม่ ให้กับผู้ตกงานและนักศึกษาจบใหม่ เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม 3 กลุ่ม คือ อุตสาหกรรมรองเท้า เครื่องนุ่งห่มและช่างติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น