xs
xsm
sm
md
lg

G20บรรลุข้อตกลงมูลค่า$1.1ล้านล.มุ่งแก้ไขวิกฤตศก.-เพิ่มกำกับการเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ - บรรดาผู้นำของโลกสามารถบรรลุข้อตกลงมูลค่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการประชุมซัมมิตกลุ่มจี20 ที่กรุงลอนดอนเมื่อวันพฤหัสบดี(2) เพื่อพลิกฟื้นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบกว่า 70 ปี อีกทั้งประกาศร่วมกันว่าจะเพิ่มการกำกับดูแลระบบการเงินโลก อันเป็นการป้องกันมิให้เกิดวิกฤตเช่นนี้อีกในอนาคต

ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯออกมาประกาศว่าการบรรลุข้อตกลงเหล่านี้ ถือเป็น "จุดเปลี่ยน" แห่งเศรษฐกิจโลก แม้ว่าเขาจะไม่สามารถเกลี้ยกล่อมให้รัฐบาลอื่น ๆให้คำมั่นว่าจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อต่อสู้กับภาวะชะลอตัวของโลก

ขณะที่ประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซีแห่งฝรั่งเศส ก็ออกมาแสดงความยินดีต่อการลดอิทธิพลลงเรื่อยๆ ของโมเดลทุนนิยมแบบแองโกล-แซกซอน อันเป็นส่วนผสมระหว่างอังกฤษและอเมริกาซึ่งเน้นการปล่อยเสรีโดยให้มีการกำกับดูแลน้อยที่สุด และตอนนี้ถูกฝ่ายต่างๆ ประณามว่าทุนนิยมแบบนี้เองที่ก่อให้เกิดปัญหาที่โลกเผชิญอยู่ในขณะนี้

ตลาดหุ้นทั่วโลกแข่งกันทะยานขึ้นจากความหวังที่ว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ซึ่งจะทำให้ประเทศเหล่านี้เริ่มเห็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ อาทิ หุ้นยุโรปในวันพฤหัสบดีนั้นพุ่งขึ้นเฉลี่ย 4.9% ส่วนดัชนีสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ในตลาดหุ้นสหรัฐฯก็พุ่งขึ้น 3.73% อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ก็ออกมาเตือนว่า คำมั่นสัญญาของซัมมิตจี20 อาจจะเป็นความฝันสวยงามที่ไม่ยืนยง

"เราสามารถตกลงกันได้อย่างชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อนในเรื่องขั้นตอนต่างๆ ที่จะฟื้นฟูอัตราการเติบโต และป้องกันมิให้เกิดวิกฤตเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต" โอบามากล่าวในระหว่างการแถลงข่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมที่กินเวลา 1 วัน "นอกจากนี้เรายังปฏิเสธไม่ยอมรับลัทธิกีดกันการค้าซึ่งอาจทำให้วิกฤตคราวนี้ยิ่งสาหัสขึ้นอีก"

จากการประชุมที่ลอนดอนคราวนี้ บรรดาผู้นำประเทศกลุ่มจี 20 ซึ่งประกอบด้วยประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนารายใหญ่ที่สุด สามารถผลักดันการปฏิบัติการต่างๆ ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง อาทิ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการให้โบนัสของผู้บริหารธุรกิจ, การเปิดเผยรายชื่อดินแดนที่กลายเป็นแหล่งหลบเลี่ยงการเสียภาษี ซึ่งอาจจะนำไปสู่การดำเนินการคว่ำบาตรต่อไป, การออกระเบียบกฎเกณฑ์กำกับดูแลพวกกองทุนเฮดจ์ฟันด์ และพวกบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

นอกจากนั้น ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าจะใช้เม็ดเงิน 250,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลา 2 ปี เป็นมาตรการทางการเงินเพื่อกระตุ้นส่งเสริมการค้า ทำให้เกิดการไหลเวียนของสินค้าเพิ่มมากขึ้น โดย ก่อนหน้านี้องค์การการค้าโลกคาดหมายว่าในปีนี้การค้าโลกจะร่วงลงไปถึง 9% โดยสาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือการที่วิกฤตทางการเงินทำให้เกิดภาวะสินเชื่อตึงตัวทั่วโลก

นายกรัฐมนตรีเควิน รัดด์แห่งออสเตรเลียซึ่งเป็นผู้นำคนหนึ่งที่เข้าประชุมด้วย ได้ออกมากล่าวชื่นชมข้อตกลงนี้ว่า "ข้อตกลงในวันนี้เป็นการเริ่มต้นของการปราบปรามพวกลงทุนด้วยความเสี่ยงมหาศาลในตลาดการเงินที่ได้ทำให้ตลาดต่าง ๆของโลกทรุดลงมา"

ตลาดเงินและตลาดทุนซึ่งกำลังโหยหาข่าวดีใหม่ ๆในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังหดตัวติดลบลงเป็นปีแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ต่างก็มีปฏิกิริยาในเชิงบวกต่อมาตรการมูลค่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) และการสนับสนุนการค้าโลก ทั้งนี้เม็ดเงินเหล่านี้จำนวนซึ่งยังไม่ทราบชัดเจนแต่คาดว่าน่าจะมากพอดู จะถูกอัดฉีดตรงไปยังพวกประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ ที่กำลังถูกดูดเข้าสู่วังวนแห่งความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจทีละน้อยๆ

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์แห่งอังกฤษ ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุมในครั้งนี้ ได้กล่าวว่ารัฐบาลต่าง ๆได้ให้สัญญาไว้แล้วว่า จะอัดฉีดเม็ดเงินราว 5 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของตนเองภายในสิ้นปีหน้า ตั้งแต่ก่อนที่จะมาร่วมประชุมซัมมิตลอนดอนด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ขาดหายไม่มีอยู่ในข้อตกลงของที่ประชุมจี 20 ก็คือระเบียบเฉพาะเจาะจงในเรื่องเกี่ยวกับภาคการเงิน, บรรดาธนาคารจะสามารถสางสินทรัพย์เน่าเสียออกไปได้อย่างไร, รวมทั้งขนาดอันแท้จริงของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประเทศต่าง ๆให้คำมั่นไว้, บราวน์นั้นมิได้ให้รายละเอียดว่าเงิน 5 ล้านล้านดอลลาร์ที่เขาบอกออกมานี้มีอะไรเพิ่มเติมขึ้นมาจากประมาณการก่อนหน้าเพียงหนึ่งวันของเขาซึ่งให้ให้ตัวเลขแค่ราวครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้ อันที่จริง ในคำแถลงของประธานาธิบดีโอบามานั้น เขากล่าวถึงเม็ดเงินประมาณ 2 ล้านล้านเท่านั้น ไม่ใช่ 5 ล้านล้าน

ในการแถลงข่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม บราวน์ออกมากล่าวว่าไม่มีทางลัดในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลก แต่ก็บอกด้วยว่าการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในจี 20 เหล่านี้จะช่วยย่นภาวะเศรษฐกิจชะลอให้สั้นลงและทำให้ไม่มีการปลดพนักงานเพิ่ม

กลุ่มจี 20 ระบุไว้ในแถลงการณ์ร่วมว่ามาตรการที่ออกมาจะทำให้ผลผลิตแห่งโลกเพิ่มขึ้นราว 4% เมื่อถึงช่วงปลายปีหน้า

"ผมคิดว่าขั้นตอนต่าง ๆในแถลงการณ์ร่วมเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่มันจะเพียงพอต่อการแก้ไขวิกฤตหรือไม่เราก็จำต้องดูกันต่อไป" โอบามากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น