xs
xsm
sm
md
lg

เปิดปมปริศนา “ข้าวไทยใส่โสร่ง” 2 - ปี 52 “เจ๊พร” ไฟเขียว 2 แสนตันอ้าง WTO ส่งโรงสีทั่วประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – เผยพาณิชย์ไฟเขียวโควต้านำเข้าข้าวกว่า 2.4 แสนตัน อ้างข้อตกลง WTO ทำข้าวพม่าทะลักเข้าไทยไม่หยุด เฉพาะ 5-14 มี.ค.แจ้งขอนำเข้ามากกว่า 2.6 ล้าน กก. ทั้งที่ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวอันดับต้น ๆ และส่งออกมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก หวั่นขบวนการทุจริตฟื้น เวียนเทียนใบอนุญาตนำเข้าซ้ำรอยใบแสดงถิ่นกำเนิดไม้ยุค “ป่าสาละวิน” หลังมีการซื้อขายใบ WTO กันโจ่งครึ่ม


นายพงษ์เทพ บัวทรัพย์ นายด่านศุลกากรแม่สอด เปิดเผย เกี่ยวกับการนำเข้าข้าวเจ้าขาวจากพม่าผ่านชายแดนแม่สอด ว่า ขณะนี้เป็นการนำเข้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีทั้งการอนุญาตตามโควตา-นอกโควตา

ตั้งแต่ 5-13 มี.ค.52 ที่ผ่านมา มีผู้นำเข้าที่ได้รับอนุมัติ 2 รายคือ บริษัท ซี.เทรเซอร์ (ไทยแลนด์) 2002 จำกัด ได้รับอนุญาตนำเข้าข้าว 25% จำนวน 31,617 กระสอบ น้ำหนัก 1,517,616 กก. ปลายข้าว 797 กระสอบ น้ำหนัก 38,256 กก., บริษัทเอกนิธิศ ได้รับอนุญาตนำเข้าข้าว 25% 20,445 กระสอบ น้ำหนักรวม 981,360 กก. รวมยอดนำเข้าข้าว 25% จำนวน 52,062 กระสอบ น้ำหนักรวม 2,498,976 กก. ปลายข้าว 797 กระสอบ 38,256 กก.

ทั้งนี้ ถ้าเป็นการนำเข้าในโควตา ผู้นำเข้าจะต้องเสียภาษี 30% แต่ถ้าขออนุญาตนำเข้านอกโควต้า ต้องเสียภาษี 52% ทั้งนี้การนำเข้าข้าวสารในโควต้าตามพันธกรณี ตามความตกลงการเกษตรภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO)

สำหรับสินค้าข้าวปี 2552 กระทรวงพาณิชย์ โดยนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ได้ลงนามในระเบียบกระทรวงเมื่อ 21 ม.ค.52 ว่าเป็นการนำเข้าตามข้อตกลง WTO ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2538 และมติคณะรัฐมนตรี 30 พ.ย.47 และความในข้อ 4 ของประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนำเข้าสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 111) พ.ศ.2539 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 115 พ.ศ.2539,ฉบับที่ 117 พ.ศ.2539 และฉบับที่ 143 พ.ศ.2546) โดยปีนี้ (1 ม.ค.-31 ธ.ค.52) กำหนดโควต้านำเข้าข้าวจากประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก หรือภาคีแกตต์ 1947 และ สปป.ลาว ได้ 249,757 ตัน

เพียงแต่ระยะก่อนหน้านี้มีการนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงพม่าน้อยมาก เนื่องจากต้องเสียภาษีสูง กระทั่งในปีนี้ ที่มีการขออนุญาตนำเข้ากันมากขึ้น ทั้งที่ไทยเองก็เป็นประเทศที่ผลิตข้าวในอันดับต้นๆ ของโลก และมีการส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลกอยู่ในขณะนี้

พ.อ.ทรงธรรม สิทธิ์พงษ์ รองผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจทหารราบที่ 4 (ฉก.ร.4) เปิดเผยว่า ที่จริงทหารไม่ได้มีหน้าที่ตรวจสอบการนำเข้าข้าวใดๆ แต่ที่มีการจับกุมเพราะพบเห็นการลักลอบนำเข้า ขณะที่ดำเนินการตรวจตามภารกิจด้านความมั่นคง และยาเสพติด ยืนยันว่า ก่อนหน้านี้ไม่มีใบอนุญาตใดๆ มาประกอบการนำเข้าข้าวสารจากพม่า จนกระทั่ง 27 ก.พ.52 หลังจับกุมครั้งแรกได้ 5 วัน จึงมีใบอนุญาต หรือที่เรียกกันว่า ใบ WTO มาประกอบการนำเข้า ซึ่งใบแรกเป็นใบอนุญาตนำเข้านอกโควต้า

หลังจากนั้นทางศุลกากร ก็จะทำบันทึกแจ้งมาที่ ฉก.ร.4 เกี่ยวกับรายละเอียดการนำเข้าข้าวสารจากพม่าแต่ละวันว่ามีการนำเข้าจำนวนเท่าใด โดยบริษัทไหน ขึ้น ณ ท่าข้ามใด ฯลฯ

ตามที่ ฉก.ร.4 ได้รับแจ้งจากศุลกากรแม่สอด พบว่า ตั้งแต่ 5-14 มี.ค.52 กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ออกใบ WTO ให้กับบริษัทเอกชน นำเข้าข้าวสาร 25%จากพม่า ผ่านชายแดนแม่สอดจำนวนทั้งสิ้น 56,000 กว่ากระสอบ น้ำหนักรวมประมาณ 2,688,000 กก. มีบริษัทที่มีใบ WTO ทั้งสิ้น 12 ราย ประกอบด้วย บริษัท ซี.เทรเซอร์ (ไทยแลนด์) 2002 จำกัด, บริษัท เอกนิธิศ จำกัด, หจก.จุฑาธิป อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต 2 ใบ, โรงสี ส.ผจญ, โรงสีตั้งเสริมกิจ, ร้านพรเจริญ, โรงสีไฮเวย์ไรซ์, โรงสีพรสุนทร, โรงสีเอี่ยมเฮงล้ง, สหกรณ์นิคมแม่ระมาด และ หจก.แพสีห์แดงพืชไร่

“เราไม่รู้ว่าบริษัทเหล่านี้เป็นใคร นำเข้าข้าวสารจากพม่ามาทำอะไร ขายต่อให้ใครบ้าง หรือส่งต่อไปที่ไหนอย่างไร เพราะทหารไม่มีหน้า ไม่มีอำนาจตรวจสอบ แต่หลายปีก่อนขณะที่เข้ามาตั้งหน่วย ฉก.ร.4 ที่บ้านห้วยหินฝนใหม่ๆ ซึ่งต้องปลูกต้นไม้ใบหญ้าต่างๆ เคยส่งทหารไปตระเวนขอแกลบดำจากโรงสีต่างๆ ในแม่สอด ที่ตามรายชื่อมีหลายสิบแห่ง แต่กลับไม่มีแกลบดำเลยแม้แต่น้อย” พ.อ.ทรงธรรม กล่าวติดตลก

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการนำเข้าข้าวสารจากพม่ารายหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้นำเข้าข้าวสารคุณภาพต่ำจากพม่า เข้ามาเพื่อบรรจุกระสอบขายต่อให้กับ UN ที่จะนำไปแจกจ่ายให้กับผู้อพยพตามศูนย์พักพิงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์อพยพในจังหวัดตาก ที่มีผู้อพยพมากกว่า 80,000 คน, แม่ฮ่องสอน กว่า 40,000 คน ตลอดจนศูนย์ผู้อพยพที่ราชบุรี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เขาก็ซื้อใบ WTO ต่อจากเจ้าอื่น ก็คือ ขอซื้อโควต้าจากเจ้าอื่นเหมือนกัน ราคาไม่ต้องพูดถึง เหลือกำไรถึงมือเราไม่เท่าไหร่

ต่อมาก็ได้ยื่นขออนุญาตนำเข้าเอง ซึ่งเอกสารใบแรกจะได้มายากที่สุดก็คือ ใบคำร้องขอมีบัตรประจำตัวผู้ส่งออก-นำเข้าสินค้าและหรือบัตรประจำตัวผู้รับมอบอำนาจ (สำหรับผู้ยื่นคำร้อง) ที่เขาต้องใช้เวลานานถึง 2-3 วันกว่าจะได้มา เอกสารฉบับที่ 2 ก็คือ ใบWTO และเอกสารใบที่ 3 คือใบอนุญาตนำหรือสั่งอาหารเข้ามาในราชอาณาจักร

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ใบ WTO ที่มีการนำมาใช้ประกอบการนำเข้าข้าวสาร 25%จากพม่านั้น มีการซื้อขายหมุนเวียนเปลี่ยนมือกันได้ ไม่ต่างไปจากใบแสดงแหล่งกำหนดของไม้ ที่เคยมีการนำมาใช้กับไม้ “สาละวิน” ในอดีตแต่อย่างใด

“ตอนนี้มีข้าวสารพม่า รอขนข้ามฝั่งแม่น้ำเมยไม่ต่ำกว่า 1-2 แสนตัน อยู่ที่ว่าใครจะขนกันได้มากน้อยแค่ไหน”

“ASTVผู้จัดการ” ได้ติดตามการตรวจสอบการนำเข้าข้าวสาร 25%จากพม่า ของ ฉก.ร.4 ณ จุดตรวจร่วม(ทหาร,ตำรวจ,ตม.,ป่าไม้,ประมง,ศุลกากร) ห้วยหินฝน ต.แม่ปะ จ.ตาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหาร จะทำหน้าที่ตรวจสอบเอกสารใบ WTO ที่ผู้นำเข้านำมาแสดงว่าตรงกับที่ได้รับแจ้งจากศุลกากรหรือไม่ พร้อมกับตัดยอดที่มีการนำเข้าในแต่ละวัน แต่ละบริษัท เพื่อควบคุมยอดนำเข้า ตลอดจนจัดเก็บตัวอย่างข้าวสารจากรถบรรทุกที่ผ่านด่านทุกเที่ยวไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น ส่วนปลายทางของข้าวสารจากพม่าเหล่านี้ ไม่มีการระบุอย่างเป็นทางการ

ดังนั้นในขั้นตอนนี้ (หลัง 27 ก.พ.52) ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ข้าวนำเข้าจากพม่า วันละ 20-40 พ่วงนี้ เป็นการนำเข้าอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ข้าวเหล่านี้จะถูกส่งไปที่ไหน อย่างไร เพราะมีอำนาจหน้าที่ตรวจตามหน้าเอกสารที่ได้รับแจ้งเท่านั้น

ขณะที่แหล่งข่าวชิปปิ้งรายหนึ่งในแม่สอด เปิดเผยว่า ข้าวสารพม่าเหล่านี้ส่วนใหญ่จะส่งขายให้กับโรงสีต่างๆ โดยเฉพาะแถบพิจิตร นครสวรรค์ อยุธยาฯ กรุงเทพฯ รวมถึงนครปฐม ฯลฯ ซึ่งโดยมากจะเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญ และแหล่งจำนำข้าวขนาดใหญ่ของไทยทั้งสิ้น
หลังมีการตรวจสอบพบว่า มีการลักลอบนำเข้าข้าวจากพม่า ผ่านแม่น้ำเมยเพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐได้คุมเข้มและมีการตรวจสอบมากขึ้น ขณะที่ รมว.พาณิชย์ ได้อนุมัตินำเข้าข้าวพม่า ทำให้ข้าวจากพม่า ทะลักเข้ามาไม่หยุด

แผนผังที่ตั้งท่าเรือและคลังสินค้า 19 แห่ง ริมเม่น้ำเมย โดยมี 4 จุด ที่มีการนำเข้าข้าวจากพม่า
กำลังโหลดความคิดเห็น