xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” ทุบบาทอ่อนอุ้มส่งออกเจียดกู้นอกแก้วิกฤตแรงงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมว.คลัง รับลูกนายกฯ เผย เร่งทำแผนใช้เงินแบงก์นอก 7 หมื่นล้าน มั่นใจภายใน 1 เดือนได้ข้อสรุป เล็งใช้ช่วยเหลือผลกระทบการเลิกจ้างและ โครงการลงทุนระยะยาว “กรณ์” อดไม่ไหวชี้นำบาท ระบุทิศทางจะอ่อนค่าต่อ ลุ้นพยุงภาคส่งออก เงินบาทวานนี้อ่อนค่าแตะ 36.16 บาทต่อดอลลาร์ ด้านนายกรัฐมนตรี ระบุ “สติกลิตซ์” นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลจะให้คำปรึกษาเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย เผยเบื้องหลังการชักชวนเกิดขึ้นระหว่างไปประชุมดาวอส

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่การกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีเร่งรัดให้จัดทำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่ 2 ที่ใช้เงินกู้จากต่างประเทศ 7 หมื่นล้านบาท ว่า ขณะนี้ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) อยู่ระหว่างทำตารางเวลาการกู้เงินโดยน่าจะดำเนินการได้ภายในปีงบประมาณ 2552 ทั้งในส่วนของเงินกู้จาก ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า)

สำหรับการใช้เงินกู้จากแหล่งดังกล่าว นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี อยู่ระหว่างพิจารณาโครงการซึ่งน่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนมีนาคมนี้ โดยจะเน้นโครงการที่มีความพร้อม และมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้จริง และเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจแผน 2 ที่จะออกมาเร็วๆ นี้ด้วย ซึ่งจะรวมถึงโครงการที่รองรับปัญหาการเลิกจ้างที่จะมีสูงขึ้นด้วย โดยอาจเป็นการว่าจ้างจากรัฐโดยตรง หรือผ่านการฝึกอบรม รวมถึงการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้นด้วย

“คณะกรรมการกลั่นกรองการเบิกจ่ายจะต้องดูเงื่อนไขการเบิกจ่ายให้สอดคล้องกับแหล่งเงิน เช่น อาจต้อมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เป็นต้น แต่โดยรวมแล้วการใช้เงินต้องมีผลในระยะยาว และใช้อย่างคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นเงินภาษีหรือเงินกู้รวมทั้งต้องมีความระมัดระวังด้วย และสิ่งสำคัญที่รัฐบาลยืนยันมาตลอดไม่ใช่ตัวเลขจีดีพีหรือเรื่องอัตราดอกเบี้ยแต่เป็นการดูแลการเลิกจ้างเพราะจะมีผลต่อสังคม และโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว ”นายกรณ์ กล่าวและว่าจากข้อจำกัดด้านงบประมาณที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่างบ 52 ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจแม้จะมีการเพิ่มงบกลางปีอีกแสนล้านบาทแล้วก็ตาม จึงจำเป็นต้องใช้เงินกู้มาช่วยเสริมอีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ พบว่า กรมสรรพากรยังมีปัญหาเรื่องการจัดเก็บรายได้ โดย 4 เดือนรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายถึง 17% จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากสินค้านำเข้าที่ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะวัตถุดิบและน้ำมันที่มูลค่าลดลงมาก ส่วนกรมสรรพสามิตและศุลกากรจัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย ซึ่งในภาพรวมมองว่าทั้งปีรายได้น่าจะยังเป็นไปตามเป้หมายที่ตั้งไว้ต่ำกว่าเป้าแสนล้านบาท เพราะในช่วงปลายปีเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นน่าจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ขณะที่กรมสรรพสามิตเริ่มมีการจัดเก็บภาษีน้ำมันเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ก็น่าจะช่วยได้อีกทางหนึ่ง

นายกรณ์ กล่าวอีกว่า การนำเข้าที่ลดลงมากกว่าการส่งออก ทำให้ดุลการค้าเป็นบวกนั้นคงต้องจับตาดูดุลบัญชีเดินสะพัดในระยะต่อไป ถึงแม้ว่าขณะนี้ค่าเงินบาทยังไม่น่าห่วง เพราะยังอยู่ในระดับอ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ซึ่งยังเป็นประโยนชน์ต่อผู้ส่งออก แต่การนำเข้าอาจจะลดลงต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง

“ภาวะเช่นนี้จะส่งผลบวกแก่ผู้ส่งออกของไทย แต่ประเด็นที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในระยะยาว คือ ดุลบัญชีเดินสะพัด เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าหดตัวมากกว่าการส่งออก แต่เชื่อว่าเมื่อเศรษฐกิจเริ่มมีเสถียรภาพในช่วงปลายปีก็น่าจะทำให้การนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจด้วย” รมว.คลัง กล่าว

นายกรณ์ ยังกล่าวถึงข้อเสนอของกระทรวงอุตสากรรมที่ขอให้ช่วยเหลือกลุ่มอุตสากรรมยานยนต์ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการหารือกัน โดยขอให้กระทรวงอุตฯเสนอแผนการช่วยเหลือมาก่อน กระทรวงการคลังพร้อมจะพิจารณาช่วยเหลือทุกกลุ่มอุตสหากรรมที่ได้รับผลกระทบหากเห็นว่าเหมาะสมอยู่แล้ว

ใช้คำแนะนำ “สติกลิตซ์” ฟื้นฟู ศก.

เมื่อเวลา 10.30 น.วานนี้ (27 ก.พ.) ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่จะตั้ง นายโจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ว่า ได้พบกับ นายโจเซฟ ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็ได้ข้อคิดมามากมาย และเป็นคนที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก มีแนวคิดกว้างขวาง จึงหวังว่า นายโจเซฟ จะช่วยให้คำแนะนำได้ และเป็นประโยชน์ต่อการที่ไทยจะฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมานายโจเซฟมองตรงกับเราว่าปัญหาที่จะดู เช่น ด้านการเงินที่จะอำนวยเรื่องสินเชื่อ การค้ำประกันสินเชื่อก็เป็นแนวทางหนึ่งได้ และเขาพยายามเสนอแนะเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสถาบันการเงิน ที่จะสามารถหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การมาเป็นที่ปรึกษาครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเท่านั้น ไม่ได้มีตำแหน่งแบบได้รับเงินเดือนแต่อย่างใด

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวให้ความมั่นใจแก่นักธุรกิจอาเซียน ในการประชุมผู้นำภาคธุรกิจและการลงทุนอาเซียน ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี ว่า รัฐบาลมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และจะทำให้ประชาคมอาเซียนมีความเข้มแข็ง พร้อมย้ำความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและเอกชน และเอกชนกับเอกชน โดยเน้นให้ธุรกิจขนาดใหญ่ กลางและเล็ก หาแนวทางร่วมกันเพื่อเป็นหลักขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจขณะนี้ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ดี จึงหวังว่าในปี 2558 จะนำไปสู่ประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็งได้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า เศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอย ประสบการณ์จากปี 2540 แสดงให้เห็นว่า หากประเทศในภูมิภาคร่วมมือกัน จะทำให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ โดยการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียนที่ผ่านมา ที่จะมีการเพิ่มเงินทุนในกองทุน เพื่อให้ประเทศสมาชิกกู้เงินไปใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น จะทำให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น

เงินบาทปิดตลาดอ่อนค่าแตะ 36.16

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดวานนี้อยู่ที่ระดับ 36.15/16 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 36.06/08 บาท/ดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม เป็นการอ่อนค่าตามสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ประกอบกับมีแรงซื้อดอลลาร์ต่อเนื่อง คาดการณ์แนวโน้มเงินบาทสัปดาห์หน้ายังมีโอกาสอ่อนค่าลงต่อเนื่อง โดยให้แนวรับไว้ที่ 36.00 บาท/ดอลลาร์ และแนวต้านที่ระดับ 36.30 กับ 36.50 บาท/ดอลลาร์

แบงก์ชาติชี้บาทอ่อนค่าเกาะกลุ่ม

“การที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงแตะระดับ 36 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ในวันนี้ (27 ก.พ.) ถือเป็นการเคลื่อนไหวปกติและเป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาคที่ค่าเงินเยนและค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากการเก็งกำไรมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา" นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศสานนโยบาย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าว

นางอมรา เปิดเผยรายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนมกราคมปี 2552 พบว่า ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ 21.3 และการส่งออกที่หดตัวร้อยละ 25.3 ขณะที่การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 4.5 รวมทั้งรายได้ภาคการเกษตรมีแนวโน้มชะลอตัวลง

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวลงร้อยละ 0.4 ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2542 แต่ยังมีปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้และดัชนีเชื่อมั่นทางธุรกิจใน 3 เดือนข้างหน้าที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเริ่มเห็นผลได้จากการจัดเก็บรายได้ของรัฐที่ลดลง

ศูนย์กสิกรฯ คาดจีดีพีติดลบ 1.5%

วานนี้ (27 ก.พ.) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกรายงานประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 52 ว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญกับอัตราการขยายตัวที่ติดลบของการใช้จ่ายภาคเอกชนพร้อมๆ กับการหดตัวสูงเป็นตัวเลขสองหลักของภาคส่งออก โดยคาดการณ์กรอบการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ในกรอบหดตัว 1.5% ถึงขยายตัว 0.2% เทียบกับที่ขยายตัว 2.6% ในปี 2551 ขณะที่การหดตัวของมูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้อาจอยู่ในกรอบประมาณ 10.0-16.0% เทียบกับที่ขยายตัว 16.8% ในปี 2551

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจเดือน ม.ค.2552 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังคงจะเผชิญกับภาวะซบเซาอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการทรุดตัวลงในอัตรารุนแรงที่สุดในประวัติการณ์ของการส่งออก และการใช้จ่ายในประเทศ ทั้งทางด้านการลงทุนและการบริโภค ตอกย้ำให้เห็นถึงสภาวะที่เปราะบางของเศรษฐกิจไทยที่ไม่อาจหลีกหนีแนวโน้มการชะลอตัวลงอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจทั่วโลกซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินในรอบนี้

“อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนมีแนวโน้มซบเซาอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี เป็นโจทย์ที่ท้าทาย และอาจทำให้ภาครัฐต้องเร่งผลักดันเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจพร้อมๆ ไปกับเร่งเบิกจ่ายวงเงินจากงบประมาณให้เข้าสู่ระบบอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเครื่องชี้ด้านการใช้จ่ายในประเทศยังคงมีสัญญาณที่อ่อนตัวอย่างชัดเจน แม้จะมีแรงหนุนจากระดับราคาโดยรวมที่อาจทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่องก็ตาม ขณะที่การส่งออกของไทยยังคงมีแนวโน้มหดตัวเป็นตัวเลขสองหลักอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี ภาคส่งออกของไทยจำต้องเผชิญกับผลกระทบจากภาวะถดถอยอย่างรุนแรงของประเทศคู่ค้าหลัก” เอกสารรายงานระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น