xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนผวาสอบกบข.ลาม ป้องลงทุนเจ๊ง5%จิ๊บจ๊อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - เอกชนผวาล้างบาง กบข.ลาม อยากให้รอผลการตรวจสอบก่อนให้ข่าว เหตุ กบข.เป็นกองทุนขนาดใหญ่มีผลกระทบวงกว้าง ชี้ติดลบ 5% ไม่แปลกในยุคที่ใครๆ ก็ขาดทุนกันทั่วโลก "บรรยง" เผย บล. ภัทรลงทุนหุ้นขาดทุนตั้ง 27% ทีมผู้จัดการกองทุน กบข.ไม่หวั่น เชื่อไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของ กบข.ในอนาคต เอ็มดีตลาดหุ้นตอบรับเป็นกรรมการสอบข้อเท็จจริง

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เห็นด้วยที่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการลงทุนของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) แต่ด้วยวิธีการตรวจสอบ น่าจะรอให้มีข้อสรุปที่ชัดเจนก่อนจะออกมาเปิดเผย ซึ่งในเรื่องนี้ กบข.เอง ก็มีหน้าที่ชี้แจงและเปิดเผยทุกอย่างว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้น กบข.ได้ทำหน้าที่ตามสมควรหรือยัง และลงทุนอย่างระมัดระวังพอหรือยัง ทั้งนี้ การบริหารกองทุนขนาดใหญ่เช่นนี้ จะมีกระบวนการวิเคราะห์ที่เป็นขั้นตอน ไม่ใช่บุคคลตัดสิน และเชื่อว่า การลงทุนของ กบข.เอง ก็มีกระบวนการในการตัดสินใจอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนจากการลงทุนของกบข. ซึ่งติดลบไป 5.12% นั้น เป็นเรื่องที่ไม่แปลกใจอะไร เพราะเป็นปีที่ใครก็บอกว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไม่เคยเห็น ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น กองทุนทั่วโลก ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขนาดใหญ่ของโลก ก็ติดลบไปกว่า 27% หรือกองทุนของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดเอง ก็ติดลบไปถึง 30% จากที่เคยทำได้ 12-15% ในช่วงก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ในปี 2551 ที่ผ่านมา ไม่ใช่เฉพาะการลงทุนในหุ้นเท่านั้นที่เสียหาย การลงทุนในตราสารหนี้เองก็เสียหายเช่นกัน

"ต้องยอมรับว่า การลงทุนที่ติดลบไป 5% เป็นความเสียหาย ซึ่งส่งผลต่อเงินออมของสมาชิก แต่การขาดทุนดังกล่าวเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นทั่วโลก พอร์ตของบริษัทผมเองก็ขาดทุนไปถึง 27% จากการลงทุนในหุ้น แต่หากจะไม่ให้เสียหายเลย แล้วได้ผลตอบแทนเพียง 2-3% ก็เป็นผลตอบแทนที่ไม่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็จะไม่พอต่อการออมเพื่อวัยเกษียณ"นายบรรยงกล่าว

ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของกบข. ในอนาคตหรือไม่ นายบรรยงกล่าวว่า หน้าที่ของกบข.คือ ต้องชี้แจงให้สมาชิกซึ่งเป็นเจ้าของเงินเข้าใจ ซึ่งในจำนวนสมาชิกกว่า 1 ล้านคน ต้องมีอยู่แล้วที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่สุดท้ายแล้วต้องมีกระบวนการที่ถูกต้อง ซึ่งในเรื่องนี้ ถ้าเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทเอกชน ก็สามารถให้นโยบายกับผู้จัดการกองทุนได้ หรืออาจจะเปลี่ยนผู้จัดการกองทุนก็สามารถทำได้

นายธีรนาถ รุจิเมธาภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด หนึ่งในผู้จัดการกองทุนที่บริหารเงินให้ กบข. กล่าวว่า การลงทุนในหุ้นของกองทุนบำเหน็จบำนาญขนาดใหญ่ เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดอะไร เพราะทั่วโลกก็ทำกัน แต่ความเสียหานที่เกิดขึ้น ต้องยอมรับว่าความเสี่ยงระหว่างปีมันอาจจะเกิดขึ้นในบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ สมาชิกเองก็ต้องเข้าใจเหมือนกัน โดยเฉพาะในปีนี้ ถ้าไม่ลงทุนในหุ้นก็ไม่สินทรัพย์ให้ลงทุนมากนัก เพราะการลงทุนในตราสารหนี้เองให้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำเพียง 1% กว่าๆ เท่านั้น ซึ่งไม่ตอบโจทย์การออมเพื่อเกษียณ

"คนที่ได้รับผลกระทบอาจจะเป็นคนที่เกษียณอายุในปีที่แล้วพอดี แต่สำหรับสมาชิกที่อยู่มานาน น่าจะเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างปีคงจะไม่มีผลกระทบกับเงินต้น เพียงแต่กำไรอาจจะน้อยลงเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ สมาชิกเอง ควรจะหาข้อมูลก่อนร้องเรียน เพราะอาจจะทำให้มองภาพของการลงทุนในหุ้นผิดไป"นายธีรนาถกล่าว

อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยกับการตรวจสอบในครั้งนี้ เพราะทุกอย่างจะได้ออกมาอย่างโปร่งใส ซึ่งกบข.เอง ก็เชื่อว่าสามารถเปิดเผยข้อมูลได้อยู่แล้ว ทั้งนี้ ในส่วนการตรวจสอบเอง ผู้ตรวจสอบต้องเข้าใจสถานการณ์ด้วยว่าเกิดอะไรขึ้น และหากผลสอบออกมาแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็ต้องอธิบายให้สมาชิกอย่างตรงไปตรงมา พูดให้ชัดเจนและสมาชิกต้องเข้าใจด้วย

นายธีรนาถกล่าวว่า เชื่อว่าการร้องเรียนในครั้งนี้ จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของกบข. ในอนาคต ซึ่งการที่เราตกลงกับผู้ลงทุนในวงกว้าง ย่อมมีทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้ ก็เป็นหน้าที่ของกบข. ที่จะต้องให้ความรู้และอธิบายให้สมาชิกเข้าใจด้วย

ตลท.พร้อมเป็นกรรมการสอบข้อเท็จจริง

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ( ตลท. ) เปิดเผยว่า กรณีที่คณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าชการ (กบข.) มีมติอย่างไม่เป็นทางการให้ตั้งอนุกรรมการพิเศษขึ้นมาตรวจสอบการดำเนินงานของ กบข. หลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) จะเข้าตรวจสอบการลงทุนของ กบข. ที่มีผลตอบแทนการลงทุนขาดทุนในปี 2551 โดยตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีคนที่มีความรู้ ประสบการณ์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องจากทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ตลท. ร่วมทั้ง ป.ป.ท. เป็นกรรมการ ซึ่งในส่วนของตลท. และวิทยาลัยพัฒนาตลาดทุน ยินดีที่จะเข้าร่วมเป็นกรรมการ เพื่อให้อนุกรรมการที่ กบข.ตั้งขึ้นสามารถให้คำอธิบายที่ชัดเจนกับสมาชิก กบข. และเกิดความกระจ่างในข้อสงสัยที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ การลงทุนของกบข. ก็ต้องเป็นไปตามกรอบที่กฎหมายกำหนด แต่การลงทุนทุกประเภทที่ความเสี่ยง ดังนั้น ต้องอธิบายให้สมาชิกเข้าใจถึงส่วนผสมของการลงทุน ทั้งตราสารหนี้ ตลาดหุ้น ว่า ให้ผลตอบแทนแตกต่างกันอย่างไร เช่นในปื 2550 ตลาดหุ้นไทยปรับตัวดี เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 ดังนั้นกองทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นก็ได้ผลตอบแทนดีเช่นกัน แตกต่างจากปีที่ผ่านมาที่ตลาดหุ้นปรับลดลงผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก ดังนั้น ผลกำไรของกองทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นก็ต้องลดลง ซึ่งคำอธิบายเหล่านี้ เป็นหน้าที่ของผู้จัดการกองทุน และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ( บลจ.) ต้องให้ความกระจ่างแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อให้เกิดความเข้าใจและไม่ให้เกิดความตระหนก

นางภัทรียา กล่าวด้วยว่า การพิจารณาผลตอบแทนจากการลงทุนต้องมองระยะยาว อย่ามองปีต่อปี เพราะอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้

“ตลาดหลักทรัพย์ และวิทยาลัยพัฒนาตลาดทุน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตลาดหลักทรัพย์ดูแล ยินดีที่จะร่วมเป็นอนุกรรมการพิเศษเพื่อให้คำอธิบายเกี่ยวกับการดำเนินงานของ กบข. มีความชัดเจน และเกิดความเข้าใจมากขึ้น” นางภัทรียากล่าว

ทั้งนี้ อนุกรรมการพิเศษขึ้นมาตรวจสอบการดำเนินงานของ กบข. จะนำเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด กบข.อย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มี.ค.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น