xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจการเงินยุคใหม่:ค่าเงินบาทกับความสามารถในการแข่งขันทางการค้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลายท่านคงคุ้นเคยกับการติดตามค่าเงินบาทจากอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. เพื่อดูว่าทิศทางค่าเงินบาทในขณะใดขณะหนึ่งแข็งค่าขึ้นหรืออ่อนค่าลงจากในช่วงก่อน การติดตามในลักษณะนี้เป็นเรื่องปกติสำหรับท่านที่เป็นผู้ส่งออก-นำเข้าที่ค้าขายในสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. แต่หากจะวิเคราะห์ว่าปัจจุบันนี้ค่าเงินบาทมีทิศทางอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินของประเทศอื่นๆ โดยรวม ทั้งที่เป็นคู่ค้าและคู่แข่งกับไทย การติดตามจากดัชนีค่าเงินบาท (Nominal Effective Exchange rate—NEER) จะให้ข้อมูลที่ครอบคลุมกว่า

ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว (แบบมีการจัดการ) ของประเทศไทยในปัจจุบัน การอ่อนค่าและแข็งค่าของเงินบาทจะถูกกำหนดจากความต้องการถือเงินบาทและเงินสกุลอื่นๆในประเทศ (ในที่นี้ขอพูดเป็นตัวอย่างง่ายๆ โดยถือว่าความต้องการถือเงินบาทหรือเงินสกุลอื่นๆ ที่กล่าวถึงในที่นี้ มีปัจจัยกำหนดมาจากการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ภาวะเศรษฐกิจการเงินของแต่ละประเทศ รวมถึงพฤติกรรมการเก็งกำไรค่าเงินของผู้ร่วมตลาดด้วย) อยากให้ท่านผู้อ่านลองนึกว่าประเทศไทยเป็นกล่องสี่เหลี่ยมใบหนึ่ง ในกล่องใบนี้จะมีเงินบาท เงินดอลลาร์ สรอ. เงินยูโร เงินเยน และเงินสกุลต่างๆ อยู่จำนวนหนึ่ง เมื่อไรก็ตามที่นักลงทุนต่างชาติ ต้องการนำเงินของตนที่อยู่ในกล่องใบนี้กลับบ้าน เขาก็จะแลกเงินบาทในมือของเขาเป็นเงินตราต่างประเทศ เช่น ดอลลาร์ สรอ. หากมีความต้องการเป็นจำนวนมากก็จะทำให้มีความต้องการเงินดอลลาร์ สรอ. มากขึ้น และอาจส่งผลให้เงินบาทจะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. หรือเมื่อผู้ส่งออกสามารถส่งสินค้าจากกล่องได้มากๆ เช่นส่งออกไปญี่ปุ่น เมื่อผู้ส่งออกได้รับค่าสินค้าเป็นเงินเยนมา ก็จะมีความต้องการที่จะแลกเงินบาทเพื่อใช้จ่ายในประเทศ หากมีความต้องการเป็นจำนวนมาก ก็อาจส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินเยน ดังนั้น ในกล่องใบนี้จะมีอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทต่อเงินสกุลต่างๆ หลายสกุล

ดัชนีค่าเงินบาทหรือ NEER นั้น เป็นดัชนีที่คำนวณค่าของอัตราแลกเปลี่ยนจากการถ่วงน้ำหนักของสกุลเงินของประเทศที่เป็นคู่ค้าและคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญของประเทศเรา โดยให้น้ำหนักตามความสำคัญทางการค้าของประเทศนั้นๆ เช่น สำหรับประเทศไทย การค้ากับประเทศสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และประเทศในภูมิภาค มีความสำคัญมาก ดังนั้นน้ำหนักสกุลเงินของประเทศเหล่านั้นในดัชนีค่าเงินบาทก็จะมีค่าสูง การเปลี่ยนแปลงค่าเงินของประเทศเหล่านั้นก็จะมีบทบาทสำคัญมากต่อดัชนีค่าเงินบาท แนวคิดของการสร้างดัชนีค่าเงินบาทที่ไม่ได้อิงอยู่กับเงินสกุลเดียว แต่อิงกับตะกร้าของเงินสกุลที่สำคัญ จึงเป็นเครื่องชี้สำคัญของการส่งออก โดยดัชนีค่าเงินบาทจะสะท้อนการได้เปรียบ-เสียเปรียบทางการค้าของประเทศ กล่าวคือ เมื่อค่าเงินบาทแข็งสะท้อนว่าสินค้าของไทยจะแพงขึ้นในสายตาของประเทศคู่ค้าและโดยเปรียบเทียบประเทศคู่แข่งอื่นๆ ประเทศไทยจะเสียเปรียบทางการค้า ในทางกลับกันเมื่อค่าเงินบาทอ่อน สินค้าของไทยจะมีราคาถูกในสายตาของประเทศคู่ค้าและโดยเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่นๆ เราก็จะได้เปรียบทางการค้า ทั้งนี้ ข้อมูลดัชนีค่าเงินบาทที่เผยแพร่โดยธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นการคำนวณจากสกุลเงิน 21 สกุล

หากดูข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนธันวาคม 2551 ค่าเงินบาทมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 35.03 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 อยู่ที่ 35.33 บาทต่อดอลลาร์ และในวันที่ 18 มีนาคม 2552 อยู่ที่ 35.80 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. จะเห็นว่าค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ. มีแนวโน้มอ่อนค่าลงเป็นลำดับ แต่หากดูในรูปดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ปรากฏว่าค่าเงินบาทกลับปรับตัวในทิศทางตรงกันข้าม กล่าวคือ ดัชนีค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงจากระดับ 76.72 ในเดือนธันวาคม 2551 มาอยู่ที่ 77.85 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 (NEER ปรับเพิ่มขึ้นแสดงว่า บาทมีค่าแข็งขึ้น) จากข้อมูลดังกล่าวแสดงว่าแม้ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. แต่กลับแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ซึ่งหากติดตามข้อมูลลงไปในรายละเอียดแล้วพบว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับยูโรและเงินสกุลในภูมิภาค สะท้อนให้เห็นว่าสินค้าไทยโดยรวมแพงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งคู่ค้า หมายความว่าประเทศไทยโดยรวมมีความสามารถในการแข่งขันทางการค้าลดลง

หากหันมามองภาวะเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มการส่งออกของไทย จากประมาณการเศรษฐกิจโลกของ IMF ที่เผยแพร่ล่าสุดในเดือนมีนาคมนี้ สรุปได้ว่า ในปี 2552 คาดว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมจะหดตัวร้อยละ 0.5-1.0 โดยเศรษฐกิจ G3 จะหดตัวประมาณร้อยละ 3.8 ขณะที่เศรษฐกิจจีน อินเดียและประเทศในภูมิภาคจะยังขยายตัวเฉลี่ยเป็นบวก ซึ่งดูแล้วตลาดส่งออกในภูมิภาคก็น่าจะเป็นความหวังของการส่งออกของประเทศไทยได้บ้าง แต่ข้อมูลการส่งออกของไทยทั้งในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2552 ไปประเทศกลุ่ม G3 จีน อินเดีย และประเทศในภูมิภาค กลับหดตัวลงมาก ดังนั้น เมื่อพิจารณาภาวะเศรษฐกิจโลก ควบคู่กับความสามารถในการแข่งขันทางการค้าด้านราคาของไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศในภูมิภาค และตัวเลขการส่งออกในช่วงที่ผ่านมาแล้ว คิดว่าภาครัฐคงต้องมีงานหนักที่จะต้องเสาะหากลยุทธ์และมาตรการการส่งเสริมการส่งออก เพื่อประคับประคองการส่งออกของไทยในปี 2552 นี้ ขอให้กำลังใจครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น