xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นข้าวพม่าซุกโกดัง สวมจำนำ-ถล่มข้าวไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่- เผยเส้นทางข้าวพม่า จากชายแดนแม่สอด - โรงสีแถบภาคเหนือตอนล่าง - ภาคกลาง ล้วนเป็นแหล่งปลูกข้าวใหญ่ของประเทศ ส่อส่งเข้าสวมสิทธิ์ในโครงการจำนำข้าว กินกำไรส่วนต่าง 4-5 บาท/กก. อีกต่อ หลังหมุนข้าวในคลังออกแปรรูปขายก่อนกินกำไรต่อแรก 3-4 พันบาท/ตัน ตามวงจรอุบาทว์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี แถมกินกันทุกเม็ด-ทุกขั้นตอนตั้งแต่สวมสิทธิ์เกษตรกร ยันประมูลซื้อข้าวเก่าเสื่อมคุณภาพจากรัฐ

นายสมเกียรติ โสภณพงษ์พิพัฒน์ ประธานชมรมสหกรณ์พิจิตร กล่าวว่า กระแสข่าวการลักลอบนำเข้าข้าวสารจากพม่าเข้ามาในพื้นที่ชั้นในของไทย โดยเฉพาะที่พิจิตร เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 ซึ่งก็มีโรงสีบางแห่งในพิจิตร ที่มีประวัติทุจริตโครงการรับจำนำข้าวมาแล้วหลายครั้ง รับซื้อ เพราะมีราคาถูกกว่าข้าวไทยไม่น้อยกว่า 4-5 บาท/กก. หรือตันละ 4-5 พันบาท

การเปิดให้นำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีต้นทุนต่ำกว่าไทย ทั้งที่ไทยเป็นประเทศที่ผลิตข้าวอันดับต้น ๆ ของโลก มียอดส่งออกมากที่สุดในโลก ก็ขัดแย้งกันในตัวอยู่แล้ว แม้จะอ้างข้อตกลง WTO ก็ตาม ประเด็นแรก เพราะเมื่อข้าวจากเพื่อนบ้านทะลักเข้ามา ก็ไม่สามารถตรวจสอบหรือรับประกันได้เลยว่า จะไม่มีการนำไปผสมกับข้าวไทยที่จำหน่ายในท้องตลาด

เช่นเดียวกันหากนำไปสวมเป็นข้าวไทย เพื่อส่งออก ก็จะทำให้เกษตรกรไทยเสียโอกาสไปโดยปริยาย ทั้งยังมีผลกระทบต่อราคาข้าวในประเทศอย่างชัดเจนด้วย

ประเด็นสำคัญก็คือ ไม่มีใครรับประกันได้ว่า จะไม่มีการนำข้าวพม่า เข้าไปสวมเป็นข้าวในโครงการรับจำนำของรัฐบาล ที่ใช้งบประมาณปีละ 3-4 หมื่นล้านบาทได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ที่เกิดเป็นประจำทุกปีอยู่แล้วนั้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายมาก ที่จะมีการนำข้าวสารพม่า สวมรอยเป็นข้าวในโครงการรับจำนำของรัฐบาลไทย ที่แปรรูปเป็นข้าวสารส่งมอบเข้าโกดังกลางของ อคส. , อตก.

อันเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า มีการทุจริตรับจำนำข้าวเกิดขึ้นทุกปี และทุกขั้นตอน ตั้งแต่การสวมสิทธิ์เกษตรกรนำข้าวเข้าโครงการรับจำนำ,โกงตราชั่ง , กดราคาตลาดก่อนรัฐเปิดโครงการรับจำนำ การหมุนข้าวในโครงการออกขายหาเงินหมุน กินกำไรต่อแรก 3-4,000 บาท/ตัน ก่อนหาข้าวต้นทุนต่ำเข้ามาสวมแปรรูปส่งเข้าโกดังกลาง ซึ่งเพียงแค่จ่ายเงินค่าตรวจ 5-6 บาท/กระสอบ (50 กก.) ผ่านเซอร์เวย์เยอร์ ก็ไม่ต้องคำนึงว่าคุณภาพข้าวจะตรงตามกำหนดหรือไม่

ขณะเดียวกันข้าวในโกดังกลางของรัฐนั้น บางแห่ง "จงใจ" ปล่อยทิ้งไว้จนเสื่อมคุณภาพ ก่อนที่จะนำออกมาประมูลขายราคาถูก ให้พ่อค้าตีกินเงินรัฐค่าปรับปรุงคุณภาพได้อีกตันละ 6-700 บาทขึ้นไป

ทั้งนี้ หากคำนวณตามราคาต้นทุนข้าวโครงการรับจำนำ (ข้าวเปลือก) ที่ 12,000 บาท/ตัน เมื่อนำมาแปรรูปเป็นข้าวสารตามคำสั่งของรัฐ ข้าว 1 ตันจะได้ข้าวสารประมาณ 550 กก. (ข้าวสาร 5%ที่ส่งเข้าโกดังกลาง) จะมีต้นทุนอยู่ที่ 21-22 บาท/กก. หากนำข้าวพม่า (ข้าวพันธุ์ปองซาน มเว ;ข้าวหอม) ที่มีเมล็ดยาวใกล้เคียงกับข้าวไทย ผสมเข้าไปด้วย ก็จะมีส่วนต่างเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 5-7 บาท/กก.ให้กินเปล่าได้ทันที

เรื่องนี้ เป็นที่รับรู้อีกเช่นกันว่า กระบวนการนำข้าวในโครงการรับจำนำออกขาย ก่อนหาข้าวราคาถูกเข้ามาสวมแทนเกิดขึ้นจริงทุกปี และเฉพาะกรณีที่เป็นข้าวสารพม่า ก็สามารถทำได้เพียงแค่ผู้ประกอบการสั่งให้โรงสีในเครือข่าย "เปาเกาข้าวใหม่" แล้วส่งให้ โดยมีต้นทุนเพิ่มเพียงไม่กี่สตางค์ต่อ กก.เท่านั้น

นั่นหมายถึงโรงสีที่เข้าร่วมโครงการจำนำข้าว สามารถกินกำไรหลายต่อทันที

ขณะที่การตรวจสอบคุณภาพข้าวสาร หากจะทำก็ต้อง "ผ่ากอง" หรือที่เรียกว่า "เบ้า" ที่ใช้บรรจุข้าวสารเข้าละ 1,000 - 1,100 กก. ซึ่งต้องใช้งบประมาณนั้น สะท้อนได้จากคำกล่าวติดตลกขื่นที่ว่า อคส.ไม่มีงบสำหรับผ่ากอง เนื่องจาก อคส.แม้ว่าจะทำธุรกิจนับพัน ๆ ล้าน ก็ยังไม่มีงบพอที่จะจัดหาสำนักงาน อย่างที่พิจิตร ก็ยังต้องไปอาศัยพื้นที่ของโรงสีบุญรักษ์ ที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวด้วยซ้ำ

หรือแม้แต่คลังสินค้ากลางของ อคส.ตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2551/52 จ.พิจิตร ที่ใช้ "คลังสินค้ากลาง หสม.คลังสินค้าแสงงาม" ต.ห้วยเกตุ อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร ก็เป็นคลังกลางที่เคยเกิดกรณีข้าวหายยกโกดังเมื่อปี 2 ที่ผ่านมา ก่อนที่เจ้าของคลังจะเปลี่ยนชื่อเข้าร่วมโครงการกับ อคส.ได้อีกครั้ง และ อคส.เช่าเป็นคลังกลางอยู่ในขณะนี้

จึงเกิดคำถามขึ้นได้เช่นกันว่า ข้อมูลความลับของทางราชการ จะมีอยู่หรือไม่ !?

มิพักต้องกล่าวถึงคดีลักทรัพย์ นำข้าวในคลังที่รับฟากไว้ขายเพื่อนำเงินมาหมุน ก่อนซื้อข้าวราคาถูกมาสวมแทน ของโรงสีในพิจิตรบางแห่ง ที่ผ่านไปกว่า 2 ปี จนคดีความหมดอายุ อคส.ในฐานะผู้เสียหาย กลับไม่ได้ยื่นฟ้อง ทำให้ผู้ต้องหาลอยนวล กลับมาเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวได้ครั้งแล้ว ครั้งเล่า

ทั้งนี้ การเปิดให้นำเข้าข้าวจากต่างประเทศเคยเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ครั้งใหญ่ เมื่อปี 2547 ยุคที่นายวัฒนา เมืองสุข ดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ มาแล้วครั้งหนึ่ง หลังจากที่มีการเปิดประมูลข้าวครั้งประวัติศาสตร์ 1.9 ล้านตัน ได้เพียง 1 วัน นายวัฒนา ได้ประกาศในงานครบรอบ 62 ปี ของกรมการค้าภายในว่า จะให้มีการนำเข้าข้าว 1.5 ล้านตันภายใต้เงื่อนไขให้นำเข้าเพื่อการส่งออกทั้งหมด ในอัตราภาษา 0%จาก ลาว กัมพูชา และพม่า ภายใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (ECS)

ในครั้งนั้น เกิดคำถามขึ้นทันทีว่า จะแน่ใจได้อย่างไรว่า ข้าวนำเข้าจาก 3 ประเทศ จะไม่ถูกแปรสภาพซิกแซ็กสวมรอยเข้าโครงการรับจำนำของรัฐบาลอีก , ประเทศไทย ก็ไม่อยู่ในฐานะขาดแคลนแต่อย่างใด นอกจากนี้รัฐบาลเองก็ต้องคอยทุ่มงบประมาณรับจำนำข้าว เพื่อพยุงราคาข้าวในประเทศไม่ให้ตกต่ำทุกปีอยู่แล้ว การเปิดให้นำเข้าข้าวจากต่างประเทศ ย่อมทำให้ราคาข้าวในประเทศตกต่ำลงอย่างเลี่ยงไม่พ้น

เช่นเดียวกับปีนี้ ที่รัฐบาลต้องเปิดรับจำนำข้าวครั้งใหม่ ในราคา 11,800 บาท/ตัน

กรณีของข้าวสารที่มีการนำเข้าจากพม่ากันอย่างครึกโครมขณะนี้ ล้วนแต่มีปลายทางอยู่ที่โรงสีต่าง ๆ ในพื้นที่ปลูกข้าวของไทยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น พิจิตร สุโขทัย นครสวรรค์ อยุธยาฯ นครปฐม รวมถึงกรุงเทพฯ ที่ส่วนหนึ่งเป็นแหล่งพัก ก่อนที่จะมีผู้ซื้อมารับซื้อต่อไปอีกทอดหนึ่ง

ทั้งนี้ กรณีของจังหวัดพิจิตร มีรายงานว่า ข้าวสารจากพม่า จะถูกส่งเข้าโรงสีอย่างน้อย 2 แห่ง ในเขต อ.โพทะเล อันเป็นโรงสีที่มีชื่อในแบล็คลิสต์ ว่าเกิดการทุจริตข้าว - โกงแบงก์ครั้งใหญ่ จนเป็นเหตุให้เจ้าของโรงสีตัดสินใจฆ่าตัวตาย ทิ้งกิจการให้เครือญาติ อีกโรงสีหนึ่ง ตั้งอยู่แถบสี่แยกปลวกสูง เป็นโรงสีที่รับรู้กันทั่วไปว่า นำเข้าข้าวจากพม่า มา "เปา" ส่งให้กับโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวของรัฐตามออเดอร์ที่ได้รับเป็นประจำอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม นายนายยุทธนา วิริยะกิตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ในฐานะคณะอนุกรรมการข้าวระดับจังหวัดพิจิตร ที่กำลังเร่งตรวจสอบโกดังข้าวต่าง ๆ เพื่อเปิดโครงการรับจำนำข้าวนาปรับปี 52 อยู่ในขณะนี้ ยืนยันว่า ก่อนหน้าเคยได้รับรายงานเรื่องข้าวพม่าลักลอบเข้ามาสวมในโครงการรับจำนำเช่นกัน แต่หลังจากที่ได้ตรวจสอบแล้วไม่พบ

ขณะที่นายสมชัย หทยะตันติ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า เขาได้รับรายงานเรื่องนี้จากหลายสายเช่นกัน ตอนนี้กำลังให้ฝ่ายทหาร ที่มีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ส่งเสริมชาวบ้านเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงทั้ง 12 อำเภออยู่ ตรวจสอบโดยละเอียดอีกครั้ง แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก ต้องรอจับให้ได้คาหนัง คาเขาก่อน เพราะการนำข้าวสารพม่าเข้ามาสวมในโครงการจำนำข้าวนั้น หากเกิดขึ้นจริง ก็ต้องเกิดในขั้นตอนที่โรงสีในโครงการจำนำข้าวปี 51/52 ได้รับคำสั่งให้แปรรูปเป็นข้าวสาร ส่งมอบให้รัฐเก็บไว้ในโกดังกลางเท่านั้น

ด้าน พ.ต.อ.จรวย ผลประเสริฐ รอง ผบก.ภ.จว.พิจิตร กล่าวว่า หากการนำเข้าข้าวจากพม่าเข้ามาโดยถูกต้อง มีเอกสารเสียภาษีพร้อม เราก็คงไม่สามารถเอาผิดใด ๆ ได้ ยกเว้นมีหลักฐานชัดเจนว่า มีการนำข้าวดังกล่าวสวมเข้าเป็นโครงการรับจำนำ ซึ่งก็ต้องตรวจสอบกันโดยละเอียด จนได้หลักฐานจึงจะเอาผิดกันได้

อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวจากกองทัพภาค 3 ยอมรับว่า มีรายงานจากหน่วยทหารในพื้นที่ชายแดนตากเข้ามาเช่นกันว่า ขณะนี้มีข้าวพม่าลำเลียงมาพักรอบริเวณชายแดนเมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อส่งต่อให้กับพ่อค้าไทยไม่น้อยกว่า 1-2 แสนตันจริง

(พรุ่งนี้อ่านตอนจบ- กรณีศึกษามหากาพย์โคตรโกงข้าวพิจิตร)
กำลังโหลดความคิดเห็น