รายงานพิเศษ “ เปิดปมปริศนา “ข้าวไทยใส่โสร่ง” โดยศูนย์ข่าวเชียงใหม่ ความยาว 4 ตอนจบ
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – ขบวนการค้า“ข้าวไทยใส่โสร่ง”ลอบนำเข้าข้าวพม่าผ่าน 4 ท่าข้ามริมน้ำเมยส่งขายโรงสีพื้นที่ชั้นใน กินส่วนต่างนับร้อยล้านบาทต่อเดือน แฉนายทุนยอมควักจ่ายกันสด ๆ 2.2 ล้านบาท/วัน เป็นค่าผ่านทางให้กว่า 20 ส่วนราชการในพื้นที่แม่สอด แลกกับไฟเขียวในการขนข้าวสารเถื่อนพม่าเข้าไทยตั้งแต่ปลายปี 51 เป็นต้นมา จนผู้ว่าฯทนไม่ไหว เรียกประชุมสางปัญหาส่วยวันนี้(23 มี.ค.) พิรุธ ! หลังถูกจับล็อตแรกได้แค่ 5 วันมีใบอนุญาตนำเข้าโผล่ทันที
พ.อ.ทรงธรรม สิทธิพงษ์ รองผู้บังคับการ หน่วยเฉพาะกิจทหารราบที่ 4 (ฉก.ร.4)เปิดเผย “ASTVผู้จัดการรายวัน” ถึงการนำเข้าข้าวสารจากพม่าผ่านชายแดนแม่สอด ว่า ฉก.ร.4 โดย พ.อ.ผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข ผู้บังคับการฯ ได้รับรายงานเรื่องการลักลอบนำเข้าข้าวจากพม่า ผ่านท่าข้ามต่าง ๆ ตามแนวแม่น้ำเมย ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2551 โดยชาวบ้านแจ้งว่า มีการว่าจ้างรถปิกอัพ 1 ตัน ขนข้าวสารจากท่าข้ามไปยังโกดังในพื้นที่ ในราคา 180 บาท/เที่ยว คืนหนึ่งขนกันหลายสิบเที่ยว ทำให้พวกเขามีรายได้คุ้มพอที่จะส่งงวดค่ารถยนต์กันเลยทีเดียว ซึ่งเมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว พบว่า การนำเข้าข้าวจากพม่าช่วงนั้น ไม่มีใบอนุญาตใด ๆ ทั้งสิ้น
ทาง ฉก.ร.4 จึงดำเนินการตรวจสอบภายใต้ภารกิจหลักด้านความมั่นคง และยาเสพติด กระทั่งสามารถสกัดจับขบวนการค้าข้าวเถื่อนเมื่อวันที่ 22 ก.พ.52 จำนวน 620 กระสอบ ประมาณ 30 ตัน ที่ขนออกมาจากคลังสินค้าชั่วคราวตามกฎหมายศุลกากร (ท่า 6) บ้านห้วยม่วง ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด มูลค่า 4.32 แสนบาทได้บริเวณจุดตรวจร่วมห้วยหินฝน ต.แม่ปะ อ.แม่สอด และ 11 มี.ค. 2552 เจ้าหน้าที่ศุลกากรแม่สอด ร่วมกับ ฉก.ร.4 จับกุมข้าวสารที่มีแหล่งกำเนิดจากต่างประเทศลักลอบนำเข้ามา ได้อีก 1,520 กระสอบ ประมาณ 80 ตัน มูลค่า 4.58 ล้านบาท ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ม.27 ประกอบกับ พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9) 2482 ม.16 , 17
ทั้งนี้ทุกกระสอบ จะมีอักษรภาษาพม่า (สีแดง) ระบุรายละเอียดไว้ชัดเจน
ผลการจับกุมข้าวพม่าทั้ง 2 ครั้งสะท้อนให้เห็นถึง กระบวนการลักลอบนำเข้าข้าวจากพม่าเข้าไทยผ่านชายแดนแม่สอดว่า เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
หน่วยงานด้านการข่าวในพื้นที่แม่สอด ได้ทำบันทึกรายงานหน่วยเหนือว่า การลักลอบขนข้าวพม่าเข้าไทยด้านนี้ เกิดขึ้นตลอดทุกคืน แต่ละคืนจะมีรถพ่วงบรรทุกข้าวสารจากริมแม่น้ำเมย มุ่งหน้าเข้าแม่สอด ก่อนส่งต่อไปยังพื้นที่ชั้นในของประเทศ เฉลี่ย 20-40 พ่วง แต่ละพ่วง จะบรรทุกข้าวสารประมาณ 600-700 กระสอบ (ข้าวสารพม่า น้ำหนักกระสอบละ 48 กก.) รวมข้าวสารต่อพ่วงประมาณ 30 ตันโดยเฉลี่ย หรือมีการลำเลียงเข้ามารวมทั้งหมดประมาณ 600 – 1,200 ตัน/คืน
ทั้งนี้มีรายงานว่า ระหว่างที่หน่วย ฉก.ร.4 จับกุมข้าวสารลักลอบเข้าประเทศได้ ผู้ประกอบการบางรายที่ถูกจับกุม ได้นำโพยรายชื่อหน่วยงานที่ได้รับผลประโยชน์มายืนยันว่า ได้เคลียร์กันแล้วมาแสดง เฉพาะในอำเภอแม่สอด กว่า 20 หน่วยงานนั้น ได้รับเงินค่าผ่านทาง (เฉพาะข้าวสาร) 2.2 ล้านบาท/วัน หรือเดือนละ 66 ล้านบาท หรือเฉลี่ยพ่วงละ 55,000 บาท ซึ่งตามบันทึกนั้นมีทั้งส่วนราชการที่อยู่ในพื้นที่ และหน่วยงานจากส่วนกลางที่ส่งมาประจำการในแม่สอด
ว่ากันว่า คราวนั้นเฉพาะหน่วยทหารที่ถูกส่งมาจากส่วนกลาง ถูกเรียกสอบเบื้องต้น พร้อมกับอบรมวิธีปฏิบัติกันใหม่ยกชุด
ทั้งนี้ ในวันนี้( 23 มี.ค.52 )นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาการลักลอบ และ เก็บส่วยข้าวสารที่เกิดขึ้นนี้ด้วย
สำหรับคลังสินค้าอนุมัติชั่วคราวในแม่สอด (ท่าข้ามสินค้า) ขณะนี้มีอยู่ทั้งสิ้น 19 ท่า แต่มีท่าที่มักมีการลำเลียงข้าวสารพม่าเข้าไทยอยู่เพียง 4 ท่าเท่านั้น คือ
ท่า 6 ของ หจก. นครสวรรค์ เค วี เอฟ มีนายกานตพงศ์ ใจแก้ว เป็นผู้จัดการ ซึ่งว่ากันว่า ท่าแห่งนี้เพิ่งจะเปิดดำเนินการช่วงปลายปี 2551 ที่ผ่านมาเท่านั้น เป็นท่าใหม่ของนักการเมืองใหญ่จากจังหวัดนครสวรรค์
คลัง 4 (ท่า 1) ของนายใจมา เรือนแป็ก และคลัง 9 หรือท่าเฮียกวง ที่มีชื่อ น.ส.ปภาวดี เต็มใจเจริญ เป็นผู้จัดการท่า,คลัง 14 (ท่า 14)ของนายผดุงกิจ เอื้ออารยะมนตรี
โดยเฉพาะท่า 6 ของนักการเมืองดังจากนครสวรรค์ ถูกเจ้าหน้าที่ทหาร ฉก.ร.4 จับกุมข้าวสารเถื่อน และขนหลังเวลาที่กำหนด (06.00-18.00 น.) แล้ว 2 ครั้งด้วยกัน
ชิปปิ้งชายแดนแม่สอดรายหนึ่ง เปิดเผย “ASTVผู้จัดการรายวัน” ว่า ตรวจสอบราคาข้าวสารพม่า ในตลาดเมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก พบว่า ถ้าเป็นข้าวพันธุ์ปองซาน มเว (ข้าวหอม) เมล็ดยาว ปลูกมากแถบเมืองพะโค เขตย่างกุ้ง และพม่าตอนล่าง มีการซื้อขายกันที่ 5-6 บาท/กก.เท่านั้น (ราคา ณ ริมแม่น้ำเมย ฝั่งพม่า) หรือกระสอบละ 500-600 บาท (48 กก.)
เมื่อรวมค่าขนลงเรือเล็ก (ลำละประมาณ 70-100 กระสอบ) ค่าท่าข้าม (ค่าขึ้นของ ณ คลังสินค้าฯ) และค่ากรรมกรแบกขึ้นเรือฝั่งไทยแล้ว จะมีราคาที่ 11.25 บาท/กก. ซึ่งถ้าคิดเป็นพ่วงจะมีราคาประมาณ 337,500 บาท/พ่วง รวมค่าผ่านทางในแม่สอดพ่วงละ 55,000 บาท จะมีต้นทุนที่ 390,000 บาทโดยประมาณ
ทั้งนี้ เมื่อ นำมาขายให้แก่โรงสีต่าง ๆ ภาคกลาง ในราคา กก.ละ 15-16 บาท จะมีราคาประมาณ 450,000 – 480,000 บาท/พ่วง กินกำไรส่วนต่างทันที 60,000 – 90,000 บาทต่อพ่วง เที่ยวละ 2 พ่วงก็จะได้ส่วนต่าง 120,000 – 180,000 บาท ถ้าคิดยอดที่ 40 พ่วงต่อวัน ก็จะมีส่วนต่างเข้ากระเป๋า (หักค่าใช้จ่าย – ส่วยแล้ว) 2.4-3.6 ล้านบาท/วัน หรือเดือนละ 72-108 ล้านบาท
แต่ถ้าเป็น Pearl Rice ซึ่งเป็นข้าวเมล็ดสั้นที่ชาวพม่านิยมบริโภคกัน จะมีราคาต่ำกว่านี้เกือบเท่าตัว
ในมุมของพ่อค้า หากพวกเขาต้องนำข้าวสารพม่าเข้าระบบ เสียภาษีนำเข้าตามกฎหมาย จะต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุดที่ 52% จะทำให้มีต้นทุนพุ่งสูงกว่า 430,000 – 450,000 บาท/พ่วง (เฉพาะค่าข้าวสาร) ซึ่งก็ยังมิวายต้องเสียค่าผ่านทางอีกเช่นกัน เพียงแต่อาจจะเสียในราคาที่ต่ำกว่า 2.2 ล้านบาท/วันบ้างเท่านั้น
ขณะที่นายพงษ์เทพ บัวทรัพย์ นายด่านศุลกากรแม่สอด เคยระบุว่า มีการลักลอบนำเข้าข้าวสารจากพม่าตามชายแดนในช่วงนั้นจริง เพื่อขายให้แรงงานพม่าที่ทำงานในประเทศไทย ซึ่งศุลกากรหวัง ให้นำเข้าถูกต้อง แต่ต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ โดยอัตราภาษีสูงมากถึง 52% และขณะนี้ไม่ต้องการให้นำเข้า เพราะเกรงจะกระทบชาวนาไทย
นายพงษ์เทพ บอกไว้ว่า ปีนี้ผลผลิตข้าวของพม่ามีมาก ราคาถูกกว่าของไทย ประกอบกับความต้องการข้าวราคาถูกของแรงงานพม่า การนำเข้าจึงสูงมากขึ้น
ขณะที่สถิติการนำเข้าสินค้าจากพม่าด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก ตลอดปี 51 ที่มีการนำเข้าเฉลี่ย 60-100 กว่าล้านบาท/เดือนนั้น ในบันทึก 10 อันดับสินค้านำเข้ามาที่สุด ไม่เคยปรากฏว่า มีการนำเข้าข้าวแม้แต่เดือนเดียว โดยการนำเข้าสินค้ายอดฮิต ล้วนแต่เป็นเฟอร์นิเจอร์ฯสิ่งประดิษฐ์ทำจากไม้ , ปู , เมล็ดงา , ปลาเบญจพรรณสด , โคมีชีวิต , หอมแดง , กระเพาะปลาตากแห้ง , ถั่วเขียว , กระบือมีชีวิต ,ต้นไม้กลายเป็นหิน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 27 ก.พ.52 หลัง ฉก.ร.4 จับกุมข้าวสารลักลอบนำเข้าจากพม่า ผ่านชายแดนแม่สอด (ท่า 6) ได้จำนวน 620 กระสอบ ได้เพียง 5 วัน (จับกุมเมื่อ 22 ก.พ.52) กลับมีการนำเข้ากันอีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นการนำเข้าตามที่ได้รับอนุญาตจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และกระสอบบรรจุข้าวสารเกือบทั้งหมด เป็นกระสอบสีขาวล้วน ไม่มีอักษรใดๆระบุรายละเอียดสินค้า แตกต่างจากข้าวสารที่จับกุมได้ในช่วงก่อนหน้านี้อย่างชัดเจน
ใบอนุญาตนำเข้า ใบแรกที่มีเข้ามาในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก คือ หนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิชำระภาษีตามพันธกรณี ตามความตกลงการเกษตรภายใต้องค์การค้าโลก (WTO) กำหนดนำเข้านอกโควต้า ข้าวเจ้าขาว 25% จากพม่า เลขที่ S ชม.002/2552 ใช้ได้ถึงวันที่ 28 มี.ค.2552 ของบริษัท ซีเทรเซอร์(ไทยแลนด์)2002 จำกัด มีนายสังวร เฟื่องสวัสดิ์ นักวิชาการพาณิชย์ ระดับผู้ชำนาญการ เป็นผู้ลงนาม โดยมี Thein Linn My Aing .CO.LTD เป็นผู้ส่ง
(พรุ่งนี้อ่าน “ปี 52“เจ๊พร”ไฟเขียว 2 แสนตัน/อ้างWTO-ส่งโรงสีทั่วประเทศ”)