xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตแรงงานยังสาหัส แฉนายจ้างบีบลาออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานพิเศษ “วิกฤตแรงงานไทย” โดยทีมข่าวพิเศษ (ความยาว 2 ตอนจบ)
 
ตอนที่ 1
 
 
ASTV ผู้จัดการรายวัน - อุตสาหกรรมดาวดับ “ยานยนต์-อิเล็กทรอนิกส์-โลจิสติกส์” ยังอ่วม นายจ้างงัดสารพัดวิธีกดดันแรงงานลาออก ลดโอที ลดเงินเดือน ลดเวลางาน หนักสุดย้ายแผนกกดดัน สถิติฟ้องตัวเลขการลาออกพุ่งปรี๊ดแซงหน้าตัวเลขเลิกจ้าง แฉนายจ้างหัวใสอาศัยช่องโหว่กฎหมาย กดดันลาออกเลี่ยงจ่ายชดเชย โอนภาระให้รัฐบาล

  หลังจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ออกมาปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจรอบใหม่ โดยพยากรณ์ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยประจำปี 2552 มีแนวโน้มหดตัวที่ร้อยละ -2.5 ต่อปี ขณะเดียวกัน ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2552 ก็คาดว่าจะหดตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ -14.8 ต่อปี
 
แน่นอนว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าวได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปัญหาแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัตราการว่างงานที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ของกำลังแรงงาน ซึ่งมีอยู่ราว38.5 ล้านคน นั่นแสดงว่า ตัวเลขการว่างงานตามการประมาณการณ์ข้างต้นอาจทะลุถึง 1 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้
 
**ยานยนต์ เสี่ยงถอดปลั๊กเพิ่ม

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรม ที่มีความสำคัญต่อประเทศ มีกำลังการผลิตรถยนต์เกินกว่า 1 ล้านคันต่อปี การว่าจ้างแรงงานที่ผ่านมาใช้ระบบพนักงานประจำกับพนักงานรับช่วง (Sub-contract) ในสัดส่วนพนักงานประจำ ประมาณ 75% ต่อพนักงานรับช่วงประมาณ 25% พนักงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมรวมประมาณ 3.5 แสนคน

  ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมนี้มีระบบการจ้างงานที่เป็นสวัสดิการต่อลูกจ้างคือกำหนดให้มีกำลังการผลิตมากกว่าการจ้างแรงงาน 20% โดยที่เหลือสำรองเอาไว้สำหรับค่าทำงานล่วงเวลา (โอที) เสริมรายได้ให้กับค่าจ้างรายเดือน แต่จากยอดคำสั่งซื้อหรือออร์เดอร์หดหายไปเรื่อย ๆ ลูกจ้างจึงต้องรับสภาพไปโดยปริยาย

  ทั้งนี้ จากข้อมูลที่รายงานโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พบว่า นับตั้งแต่เดือนธ.ค.2551 อุตสาหกรรมยานยนต์มียอดคำสั่งซื้อตกลงไปกว่า 20% เข้าสู่เดือนม.ค. 2552 ลดลงไปอีกเป็น 30% เข้าสู่เดือนก.พ. ยอดคำสั่งซื้อยังคง หดไปมากกว่า 40% พอเข้าสู่เดือนมีนาคมสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นออร์เดอร์ดำดิ่งไปถึง 50% ดังนั้น การแก้ไขปัญหาเบื้องต้นของนายจ้างคือการปรับลดต้นทุนแรงงาน

  นายถาวร ชลัษเฐียร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์มีพนักงานประจำและพนักงานชั่วคราวทั้งภาคอุตสาหกรรมประมาณ 3.5 แสนคน และจากยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศหายไปถึง 50 % ส่งผลทำให้บริษัทต่างๆ ต้องเลิกจ้างพนักงานชั่วคราวมากกว่า 2 หมื่นคนแล้ว
 
นอกจากนี้ มาตรการชั่วคราวที่บางบริษัทนำมาใช้คือการการปรับลดเวลาการผลิตลง จากเคยทำ 6 วันต่อสัปดาห์เหลือ 3-4 วันต่อสัปดาห์ จากเงินเดือนที่เคยได้ประมาณ 5,000-6,000 บาทต่อเดือน รวมกับค่าทำงานล่วงเวลาอีกจำนวนหนึ่ง พอลดเวลาทำงานลง รวมถึงการปรับลดการทำงานล่วงเวลา แรงงานส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถทนกับสภาพและภาวะค่าครองชีพได้จึงต้องยอมรับสภาพลาออกจากงานไป
 
**อิเล็กทรอนิกส์เตรียมปลดอีก 5 หมื่น 

ตามรายงานข่าวการปลดแรงงานในอุตสาหกรรมภาคไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2550 ปัจจุบันรายงานสภาวะอุตสาหกรรมยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเฉพาะในปี 2552 ที่คาดว่ายอดการส่งออกในภาคอุตสาหกรรมนี้จะอยู่ประมาณ 1.3-1.4 ล้านบาทลดลงมากกว่า 3 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

  นายจารึก เฮงรัศมี ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า จากยอดคำสั่งซื้อที่ลดลงไปกว่า 30-40% และสถานการณ์ยังไม่มีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น คาดว่า หลังเทศกาลสงกรานต์ จะมีการปลดคนงานอีกกว่า 5 หมื่นคน เพื่อลดต้นทุนของบริษัท

  นายจารึก ระบุด้วยว่า นับตั้งต้นปี 2552 เป็นต้นมา ภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้ปลดแรงงานไปแล้วกว่า 3 หมื่นคน ทางออกของปัญหาในขณะนี้คือรัฐบาลต้องเข้ามาให้การช่วยเหลือโดยการฝึกอบรมแรงงานกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกปลดออกพร้อมให้เบี้ยเลี้ยงรวมทั้งออกมาตรการด้านภาษีในการกระตุ้นยอดขายของผู้ประกอบการ
         
**ขนส่ง-โลจีสติกส์ อ่วมไม่แพ้กัน

  ภาคประกอบการการขนส่งและโลจิสติกส์ เป็นอีกภาคอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีแรงงานอยู่ในระบบประมาณ 2-3 ล้านคน จากการสำรวจโดยสภาอุตสาหกรรมฯ พบว่า จากสภาพเศรษฐกิจถดถอยทำให้บรรดาภาคขนส่ง โดยเฉพาะรถบรรทุกรับจ้างงานหดหายลงไปมาก ทำให้นายจ้างไม่สามารถรักษาสภาพการจ้างงานต่อไปได้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าหลังเทศกาลสงกรานต์หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น จะมีแรงงานได้รับผลกระทบอีกกว่า 3 แสนคน

  นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย ว่า จากการสำรวจพบว่า ในภาคขนส่งมีรถบรรทุกจอดสนิทแล้วไม่ต่ำกว่า 2.5 แสนคัน ดังนั้นผู้ประกอบการหลายรายจึงแจ้งเข้ามาว่า หลังสงกรานต์นี้อาจจะจ้างแรงงานต่อไปอีกไม่ไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานในกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุก ที่น่าเป็นห่วงคือแรงงานเหล่านี้ตกสำรวจจากทางราชการเพราะไม่อยู่ในระบบประกันสังคม
 
**งัดสารพัดวิธีกดดันลาออก

  นายธนกรณ์ สมสิน  ประธานสหภาพแรงงาน บริษัท สยามมิชลิน จำกัด กล่าวในระหว่างการรวมตัวกันของลูกจ้าง บริษัทสยามมิชลิน จำกัด และกลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ที่บริเวณด้านหน้ากระทรวงแรงงานเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า การมารวมตัวกันของพนักงาน เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาเลิกจ้างงาน รวมถึงบริษัทตัดเงินเดือนในส่วนของพนักงานถึงร้อยละ 13.04 แต่ในส่วนผู้บริหารหักเพียงร้อยละ 5 ทำให้พนักงานได้รับความเดือดร้อน จึงอยากให้รัฐมนตรีผู้มีอำนาจดูแลในเรื่องนี้เข้ามาแก้ไขปัญหา และหาข้อยุติที่เป็นที่ยอมรับของทั้ง 2 ฝ่าย

          ในส่วนข้อเรียกร้องของพนักงาน บริษัท สยามมิชลิน จำกัด มีสาระสำคัญโดยสรุป คือ 1. ขอให้บริษัทยุติการหักเงินค่าจ้าง 13.04 % ของพนักงานทั้งหมด 2.ไม่ให้บริษัทโยกย้าย หรือกลั่นแกล้งพนักงานที่ไม่ยินยอมและยินยอม 3.ในกรณีที่บริษัทประสบปัญหาเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจ ไม่ให้บริษัทเลิกจ้างพนักงานแต่ให้หาวิธีการลดค่าใช้จ่ายอย่างอื่นโดยมีตัวแทนของบริษัท และตัวแทนของพนักงาน มาประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน

          หนึ่งในแรงงานที่ร่วมขบวนไม่ขอเปิดเผยนาม กล่าวว่า ปัญหาหนักในตอนนี้คือบริษัทกดดันทุกทางเพื่อให้พนักงานจำใจลาออกเอง ที่ผ่านมาอดทนมาตลอดถึงแม้ทางบริษัทจะลดวันทำงาน ลดโอที แต่ที่หนักสุดคือโยกย้ายไปอยู่ในตำแหน่งที่พนักงานไม่ยินยอม ทำให้หลายคนทำใจไม่ได้ต้องลาออกไปในที่สุด ซึ่งในรายที่ลาออกโรงงานก็จะมีการแนะนำด้วยว่า ให้ไปลงทะเบียนกับรัฐบาลเพื่อขอเงินชดเชยกรณีว่างงาน หรือไปเข้าร่วมกับโครงการอบรมอาชีพของรัฐบาล
 
**สถิติฟ้องลาออกเองมากกว่า

จากการที่ “ASTV ผู้จัดการายวัน” ได้สำรวจข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ถึงการรายงานสถานการณ์แรงงานในระบบหรือผู้ประกันตามกฎหมายประกันสังคมที่มาขึ้นทะเบียนขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2551 – 20 มีนาคม 2552 ซึ่งเป็นการนับช่วงเวลาตั้งแต่วิกฤตโลกที่กระทบถึงประเทศไทย   

  ตัวเลขผู้ประกันตนที่มาขอขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน พบว่า มีผู้มาขอรับประโยชน์แล้ว 328,642 คน แบ่งเป็นการเลิกจ้าง 118,636 คน แต่มีข้อน่าสังเกตคือตัวเลขผู้ลาออกเองมีจำนวนที่มากกว่า คือ มียอดการลาออกเองจำนวน 210,006 คน ในจำนวนนี้ทางสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จ่ายเงินสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,983.86 ล้านบาท

  ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตัวเลขการลาออกจากงานเป็นรายเดือน พบว่า มีสถิติสูงกว่าการเลิกจ้างทุกเดือน โดยในเดือนตุลาคม 2551 แรงงานลาออกเอง 25,424 คน ถูกเลิกจ้าง 7,045 คน เดือนพฤศจิกายน ลาออกเอง 28,363 คน 2551 ถูกเลิกจ้าง 9,711 คน เดือนธันวาคม 2551 ลาออกเอง 28,426 คน ถูกเลิกจ้าง 20,867 คน เดือนมกราคม 2552 ลาออกเอง 36,776 คน ถูกเลิกจ้าง 30,000 คน และ เดือนกุมภาพันธ์ 2552 ลาออกเอง 63,836 คน ถูกเลิกจ้าง 38,103 คน ตามลำดับ
 
**อาศัยช่องโหว่กฎหมายบีบ

แหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงาน กล่าวกับ “ASTV ผู้จัดการรายวัน” ว่า สาเหตุที่ผู้ประกอบการเลือกใช้วิธีบีบบังคับให้ลาออกเอง เพราะว่า บริษัทไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ตรงนี้ภาครัฐเองโดยเฉพาะผู้ใหญ่ในกระทรวงไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการควบคุมนายจ้างที่จะอาศัยช่องโหว่ของกลไกตรงนี้เอาเปรียบลูกจ้าง และก็ไม่พยายามประชาสัมพันธ์ให้ลูกจ้างทราบ ทำให้ที่ผ่านมาลูกจ้างตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบและเสียโอกาสที่ควรจะได้รับอย่างมาก  

  เขา กล่าวต่อว่า สิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างมีโอกาสได้รับตามกฎหมายแรงงานนั้น ในกรณีที่ลาออกเองจะได้เพียงต่อเดียว คือ ได้ในกรณีที่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม ตามหลักการประกันการว่างงาน และได้น้อยกว่ากรณีการเลิกจ้าง โดยถ้าลาออกแล้วไปขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน จะได้รับเงินชดเชน เป็นเวลาสูงสุด 3 เดือน ๆ ละประมาณ 30% ของอัตราค่าจ้าง ซึ่งยังน้อยกว่ากรณีถูกเลิกจ้าง

  ส่วนในกรณีที่ถูกเลิกจ้างนั้นสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับแตกต่างกัน โดยลูกจ้าง จะได้รับสิทธิประโยชน์ 2 ต่อ ต่อแรกจากหลักการประกันการว่างงานตามกฎหมายประกันสังคม ซึ่งจะได้รับการชดเชยในอัตราร้อยละ 50 เป็นเวลา 6 เดือน

  ต่อที่สอง ได้จากนายจ้าง ที่จะต้องชดเชยให้กับลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งจะได้รับค่าจ้างเต็มวงเงินค่าจ้างสุดท้ายก่อนเลิกจ้าง เริ่มตั้งแต่จ่ายค่าจ้างให้เต็มวงเงินค่าจ้าง ในอัตราคิดเป็นวันจำนวน 30 วัน จนถึง 300 วัน ตามระยะเวลาที่ทำงาน ดังนี้ 1.ทำงานครบ 120 วัน ได้ค่าจ้าง 30 วัน 2.ทำงานครบ 1 ปี ได้ค่าจ้าง 90 วัน 3.ทำงานครบ 3 ปี ได้ค่าจ้าง 180 วัน 4.ทำงานครบ 6 ปี ได้ค่าจ้าง 240 วัน และ 5.ทำงานครบ  6 ปีขึ้นไป ได้ค่าจ้าง 300 วัน ตามลำดับ

  ดังนั้น ข้อเสนอแนะที่ดีที่สุดสำหรับลูกจ้างคือควรอดทนรอให้นายจ้างเลิกจ้างเองจะดีกว่า เพราะจะได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่า และอย่างน้อย ๆ ก็ยังมีงานทำ ไม่ตกอยู่ในสภาพคนตกงานท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกซึ่งยังมองไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวในเร็ววัน
 

สถิติผู้มาขึ้นทะเบียนว่างงาน ต.ค.51-– 20 มี.ค.52

เลิกจ้าง 118,636 คน
ลาออกเอง 210,006 คน
รวม 328,642 คน

ที่มา : กรมการจัดหางาน
กำลังโหลดความคิดเห็น