xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯเริ่มแผนการให้เงินกู้จำนวนมหึมา หนุนนักลงทุนเอกชนซื้อสินทรัพย์เน่าเสีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวบ้านเดินผ่านบ้านที่ถูกประกาศยึด
เอเจนซี - รัฐบาลสหรัฐฯวันจันทร์(23) เสนอที่จะให้เงินกู้แก่นักลงทุนภาคเอกชน เพื่อเข้าซื้อสินทรัพย์เน่าเสียที่อาจมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ อันจะช่วยให้ภาคการเงินการธนาคารสามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่ปกติในด้านการให้สินเชื่อได้อีกครั้งหนึ่ง และช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯหลุดออกจากหล่มลึกของภาวะถดถอย

ตลาดหุ้นแถบเอเชียวานนี้พากันพุ่งขึ้นจากข่าวนี้ ซึ่งตรงข้ามกับปฏิกิริยาแห่งความผิดหวังในเดือนที่แล้ว ตอนที่รัฐมนตรีคลังทิโมธี ไกธ์เนอร์ เสนอแนวคิดโครงการร่วมรัฐ-เอกชน ในการเข้าซื้อสินทรัพย์เน่าเสียของภาคการเงินการธนาคารดังกล่าว อย่างไรก็ดี ยังมีคำถามต่อไปว่าจะตั้งราคาสินทรัพย์เน่าเสียเหล่านี้อย่างไร โดยไกธ์เนอร์นั้นต้องหาทางออกให้ดีที่สุดเพื่อให้นักลงทุนวางใจว่า เขามีแผนการที่มีประสิทธิภาพเพื่อทำให้สภาพคล่องกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง

"หากว่าทางการสหรัฐฯประสบผลสำเร็จในการทำให้มีการซื้อสินทรัพย์เน่าเสียมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ก็น่าจะเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญ" มาโมรุ ยามาซากิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งอาร์บีเอส ซีเคียวริตีในโตเกียวกล่าว

"อย่างไรก็ตาม ตลาดจะผิดหวังหากว่าโครงการไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ หากว่าการกำหนดมูลค่าของทรัพย์สินนั้นมีปัญหา" ยามาซากิกล่าว

แหล่งข่าวในรัฐบาลโอบามาระบุว่า ในเบื้องต้น กระทรวงการคลังจะเอาเม็ดเงินราว 75,000 - 100,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นเงินที่มาจากกองทุนกอบกู้ภาคเงินมูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์ที่รัฐสภาอนุมัติเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เข้าไปวางในหน่วยงานร่วมภาครัฐและภาคเอกชน

หลังจากนี้ก็จะมีเม็ดเงินจากบริษัทเพื่อการลงทุนของเอกชนเข้ามาอีก ซึ่งทางการคาดว่าจะได้เม็ดเงินทั้งหมดราว 500,000 ล้านดอลลาร์หรืออาจจะเพิ่มขึ้นราวสองเท่าของจำนวนดังกล่าว ด้วยการช่วยเหลือของบรรษัทประกันเงินฝากและธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)

ในบทความของไกธ์เนอร์ที่ลงในหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลฉบับวันจันทร์(23)ชี้ว่า มันเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องสางสินทรัพย์เน่าออกจากภาคการเงินการธนาคาร เพื่อให้ธนาคารสามารถให้สินเชื่อได้อีกครั้ง

"การที่จะรอให้ธนาคารสางสินทรัพย์เน่าเหล่านี้ออกไปเอง ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่วิกฤตจะอยู่ยาวนานมากขึ้นดังประสบการณ์ของญี่ปุ่น" เขาอ้างถึงภาวะเศรษฐกิจไม่เติบโตในญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ 1990

ภายใต้มาตรการที่ไกธ์เนอร์ร่างขึ้น รัฐบาลจะให้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลเพื่อซื้อสินทรัพย์ที่มีปัญหา อันจะเป็นการกระตุ้นให้นักลงทุนเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

ไกธ์เนอร์นั้นจะแจงรายละเอียดของมาตรการนี้ในช่วงก่อน 9 โมงเช้าวันจันทร์(23)ตามเวลาของสหรัฐฯ นักลงทุนหลายคนเป็นกังลว่า การที่บรรดาสมาชิกรัฐสภากำลังมีความไม่พอใจต่อวอลล์สตรีทเรื่องการให้โบนัสพนักงานทั้งๆ ที่แบมือขอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล อาจเป็นตัวหน่วงเหนี่ยวไม่ให้มาตรการของไกธ์เนอร์ได้รับการปฏิบัติ

ก่อนหน้าที่ไกธ์เนอร์จะแถลงรายละเอียด ตลาดหุ้นในโลกก็มีปฏิกริยาในเชิงบวกไปก่อนแล้ว ในเอเชีย ราคาหุ้นพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือนเมื่อวันจันทร์ ส่วนในยุโรป ราคาหุ้นก็พุ่งขึ้นในช่วงตลาดเปิดทำการ เงินสกุลต่าง ๆแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะดอลลาร์ออสเตรเลียและปอนด์สเตอร์ลิงเพิ่มขึ้น 2% และ 1% ตามลำดับเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

ทางด้าน แบล็กร็อก ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดการกองทุนรายใหญ่ที่สุดในโลกกล่าวว่า บริษัทน่าจะเข้ามีส่วนในมาตรการของไกธ์เนอร์

"มันเป็นความตั้งใจของเราที่จะเข้าร่วมในมาตรการนี้ในฐานะที่เป็นผู้จัดการกองทุนรายหนึ่ง" เคอร์ติส อาร์เลดจ์ กรรมการผู้จัดการและผู้บริหารร่วมของหน่วยงานตราสารหนี้ของแบล็กร็อกในสหรัฐฯกล่าว

ตามแผนการของไกธ์เนอร์นั้น ในส่วนหนึ่งกระทรวงการคลังจะให้เม็ดเงินราว 50-80% ของเม็ดเงินที่ต้องการเพื่อก่อตั้งกองทุนร่วมภาครัฐ-ภาคเอชน และบรรษัทประกันเงินฝากสหรัฐฯ(เอฟดีไอซี)ก็จะให้เอกชนที่เข้าร่วมโครงการ กู้สูงสุดถึง 6 เท่าของเงินกองทุนของบริษัท

สำหรับอีกส่วนหนึ่งของแผนนั้น มีเป้าหมายที่จะล้างหลักทรัพย์ที่อิงอยู่กับตราสารสินเชื่อที่อยู่อาศัยออกจากงบดุลของธนาคาร โดยทางการจะให้ผู้จัดการกองทุนเอกชนราว 5 รายเข้ามาซื้อ และรัฐจะให้เงินสมทบในจำนวนเท่าๆ กับเงินทุนที่ผู้จัดการกองทุนเอกชนเหล่านี้นำออกมา จากก็จะให้ตราสารหนี้ที่มีมูลค่าราวครึ่งหนึ่งของเม็ดเงินในกองทุน

นักวิเคราะห์กล่าวว่าหากรัฐบาลและธนาคารตกลงกันได้เรื่องราคาสินทรัพย์ ก็มีโอกาสมากว่าตลาดสินเชื่อจะกลับสู่สภาพปกติในเร็ว ๆนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น