xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่าวิกฤตโลก ยุทธศาสตร์โลก......ไทย (6)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

ยุทธศาสตร์โลก.....ไทย

เมื่อมองจีน แล้วหันกลับย้อนมองประเทศไทย

ในกรณีของประเทศไทย ชนชั้นนำไทยไม่เคยมีการคิดสร้างหลักปรัชญาทฤษฎีการพัฒนาและการวางยุทธศาสตร์โลก.....ไทย ที่เป็นของตัวเอง

เราคิดได้ ทำได้ เพียงแค่เดินตามก้นตะวันตก

ทำไมเราจึงไม่สามารถผลิตฐานคิดของเราเองขึ้นมาได้

คำตอบคือ การถูกครอบทางวัฒนธรรมและการศึกษา หลังจากไทยถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลกในยุคจอมพลสฤษดิ์ เราได้ถอนรากวัฒนธรรมตะวันออกเก่าทิ้งอย่างสิ้นเชิง และแปรสู่ระบบการศึกษาใหม่แบบตะวันตก

“ทาส” ทางทฤษฎี จึงถูกผลิตขึ้น

เวลาที่นักศึกษาไทยต้องทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกหรือโท นักศึกษาทุกคนจะถูกบังคับให้ต้องใช้ทฤษฎีจากโลกตะวันตกมาใช้เป็นฐานทางทฤษฎี ซึ่งเท่ากับว่าผลงานวิทยานิพนธ์ที่ทำเป็นเพียงแค่พิสูจน์ความถูกต้องของแนวคิดและทฤษฎีตะวันตกชุดใดชุดหนึ่งที่เราคิดว่า “ดี” เท่านั้น

การศึกษาไทยไม่ส่งเสริมให้นักศึกษาไทย “กล้าคิด” หรือ นำเสนอ “ทฤษฎี” ของตัวเอง

เราเรียนรู้กันแค่ “ทฤษฎีตะวันตก” และมักจบลงเพียงแค่ทฤษฎี เพราะระบบการศึกษาไทยจะแยกเรื่องยุทธศาสตร์และยุทธวิธีออกจากกระบวนการการเรียนรู้

นักศึกษาไทยจึงคิดตามก้นทฤษฎีตะวันตก และคิด “วางแผน” ด้วยตัวเองไม่เป็น

นี่คือ ที่มาของความด้อยพัฒนาทางปัญญา ที่ต้องพึ่งพาผู้รู้จากโลกตะวันตกเป็นผู้ชี้นำ (จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ)

แต่ทำไมเล่า ผู้นำจีนสามารถคิดวางทฤษฎีและวางยุทธศาสตร์ของตัวเองได้

คำตอบคือ ชนชั้นนำจีนตระหนักรู้ถึงอันตรายของลัทธิการล่าอาณานิคมทั้งแผนเก่าและแผนใหม่(จากโลกตะวันตก) จีนรู้ว่าถ้าเดินตามตะวันตกก็ต้องตกเป็นเบี้ยล่าง หรือหนีไม่พ้นที่จะต้องกลายเป็นประเทศทุนนิยมล้าหลังด้อยพัฒนาและพึ่งพาเช่นประเทศโลกที่สามทั้งหลาย

ถ้าหากจีนจะยอมผนวกตัวเองเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจการตลาดของโลก จีนจะต้องคิดสลัดหลุดจากเงื่อนไขพื้นฐานในการเป็นประเทศทุนนิยมด้อยพัฒนาอย่างไรให้ได้ก่อน

คำตอบสำคัญที่ต้องหาให้พบคือ “อะไรคือรากที่มาของความเป็นทุนนิยมด้อยพัฒนาและพึ่งพา”

ผู้นำจีนพบว่า ความด้อยพัฒนาส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ปัญญาชนและชนชั้นนำในประเทศโลกที่สามมีฐานะเป็น “ทาสทางปัญญา” และ “ทาสทางทฤษฎี (ตะวันตก)”

ที่ผ่านมา ชนชั้นนำอเมริกาได้นำเสนอทฤษฎีพัฒนาแก่ประเทศโลกที่สามที่เรียกว่า Modernization ทฤษฎีนี้เสนอว่า “จะพัฒนาต้องถอนรากวัฒนธรรมโบราณที่ล้าหลังก่อน และแทนที่ด้วยวัฒนธรรมทุนนิยม” นอกจากนี้ ได้นำเสนอแนวทางในการพัฒนาว่า “จะต้องเริ่มจากการกระจุกรวมความมั่งคั่งไว้ที่ส่วนกลางระบบก่อน และในที่สุด ก็จะเกิดกระจายความมั่งคั่งสู่คนทั้งประเทศได้เอง”

ผลของการพัฒนาก็จะเกิดการแพร่กระจายไปของวัฒนธรรมทุนนิยมตะวันตก และระบบโครงสร้างที่รวมศูนย์อำนาจและผลประโยชน์อย่างยิ่งไว้ที่ศูนย์กลาง

วัฒนธรรมทุนนิยมแบบตะวันตก คือรากที่มาของวัฒนธรรมของชนชั้นนำและปัญญาชนที่ “เห็นแก่ตัว” ส่วนโครงสร้างที่รวมศูนย์นี้ คือที่มาของระบบที่สร้างความมั่งคั่งและให้อำนาจแก่คนจำนวนน้อย

เอา “ความเห็นแก่ตัว” บวกกับโครงสร้างอำนาจที่รวมศูนย์ ก็คือที่มาของ ‘ระบบการนำ’ ที่คอร์รัปชัน ขายชาติและขายแผ่นดิน


เบื้องหลังระบบอำนาจคือ อภิมหาทุนจากอเมริกา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ กับชนชั้นนำเพียงจำนวนน้อยที่ความมั่งคั่งส่วนใหญ่มาจากการเข้ามาลงทุนของทุนต่างชาติ

ยิ่งพัฒนา ทรัพยากรที่มีค่าของประเทศจะถูกปล้นชิง และคนส่วนใหญ่จึงยิ่งยากจนและล้มละลาย มีเพียงคนกลุ่มน้อยกับบรรษัทข้ามชาติเท่านั้นที่ร่ำรวย

นี่คือ ที่มาของคำกล่าวของเติ้งเสี่ยวผิงที่ว่า คนจีน “โชคดีมาก” ที่เข้าสู่ระบบทุนนิยมโลกหลังกว่าประเทศอื่นๆ

การมาทีหลังทำให้จีนได้บทสรุปจากความผิดพลาดของประเทศอื่นๆ และใช้ความผิดพลาดเหล่านั้นมาเป็นบทเรียนและไม่ก้าวตาม

ผู้นำจีนจึงคิดสร้างทฤษฎีของตัวเอง (สังคมนิยมการตลาด) ปฏิเสธที่จะเดินตามทฤษฎี Modernization ของตะวันตก

ที่สำคัญ ผู้นำจีนยังคงตระหนักรู้ถึงคุณค่าของวัฒนธรรมจีนโบราณ

วัฒนธรรมจีนโบราณมีคุณค่าอย่างไร

วัฒนธรรม 3,000 ปีของจีนจะสอนเรื่องการสร้างผู้นำที่ดี สร้างผู้นำที่มีคุณธรรม เสียสละ และซื่อสัตย์

วัฒนธรรม 3,000 ปีของจีน สอนว่า “ระบบการเมืองและเศรษฐกิจที่ดี คือ ระบบที่มีดุลยภาพ”

นอกจากนี้ วัฒนธรรม 3,000 ปีสอนคนจีนให้เข้าใจ “ค่า” ของการคิดค้นทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธี

จีนจึงมีวัฒนธรรมในเชิงยุทธศาสตร์ ชาวจีนตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการวางแผน และ How to จีนจึงเป็นนักปฏิบัตินิยมที่ยิ่งใหญ่

แต่ในกรณีประเทศไทย ระบบการศึกษาไทยโยนทิ้งวัฒนธรรมที่ดีงามของไทย และลอกเรียนจากตะวันตกทั้งดุ้น

ระบบการศึกษาไทยปัจจุบัน สอนให้ปัญญาชนไทย นักธุรกิจไทย คิดแค่ “รวย...รวยๆ และมหารวย” ปัญญาชนและชนชั้นนำทั้งประเทศจึงไม่มีอุดมการณ์เพื่อชาติ

ในงานสัมมนาครั้งหนึ่ง ผมได้เสนอว่า

เราต้องรื้อระบบวัฒนธรรมและการศึกษาแบบตะวันตกทิ้ง วางฐานใหม่โดยหันกลับมาใช้วัฒนธรรมตะวันออก (ไทยโบราณ) เป็นฐานการศึกษา

วัฒนธรรมไทยนับพันปีสอนให้คนไทยตระหนักรู้ว่า จะสร้างปัญญาชนและชนชั้นผู้นำที่ดีได้อย่างไร

ปราชญ์ตะวันออกสอนว่า ต้องใช้ “ธรรมะ” นำหน้าทุกอย่าง ธรรมนำหน้าการเมือง ธรรมนำหน้าความรู้ ธรรมนำหน้าเศรษฐกิจ

ผู้นำที่ดีก็ต้องมี “ธรรมะ” นำหน้า

ถ้าย้อนประวัติศาสตร์ไทย ผู้นำที่เราต้องเรียนรู้คนแรกคือ กษัตริย์หญิง พระนางจามเทวี พระองค์ท่านเป็นผู้นำทั้งด้านศาสนาและการปกครอง หมายความว่า ท่านเป็นผู้นำที่เข้าใจพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ท่านจึงทำหน้าที่เป็นผู้นำทางศีลธรรมและจิตวิญญาณด้วย

วันนี้ เราต้องการผู้นำทางศีลธรรมและผู้นำผู้ที่เข้าใจพุทธธรรมอย่างลึกซึ้ง

ต่อมาคือ พ่อขุนรามคำแหง ผู้นำที่ผูกพันรักใคร่ประชาชนมากๆ ราวกับว่าประชาชนทุกคนเป็นลูกที่รักของพระองค์

ผมคิดว่า ชนชั้นนำใหม่ต้องเรียนรู้ “ค่า” วัฒนธรรมการนำแบบเก่า การนำที่ไม่แยกศาสนาออกจากการเมือง (แบบตะวันตก) และการนำเป็นหนึ่งเดียวกับประชาชน (พ่อกับลูก)

ศาสนาธรรมต้องกลับมานำการเมือง

ที่ผมเสนอการสร้างผู้นำใหม่แนวตะวันออก ก็ไม่ได้หมายความว่าการสร้างผู้นำแบบตะวันตกใช้ไม่ได้เสียทีเดียว แต่เราก็ต้องเรียนรู้สิ่งที่มี “ค่า” จากตะวันตก

ผู้นำแบบตะวันตก จะเป็นผู้นำที่ตื่นรู้และเห็นค่าแห่งปัญญาหรือการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา

ผนึกวัฒนธรรมออกและตะวันตก ก็คือ “การสร้างผู้นำใหม่” ที่นำเอาธรรมะและปัญญา (แบบเปิดกว้าง) ประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน

วันก่อนผมไปถกกับเพื่อนเรื่องการสร้างพรรค ที่ฝรั่งเรียกว่า Mass Party ผมบอกเพื่อนๆว่า

“ต้องระวังสักนิด เพราะคำว่า Mass หมายถึง ประชาชน แต่การสร้างพรรคที่แท้แล้วคือ การสร้างชนชั้นนำใหม่

พรรคนี้จะต้องทำหน้าที่ “นำ” ประชาชน ไม่ใช่ “ตาม” ความต้องการของประชาชน

นำ ในแง่การนำเสนอปรัชญา แนวทาง ทฤษฎี และยุทธศาสตร์”


การคิดสร้างทฤษฎีของพรรค ก็ไม่จำเป็นต้อง “คิดใหม่” ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับทฤษฎีเก่าๆ เราอาจจะนำเอาข้อดีของแนวคิดและทฤษฎีที่มีอยู่แล้วมาประกอบประสานกัน และผลิตซ้ำขึ้นมาใหม่

ในที่ประชุมพรรคการเมืองใหม่ ผมเสนอว่า

ในแง่ทฤษฎีและอุดมการณ์ น่าจะนำเอา 3 แนวทางอุดมการณ์เข้ามาใช้ประสานกัน

แนวแรก คือ สีเหลือง

แนวที่สอง คือ สีเขียว

แนวที่สาม คือ สีแดงอ่อนๆ

สีเหลือง แทนที่แนวคิดทางศาสนา ทางศีลธรรม และปัญญา สีนี้ต้องมาก่อนสีอื่นๆทั้งหมดเพราะผู้นำไทยใหม่ต้องเป็นผู้นำแบบ Moral Leadership ซึ่งเข้าใจค่าของศาสนาและความดีงามแบบตะวันออก

ผู้นำใหม่ที่มี “ธรรมะ” นำเท่านั้น จึงจะสร้าง “ศรัทธา” และนำประชาชนได้

ที่สำคัญ “พรรคใหม่” จะต้องมีกองทัพธรรมเป็นฐาน หมายความว่าต้องสามารถเชื่อมประสาน ผนึกกำลังกับผู้นำทางศาสนา (ตะวันออก) ของไทยและสากลได้

สีเขียว ก็คือ เรื่องสิ่งแวดล้อมและแนวคิดเรื่องการพัฒนาแบบยั่งยืน รวมทั้งแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

พรรคสีเขียวและขบวนการสีเขียวมีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก ทำอย่างไรจึงจะเชื่อมประสานพลังสีเขียวให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

สีแดงอ่อนๆ คือ แนวคิดเรื่องสวัสดิการสังคม หรือระบบสังคมที่มีดุลยภาพ ต้องคิดวางแผนสร้างสังคมที่มีระบบสวัสดิการที่มั่นคงตั้งแต่ระบบชุมชน ผมเรียกว่า แดงอ่อน เพราะว่าแนวคิดเรื่องสวัสดิการที่ผมนำเสนอไม่ใช่เรื่องรัฐสวัสดิการแบบเก่าซึ่งอำนาจจะรวมศูนย์อยู่ที่รัฐและข้าราชการ

ผมเสนอระบบสังคมสวัสดิการที่ศูนย์ของระบบอยู่ที่ภาคประชาชน

ชุมชนต้องจัดระบบสวัสดิการของตนเอง ผมยกตัวอย่างระบบสังคมสวัสดิการ คือแนวคิดของนายแพทย์ยูนูฟ และแนวทางของสันติอโศก ที่สร้างระบบชุมชนแบบใหม่ ที่มีความบูรณาการในทุกๆ ด้าน และมีระบบสวัสดิการของตัวเอง กล่าวคือมีทั้งโรงเรียนและโรงพยาบาลเป็นของตนเอง

ในแง่ระบบเศรษฐกิจใหม่ ผมอยากให้เพื่อนๆ อ่านงานเรื่อง Eco-economy ของ Lester Brown ประสานกับงานของ ฟริตจ็อฟ คาปร้า เรื่อง The Hidden Connection งานนี้มีแปลเป็นภาษาไทยแล้ว

แนวคิดเศรษฐกิจใหม่นี้ คือการหันไปเรียนรู้การสร้างเศรษฐกิจใหม่จากกระบวนการทางธรรมชาติ

ประการแรก ธรรมชาติจะมีขบวนการการผลิต หรือการเกิดก่อมหาศาล แต่ธรรมชาติจะไม่มีของเสีย หรือมลพิษเลย

กล่าวได้ว่า ธรรมชาติมีวัฏจักรที่ครบวงจรของตัวเอง เริ่มจากอนินทรีย์สาร เปลี่ยนมาเป็นอินทรีย์สาร และหวนกลับสู่ความเป็นอนินทรีย์สาร โดยสามารถเปลี่ยนของเสียหรือมลพิษเป็นอาหารของจุลินทรีย์และแบคทีเรียได้อย่างสมบูรณ์แบบ

การผลิตอุตสาหกรรม ในยุคปัจจุบันยังคิดแค่การผลิตสินค้าให้ได้มากๆ เท่านั้น และขบวนการสิ้นสุดลงแค่การขายสินค้า จึงสร้างปัญหามลพิษมหาศาล

ตัวอย่างเช่น ในการผลิตกระดาษ เราโค่นป่า และสกัดเซลลูโลสจากไม้ เราใช้เพียง 20 ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ของต้นไม้เท่านั้น ที่เหลืออีก 70 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นของเสีย

โรงผลิตเบียร์ สกัดแค่ 8 เปอร์เซ็นต์ของข้าวเจ้าหรือข้าวบาร์เลย์มาใช้ทำเบียร์

น้ำมันปาล์มก็ใช้แค่ 4 เปอร์เซ็นต์จากต้นปาล์ม

เราต้องคิดใหม่ด้วยการใช้ทรัพยากรทุกอย่าง อย่างคุ้มค่าสูงสุด

ตัวอย่างเช่น

ที่ประเทศโคลัมเบีย ชาวไร่ปลูกกาแฟเป็นพืชเพื่อการส่งออก ปรากฏว่าราคาตกต่ำมาก องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมชื่อ ZERI ได้เข้าไปช่วย องค์การนี้พบว่าชาวไร่ใช้เพียง 3.7 เปอร์เซ็นต์ของต้นกาแฟในการผลิตกาแฟ แต่ปล่อยส่วนที่เหลือทิ้งและสร้างมลพิษ จึงคิดนำของเสียมาใช้งานโดยการค้นพบว่า ชีวมวลของต้นกาแฟสามารถใช้ในการเพาะปลูกเห็ดหอมเขตร้อน ใช้เลี้ยงปศุสัตว์ ทำปุ๋ยชีวภาพ มูลของปศุสัตว์ก็สามารถนำกลับมาทำก๊าซชีวภาพและนำไปทำปุ๋ยของไร่กาแฟและสวนผักรอบๆ ขณะที่พลังงานชีวภาพที่เหลืออยู่ก็นำมาใช้ในกระบวนการเพาะเห็ดได้อีก

นี่คือระบบคิดใหม่ที่มีค่าอย่างมาก สำหรับประเทศที่ทำเกษตรกรรม เช่น ประเทศไทย ถ้าเรากล้าคิดและค้นคว้ากันจริงๆ เราก็จะสามารถสร้าง “การปฏิวัติเขียว” ในด้านเกษตรกรรมขึ้นมาได้

ในกรณีการใช้กระดาษ ปัจจุบันได้มีเทคโนโลยีในการผลิตน้ำหมึกใหม่ที่สามารถล้างออกได้ ทำให้เราสามารถใช้กระดาษซ้ำแล้วซ้ำอีกได้นับสิบๆ ครั้ง

ประการที่สอง ธรรมชาติไม่ได้สอนมนุษย์ในแง่ของวัฏจักรที่ไม่มีมลพิษเท่านั้น ธรรมชาติยังสอนเรื่องระบบธรรมชาติที่มีดุลยภาพ

ถ้าเราเดินทางไปป่า เราจะพบว่า ต้นไม้เล็กและใหญ่ สัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ อยู่ด้วยกันได้ในพื้นที่เล็กๆ และการอยู่ด้วยกันช่วยเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ของกันและกัน

ความอุดมสมบูรณ์ร่วมกันกับความหลากหลายทางชีวภาพประกอบกันเป็นหนึ่งเดียว

แต่ มนุษย์ปัจจุบัน คิดได้เพียงระบบเศรษฐกิจ ก็เพื่อคนกลุ่มน้อยที่มั่งคั่งเท่านั้น เราไม่เคยคิดว่าเราสามารถสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีดุลยภาพและเพื่อคนทุกคนอยู่ร่วมกันได้

การเกิดขึ้นของเมืองที่เรียกว่า ไชน่าทาวน์ น่าจะช่วยสะท้อนภาพระบบเศรษฐกิจแบบนี้ได้ดีว่า “สร้างได้”

ไชน่าทาวน์ คือ เมืองตลาดซึ่งเต็มไปด้วยธุรกิจขนาดเล็กๆ มากมาย แต่ในเวลาเดียวกันก็จะมีธุรกิจขนาดใหญ่ด้วย พวกเขาเชื่อมกันแบบเครือข่ายที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในฐานะเป็นธุรกิจของคนจีนเหมือนกัน

ความเป็นตลาดที่ “อุดม” ทำให้เศรษฐกิจไชน่าทาวน์ก็จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน แม้ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของระบบเศรษฐกิจที่กระจายตัวและอุดมสมบูรณ์ในตัวเอง

แต่ระบบไชน่าทาวน์ ก็ยังมีจุดอ่อนที่ต้องแก้หลายประการ

อย่างเช่น ความเป็นเมือง (โลกวัตถุ) ต้องเอาแนวคิดเรื่องเมืองนิเวศน์มาปรับใช้ เช่น ควรปรับอาคารพาณิชย์ทั้งหมดให้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม

ระบบการขนส่งภายในเมืองควรจัดเป็นเขตปลอดรถยนต์และมลพิษ ควรจะทำเป็นระบบรถไฟฟ้าทั้งหมด หรือใช้รถจักรยาน

นอกจากนี้ ต้องสร้างเสริม “ความเป็นชุมชนที่เอื้ออาทรต่อกัน และมีกิจกรรมร่วมกัน” ขึ้นกลางใจกลางความเป็นเมือง และต้องเพิ่มพื้นที่ป่าขึ้น ประสานพื้นที่เมือง

ที่สำคัญ ต้องสร้างศูนย์ชุมชนที่เข้มแข็ง โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง ใช้วัดเป็นฐานผลิตทางวัฒนธรรม ให้คนในชุมชนเอื้ออาทรต่อกันและเอื้ออาทรต่อธรรมชาติ

ปัจจุบัน เมืองใหญ่ๆ หลายเมืองในแคนาดาและยุโรป อย่างเช่น แวนคูเวอร์ มิวนิค ซูริค ได้พยายามสร้างเมืองนิเวศน์ขึ้น ซึ่งช่วยให้ผู้คนที่มีชีวิตอยู่ในเมืองเหล่านี้สามารถประหยัดพลังงานและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย

ถ้าเราเรียนรู้และศึกษาระบบโลกอย่างจริงจัง เราจะรู้ว่าโลกเปลี่ยนไปทุกวัน “ความคิดใหม่ๆ” กำลังก่อเกิดขึ้นในทุกมุมโลก

อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมดูทีวีจีน มีการสัมภาษณ์กรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนท่านหนึ่ง

ขอโทษที่ผมจำชื่อท่านไม่ได้ แต่ท่านพูดไว้น่าสนใจ

ท่านพูดเรื่อง 60 ปีพรรคคอมมิวนิสต์ ท่านกล่าวว่า

จากยุคเหมา ถึงยุคเติ้ง ประสบความสำเร็จเพราะผู้นำจีนกล้าปฏิวัติทางความคิด และกล้าเปลี่ยนยุทธศาสตร์เป็นช่วงๆ

ในยุคเหมา ท่านประธานเหมา “กล้า” นำเสนอแนวการปฏิวัติของชาวนาซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากแนวความคิดลัทธิมาร์กซ์โดยทั่วไป ซึ่งเป็นเรื่องการต่อสู้ของชนชั้นผู้ใช้แรงงานหรือกรรมกร

พอถึงยุคเติ้งเสี่ยวผิง ท่าน “กล้า” นำเสนอ แนวคิดสังคมนิยมการตลาด ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน

ทฤษฎีที่ถูกต้องเหล่านี้ ได้นำจีนสู่ความเจริญรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบัน

แต่วันนี้ ถึงเวลาที่จีนต้อง “กล้า” คิดค้นหาแนวคิดปฏิวัติใหม่ และวางยุทธศาสตร์ใหม่อีกแล้ว

ผู้สัมภาษณ์ถามท่านว่า “จะเป็นแนวคิดเรื่องอะไร”

ท่านกล่าวทำนองว่า

จีนต้องสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และต้องสนใจแนวคิดเรื่องการพัฒนาแบบยั่งยืน อย่าไปหลงติดอยู่กับความเชื่อเรื่องการขยายตัวของ GNP รวมทั้งท่านยังกล่าวย้ำว่า ปัจจุบันจีนต้องแก้ปัญหาความยากจนในชนบทให้ประสบความสำเร็จให้ได้ (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น