xs
xsm
sm
md
lg

SMEแบงก์ขอเพิ่มทุนอีก5พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ธนาคารเอสเอ็มอีเตรียมขอเพิ่มทุนอีก 5 พันล้าน เสริมสภาพคล่อง อ้างปี 52 มีแผนปล่อยสินเชื่อหลายโครงการ 1.6 หมื่นล้าน เผยพบธุรกิจเอสเอ็มอีมีปัญหากว่า 2.4 ล้านราย ต้องการความช่วยเหลือ

นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง ในฐานะกำกับดูแลธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือแบงก์เอสเอ็มอี เปิดเผยว่า ธนาคารฯ ได้เสนอแผนการเพิ่มทุนอีก 5,000 ล้านบาท ภายในปี 52 เบื้องต้นได้หารือกับนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง แล้ว รอพิจารณาในรายละเอียด

รมช.คลังเห็นว่าขณะนี้มีผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและกำลังต้องการความช่วยเหลืออีกถึง 2.4 ล้านราย

“ธพว.จำเป็นจะต้องได้รับการเพิ่มทุนให้มีเงินเพียงพอที่จะสนับสนุนแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากตอนนี้เงินที่มีอยู่หากปล่อยสินเชื่อไปจนครบทุกโครงการ ก็จะทำให้ช่องว่างระหว่างเงินที่ปล่อยไปกับเงินทุนที่มีอยู่ปริ่มๆ ใกล้กับเพดานแล้ว ดังนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ และหากจะดำเนินการจะต้องใช้แหล่งเงินจากที่ใด และจะต้องเร่งทำให้ได้ภายในปีนี้”นายประดิษฐ์ กล่าว

ปัจจุบัน ธพว. ได้ออกเมนูกู้วิกฤตเอสเอ็มอี โดยมีสินเชื่อโครงการพิเศษ ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขผ่อนปรน อาทิ โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงานอัตราดอกเบี้ยคงที่ 5% ต่อปี สินเชื่อเอสเอ็มอีพาวเวอร์ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ (MLR) 7% ต่อปี สินเชื่อผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว อัตราดอกเบี้ย 1-2 ปีแรก MLRลบ โดยคาดว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อให้กับภาคแรงงาน การท่องเที่ยว และเอสเอ็มอีพาวเวอร์ได้ประมาณ 16,000 ล้านบาท

สำหรับทุนจดทะเบียนในปัจจุบันของ ธพว. อยู่ที่ 10,000 ล้านบาท โดยชำระแล้ว 9,100 ล้านบาท

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ในฐานะประธานกรรมการ ธพว. กล่าวว่า เมนูกู้วิกฤตเอสเอ็มอี ผ่านสินเชื่อชะลอเลิกจ้างงาน 6,000 ล้านบาท โดยจะปล่อยให้กับผู้ประกอบการประมาณ 600 บริษัท รายละ 10 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถชะลอการเลิกจ้างงานได้ 12,000 คน ส่วนอีก 10,000 ล้านบาท จะปล่อยสินเชื่อใหม่ให้เอสเอ็มอีพาวเวอร์ ทั้งนี้ ธพว.คาดว่าในปี 52 จะสามารถล้างหนี้เสียออกจากพอร์ตสินเชื่อที่มีอยู่ 20,000 ล้านบาท ได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท ด้วยการแยกหนี้ดีและหนี้เสียออกจากกันโดยเด็ดขาด.
กำลังโหลดความคิดเห็น