xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

บีโอไอ:การจ่ายค่าชดเชยพิเศษเมื่อนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ

เผยแพร่:   โดย: ธรรมรัตน์ รัตนพันธ์

กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนนั้น หากมีการย้ายสถานประกอบกิจการ อาจจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น ตามหลักเกณฑ์การส่งเสริมการโยกย้ายสถานประกอบกิจการของประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 1/2543 ลงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2543 เพื่อเป็นการสนับสนุนการกระจายอุตสาหกรรมไปสู่ภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม การย้ายสถานประกอบกิจการของนายจ้าง ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดผลกระทบในหลายๆ ด้านทั้งฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และบุคคลรอบข้าง โดยเฉพาะลูกจ้างที่จะต้องเดินทางไปทำงานยังสถานที่ทำงานแห่งใหม่

ผลกระทบจากการย้ายดังกล่าวควรมีการเตรียมความพร้อมทุกๆ ด้าน เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายจ้าง กับลูกจ้างหรือสหภาพแรงงาน ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายที่รุนแรง

การเตรียมการเพื่อป้องกันปัญหานี้สามารถดำเนินการได้ โดยการจัดประชุมลูกจ้างเพื่อดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงให้ฝ่ายลูกจ้างเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องย้ายสถานประกอบกิจการไปจากแห่งเดิม โดยอาจทำการสำรวจความต้องการหรือความคิดเห็นในเบื้องต้นว่า ผู้ใดสามารถย้ายไปทำงานยังสถานที่แห่งใหม่ได้ หรือผู้ใดไม่สามารถไปได้ ทั้งนี้ จะได้ทราบจำนวนลูกจ้าง เพื่อเตรียมมาตรการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับอัตรากำลังคนได้อย่างถูกต้องเหมาะสมตรงตามความต้องการของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง

ในส่วนของผู้ที่ไม่สามารถย้ายไปทำงานที่ใหม่ได้ จนต้องลาออกจากงาน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้

กรณีการเลิกจ้างเพราะเหตุนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ มาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 นั้น มีเงื่อนไขที่นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษให้แก่ลูกจ้างเนื่องจากย้ายสถานประกอบกิจการ ต้องประกอบด้วยเงื่อนไข 2 ประการ

ประการแรก การย้ายสถานประกอบกิจการของนายจ้างนั้นเป็นการย้ายไปยังที่แห่งอื่น ซึ่ง
ไม่ใช่ที่เดิม และ

ประการที่สองสถานที่แห่งใหม่ที่จะย้ายไปอยู่ จะต้องมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิต
ตามปกติของลูกจ้างและครอบครัว อันทำให้นายจ้างต้องจ่ายเงินค่าชดเชยพิเศษให้ลูกจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยปกติที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับกรณีนายจ้างเลิกจ้างตาม มาตรา 118 (กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างตามมาตรา 118 จ่ายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน 90 วัน 180 วัน 240 วัน และ 300 วัน)

หน้าที่ของนายจ้าง จะต้องแจ้งวันที่จะย้ายให้ลูกจ้างได้ทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนวันที่จะทำการย้าย หากนายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบเป็นการล่วงหน้า หรือแจ้งให้ทราบล่วงหน้าแต่น้อยกว่า 30 วัน นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วันหรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงาน 30 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษ หรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างภายใน 7 วันนับแต่วันที่ลูกจ้างบอกเลิกสัญญา หากนายจ้างไม่จ่ายภายในกำหนดเวลาดังกล่าวลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานภายใน 30 วันนับแต่วันครบกำหนดการจ่ายค่าชดเชยพิเศษ หรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ทั้งนี้ คำสั่งของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานให้เป็นที่สุด เว้นแต่นายจ้างหรือลูกจ้างจะอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง

สิทธิของลูกจ้าง เมื่อนายจ้างย้ายสถานประกอบการดังกล่าวลูกจ้างมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาจ้างซึ่งการบอกเลิกดังกล่าวลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 118 สิทธิในการบอกเลิกสัญญาจ้างนี้ลูกจ้างจะต้องใช้สิทธิบอกเลิกภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายจ้าง หรือวันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ แล้วแต่กรณี

ถ้าเป็นกรณีที่นายจ้างขยายกิจการโดยไปเปิดโรงงานเพิ่ม และย้ายพนักงานจำนวนหนึ่งไปทำงานยังโรงงานแห่งใหม่นี้ ลูกจ้างจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างและรับค่าชดเชยพิเศษไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องย้ายคนงาน ไม่ใช่ย้ายสถานประกอบกิจการ และหากนายจ้างมีสถานประกอบกิจการหลายสาขา ต่อมามีการเวนคืนอันเป็นที่ตั้งของโรงงานสาขาหนึ่ง ทำให้นายจ้างต้องปิดโรงงานที่หนึ่ง และย้ายพนักงานทั้งหมดไปอีกสาขาหนึ่งซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว ถือว่าเป็นการย้ายคนงาน ไม่ใช่ย้ายสถานประกอบกิจการตามมาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2228/2545 ได้วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 120 บัญญัติยกเว้นพิเศษให้นายจ้างมีความรับผิดมากขึ้นกว่าปกติในค่าชดเชยพิเศษและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด

ตามมาตรา 120 หมายถึง กรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปสถานที่อื่นหรือสถานที่แห่งใหม่ มิได้หมายความรวมถึงสถานประกอบกิจการอื่นซึ่งนายจ้างมีอยู่ก่อนแล้ว

จำเลยมีคำสั่งปิดสำนักงานแผนกการขายที่กรุงเทพมหานครและย้ายพนักงานขายทั้งหมดไปทำงานที่หน่วยงานของจำเลยในจังหวัดภูเก็ต โดยขณะจำเลยสั่งย้ายโจทก์ จำเลยมีสถานประกอบกิจการที่จังหวัดภูเก็ตอยู่ก่อนแล้ว จึงเป็นกรณีนายจ้างสั่งย้ายลูกจ้างให้ไปทำงานที่สถานประกอบกิจการของนายจ้างอีกแห่งหนึ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ จึงไม่เป็นกรณีที่จำเลยย้ายสถานประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 120 โจทก์ไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชยพิเศษและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

การย้ายสถานประกอบกิจการไปรวมกับสาขาที่มีอยู่เดิมก่อนแล้วได้มี คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6881/2549 วินิจฉัยว่า คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานได้วินิจฉัยแล้วว่า การที่โจทก์ย้ายโรงงานและสำนักงานแห่งใหญ่ที่กรุงเทพฯ ไปรวมกับสำนักงานสาขาที่จังหวัดนครพนม เป็นการย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น อันมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว จำเลยทั้งสิบสองซึ่งเป็นลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างโดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 120

หากโจทก์ไม่พอใจคำสั่งดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยตามมาตรา 120 วรรคท้าย โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานจึงเป็นที่สุดและย่อมผูกพันโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะยกประเด็นเรื่องการย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น และการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างตามมาตรา 120 วรรคท้าย ซึ่งยุติไปแล้วมาอ้างในชั้นนี้

แต่อย่างไรก็ตามเห็นว่า การย้ายสถานประกอบกิจการไปรวมกับสาขาที่มีอยู่เดิมก่อนแล้ว ไม่ถือเป็นการย้ายสถานประกอบกิจการไม่ว่าการย้ายนั้นจะไกลเพียงใด หรือกระทบต่อการดำรงชีวิตของลูกจ้างเพียงใดก็ตาม เนื่องจากนายจ้างย่อมมีอำนาจบริหารงานสั่งให้ลูกจ้างไปทำงานยังสถานประกอบกิจการอื่นของนายจ้างที่มีอยู่เดิมแล้วได้ตามความเหมาะสม ลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแล้วขอรับค่าชดเชยพิเศษตามที่กฎหมายกำหนด

หากนายจ้างมีสถานประกอบกิจการอยู่กรุงเทพฯ และมีสาขาอยู่จังหวัดนครพนม นายจ้างต้องการย้ายสถานประกอบกิจการที่กรุงเทพฯ ไปอยู่ที่นครพนม แต่ไม่อาจย้ายไปรวมกับสาขาที่มีอยู่เดิมได้ เนื่องจากมีการใช้พื้นที่เต็มศักยภาพแล้ว ไม่อาจขยายหรือรับเพิ่มได้อีกต่อไป นายจ้างจึงจำเป็นต้องหาพื้นที่ใหม่สำหรับสร้างสถานประกอบกิจการใหม่ การย้ายสถานประกอบกิจการจากกรุงเทพฯ ไปนครพนมนี้มิใช่เป็นการย้ายไปรวมกับสาขาที่มีอยู่เดิม การย้ายอย่างนี้ถือเป็นการย้ายสถานประกอบกิจการแน่นอน ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแล้วขอรับค่าชดเชยพิเศษตามที่กฎหมายกำหนดได้

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น