xs
xsm
sm
md
lg

บทบาทของเอเอสทีวีในการเรียนรู้ทางการเมือง : ศึกษากรณีเฉพาะผู้ชมเอเอสทีวีในจังหวัดมหาสารคาม (1)

เผยแพร่:   โดย: ชญานุช วีรสาร

จากปรากฏการณ์การชุมนุมทางการเมืองต่อต้านระบอบทักษิณของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เริ่มจากวันที่ 25 พฤษภาคม 2551 จนกระทั่งถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2551 เป็นเวลา 193 วัน ที่มีทั้งการปราศรัย การเสวนา การเล่าข่าว จากแกนนำพันธมิตรฯ อดีตนักการเมือง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักวิชาการ วิทยากรจากหลากหลายสาขาอาชีพ จนเป็นเวทีที่ได้รับการยกระดับให้เป็นมหาวิทยาลัย โดยมีผู้ชมทางบ้านและผู้ร่วมชุมนุมเป็นนักศึกษา

ขณะที่การชุมนุมครั้งนี้ได้มีการถ่ายทอดสดตลอด 24 ชั่วโมงผ่านทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี ที่ประกาศเป็นสื่อโทรทัศน์ที่ต่อต้านระบอบทักษิณ พิทักษ์รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในวงการโทรทัศน์เช่นกัน

เอเอสทีวีได้ถ่ายทอดสดการชุมนุมหลายช่องทางได้แก่ การออกอากาศผ่านทางเคเบิลทีวีท้องถิ่น จานรับสัญญาณผ่านดาวเทียม DHL การถ่ายทอดเสียงผ่านวิทยุชุมชน และอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้มีจำนวนผู้ชมเพิ่มขึ้น โดยมีรายงานจากเอเชียไทม์ออนไลน์ว่า ปัจจุบันมีผู้ชมเอเอสทีวีอยู่ประมาณ 20 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากปี 2549

เนื่องจากการนำเสนอข่าวสารการเมืองในด้านที่ไม่อาจหาดูได้จากโทรทัศน์ของรัฐ รวมทั้งยอดขายจานรับสัญญาณดาวเทียมเอเอสทีวีที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในจำนวนนั้นเป็นผู้ชมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่นอกจากจะติดตามการถ่ายทอดสดการชุมนุมของพันธมิตรฯ จากเอเอสทีวีแล้วยังได้จัดตั้งเป็นกลุ่มการเมืองภาคประชาชนในนามของพันธมิตรฯ แต่ละจังหวัดเช่นเดียวกับภูมิภาคอื่น โดยมิได้สนใจว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นฐานเสียงสำคัญของกลุ่มอำนาจเก่าของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

เมื่อมีการจัดชุมนุมย่อยของภาคประชาชนในแต่ละจังหวัดแต่ละครั้ง จึงก่อให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างผู้ที่ต่อต้านระบอบทักษิณกับผู้ที่ยังศรัทธาต่อระบอบทักษิณอยู่ และฝ่ายที่มีความเห็นตรงข้ามมีการใช้ความรุนแรงทำร้ายพันธมิตรฯ ที่จัดชุมนุม ดังที่ปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 ที่จังหวัดบุรีรัมย์ วันที่ 23 กรกฎาคม 2551 ที่จังหวัดมหาสารคาม และวันที่ 25 กรกฎาคม 2551 ที่จังหวัดอุดรธานี

หนึ่งในจังหวัดที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นคือ จังหวัดมหาสารคาม ที่มีผู้ที่ติดตามรับชมเอเอสทีวีจำนวนหนึ่งและมีการรวมตัวกันเข้าร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ ทั้งในกรุงเทพฯ และที่จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าเหตุใดประชาชนเหล่านี้จึงมีแนวความคิดที่แตกต่างจากประชาชนส่วนใหญ่ของจังหวัดมหาสารคาม และมีการแสดงออกเช่นนั้นได้ในสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่มีฐานเสียงเดิมอยู่เต็มพื้นที่

ขณะเดียวกันเอเอสทีวีที่แม้จะเสียเปรียบฟรีทีวีช่องอื่นๆ ในการแสวงหาช่องทางรับชม แต่กลับมาผู้ชมเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของวงการโทรทัศน์ไทยที่กลายเป็นสื่อที่มีอิทธิพลทางการเมืองต่อผู้รับสาร แทนที่สื่อมวลชนอย่างหนังสือพิมพ์เช่นในอดีตได้

ดังนั้น การวิจัยครั้งนี้ผู้ศึกษาจึงต้องการทราบบทบาทของเอเอสทีวีในการเรียนรู้ทางการเมืองของผู้ชมในจังหวัดมหาสารคามว่าเป็นอย่างไร โดยการเรียนรู้ทางการเมืองในที่นี้หมายถึงการรับรู้ทางการเมือง ทัศนคติทางการเมือง และการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง

จากการวิเคราะห์แบบสอบถามของผู้ชมเอเอสทีวี 100 คน ผู้ศึกษาพบว่า นอกจากเอเอสทีวีจะทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมบนเวทีพันธมิตรฯ แล้ว ยังเป็นการทำหน้าที่ให้การรับรู้ ทัศนคติ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วย แม้ว่าจังหวัดมหาสารคามจะมีผู้เปิดรับเอเอสทีวีเพียงบางส่วน แต่ผลการวิจัยก็แสดงให้เห็นว่าสำหรับผู้ที่เปิดรับเหล่านั้นได้มีการรับรู้ มีทัศนคติ และเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองจากเอเอสทีวีในระดับหนึ่ง และการทำหน้าที่นี้เองที่สะท้อนถึงบทบาทที่สำคัญของเอเอสทีวีในการเรียนรู้ทางการเมือง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นสื่อกลางของการติดต่อสื่อสารกันระหว่างประชาชนที่เป็นพันธมิตรฯ กับแกนนำ และระหว่างพันธมิตรฯ ทั่วประเทศด้วยกันเอง เพื่อให้การทำกิจกรรมทางการเมืองดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง ดังที่สนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวว่า “เมื่อใดไม่มีเอเอสทีวี พันธมิตรฯ ก็ยากที่จะรวมตัวกัน” (รายการคนในข่าว 25 กุมภาพันธ์ 2552)

จากผลการวิจัยครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารจากเอเอสทีวีของผู้ชมที่ชมเป็นประจำทั้งความถี่ในการรับชมและระยะเวลาในการรับชม โดยไม่เปิดรับสื่อหนังสือพิมพ์เลย หรือเปิดรับสื่อหนังสือพิมพ์ไปพร้อมๆ กับการเปิดรับเอเอสทีวีและสื่ออื่นๆ นั้น ทำให้ผู้ชมมีความรู้หรือการรับรู้มาก โดยอ้างจากผลการศึกษาการรับรู้ทางการเมืองของผู้ตอบแบบสอบถาม ซึ่งการรับรู้นี้เกิดจากการติดตามรับชมรายการต่างๆ ตลอด 193 วัน ไม่ว่าจะเป็นการปราศรัย การเสวนา การอภิปราย การเล่าข่าว และการชี้แจง

จะเห็นได้ว่าปรากฏการณ์การถ่ายทอดสดการชุมนุมยาวนานถึง 193 วันนั้นยังไม่มีสื่อโทรทัศน์ใดเคยทำมาก่อน และจากผลการวิจัยครั้งนี้สามารถหักล้างความเชื่อหรือผลการวิจัยเดิมๆ ที่ว่าหนังสือพิมพ์สามารถรายงานข่าวเชิงลึกได้มากกว่า และผู้เปิดรับข่าวหนังสือพิมพ์จะสามารถจดจำสาระสำคัญและความรู้เกี่ยวกับกิจการสาธารณะสูงกว่าการเปิดรับข่าวโทรทัศน์ลงไปได้ ซึ่งเอเอสทีวีได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถนำเสนอข้อมูลเชิงลึกได้ รวมทั้งการถ่ายทอดภาพสด (Live) ขณะเกิดเหตุการณ์จริงๆ ที่สามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างละเอียดและเห็นภาพชัดเจน อาทิ

เหตุการณ์ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ที่หน้ารัฐสภา และกองบัญชาการตำรวจนครบาล การยิงระเบิดเอ็ม 79 มายังกลุ่มผู้ชุมนุมที่กำลังฟังการปราศรัยอยู่หน้าเวทีภายในทำเนียบรัฐบาล หรือการยิงปืนอาก้ามายังสตูดิโอขณะที่ผู้ดำเนินรายการกำลังถ่ายทำรายการอยู่ เป็นต้น และภาพเหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้ถูกนำมาถ่ายทอดซ้ำๆ ในรายการต่างๆ ของเอเอสทีวีด้วย ถือเป็นความได้เปรียบสื่อหนังสือพิมพ์อย่างมาก

ในส่วนของทัศนคติทางการเมืองนั้น เอเอสทีวีมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้ชมที่มีก่อนหน้านี้ กล่าวคือ ก่อนจะเปิดรับเอเอสทีวีผู้ชมส่วนหนึ่งอาจนิยมชมชอบหรือรู้สึกเฉยๆ ต่อ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร แต่หลังจากได้รับข้อเท็จจริงเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับพ.ต.ท.ทักษิณ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจึงเกิดการเปรียบเทียบข้อเท็จจริงกับสื่ออื่นๆ และเห็นด้วยกับข้อมูลที่ได้รับจากเอเอสทีวี จนมีความรู้สึกนึกคิดและมองภาพลักษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ เปลี่ยนไปจากเดิม และมีทัศนคติอื่นๆ ในเชิงบวกต่อพันธมิตรฯ เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดอิทธิพลของสื่อมวลชนต่อความคิดเห็นของประชาชนและภาพลักษณ์ของนักการเมือง ที่ว่าข่าวสารเป็นองค์ประกอบหนึ่งของภาพลักษณ์ทางการเมือง มนุษย์ในยุคปัจจุบันอยู่ภายใต้อิทธิพลของกระแสข่าวสารจากสื่อมวลชน สื่อมวลชนจึงมีอิทธิพลต่อการเกิดภาพลักษณ์ของผู้เปิดรับสื่อมวลชน (เสถียร เชยประทับ. 2540 : 170)

ขณะเดียวกันผู้ชมอีกส่วนหนึ่งมีทัศนคติต่อ พ.ต.ท.ทักษิณที่ไม่ดีอยู่แล้ว เมื่อได้รับข้อมูลจากเอเอสทีวีเพิ่มเติม จึงเป็นการเพิ่มระดับทัศนคติที่เป็นลบมากยิ่งขึ้น เท่ากับเป็นการตอกย้ำให้คิดว่าสิ่งที่ตนคิดอยู่นั้นเป็นความจริง และพร้อมที่จะเชื่อข้อมูลใหม่ๆ รวมทั้งแสดงความรู้สึกนึกคิดออกมาตามที่ต้องการและยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้ เช่นเดียวกับแนวคิดของ คีย์ (Key. 1961 : 396) กล่าวไว้ว่าอิทธิพลสำคัญของสื่อมวลชนที่มีต่อทัศนคติทางการเมือง คือ การเสริมสถานภาพเดิม ส่วนหนึ่งมาจากแนวโน้มของประชาชนผู้รับสารมักให้ความสนใจกับสื่อมวลชน ถ้าเนื้อหาของสื่อมวลชนสอดคล้องกับความคิด ความเชื่อ หรือทัศนคติที่เป็นอยู่ของตน ถ้าไม่สอดคล้อง เนื้อหานั้นก็อาจไม่เข้าถึงประชาชน

จากความคิด ความเชื่อ หรือทัศนคติดั้งเดิมที่สะสมมาเป็นระยะเวลานานอยู่ในสมองของผู้รับสารจะตีความภายใต้สภาพแวดล้อมของตน เช่น ในท้องถิ่นมีนักการเมืองซื้อเสียงเลือกตั้ง หรือฉ้อราษฎร์บังหลวงอยู่เสมอ เมื่อเอเอสทีวีนำเสนอข้อมูลของรัฐบาลที่ไม่ชอบมาพากลก็ตีความไปว่าเป็นเรื่องจริง เห็นควรเชื่อถือได้ เพราะรับรู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมตนอยู่ก่อนแล้ว อย่างเช่นประชาชนในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุมหรือแสดงออกด้วยสัญลักษณ์การต่อต้านรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับรายละเอียดของแบบสอบถามที่ได้มีผู้ชมใช้ประโยชน์จากข้อมูลของเอเอสทีวีเพื่อตัดสินใจในการเข้าร่วมชุมนุม

ยังมีผลการวิจัยหลายชิ้นก่อนหน้านี้พบว่า โดยทั่วไปสื่อมวลชนไม่มีอิทธิพลโดยตรงต่อมวลชน สื่อมวลชนจะเข้าถึงผู้นำทางความคิดก่อนแล้วผู้นำทางความคิดจะถ่ายทอดเนื้อหานั้นให้กับผู้ที่ตนมีอิทธิพลด้วยคำพูด หรือผู้ตามความคิดแสวงเนื้อหานั้นจากผู้นำความคิด แต่จากผลการศึกษาครั้งนี้กลับพบว่าสื่อมวลชนมีอิทธิพลต่อมวลชนโดยตรง

เมื่อรับชมเนื้อหาจากเอเอสทีวีแล้วผู้ชมก็สามารถแสดงออกทางพฤติกรรมและความรู้สึกนึกคิดของตนได้เอง โดยสังเกตจากการที่แกนนำพันธมิตรฯ เรียกรวมพลเพื่อชุมนุมใหญ่ ดาวกระจาย แสดงอารยะขัดขืน แสดงสัญลักษณ์ หรือการขอรับบริจาคสิ่งของต่างๆ จากพันธมิตรฯ ที่ชุมนุมที่กรุงเทพฯ ผ่านทางเอเอสทีวีไปยังประชาชน และก็ได้รับการตอบสนองทันทีโดยไม่จำเป็นต้องผ่านผู้นำความคิดแต่อย่างใด

หลายต่อหลายครั้งที่เอเอสทีวีได้มีบทบาทในการจุดประกายความคิดความสนใจในข่าวสารการเมืองให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะวาทกรรมเรื่องรัฐบาลประชาภิวัฒน์ และการเมืองใหม่ จนกลายเป็นกระแสที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนและแนวร่วมที่ต่อต้านการเมืองเก่า ขณะเดียวกันยังสามารถช่วงชิงพื้นที่ข่าวได้จากสื่ออื่นๆ อีกด้วย

นอกจากนี้เอเอสทีวียังได้ชี้ให้เห็นว่าการชุมนุมด้วยสันติ อหิงสา อโหสิ นั้นเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพ ดังที่เสถียร เชยประทับ (2552 : 319) ให้แนวคิดว่าสื่อมวลชนให้ตัวอย่างในการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง ในการรายงานพฤติกรรมหรือการกระทำทางการเมือง สื่อมวลชนช่วยชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมทางการเมืองแบบใดที่มีประสิทธิภาพ แบบใดที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม บทบาทของเอเอสทีวีในการเรียนรู้ทางการเมืองชัดเจนเพียงในส่วนของการรับรู้และทัศนคติทางการเมืองเท่านั้น ขณะที่ในส่วนของการมีส่วนร่วมทางการเมืองอื่นๆ เช่น การร่วมชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองด้วยสัญลักษณ์ การแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ ยังมีไม่มากพอ มีเพียงการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนรอบข้างเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ที่พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองนั้นได้แสดงให้เห็นว่าเป็นกลุ่มที่มีความกระตือรือร้นในข่าวสารการเมือง มีการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ข่าวสารการเมืองอยู่เสมอ จึงเป็นกลุ่มที่รับผลกระทบการเมืองได้ง่าย (Klaus Schenbach. 1985 : 166, 168)

จากการลงพื้นที่ศึกษาข้อเท็จจริงพบว่า การเปิดรับเอเอสทีวีในจังหวัดมหาสารคามยังมีจำนวนน้อย จึงยังไม่สามารถมีบทบาทสูงพอที่จะทำให้คนในจังหวัดเรียนรู้ทางการเมืองได้โดยพร้อมเพรียงกัน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนทางการเมืองในภาคประชาชนยังเห็นได้ไม่ชัดเจนเท่ากับในหลายๆ พื้นที่ของประเทศไทย และอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ส่งผลให้การเมืองระดับชาติของจังหวัดมหาสารคามนั้นยังคงอยู่ในขั้วการเมืองเดิม

จากผลการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2552 ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงให้ความไว้วางใจกับกลุ่มอำนาจเก่าคือพรรคเพื่อไทยอยู่ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเอเอสทีวียังไม่สามารถเข้าถึงประชาชนส่วนใหญ่ของจังหวัดมหาสารคามซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของกลุ่มอำนาจเก่าได้อย่างเต็มที่

เนื่องจากเอเอสทีวีเป็นโทรทัศน์ผ่านจานรับสัญญาณดาวเทียม หรือเป็นสมาชิกเคเบิลท้องถิ่น หรือต้องรับชมผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแตกต่างจากการรับชมรายการจากช่องฟรีทีวี

ขณะเดียวกันแม้ว่าประชาชนส่วนหนึ่งจะเป็นสมาชิกเคเบิลท้องถิ่น เข้าถึงอินเทอร์เน็ต หรือสามารถรับฟังวิทยุชุมชนได้ แต่ไม่ต้องการเปิดรับข่าวสารใหม่ๆ จากสื่อใดๆ เพิ่มเติม ไม่ต้องการความหลากหลายของข้อมูลข่าวสาร แม้แต่การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนรอบข้าง เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้เปิดรับข่าวสารในทางตรงกันข้ามกับเอเอสทีวีมาเป็นเวลานานแล้ว ทำให้มองเห็นภาพลักษณ์ที่ดีหรือมีทัศนคติเชิงบวกต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาตลอดจึงยากที่จะเปลี่ยนแปลง

อาจสรุปได้ว่าการสื่อสารทางการเมืองโดยเฉพาะการสื่อสารทางสื่อสารมวลชนที่มีบทบาททางการเมืองโดยตรง ในที่นี้คือเอเอสทีวี ยังไม่มีพลังมากพอที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระดับชาติได้ ซึ่งพลังที่ว่านี้ไม่เพียงแต่เป็นพลังในการสร้างความน่าเชื่อถือของข้อมูลเท่านั้น แต่ยังเป็นพลังในการสร้างผู้นำหรือตัวแทนของแต่ละชุมชนเพื่อถ่ายทอดความรู้ ข่าวสารต่างๆ ให้แก่ผู้ที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงสื่อมวลชนหรือยังขาดความรู้ความเข้าใจในการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอีกทอดหนึ่งด้วย (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น