xs
xsm
sm
md
lg

อมาตยาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ระยะนี้ เราจะได้ยินคำว่า “อมาตยาธิปไตย” บ่อยๆ โดยผู้พูดมักจะอ้างว่ากำลังต่อสู้กับระบอบอมาตยาธิปไตย ผมไม่แน่ใจว่า ผู้พูดมีความเข้าใจในความหมายของคำๆ นี้มากน้อยเพียงใด

“อมาตยาธิปไตย” มีความหมายว่า อำมาตย์ หรือข้าราชการเป็นใหญ่ มีอำนาจสูงสุด หลายสิบปีก่อนศาสตราจารย์ Fred W. Riggs ได้ขนานนามระบอบการเมืองไทยว่าเป็น “Bureaucratic Polity” ซึ่งมีผู้แปลว่า “ระบอบอมาตยาธิปไตย”

ในปัจจุบัน ประเทศไทยยังคงมีระบอบอมาตยาธิปไตยหรือไม่ ย่อมมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่า อำนาจสูงสุดในทางการเมือง-การปกครองตกอยู่ในมือข้าราชการหรือไม่ ข้าราชการยังคงมี “อำนาจแฝง” อยู่หรือเปล่า

นับตั้งแต่เรามีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง และมีรัฐมนตรีที่เป็นนักการเมือง อำนาจของข้าราชการก็ค่อยๆ ลดลงจนกล่าวได้ว่า นักการเมืองสามารถควบคุมข้าราชการได้อย่างเต็มที่ ด้วยการโยกย้าย แต่งตั้ง ซึ่งในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้มีการแต่งตั้งวางตัวข้าราชการมหาดไทย และตำรวจในตำแหน่งสำคัญๆ โดยทำให้เห็นว่า หากใครเป็นพวก ก็จะได้รับการตอบแทน

ดังนั้น “ระบอบอมาตยาธิปไตย” จึงไม่มีอยู่แล้ว แต่เหตุใดจึงมีการเชื่อมโยง พล.อ.เปรมฯ ประธานองคมนตรีกับระบอบนี้ คำว่า “อมาตย์” นั้นเป็นคำที่ใช้กันในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อนำมาใช้ในปัจจุบัน ผู้ใช้จึงต้องการโยงให้เห็นถึงอิทธิพลที่ยังตกค้างอยู่ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยหมายถึง สถาบันพระมหากษัตริย์ และคณะองคมนตรีนั่นเอง

เหตุใดจึงมีการกล่าวถึงระบอบอมาตยาธิปไตย โดยผู้หยิบเรื่องนี้มาพูดก็ทำให้คนเห็นว่า พล.อ.เปรมฯ เป็นตัวแทนหรือผู้นำของระบอบนี้

ยิ่งไปกว่านั้น ได้มีการพูดว่า พล.อ.เปรมฯ ทำให้ระบอบประชาธิปไตยถอยหลังไป 30 ปี หลังการปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 พล.อ.สุรยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็เป็นอยู่ระยะสั้นๆ และไม่มีความพยายามจะปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างระบอบอมาตยาธิปไตยแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับเร่งรัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว และพรรคพลังประชาชนก็ได้เข้ามาเป็นรัฐบาล

เมื่อผู้ที่มิได้มาจากการเลือกตั้งขาดตอนไปเช่นนี้ ข้าราชการก็ไม่มีบทบาททางการเมือง นักการเมืองต่างหากที่เข้ามาสานต่ออำนาจ ส่วนที่นักการเมืองบางคนต้องหลุดออกไปจากวงการเมือง ก็เพราะทำผิดในการเลือกตั้งเสียเอง

จักรภพ เพ็ญแข เองก็เคยพูดถึง “อมาตยาธิปไตย” แล้วก็มีกลุ่มคนเสื้อแดงเอามาชูประเด็นว่ากำลังต่อสู้กับระบอบนี้ การเสนอประเด็นนี้ มีนัยแฝงอยู่ว่า บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ และคณะองคมนตรีเกี่ยวข้องกับระบอบประชาธิปไตยอย่างไร

พระมหากษัตริย์ของเราทรงยึดมั่นในระบอบรัฐธรรมนูญ และได้มีพระราชวินิจฉัยแล้วว่า ไม่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้มีการใช้มาตรา 7 ในบางกรณี เช่น 14 ตุลา และพฤษภาทมิฬนั้น พระมหากษัตริย์ทรงมีบทบาทในสถานการณ์คับขัน วิกฤต และไร้ทางออก ซึ่งเป็นสภาวการณ์ที่เห็นประจักษ์

แต่เมื่อมีวิกฤตและความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่ถึงขั้นรุนแรง มักจะมีผู้คาดหวังให้สถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาช่วยแก้ปัญหา โดยการถวายฎีกาเสนอความเห็น และในการสนทนาเกี่ยวกับวิกฤตการเมือง ก็มักจะมีการคาดเดาว่า สถาบันพระมหากษัตริย์จะทรงมีท่าทีอย่างไร

เนื่องจากพระเจ้าอยู่หัวทรงอยู่เหนือการเมือง และไม่มีโอกาสใดที่ใครจะรับทราบพระราชดำริทางการเมืองโดยตรง ประชาชนก็คอยฟังจากวันเข้าเฝ้าฯ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งก็มีความพยายามในการตีความพระราชดำรัสไปต่างๆ นานา

เป็นเรื่องอันตราย และจะก่อให้เกิดความผิดพลาดอย่างมหันต์ หากจะมีการแปลความหมายพระราชดำรัส มีข่าวเล่าลือว่าคนนั้นคนนี้ มีความใกล้ชิดพระองค์ท่าน บางคนก็ทำให้คนเชื่อว่าได้เข้าเฝ้าฯ บ่อยๆ แต่จริงๆ แล้วไม่มีใครรู้ได้ว่าเป็นความจริง หรือเป็นเพียงการ “บลัฟ” กันเท่านั้น

ก่อนจะมีการรัฐประหาร ก็มีการพูดกันว่า หากทำ พระเจ้าอยู่หัวจะทรงเห็นด้วยหรือไม่ บางคนที่เป็นทหารใหญ่ก็กลัวมาก เพราะมีบทเรียนสมัยยังเติร์กมาแล้ว การที่ พล.อ.เปรมฯ ยังมีบารมีในกองทัพอยู่ จึงมีคนพยายามที่จะเสนอความเห็นไปยัง พล.อ.เปรมฯ มากมาย ฐานะของ พล.อ.เปรมฯ จึงล่อแหลม และน่าเห็นใจ

อย่างไรก็ดี การนำเรื่อง พล.อ.เปรมฯ มาเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 เท่ากับเป็นการโจมตีไม่เฉพาะตัว พล.อ.เปรมฯ แต่กระทบถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย เพราะพล.อ.เปรมฯ เป็นประธานองคมนตรี

ผมคิดว่า มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เตรียมการเปลี่ยนพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระยะยาว กลุ่มบุคคลกลุ่มนี้มีทั้งนักการเมือง และนักวิชาการ และได้มีการปูพื้นฐานไว้แล้วด้วยการพิมพ์เผยแพร่บทความในนิตยสารและในเว็บ

การโจมตี พล.อ.เปรมฯ จึงเป็นอีกก้าวหนึ่งของการทำให้เกิดการวิจารณ์สถาบันที่ใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้น “อมาตยาธิปไตย” จึงมีนัยบ่งบอกถึงกลไกที่สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงมีอยู่ในระบอบประชาธิปไตย และมีนักวิชาการในค่ายนี้เสนอความคิดว่า สถาบันองคมนตรี ไม่สมสมัยถึงกับเสนอให้มีการล้มเลิกสถาบันนี้ในรัฐธรรมนูญ

การต่อสู้ทางการเมืองไทยในสมัยนี้ และในอนาคต จึงเป็นการก้าวเข้าไปถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตย สถาบันพระมหากษัตริย์ และสถาบันตุลาการเป็นปราการสุดท้ายในการต้านอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จของพรรคการเมืองพรรคเดียว และผู้นำมวลชน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จต้องทำทุกวิถีทางที่จะทำลายความเชื่อถือของทั้งสองสถาบันนี้ และเนื่องจากสังคมไทยรับไม่ได้กับการวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ พล.อ.เปรมฯ จึงตกเป็นเป้าหมายสำคัญ แต่พล.อ.สุรยุทธ์ กลับได้รับการโจมตีจากกลุ่มคนเสื้อแดงน้อยกว่า

ระยะนี้ การสั่นคลอนสถาบันสูงสุด ยังคงเป็นไปได้ยาก แต่กลุ่มคนกลุ่มนี้เตรียมการไว้สำหรับ 20 ปีข้างหน้า ในเวลานั้นบ้านเมืองน่าจะเกิดกลียุค ยิ่งทหารมีท่าทีเช่นนี้ พลังที่จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็จะไม่ใช่สถาบันทหาร กลุ่มพันธมิตรฯ เป็นกลุ่มคนที่จะเข้ามาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

ลองคิดดูอีก 20 ปี พล.อ.เปรมฯ จะมีอายุ 100 ปีกว่าๆ และคงไม่มีใครจ้องเป็นเป้าอีกต่อไปแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น