xs
xsm
sm
md
lg

ตลาด-นักลงทุนใหญ่ให้การต้อนรับ แผนสางสินทรัพย์เน่าของ‘ไกธ์เนอร์’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์/ไฟแนนเชียลไทมส์ – ตลาดหลักทรัพย์วอลล์สตรีทและแถบเอเชีย รวมทั้งนักลงทุนยักษ์ใหญ่ชื่อดัง ต่างให้การต้อนรับแผนการของคณะรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่มุ่งจูงใจนักลงทุนเอกชนให้เข้าร่วมมือกับภาครัฐในการสะสางสินทรัพย์เน่าเสียมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ออกไปจากภาคการเงินการธนาคารของอเมริกา
บิลล์ กรอสส์ ประธานของบริษัท แปซิฟิก อินเวสต์เมนต์ แมเนจเมนต์ คอมปานี (พิมโก) กิจการเพื่อการลงทุน ซึ่งมีกองทุนใหญ่ที่สุดในโลกด้านการลงทุนในตราสารหนี้ แถลงว่า แผนการนี้ของคณะรัฐบาลสหรัฐฯ น่าที่จะเป็นนโยบายเพื่อให้ทุกๆ ฝ่ายเป็นผู้ชนะนโยบายแรกซึ่งถูกนำมาวางอยู่บนโต๊ะในขณะนี้ และควรที่จะได้รับการต้อนรับอย่างกระตือรือร้น โดยที่พิมโกเองก็มีเจตนารมณ์ที่จะเข้าร่วม
ทางด้าน แลร์รี ฟิงก์ ประธานของ แบล็กร็อก ที่เป็นบริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์ชื่อดัง กล่าวว่า บริษัทของเขาก็จะเข้าร่วมโครงการนี้เช่นเดียวกัน “ผมคิดว่ามันเป็นก้าวเดินที่สำคัญมาก ที่รัฐบาลกำลังเข้าช่วยเหลือด้านเงินทุนของภาคเอกชน และกำลังสร้างอุปสงค์ความต้องการใหม่ๆ ในสินทรัพย์ที่มีปัญหาเหล่านี้”
ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์วอลล์สตรีทก็ได้พุ่งแรงนำโดยหุ้นภาคธนาคาร หลังจากรัฐมนตรีคลังทิโมธี ไกธ์เนอร์ออกมาประกาศในวันจันทร์ ถึงการจัดตั้งกองทุนสะสางสินทรัพย์เน่าเสียของภาคการเงินการธนาคาร โดยที่กระทรวงการคลังจะใส่เงินทุนขั้นต้นเข้ามาราว 75,000 – 100,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่อิงอยู่กับตราสารสินเชื่อที่อยู่อาศัยรวมทั้งสินทรัพย์อื่น ๆที่สิ้นสภาพคล่องไปแล้ว
ประธานาธิบดีบารัค โอบามากล่าวในวันเดียวกันว่า มาตรการสะสางสินทรัพย์เน่าเสียของภาคการเงินนี้ มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯมาก ๆแต่เขาก็บอกว่า “เรายังคงต้องไปอีกไกล และจะต้องลงมือทำอะไรหลายอย่างอีกมากมาย”
ทั้งนี้ ดัชนีหลักของตลาดหลักทรัพย์วอลล์สตรีทที่เคยดิ่งลงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 12 ปีเมื่อไม่นานมานี้ ดีดกลับขึ้นมาราว 7% เมื่อวันจันทร์ เพราะความเชื่อมั่นในมาตรการนี้โดยที่ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดเพิ่มขึ้น 497.48 จุด หรือ 6.84% ส่วนดัชนีหุ้นสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส 500 ก็ทะยานขึ้น 7.08% และดัชนีหุ้นคอมโพสิตของแนสแดคสูงขึ้น 6.76%
เวลาต่อมาเมื่อถึงช่วงการซื้อขายของตลาดแถบเอเชียวานนี้(24) ดัชนีหุ้นสำคัญของตลาดใหญ่ๆ ก็ทะยานขึ้นต่อ โดยที่ ฮ่องกงไต่ขึ้น 3.44%, โตเกียว 3.32%, โซล 1.85%, ไทเป 2.30%
ก่อนหน้านี้ ความโกรธกริ้วของประชาชนและรัฐสภาอเมริกันที่มีต่อข่าวการให้โบนัสผู้บริหารและพนักงานของอเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (เอไอจี) ได้ทำให้นักลงทุนบางคนมองการเข้าร่วมทุนกับรัฐบาลอย่างลังเล แต่ในขณะเดียวกัน บริษัทเพื่อการลงทุนสำคัญ ๆหลายแห่งต่างก็แสดงความสนใจในมาตรการที่เพิ่งประกาศออกมาและแถลงว่าจะเข้าร่วม
นอกจากนั้นเพื่อจูงใจนักลงทุนให้เข้าร่วมในมาตรการครั้งนี้ รัฐมนตรีคลังไกธ์เนอร์กล่าวว่า นักลงทุนเอกชนซึ่งเข้าร่วมโครงการนี้ จะไม่ต้องปฏิบัติตามกฎจำกัดการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้บริหาร ดังที่พวกธนาคารและสถาบันการเงินที่รัฐเข้าไปถือหุ้นพร้อมทั้งอัดฉีดเงินเข้าไปต้องปฏิบัติ
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยตั้งข้อสังเกตว่า แผนการนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ น่าจะขึ้นอยู่กับว่าพวกธนาคารเตรียมจะขายสินทรัพย์ไม่เคลื่อนไหวเหล่านั้นของตนด้วยราคาถูกๆ กันตั้งแต่ตอนนี้เลย หรือว่าพวกเขายังจะรอขายทีหลังด้วยความหวังที่ว่าเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นราคาก็ดีกว่านี้
พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลผู้ซึ่งเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ ได้เขียนโจมตีมาตรการของไกธ์เนอร์ ในคอลัมน์ฉบับวันจันทร์นี้ ครุกแมนกล่าวว่ามาตรการนี้เป็นการเดินตามแนวทาง “เอาเม็ดเงินมาซื้อขยะ” ของรัฐบาลบุชซึ่งประกาศออกมาเมื่อฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว การใช้แรงจูงใจดึงดูดนักลงทุนกันถึงขนาดนี้ จะทำให้นักลงทุนได้กำไรหากว่าราคาของสินทรัพย์เพิ่มขึ้น แต่ก็สามารถเดินจากไปได้โดยไม่เสียอะไรเลยหากว่าราคาของสินทรัพย์ดิ่งลงไป
ทางด้านสมาชิกรัฐสภาของพรรครีพับลิกันก็แสดงความกังวลต่อแรงจูงใจที่รัฐบาลเสนอ ซึ่งอาจจะทำให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินไปราว 90% ของการซื้อสินทรัพย์ทั้งหมด
“มาตรการนี้ดูเหมือนว่าจะให้แรงจูงใจอื่น ๆแก่นักลงทุนให้เข้ามาร่วมโครงการน้อยไป แต่หนักไปทางด้านการอุดหนุนด้านเม็ดเงินจำนวนมหาศาล อันเป็นเงินที่เอามาจากผู้เสียภาษีทั้งนั้น” สส.อีริก แคนเทอร์แห่งเวอร์จิเนียจากรีพับลิกันกล่าว
ก่อนหน้านี้ไกธ์เนอร์เคยออกมาประกาศหลักการกว้างๆ ของมาตรการนี้เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ซึ่งส่งผลให้ตลาดหุ้นดิ่งลงไปทันที ครั้งนี้เขาก็ย้ำเหมือนเดิมว่าการให้นักลงทุนเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยนั้นเป็นเรื่องจำเป็นมาก
“ความเสี่ยงที่กำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ก็คือ หลังจากช่วงแห่งการไร้ความรับผิดชอบในการดำเนินงานของสถาบันการเงินและการลงทุนแบบเสี่ยงมหาศาลที่ทำให้ทุกอย่างล้มคว่ำมาแล้ว ระบบก็ไม่สามารถที่จะทนทานต่อความเสี่ยงใด ๆได้อีกในตอนนี้” เขากล่าว
มาตรการนี้เป็นขั้นตอนสุดท้ายของแผนการกระตุ้นสินเชื่อและต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงของรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ก็ออกมาให้คำมั่นว่าจะอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่มเติมราว 1.15 ล้านล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
ไกธ์เนอร์กล่าวว่านักลงทุนจะเป็นผู้กำหนดราคาของสินทรัพย์เน่าเสียเหล่านี้ โดยจะขึ้นอยู่กับว่ามีความสนใจเข้าซื้อสินทรัพย์พวกนี้มากน้อยแค่ไหน และเรื่องนี้จะช่วยให้รัฐบาลไม่ต้องเข้าไปทำหน้าที่ตั้งราคาเสียเอง
เป้าหมายก็คือการกระตุ้นตลาดสำหรับหลักทรัพย์ต่าง ๆที่การซื้อขายชะงักงันไปในขณะนี้ และกำจัดความกังวลของนักลงทุนที่ว่ารัฐบาลอาจจะเข้ายึดธนาคารมาเป็นของรัฐในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น