xs
xsm
sm
md
lg

กรณ์พอใจจีดีพีติดลบ3% ลั่นหากอยู่เฉย-9% ธปท.รื้อตัวเลขใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – รมว.คลังรับสภาพจีดีพีปี 52 ยอมรับตัวเลขติดลบ 3% เป็นไปได้ รัฐบาลจำเป็นต้องทุ่มงบสู้ หากไม่ทำอะไรติดลบมากถึง 8-9% ทีดีอาร์ไอหนุนแนะรัฐบาลอย่ามัวแต่สนใจ GDP จนลืมรากหญ้า ชี้เช็คช่วยชาติเป็นการแก้ไขปัญหาตรงจุด ธปท.หนุนคลังก่อหนี้กระตุ้นเศรษฐกิจ ชี้แม้การใช้นโยบายการคลังจะเพิ่มภาระหนี้ให้แก่ประเทศ แต่ในยามนี้เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องกระตุ้นให้อุปสงค์ในประเทศขับเคลื่อนต่อไปได้ เผย กนง.เล็งปรับเป้าเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ ใหม่ในวันที่ 8 เม.ย.นี้

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลังเปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้รายงานการปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิ จ(จีดีพี) ในปี 2552 ใหม่แล้วว่าจะปรับลดเหลือเพียงติดลบ 3.0% จากประมาณการณ์เดิมที่คาดจะขยายตัว 0 – 2.0% โดยเป็นการติดลบเช่นที่หลายประเทศปรับลดเป้าตามภาวะการณ์เศรษฐกิจในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้เงินงบประมาณเพื่อดูแลในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

ดังนั้นภารกิจหลักที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการหลังจากนี้คือการปรับแนววิธีการใช้เงินงบประมาณภาครัฐ จะต้องเข้มงวดกับการใช้จ่ายงบประมาณทุกด้าน ต้องมีความคุ้มค่าหากจะนำเงินงบประมาณทุกบาททุกสตางค์ไปใช้ และช่วงนี้อยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณปี 2553 ซึ่งจะเป็นโอกาสดีที่จะดำเนินการ อย่างไรก็ตามสำหรับงบประมาณประจำปี 2553 ต้องยอมรับว่า 80% เป็นงบประจำที่เป็นเงินเดือนของข้าราชการทั้งหมดและอื่นๆ ซึ่งมีความยืดหยุ่นในการใช้จ่ายได้น้อย

นอกจากนี้รัฐบาลยืนยันความจำเป็นในการจัดทำงบประมาณขาดดุลและการกู้เงิน ซึ่งเป็นการเพิ่มบทบาทภาครัฐในการใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น โดยหลังจากนี้รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการทุกด้านอย่างเหมาะสม คิดนอกกรอบมากขึ้น มีความกล้าหาญที่จะเสนอนโยบายต่างๆ และหากจำเป็นต้องกู้ยืมเพิ่มก็จะพยายามทำอย่างระมัดระวัง มีความรอบคอบถึงแหล่งที่มาของเงิน ต้องใช้เงินอย่างโปร่งใส

ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายว่าหากจำเป็นต้องกู้เงินมากเพื่อนำมาแก้ปัญหาระยะสั้นที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นและส่งผลต่อเศรษฐกิจระยะยาวได้ก็จำเป็นต้องทำแต่ต้องพร้อมกับการรักษาเสถียรภาพไปด้วย โดยรักษากรอบวินัยทางการคลังเป็นอย่างดี

"หากรัฐบาลไม่ทำอะไรเลยอาจทำให้เศรษฐกิจปีนี้หดตัวติดลบถึง 8-9% ได้ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาตกงานสูงถึง 2 ล้านคนได้ โดยเป็นผลจากการส่งออกที่ลดลงก็ฉุดให้จีดีพีลดต่ำแล้วถึง 5% ยังไม่รวมกับภาคเอกชนไม่บริโภคไม่ลงทุนก็จะทำให้จีดีพีลดต่ำได้อีก 3-4% ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องทำทั้งปรับแนวการใช้เงินและขาดดุล ซึ่งมาตรการทั้งหมดทำให้จีดีพีทั้งปี 52 หดตัวต่ำเหลือเพียงติดลบ 3%"นายกรณ์กล่าว

การออกมาพูดถึงจีดีพีติดลบ 3% ในครั้งนี้ เป็นเพราะรัฐบาลจำเป็นต้องพูดความจริงกับประชาชนและผู้ประกอบการอย่างตรงไปตรงมา ตามสภาวะที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันฟื้นฟูเศรษฐกิจระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

TDRIแนะรัฐบาลอย่ามุ่งแต่GDP

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ มองว่า GDP ของไทยปีนี้จะติดลบแน่ และจะมีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจึงควรออกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับรากหญ้าและระวังผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน มากกว่าการห่วงเรื่อง GDP

สำหรับนโยบายแจกเงินประชาชน 2,000 บาท หรือเช็คช่วยชาติเป็นการแก้ไขปัญหาตรงจุด เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ต้องนำเงินใส่มือประชาชน ซึ่งหากในวงเงิน 2,000 บาท เกิดการใช้จ่ายขึ้นประมาณ 90 - 95 เปอร์เซ็นต์ จะก่อให้เกิดการจ้างงานขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรแจกเงินคนยากจนมากกว่าผู้ประกันตน เพราะยังถือว่าเป็นผู้ที่มีรายได้

กนง.ทบทวนประมาณการณ์ 8 เม.ย.

นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลจะเสนอให้ครม.พิจารณายกเว้นกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดให้หนี้สาธารณะไม่เกิน 50%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) และภาระการชำระหนี้ไม่เกิน 15%ของงบประมาณรายจ่ายเป็นเวลา 3 ปี เพื่อรองรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่ใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยว่า การใช้นโยบายการคลังในปัจจุบัน ถือเป็นเรื่องที่ดีและเป็นสิ่งที่จำเป็นในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่ากว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปี แต่ในส่วนของเศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ตามเศรษฐกิจโลกหรือไม่ ดังนั้น การใช้นโยบายการคลังจึงเป็นตัวสนับสนุนให้อุปสงค์ในประเทศมีแรงขับเคลื่อนต่อไปได้

"เมื่อเศรษฐกิจโลกดิ่งลง การใช้นโยบายการคลังช้อนขึ้น เพื่อให้อุปสงค์ในประเทศมีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นเรื่องธรรมดาที่การก่อหนี้จะเพิ่มขึ้นบ้าง"

อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้แผนนโยบายการคลังที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ชัดเจนนัก แต่แผนต่างๆ เริ่มทยอยออกมาบ้าง โดยเฉพาะโครงการเช็คช่วยชาติจำนวน 2,000 บาทของรัฐบาลที่จะออกมาเร็วๆ นี้ รวมถึงแผนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่จำนวน 1.4 ล้านล้านบาทที่จะให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเร็วๆ นี้ ซึ่งสิ่งที่เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความชัดเจนแผนการลงทุนต่างๆ ของรัฐบาลที่มีทั้งแผนแบบเร่งด่วนและระยะยาวตามมา

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)กำลังอยู่ระหว่างทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจของไทย รวมถึงข้อสมมติฐานที่เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจด้วย โดยคาดว่าในวันที่ 8 เม.ย.นี้จะนำเรื่องเหล่านี้มาหารือกัน และจะสรุปตัวเลขต่างๆ ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับล่าสุดเดือนเม.ย.ในวันที่ 22 เม.ย.นี้

นอกจากนี้ เมื่อวานนี้ (23มี.ค.) ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ได้เข้ามาหารือและร่วมรับประทานอาหารกับผู้บริหารสายนโยบายการเงินของ ธปท.

นางอมรา กล่าวภายหลังการหารือกับเจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟเพียงสั้นๆ ว่า พูดคุยกับเรื่องภาพรวมเศรษฐกิจไทย แต่ทางไอเอ็มเอฟไม่ได้มีการประเมินเศรษฐกิจและนโยบายการเงินของไทยแต่อย่างใด

กสิกรฯ คาดจีดีพีหดตัวร้อยละ 1.5-3.5

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับประมาณการแนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 ลง โดยคาดว่าจีดีพีจะหดตัวร้อยละ 1.5-3.5 โดยจีดีพีมีแนวโน้มหดตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 1/2552 จนถึงไตรมาสที่ 3/2552 ซึ่งคาดว่าจีดีพีในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 จะหดตัวประมาณร้อยละ 3.8-4.9 ทั้งนี้เป็นไปตามปัจจัยความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณความถดถอยที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจภูมิภาคหลักของโลก คือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยูโรโซน มีแนวโน้มหดตัวลงมากกว่าที่คาด ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียเองก็ไม่อาจแยกตัวออกจากกระแสความถดถอยของกลุ่มเศรษฐกิจชั้นนำเหล่านี้ได้

อย่างไรก็ตาม กรอบบนของประมาณการ อยู่ภายใต้สมมติฐานที่รัฐบาลปัจจุบันมีเสถียรภาพในการบริหารประเทศและสามารถผลักดันการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีความคืบหน้าได้พอสมควร ขณะที่เศรษฐกิจในต่างประเทศอาจเริ่มลงไปเห็นจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 4/2552 ช่วยให้การส่งออกมีภาพที่ค่อยๆ เริ่มปรับตัวดีขึ้น สำหรับกรณีเลวร้าย ที่เศรษฐกิจไทยอาจหดตัวร้อยละ 3.5 นั้น เป็นกรณีที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคหลักของโลกล่าช้าออกไปเป็นปีหน้า ซึ่งจะยิ่งก่อให้เกิดผลกระทบส่งผ่านจากภาคการส่งออกไปสู่ภาคเศรษฐกิจภายในประเทศรุนแรงมากยิ่งขึ้น

สำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะ 3-6 เดือนนับจากนี้ จะเป็นช่วงที่เผชิญกับผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นจากปัญหาที่ติดตามมากับภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลก โดยเฉพาะประเด็นการว่างงาน ขณะที่นโยบายการเงินและการคลังของทางการไทยอาจช่วยเยียวยาในเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากต้นเหตุของปัญหาเกิดขึ้นภายนอกประเทศอันยากเกินจะควบคุม อัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจึงอาจไม่สามารถช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศและขยายการส่งออกได้มากเท่ากับในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในสถานการณ์ที่ปกติ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริงได้นั้นจึงอาจต้องอาศัยการรอคอยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม บทบาทของรัฐบาลและมาตรการทางการคลังนับได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในสภาวการณ์เช่นนี้ ซึ่งแม้รัฐบาลจะมีข้อจำกัดทางการคลัง ซึ่งทำให้รัฐบาลอาจจะต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายเพื่อขยายกรอบการก่อหนี้เพิ่มเติม แต่ภารกิจที่จำเป็นเร่งด่วนคือการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ และผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้คืบหน้าโดยเร็วเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินงบประมาณลงสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะมีผลช่วยบรรเทาความรุนแรงของผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยของโลกได้ในระดับหนึ่ง.
กำลังโหลดความคิดเห็น