xs
xsm
sm
md
lg

บทบาทของเอเอสทีวีในการเรียนรู้ทางการเมือง : ศึกษากรณีเฉพาะผู้ชมเอเอสทีวีในจังหวัดมหาสารคาม (2)

เผยแพร่:   โดย: ชญานุช วีรสาร

การวิจัยผู้ชมในจังหวัดมหาสารคามที่ติดตามชมการถ่ายทอดสดการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจากเอเอสทีวีตลอด 193 วันของนั้น นอกจากจะเห็นถึงบทบาทในการเรียนรู้ทางการเมืองแล้ว ยังสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางประชากรศาสตร์กับพฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารและการเรียนรู้ทางการเมืองของผู้ชมเอเอสทีวีในจังหวัดมหาสารคามอีกด้วย

ในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางประชากรศาสตร์มหาสารคามกับการเปิดรับข่าวสารของผู้ชมเอเอสทีวีในจังหวัด ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 พบว่าเพศ และการศึกษาไม่มีความสัมพันธ์กับการเปิดรับสาร ส่วนอายุ อาชีพและรายได้มีความสัมพันธ์กับการเปิดรับสาร

ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางประชากรศาสตร์ของผู้ชมเอเอสทีวีในจังหวัดมหาสารคามกับการเรียนรู้ทางการเมือง ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 พบว่าเพศและการศึกษาไม่มีความสัมพันธ์กับการเรียนรู้ทางการเมือง ส่วนอายุ อาชีพ และรายได้มีความสัมพันธ์กับการเรียนรู้ทางการเมือง

ผลการศึกษาทั้งสองส่วนนี้ แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ของการเปิดรับสารและการเรียนรู้ทางการเมืองกับลักษณะทางประชากรศาสตร์มีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ การเรียนรู้ทางการเมืองและการเปิดรับสารนั้นเกิดขึ้นได้โดยไม่จำกัดเพศและการศึกษา ซึ่งทั้งเพศหญิงและเพศชายก็สามารถเปิดรับสารและมีการเรียนรู้ทางการเมืองได้ไม่แตกต่างกัน ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเพศใดจะเรียนรู้ได้มากกว่ากัน

แม้ว่าภาพการเข้าร่วมชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่อยู่ในกรุงเทพฯ จะสังเกตว่าผู้ร่วมชุมนุมส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่ก็ไม่สามารถสรุปได้เช่นกันว่าการมีร่วมชุมนุมอย่างที่เห็นจากการสังเกตนั้นชี้บ่งบอกว่าเพศหญิงสนใจการเมืองมากกว่าเพศชาย เพราะเราไม่อาจจะทราบได้ว่าเพศชายที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมนั้นจะมีการรับรู้ ทัศนคติ อย่างไรหรือการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยวิธีการใดบ้าง เนื่องจากไม่ได้ทำการสำรวจเปรียบเทียบ

เช่นเดียวกับระดับการศึกษาที่ผลการวิจัยครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นว่าการศึกษาไม่สัมพันธ์กับการเปิดรับสารและการเรียนรู้ทางการเมือง กล่าวคือ ผู้ที่มีระดับการศึกษาที่เป็นทางการต่ำไม่ได้หมายความว่าจะไม่อาจเรียนรู้หรือมีความรู้ทางการเมืองได้ เมื่อพวกเขาเลือกที่จะเปิดรับสารจากสื่อโทรทัศน์แทนสื่อหนังสือพิมพ์ที่มีข้อจำกัดสำหรับคนที่มีระดับการศึกษาต่ำ ผลปรากฏว่าสิ่งที่ได้จากการเปิดรับสื่อโทรทัศน์โดยเฉพาะเอเอสทีวีที่มีเนื้อหาทางการเมืองชัดเจนติดต่อกันเป็นประจำก็ทำให้พวกเขาสามารถเรียนรู้ทางการเมืองได้ไม่แตกต่างจากผู้ที่มีระดับการศึกษาที่เป็นทางการสูงแต่อย่างใด

ประเด็นนี้สามารถหักล้างผลการวิจัยจำนวนมากที่พบว่า การเปิดรับหนังสือพิมพ์มีสหสัมพันธ์ในเชิงบวกกับการมีความรู้เกี่ยวกับกิจการสาธารณะสูงกว่าการเปิดรับข่าวโทรทัศน์ การวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า สหสัมพันธ์ระหว่างเนื้อที่ที่ให้ข่าวในหนังสือพิมพ์กับการจำสาระสำคัญของข่าวนั้นสูงกว่าสหสัมพันธ์ระหว่างเวลาที่ให้กับข่าวในโทรทัศน์กับการจำสาระสำคัญของข่าวนั้น (เสถียร เชยประทับ, 2552 : 306) ซึ่งผลการวิจัยครั้งนี้ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าสื่อโทรทัศน์ หากนำเสนอเนื้อหาเชิงลึกเช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ และผู้รับชมใช้เวลาในการเปิดรับสารเป็นประจำก็สามารถมีความรู้ได้โดยความรู้นั้นไม่จำเป็นต้องมาจากการอ่านหนังสือพิมพ์เท่านั้น

สำหรับอายุ อาชีพ และรายได้กับการเปิดรับข่าวสารและการเรียนรู้ทางการเมือง เมื่อดูในรายละเอียดพบว่า เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน คือ กลุ่มผู้ชมที่อายุ 18-25 ปี อาชีพนักเรียน/นักศึกษา และมีรายได้ 5,000-10,000 บาทนั้น มีการเปิดรับข่าวสารและการเรียนรู้น้อยกว่าช่วงอายุ อาชีพ และกลุ่มรายได้อื่นๆ ซึ่งอาจสรุปได้ว่าเป็นเพราะช่วงอายุดังกล่าวนั้นยังขาดซึ่งความสนใจต่อข่าวสารการเมือง สังเกตจากการรับรู้ทางการเมืองและทัศนคติทางการเมืองของผู้ตอบแบบสอบถามในช่วงอายุนี้มีคำตอบส่วนใหญ่คือ “ไม่แน่ใจ” ซึ่งตรงกับแนวคิดช่องว่างของความรู้ (Knowledge Gap) ที่กล่าวถึงการศึกษาโดยยกตัวอย่างงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาผู้ตอบแบบสอบถามว่า “ไม่ทราบ” โดยเรียกพวกที่ตอบเช่นนี้ว่า “พวกเป็นกลางที่ไม่สนใจไยดีอะไร” (เสถียร เชยประทับ, อ้างแล้ว : 310-311)

เช่นเดียวกับคำตอบว่า “ไม่แน่ใจ” สรุปได้ว่าเป็นพวกที่ใช้สื่อมวลชนน้อย มีความรู้น้อย แต่ไม่อาจจะสรุปได้ว่าคนเหล่านี้มีการศึกษาต่ำ เนื่องจากผลสรุปข้างต้นได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการศึกษาสูงหรือต่ำไม่ได้มีผลต่อการเรียนรู้ทางการเมือง และเมื่อไม่ได้ให้ความสนใจเปิดรับสารที่เกี่ยวข้องกับการเมืองที่อาจจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวกับวัยของตน หรือการเมืองไม่ได้ส่งผลกระทบกับอาชีพของตนเท่าใดนัก จึงไม่ได้สนใจที่จะเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองด้วย

อย่างไรก็ดี ประเด็นการเปิดรับสารกับการเรียนรู้ทางการเมือง เมื่อดูในรายละเอียดของการตอบแบบสอบถามพบว่าผู้ที่รับชมเอเอสทีวีมีเหตุผลของการรับชมส่วนใหญ่คือ ต้องการข่าวสารที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน แสดงให้เห็นว่าผู้ชมนั้นมีความเชื่อในหน้าที่พลเมืองที่ดีในระบอบประชาธิปไตยที่จำเป็นจะต้องติดตามข่าวสาร (เสถียร เชยประทับ, อ้างแล้ว : 318) โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ติดตามชมเอเอสทีวีเป็นประจำทุกวัน หรือติดตามชมวันละหลายชั่วโมง ซึ่งความสนใจข่าวสารนี้ถือเป็นการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองที่เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ทางการเมืองด้วยเช่นกัน

อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้ศึกษาสนใจจากการตอบแบบสอบถามคือ ความแตกต่างระหว่างลักษณะทางประชากรศาสตร์กับการรับรู้หรือการมีความรู้ทางการเมืองของผู้ชมเอเอสทีวีในจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งพบว่าข้อมูลเกี่ยวกับเพศและการศึกษามีการรับรู้ทางการเมืองในระดับปานกลางที่ไม่แตกต่างกัน ขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับอายุ อาชีพ และรายได้มีการรับรู้ทางการเมืองในระดับที่แตกต่างกัน แต่ไม่มีข้อมูลในกลุ่มใดที่มีการรับรู้ทางการเมืองน้อยเลย อาจกล่าวได้ว่าการเปิดรับสื่อเอเอสทีวีอย่างสม่ำเสมอมีผลต่อการรับรู้ทางการเมืองได้เป็นอย่างดี

มีประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องอายุ พบว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปีมีการรับรู้มากกว่าช่วงอายุอื่นๆ รองลงมาเป็นช่วงอายุ 46-55 ปี แสดงให้เห็นว่าวัยสูงอายุมีความสนใจที่จะเปิดรับข่าวสารการเมืองมากกว่าวัยอื่น เนื่องจากเป็นวัยที่ส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้ทำงานแล้ว หรือวัยเกษียณ จึงเป็นเหตุผลให้มีเวลาการเปิดรับสื่อเพิ่มขึ้นและมองว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว ซึ่งส่งผลให้มีการจดจำเนื้อหาจากเอเอสทีวีมากขึ้นด้วย โดยผลการศึกษาประเด็นนี้สอดคล้องกับการสังเกตกลุ่มผู้เข้าร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยกลางคนจนถึงวัยสูงอายุทั้งชายและหญิง

ประเด็นของการศึกษา ผู้ชมเอเอสทีวีในแต่ละระดับการศึกษามีการรับรู้ทางการเมืองระดับปานกลางไม่แตกต่างกัน แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าการศึกษาระดับใดก็มีการรับรู้ทางการเมืองได้เท่าๆ กัน ผู้ที่มีการศึกษาสูงไม่ได้หมายความว่าจะมีการรับรู้ทางการเมืองที่มากกว่าผู้ที่มีการศึกษาต่ำ ผู้วิจัยมองว่าระดับการศึกษาที่เป็นทางการไม่ใช่อุปสรรคในการรับรู้ จากการปราศรัยของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เปรียบเทียบการชุมนุมบนท้องถนนราชดำเนินของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มีการให้ความรู้จากนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาให้ความรู้ตลอด 193 วันว่าเป็น “มหาวิทยาลัยราชดำเนิน” โดยผู้ที่มาร่วมชุมนุมและผู้ชมเอเอสทีวีไม่ว่ามีการศึกษาในระดับใดต่างก็เป็นนักศึกษาที่สามารถรับข้อมูลข่าวสารได้เท่าเทียมกัน

ดังนั้น ผลการวิจัยดังกล่าวจึงไม่สอดคล้องกับสมมติฐานเรื่องของช่องว่างของความรู้ (เสถียร เชยประทับ. อ้างแล้ว) ที่เน้นว่าผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่าจะเรียนรู้ข่าวสารด้วยอัตราความเร็วที่สูงกว่าผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่า

แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการรับรู้ทางการเมืองของประชาชนคือ การเข้าถึงความหลากหลายและเนื้อหาของสื่อมากกว่า หากประชาชนไม่ต้องการเปิดรับสื่อที่ให้ความรู้และสื่อเองก็นำเสนอเนื้อหาเพียงบางส่วน ผู้รับสารก็ไม่มีการรับรู้ทางการเมืองเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อมีข่าวสารที่มีความหลากหลายสามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างเต็มที่ และมีสื่อที่ทำหน้าที่นำเสนอเนื้อหาที่ครบถ้วนรอบด้าน ประชาชนก็สามารถรับรู้เพิ่มมากขึ้นได้ จากอุปสรรคนี้เองจึงมีความพยายามที่จะบริจาคจานรับสัญญาณดาวเทียมเอเอสทีวีให้แก่หมู่บ้านในชนบทเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงสื่อได้เท่าเทียมกัน

ประเด็นของอาชีพ ผู้ชมที่อยู่ในกลุ่มอาชีพเป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน เป็นผู้ที่มีการรับรู้มาก รองลงมาเป็นกลุ่มอาชีพในตัวเลือกอื่นๆ เช่น เกษตรกร ข้าราชการบำนาญ เมื่อดูในรายละเอียดของการตอบแบบสอบถามยังพบอีกว่า คนสองกลุ่มนี้มีความถี่ของระยะเวลาในการเปิดรับสื่อค่อนข้างมาก คือรับชมทุกวันๆ ละหลายชั่วโมง ซึ่งส่งผลให้จดจำเนื้อหาจากเอเอสทีวีได้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ ด้วย แสดงให้เห็นว่าการรับชมเอเอสทีวีในรายการซ้ำๆ ถี่ๆ เป็นประจำด้วยความตั้งใจ สามารถสร้างความรู้หรือการรับรู้ทางการเมืองแก่ผู้ชมได้ และการที่กลุ่มอาชีพดังกล่าวจดจำเนื้อหาจากเอเอสทีวีได้มากนั้น เนื่องจากมีเวลาว่างในแต่ละวันมากกว่าอาชีพอื่นๆ จึงเป็นเหตุให้ใช้เวลาว่างเปิดรับสื่อโทรทัศน์มากเป็นพิเศษด้วย

ประเด็นของรายได้ พบว่ากลุ่มรายได้ที่สูงกว่า 40,000 บาทมีการรับรู้มาก รองลงมาเป็นกลุ่มรายได้ 30,000-40,000 บาท แสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีรายได้สูงจะมีความสนใจการเมืองมาก มีการเปิดรับสื่ออย่างต่อเนื่อง และสามารถจดจำเนื้อหาจากเอเอสทีวีได้มากเช่นกัน เมื่อดูรายละเอียดพบว่ากลุ่มรายได้สูงเหล่านี้จะมีเหตุผลที่รับชมเอเอสทีวีที่ใกล้เคียงกันคือ ไม่ชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอาจสรุปได้ว่าผู้ที่มีรายได้สูงเห็นว่าระบอบทักษิณมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งความมั่นคงของประเทศซึ่งจะส่งผลมายังรายได้ของตนด้วย

เอกสารอ้างอิง

Schoenbach, Klaus and Weaver, David H. 1985. Mass Media and Political Thought : an information Processing Approach. Beverly Hills: Sages

เสถียร เชยประทับ. 2540. การสื่อสารกับการเมือง เน้นสังคมประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เสถียร เชยประทับ. 2552. มติมหาชน การสื่อสาร และการเมือง. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
กำลังโหลดความคิดเห็น