xs
xsm
sm
md
lg

จวกส.ส.ถ่อยแจกของลับไร้จิตสำนึก-แนะจัดเรตน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศิลปินแห่งชาติจวกยับ นักการเมืองพูดแจกของลับ-โชว์นิ้วกลางกลางสภาไม่เหมาะสม ให้ประชาชนช่วยกันประณาม ระบุไม่มีจิตสำนึกเป็นนักการเมืองที่ดี นักภาษาชี้อภิปรายในสภาควรจัดเป็นรายการประเภท “น” ที่ผู้ปกครองต้องให้คำแนะนำ จวกใช้คำไม่เหมาะสมกับกาลเทศะ ไม่สุภาพ ไม่สร้างสรรค์ เน้นเอามันอย่างเดียว เตือนอย่าให้เด็กเล็กชมอภิปรายหวั่นเด็กเลียนแบบตัวอย่างไม่ดี
นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ กล่าวถึงเหตุการณ์ที่นายสุรเชษฐ ชัยโกศล ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย ได้ชูนิ้วกลาง พร้อมตะโกนคำหยาบแจก "กล้วย" ให้ นายรณฤทธิชัย คานเขต ส.ส.ยโสธร กลุ่มบ้านริมน้ำ พรรคเพื่อแผ่นดิน ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่า คำว่าวัฒนธรรมประชาธิปไตย เป็นคำที่มีความหมายกลางๆ หากทำไปใช้ในทางที่ดี วัฒนธรรมนั้นจะงอกเงยงอกงาม หากทำไปใช้ในทางไม่ดีจะงอกง่อย
ทั้งนี้ เมื่อนักการเมืองมีพฤติกรรมที่ไม่ดีเช่นนี้ จึงไม่ใช่อารยธรรม เป็นหายนะธรรม เหมือนดั่งเช่นสภาของไต้หวัน ซึ่งนักการเมืองไม่ดี เกิดจากการเรียนรู้ เลียนแบบกัน ดังนั้น ประชาชน ผู้นำประเทศ จะต้องมีอารยะขัดขืน ช่วยกันประณามสิ่งที่นักการเมืองไม่ดีทำว่าเป็นสิ่งไม่ดี ไม่ถูกต้อง
“การที่นักการเมืองมีกิริยาวาจาไม่ดี ออกมาในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และเผยแพร่ไปทางสื่อมวลชนทั่วประเทศได้ ประการแรก แสดงให้เห็นว่า เขาไม่มีจิตสำนึกเป็นนักการเมืองที่ดี ประการที่สอง การที่เรามีนักการเมืองเป็นคนแบบนี้ แสดงว่า มาจากประชาชนส่วนหนึ่งที่มีนิสัยแบบนี้ในสังคม จึงเลือกผู้แทนแบบนี้มาเป็นตัวแทนพวกเขา ถ้าในสภามีนักการเมืองนิสัยแบบนี้มาก แสดงว่า ในสังคมก็มีคนแบบนี้มากเช่นกัน”ศิลปินแห่งชาติ กล่าว
นายเนาวรัตน์กล่าวต่อว่า การเมืองที่เป็นหายนะธรรม มีลักษณะเป็นการเมืองน้ำเน่า เป็นการเมืองเก่า ประชาชนทุกคนต้องออกมาบออกว่า เราไม่เอาการเมืองเก่าเช่นนี้ เราต้องการการเมืองใหม่ ที่เริ่มจากการปฏิรูปการเมืองให้มี 2 ระบบ คือ ระบบตัวแทน และระบบสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งระบบรัฐสภานี้ มาจากการเลือกผู้แทนมาจากเขตพื้นที่ และเลือกผู้แทนจากสาขาวิชาชีพมาเป็นวุฒิสภา จาก 10 สาขาวิชาชีพ เช่น เกษตร ประมง นักกฎหมาย ศิลปิน สื่อมวลชน เป็นต้น มาช่วยกันบริหารประเทศ ไม่ใช่ให้ใครมาสนตะพายต้อนเข้าเล้า คอกไหนมีควายเยอะก็ขึ้นมาปกครองประเทศ
ด้านนางจินตนา พันธุฟัก อดีตเลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน กล่าวถึงการใช้ภาษาไทยในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของนักการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรว่า การใช้ภาษาในการอภิปรายของนักการเมืองมีความไม่เหมาะสมอยู่มาก เพราะมีการใช้คำพูดที่รุนแรง ไม่สุภาพ และไม่ถูกกาลเทศะ เพราะสภาฯ ถือเป็นสถานที่ทรงเกียรติ อีกทั้งมีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์เผยแพร่ให้ประชาชนได้รับชมทั่วประเทศ ซึ่งอาจจะทำให้เด็กเลียนแบบ และเข้าใจว่าคำไม่สุภาพบางคำที่นักการเมืองในสภาใช้ซ้ำๆ บ่อยๆ เป็นภาษาที่สามารถใช้ได้ทั่วไป
“เท่าที่ติดตามการอภิปรายในสภาฯ พบว่านักการเมืองพูดไปโดยไม่ใส่ใจ ซึ่งเป็นอันตรายเพราะเด็กอาจจะลอกเลียนแบบเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เข้าใจว่าการอภิปรายบางคนก็เน้นเอามัน เอาสนุก แต่ก็อยากให้ใช้คำที่สุภาพ”
นางจินตนากล่าวอีกว่า นอกเหนือจากการใช้คำพูดไม่ถูกกาลเทศะแล้ว นักการเมืองแทบทุกคนล้วนพูดไม่ชัดเจนไม่มีคำควบกล้ำ ร.เรือ ล.ลิง และขาดการระมัดระวังในการใช้คำเหล่านี้ แต่ต้องชื่นชมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่พูดจาชัดเจน ถูกต้อง และระมัดระวัง ร.เรือ ล.ลิง คำควบกล้ำทุกคำ ซึ่งนักการเมืองควรเอาเป็นแบบอย่าง
ด้านนายปรีดา ปัญญาอินทร์ นักเขียนหนังสือและนักเล่านิทานสำหรับเด็ก กล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาฯ นั้น ควรขึ้นเรตติ้งเป็นรายการประเภท “น” คือรายการที่เด็กอายุ 13- 18 ปี สามารถดูได้ แต่ต้องมีผู้ใหญ่คอยให้คำแนะนำ เพราะมีภาพและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน และไม่ควรให้เด็กเล็กชม เพราะไม่มีสาระอะไร การพูดจาเน้นแต่เอามัน ภาษาที่ใช้ไม่สร้างสรรค์ ซึ่งนักการเมืองที่อภิปรายทุกคนพูดเก่ง มีจังหวะจะโคน เรียกความสนใจได้ แต่ก็ต้องเข้าใจว่า คนพูดเก่งกับพูดดีนั้นแตกต่างกัน การพูดดีคือใช้ภาษาที่สร้างสรรค์ ถูกต้อง เหมาะสม แต่การอภิปรายในสภาฯ นั้น เต็มไปด้วยภาษาเหน็บแนม ยอกย้อน ซึ่งผู้ปกครองควรให้คำแนะนำกับบุตรหลานที่ชมการอภิปรายด้วย
นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าขณะนี้นักการเมือง เป็นต้นเหตุของปัญหาวัฒนธรรมประชาธิปไตยบกพร่อง นักการเมืองต้องยอมรับและใจกว้างไม่ใช่แต่โทษรัฐธรรมนูญ เอะอะก็แก้รัฐธรรมนูญ ประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญสิ้นเปลือง ผ่านมา 76 ปี มี18 ฉบับ และวันนี้เราก็ยังไปโทษแต่รัฐธรรมนูญ ไม่เคยโทษตัวเอง ดังนั้น เราต้องให้การเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนสามารถเลือกนักการเมืองที่มีคุณภาพ เข้ามาสู่การเมืองทุกระดับ ทั้งระดับท้องถิ่น จนถึงระดับประเทศ การเลือกตั้งไม่ได้เป็นส่วนสำคัญที่สุด แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมประชาธิปไตยในสังคม แต่วันนี้สังคมจะอยู่ได้เราต้องยอมรับกติกา อยู่ด้วยเหตุผล มีความเป็นธรรมเสมอภาค เคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยก
“ภาพที่ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่ผ่านมา ได้ปรากฏภาพที่ไม่เหมาะสม และภาพนั้นได้ถูกถ่ายทอดออกสู่สาธารณชนทั่วประเทศ เด็กก็ดู ผู้ใหญ่ก็ดู ดังนั้น ผมจึงอยากให้นักการเมืองเป็นแบบอย่างที่ดี เพราะการประชุมย่อมมีกฎกติกา มีระเบียบข้อบังคับ อย่างไรก็ตามภาพที่ออกมาถือเป็นบทเรียนที่เห็นได้ชัดแก่นักการเมืองที่แสดงออกในพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในสภา เพราะหากนักการเมืองได้ปฏิบัติตามกฎกติกา เคารพในข้อบังคับ ปัญหาก็จะไม่เกิด” รมว.วัฒนธรรม กล่าว
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า มีความไม่เหมาะสมและไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น