xs
xsm
sm
md
lg

เอสแคปเตือนปท.เอเชีย-แปซิฟิก เสี่ยงที่จะเจอวิกฤต3เด้งพร้อมกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์/เอเอฟพี -ประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก มีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษที่จะเผชิญหน้ากับภัยคุกคาม 3 ด้านพร้อมๆ กัน อันได้แก่ ราคาของอาหารและน้ำมันที่เคลื่อนไหววูบวาบ, ความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ, และวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก ทั้งนี้ตามรายงานที่นำออกเผยแพร่เมื่อวานนี้(26) ของสำนักงานคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอสแคป)
รายงานฉบับนี้ของเอสแคปซึ่งเป็นผลสำรวจประจำปีในเอเชีย-แปซิฟิก อธิบายว่าเหตุที่ภูมิภาคแถบนี้มีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษ ก็เพราะเอเชีย-แปซิฟิกคือดินแดนซึ่งเป็นที่พำนักอาศัยของคนยากจนเกือบๆ สองในสามของโลก และก็เป็นที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติถึงราวครึ่งหนึ่งของโลก
การปรากฏขึ้นของวิกฤตทั้ง 3 อย่างนี้ในเวลาพร้อมๆ กัน ส่งผล "กระทบหนักหน่วงที่สุดต่อบรรดาคนยากจนของโลก" นูลีน เฮย์เซอร์ เลขาธิการบริหารของเอสแคปกล่าว
เธอบอกด้วยว่า มีความเสี่ยงอย่างมากทีเดียวที่วิกฤตทางการเงินซึ่งกำลังแผ่ลามในเวลานี้ จะทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและความไม่สงบในสังคม
"หากว่าเราไม่จัดการกับความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดกับคนยากจน ก็จะเกิดแรงกดดันอย่างมหาศาลต่อสังคมทั้งหมด" เฮย์เซอร์กล่าวในการแถลงข่าวเปิดตัวรายงานสำรวจฉบับนี้ที่กรุงเทพฯ
ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจทรุดตัวแผ่ลามไปในระบบเศรษฐกิจที่ค่อนข้างพัฒนามากกว่า อย่างเช่น ไทยและไต้หวัน บรรดาแรงงานอพยพจำนวนมากก็ต้องตกงาน โดยบ่อยครั้งคนเหล่านี้ต้องกลับบ้านเกิดพร้อมด้วยหนี้ก้อนโต และแทบไม่มีความหวังที่จะหางานทำได้อีก
นอกจากนั้นยังหมายความถึงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ชะลอลงในประเทศอย่างเช่น บังกลาเทศ และฟิลิปปินส์ ซึ่งต้องพึ่งพาอย่างมากต่อเม็ดเงินส่งกลับบ้านของบรรดาแรงงานที่ย้ายถิ่นไปทำงานในต่างแดน
ทั้งหมดเหล่านี้ทำให้เป็นเรื่องลำบากมากที่ชุมชนต่างๆ จะสามารถดิ้นรนให้อยู่รอดต่อไป และจึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องมีรูปแบบการเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจซึ่งมุ่งเน้นเอื้อประโยชน์ต่อผู้คนให้มากมายกว่าเดิม เฮย์เซอร์กล่าว
"สิ่งนี้ (โมเดลเศรษฐกิจแบบเอื้อประโยชน์ต่อผู้คน) จำเป็นจะต้องมีการสร้างระบบประกันสังคมต่างๆ ขึ้นมา ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความมั่นคงทางรายได้ และทำให้คนชั้นกลางและชั้นล่างซึ่งเป็นผู้ขับดันเศรษฐกิจ มีเสรีที่จะจับจ่ายใช้สอยให้มากขึ้น (เพราะไม่ต้องเก็บเงินเพื่อประกันอนาคตของตนเองอีก)" เธอกล่าว
ประเทศในเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่นั้นขาดระบบประกันสังคมแบบที่ยุโรปมี สองในสามของคนสูงอายุในภูมิภาคนี้ไม่ได้รับเงินบำนาญ และเพียงหนึ่งในห้าที่มีประกันสุขภาพ
รัฐบาลหลายแห่งได้พยายามเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเพิ่มการใช้เงินงบประมาณไปในด้านต่าง ๆ รายงานการสำรวจชิ้นนี้ของเอสแคปก็เสนอแนะว่า วิกฤตคราวนี้กำลังเป็นโอกาสให้ร่างนโยบายพัฒนาสังคมขึ้นใหม่ รวมทั้งเดินหน้าการพัฒนาแบบยั่งยืนและแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างให้มากขึ้นด้วย
เอสแคปคาดว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะยังคงมีอัตราการเติบโตโดยรวมอยู่ที่ 3.6% ในปีนี้ เทียบกับอัตรา 5.8% ของปี 2008 อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณารายประเทศแล้ว สถานการณ์ก็ไม่มีความสม่ำเสมอกัน อาทิ จีนน่าจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่7.5% ในขณะที่คาซัคสถานอยู่ที่ 1.5%
ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์น่าจะมีอัตราการเติบโตที่หดตัวรวมกันในราว -2.2% เทียบกับการขยายตัว 2.6% ของปี 2008
หน้าที่หนึ่งของเอสแคปก็คือการส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคนี้ และเจ้าหน้าที่ยูเอ็นผู้หนึ่งก็ยอมรับเองว่า การคาดการณ์คราวนี้ซึ่งอาศัยตัวเลขเศรษฐกิจที่เก็บรวบรวมจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นั้น อาจเกิดความผิดพลาดไปในทางพยากรณ์สถานการณ์สวยหรูเกินไปก็ได้
ประเทศในเอเชียก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะทรุดหนักของการค้าระหว่างประเทศ เพราะประเทศเหล่านี้พึ่งพาการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ เมื่อความต้องการสินค้าในประเทศที่เป็นตลาดขนาดใหญ่อย่างเช่นสหรัฐฯและยุโรปดิ่งลงจากวิกฤต เศรษฐกิจของเอเชียก็พลอยย่ำแย่ไปด้วย
ดังนั้นรัฐบาลหลายแห่งก็จึงพยายามกระตุ้นความต้องการบริโภคในประเทศให้มาแทนที่การส่งออก อย่างเช่น จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรจำนวนมหาศาล ส่วนระบบเศรษฐกิจเล็ก ๆอย่างสิงคโปร์และฮ่องกงที่มีการส่งออกเป็นหลัก ก็ต้องปรับตัวกันขนานใหญ่
"ความจริงก็คือภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกมากกว่าที่จะมีความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจกับประเทศต่าง ๆที่ร่วมภูมิภาคกัน" เฮย์เซอร์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น