xs
xsm
sm
md
lg

อัด“สาทิตย์”อ่อนหัดคุมสื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – คนวงการมีเดียสอนมวย “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” ยังไร้ทิศทางในการคุมสื่อ อ่อนด้อยใน 2 เชิง ทั้ง ซินเนอร์จี้และยูทิไลส์ สื่อของภาครัฐ ชี้ผังรายการใหม่ สทท. ไม่น่ากลัว ส่วนโลโก้ใหม่ไม่มีบุคคลิก ถามความโปร่งใสเกณฑ์การคัดเลือกทำไมทีวีบูรพาในเครือเจเอสแอลคว้าไพร์มไทม์เพียบ

หลังจากที่กรมประชาสัมพันธ์ ได้ปรับเปลี่ยนช่องเอ็นบีทีใหม่ทั้งในส่วนของผังรายการและชื่อสถานีโทรทัศน์เป็นสถานีทีวีแห่งชาติ รวมทั้งโลโก้ใหม่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ภายใต้การควบคุมดูแลของนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น
แหล่งข่าวจากวงการมีเดีย กล่าวให้ความเห็นว่า การดำเนินงานและนโยบายทางด้านสื่อของรัฐบาลชุดนี้ที่อยู่ภายใต้การดูแลของนายสาทิตย์ ดูเหมือนว่าจะยังไม่ค่อยมีอะไรที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในภาคปฎิบัติ และยังมีจุดอ่อนใหญ่อยู่ 2 ประการคือ 1.เรื่องของการสร้างซินเนอร์จี้ (Synergy) หรือการสร้างพลังผนึกกับสื่อในกลุ่มของรัฐบาล และ 2.เรื่องของการยูทิไลส์สื่อ (Utilize)
โดยในส่วนของการซินเนอร์จี้นั้นจะสังเกตุได้ว่า นับตั้งแต่การเข้ามาบริหารของนายสาทิตย์นั้น ยังไม่ปรากฏเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนว่า รัฐบาลจะนำเอาสื่อที่มีอยู่ที่เป็นของภาครัฐ เช่น กรมประชาสัมพันธ์ ช่อง 11 หรือช่องโมเดิร์นไนน์ มาสร้างพลังผนึกและประโยชน์ให้กับการบริหารงานแต่อย่างใด ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่เด่นชัด
ไม่ว่าจะเป็นช่องโมเดิร์นไนน์นั้นก็ยังไม่ได้เข้าไปแก้ปัญหาอะไรที่สมควรจะทำ ทั้งเรื่องของการสะสางปัญหาเรื่องของสัญญาที่ อสมท ทำไว้กับเอกชน หรืออื่นๆ ตลอดจนปัญหาที่น่าจะเกิดขึ้นจากนี้คือ เรื่องของการสรรหาตัวกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท เพราะดูเหมือนว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นแน่นอนจากกระแสแรงกดดันภายในของ อสมท เอง
ขณะที่ช่อง11เดิมหรือเอ็นบีทีนั้น ก็ยังไม่มีความโดดเด่น แม้ว่าวันนี้จะเปลี่ยนเป็น สถานีทีวีแห่งชาติหรือ สทท. รวมทั้งเปลี่ยนโลโก้ด้วยแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นเสมือนการเปลี่ยนเพียงผิวเผินภายนอกเท่าน้น ยังไม่มีการผนึกกำลังสื่อของรัฐให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า กรมประชาสัมพันธ์ได้นำคลื่น 105 กลับมาดำเนินการเองแล้วเพื่อทำให้เป็นสถานีวิทยุคลื่นสีขาว นำเสนอรายการเกี่ยวกับเด็กและครอบครัว คาดว่าจะเริ่มได้ประมาณกลางเดือนเมษายนนี้ ซึ่งเป็นการนำกลับมาทำเองก่อนที่สัญญากับเอกชนที่รับสัมปทานเดิมคือ บริษัท ฟาติมา บรอดคาสติ้ง จำกัด จะหมดลง ซึ่งสามารถทำได้เพราะในสัญญาระบุไว้ว่ากรมประชาสัมพันธ์สามารถนำคลื่นกลับมาได้หากต้องการนำไปใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์
ส่วนปัญหาเรื่องของการยูทิไลส์สื่อนั้น ตัวอย่างเช่น เวลาออกอากาศของช่อง สทท. (ช่อง 11 ) แทนที่จะเอาเวลาดีๆหรือทำรายการขึ้นมาเพื่อเป็นรายการของรัฐบาลในการนำเสนอผลงานหรืออะไรก็ได้ที่จะสามารถสื่อสารกับประชาชนได้ เช่นเดียวกับที่รับบาลชุดก่อนๆเคยทำไว้
“ตรงนี้แตกต่างอย่างชัดเจนกับรัฐบาลชุดก่อนๆอย่างเช่น ยุคของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มาเอาเวลาของช่อง 11 และนำมาจัดรายการ เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลเต็มตัว แต่รัฐบาลชุดนี้ก็ไม่ได้ทำ ซึ่งอาจจะอ้างว่าเกรงข้อครหาว่าเอาเวลามาหาเสียงก็ตาม แต่มันก็มีรูปแบบที่สามารถทำได้โดยไม่น่าเกลียด”
แหล่งข่าวในวงการมีเดียวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของช่องเอ็นบีทีเป็น สทท. ให้ฟังว่า ขณะนี้มีการเตรียมฟอร์มทีมขึ้นมาเพื่อหาโฆษณาเข้ามาลงช่องของตัวเองมากขึ้นตามผังรายการใหม่ที่ได้เปิดตัวอออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งคงจะยาก เพราะเนื่องจากว่า ช่อง 11 เป็นช่องที่แทบจะไม่มีเรตติ้งเลย ดังนั้นการที่เจ้าของสินค้าหรือเอเจนซี่จะวางแผนลงสื่อให้นั้นคงยาก ในภาวะที่เศรษฐกิจก็ยังไม่ค่อยดี สินค้าส่วนใหญ่ประหยัดงบโฆษณากันมากขึ้น
“หากมองดูผังรายการของช่อง สทท. แล้ว ไม่มีอะไรที่น่ากลัวเลย และยังไม่สามารถไปแย่งฐานคนดูกลุ่มเดิมของช่องอื่นได้ มองดูแล้วเหมือนกับเอาส่วนดีของแต่ละช่องมาผสมผสานกัน เลยทำให้ไม่มีจุดเด่น I รวมทั้งเรื่องอขงโลโก้ก็ดุแล้วไม่มีจุดเด่นและไม่ได้บ่งบอกชัดเจนว่าเป็นอะไร เมื่อเทียบกับโลโก้ของโมเดิร์นไนน์ที่เปลี่ยนก่อนหน้านี้ จะโดดเด่นกว่ามาก เพราะมีเลข 9 บอกว่าเป็นช่อง 9 ที่ทำเป็นรูปสายตาในลูกโลก บ่งบอกถึงการเปิดโลกกว้างกับช่องโมเดิร์นไนน์ แหล่งข่าวกล่าว”
นอกจากนี้การที่สทท.เปิดโอกาสให้เอกชนไม่กี่รายเช่น บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด ในเครือเจเอสแอล คว้าเวลาช่วงไพร์มไทม์ไปแทบจะรายเดียวนั้น อยากทราบว่าเอาหลักเกณฑ์อะไรมาพิจารณา การให้เวลาเอกชนนั้นดำเนินการในรูปแบบใด ซึ่งผู้บริหารของกรมประชาสัมพันธ์ต้องอธิบายและให้คำตอบแก่สาธารณชนให้ชัดเจน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีวีบูรพา ได้เวลาช่วงไพร์มไทม์ไปอย่างน้อย 3 วันในช่วงเวลา 21.00 – 22.00 น. คือ วันจันทร์ รายการสถานีแรงงาน ซึ่งเป็นการรับจ้างผลิต, วันพุธกับรายการแผ่นดินมหัศจรรย์บ้านฉันบ้านเธอ, วันพฤหัสบดีกับรายการหมู่บ้านฐานไทย
เช่นเดียวกับที่ก่อนหน้านี้ก็คัดเลือกบริษัท อินดิเพนเด้นท์ นิวส์ เซ็นเตอร์ จำกัด เข้ามาเป็นผู้ร่วมผลิตรายการข่าวประจำวันให้ ซึ่งก็คือทีมงานเดิมก่อนหน้านี้ที่ทำอยู่แล้วกัยบช่องเอ็นบีทีเดิม และเป็นบริษัทที่นายสาทิตย์เองก็ระบุไว้เมื่อตอนที่เป็นฝ่ายค้านว่า บริษัทดังกล่าวให้ผลตอบแทนกรมประชาสัมพันธ์ต่ำและมีการทำงานที่ไม่โปร่งใสด้วยซ้ำไป แต่สุดท้ายก็คัดเลือกคนกลุ่มเดิมเข้ามาทำต่อ ด้วยวงเงินตอบแทนที่ต่ำลงด้วยซ้ำไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น