xs
xsm
sm
md
lg

จดหมายจากพ่อของ Mr.Giles

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ผมเขียนบทความนี้ วันที่ 9 มีนาคม 2552 เป็นวันครบรอบ 94 ปีของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กัลยาณมิตรผู้ยิ่งใหญ่ของผม อาจารย์จากไป 28 กรกฎาคม 2542 เกือบจะครบ 10 ปี พอดี

จดหมายอากาศหรือ Aerogramme ราคา 3 บาทจากพ่อของ Mr.Giles ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2511 หรือ 42 ปีมาแล้ว พูดถึงลูกชาย 2 คน และการศึกษาไทย

การเขียนถึงอ.ป๋วยและ Mr.Giles อีกครั้งทำให้ผมต้องเจ็บปวดเหมือนเดิม แต่ผมก็เต็มใจ เพราะถือว่า เป็นการป้องกันบุคคลที่ผมเคารพ ประเทศที่ผมรัก และเสรีภาพที่ผมหวงแหน

ทั้งสามส่วนนี้ต้องเสื่อมเสีย กระทบกระเทือน และหม่นหมอง เพราะการกระทำของระบอบทักษิณ กระบวนการสุนัขเสื้อแดง และบุรุษลูกครึ่งจีนกับอังกฤษที่ชื่อ Giles Ungphakorn

ผมจะขอพูดถึงอ.ป๋วยก่อน เมื่อบทความของผมเรื่อง เสรีภาพกับความรู้ดร.ป๋วยกับ Giles และสุนัขเสื้อแดง ลงใน ผจก.ออนไลน์ วันที่ 1 มีนาคม 52 วันรุ่งขึ้น ผมได้รับอีเมลจากคุณหญิงชัชนี จาติกวณิช มีข้อความดังนี้

“พี่อ่านบทความของปราโมทย์ตั้งแต่เมื่อคืนด้วยน้ำตาและความคิดถึงคุณน้าป๋วย และขอให้วิญญาณท่านสู่สุคติ เนื่องจากความดีทั้งหลายทั้งปวงที่ท่านได้สั่งสมไว้ตลอดชีวิตของท่าน พี่ต้องขอบใจปราโมทย์อย่างสุดซึ้งที่เขียนบทความนี้ ไม่ใช่ได้เอ่ยถึงชื่อพี่ แต่ได้ยกย่องและรักษาคุณความดีของคุณน้าป๋วยไว้ ..ฯลฯ”

ผมยังได้รับฟังจากท่านอื่นๆ ทั้งทางโทรศัพท์ จากเมล และท่านที่โพสต์มาท้ายบทความอีกด้วย เกือบทุกท่านลงความเห็นว่า Giles เป็นลูกไม้ที่หล่นไกลต้น หนึ่งในข้อดีหรือจุดแข็งของอาจารย์ป๋วยที่ Giles คงไม่มี คือ ความเป็นพุทธที่เข้าใจกฎความเป็นอนิจจังแห่งสังคม และหลักอิทัปปจจยตา หรือความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงของเหตุปัจจัยหรือสภาวธรรมต่างๆ ที่ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลง

ส่วนใหญ่เชื่อว่าอ.ป๋วยเป็นคนดี รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และสันติประชาธรรม ได้รับใช้บ้านเมืองมาแล้วอย่างเต็มภาคภูมิไม่น้อยหน้าใครในแผ่นดิน

การที่ Mr.Giles กระทำสิ่งที่เขากระทำนั้นเป็นเสรีภาพ ความเชื่อ และผลประโยชน์ส่วนตัว หาได้เกิดเพราะเขาเป็นลูกชายของอ.ป๋วย หรือเพราะเจ็บช้ำกับชะตากรรมของอ.ป๋วย จนอยากแก้แค้นแทนพ่อ หรือบ่มเพาะอุดมการณ์เดียวมากับพ่อก็หาไม่ เพราะสิ่งที่เขาทำนั้นขัดกับอุดมการณ์สันติประชาธรรมของอ.ป๋วยแท้ๆ

ผมมิใช่ลูกศิษย์อ.ป๋วย และมิเคยแสดงตัวว่าสนิท แต่อาจารย์กับผมพบปะ และเขียนจดหมายถึงกันมาหลายปีก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม

อ.ป๋วยที่ผมรู้จักเปี่ยมด้วยพรหมวิหาร 4 ผมยังไม่เคยเห็นใครรักความยุติธรรมและเคารพสิทธิของคนอื่นเท่ากับอาจารย์ เวลาอยู่เมืองนอก อาจารย์ป๋วยซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องล้างจาน ถ้าหากผมทอดไข่และหุงข้าว ถึงเวรเอาขยะไปวางก็จะตรงเวลาเป๊ะ และไม่ยอมให้ใครเบี้ยว ถึงเวลาสามทุ่มวันพุธจะต้องโทร.ถึงเมียไม่เคยขาดถ้าอยู่ต่างเมืองหรือต่างประเทศ ตอนที่สอนอยู่เคมบริดจ์ อาจารย์ผลัดกันใช้รถกับแหม่มที่อยู่ลอนดอนคนละอาทิตย์ เวลาผมไปเยี่ยมจากปารีสในอาทิตย์ที่ไม่มีรถ อาจารย์จะบ่นว่าผมไม่รู้จักมาอาทิตย์ที่มีรถ ผมนึกในใจแต่ไม่เคยบอกอาจารย์ว่า ถ้าเป็นผมจะบอกเมียว่าอาทิตย์นี้เพื่อนมาขอยืมรถหน่อยนะ

ที่มหัศจรรย์ที่สุดตลอดเวลาอันยาวนานที่คบกัน อาจารย์ป๋วยไม่เคยด่า นินทา ใครให้ผมได้ยินเลย อย่างมากที่สุดอาจารย์จะเรียกบุคคลพิเศษที่มีอยู่ 3 คนว่าเจ้านั่นเจ้านี่แทนที่จะเรียกเขาตามยศศักดิ์ธรรมดา เราเคยคุยกันถึงบุคคลสำคัญในเมืองไทยนับไม่ถ้วน เวลาผมบ่นผู้บริหารธรรมศาสตร์ที่ไม่ตอบจดหมาย อาจารย์บอกว่าอย่าไปว่าเขาเลย บางทีเขาอาจจะไม่ได้รับจดหมายเราก็ได้

คนไทยชอบด่ากันว่า ลูกพ่อแม่ไม่สั่งสอน สั่งสอนในที่นี้น่าจะหมายถึงการเลี้ยงดูรวมทั้งทำตนเป็นแบบอย่าง ที่เรียกกว้างๆ ว่า socialization ผมแน่ใจว่าทั้งอาจารย์ป๋วยและภริยาสั่งสอนลูกมาดีทุกคน และผมเชื่อว่าลูกของอาจารย์ป๋วยทุกคนเป็นคนดีในมิติทั่วไปของความเป็นคน คือเป็นผู้ซื่อสัตย์และประพฤติดี แต่ในการสั่งสอนนั้น ย่อมจะมีช่องว่างแห่งวัย ช่องว่างแห่งกาลเวลา ช่องว่างแห่งสังคม และช่องว่างแห่งวัฒนธรรมเพราะภริยาอาจารย์เป็นคนอังกฤษ ลูกๆ พ่อ และแม่ อาจจะไม่เหมือนกันในหลายๆ เรื่อง

ยิ่งเรื่องที่เราเรียกว่า political education ก็ดี political socialization ก็ดี สองสิ่งนี้มีอิทธิพลต่อความเข้าใจและบทบาทของบุคคลในทางการเมือง พ่อ แม่ ลูก อาจจะแตกต่างกันสิ้นเชิง และลูกอาจจะมิได้รับการถ่ายทอดใดๆ จากพ่อเลยก็ได้ ผมไม่แน่ใจว่าอาจารย์จะให้การศึกษาลูกคนหนึ่งคนใดเกี่ยวกับการเมืองไทยและอุดมการณ์ของอาจารย์หรือไม่

บางครั้งความยอกย้อนซ่อนเงื่อนของการเมืองไทย ยังทำให้อาจารย์กับผมงง จนถึงกับต้องเอามาถกกันอย่างเอาเป็นเอาตาย และเขียนจดหมายวิเคราะห์แลกกันอยู่บ่อยๆ ก็มี

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของชาติและอดีตรมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ หนึ่งในหลานดีเด่นหลายคนของอาจารย์ เช่น ดร.พนัส สิมะเสถียร ดร.นริศ ชัยสูตร บุญเสริม อึ๊งภากรณ์ ฯลฯ รำลึกถึงลุงป๋วยของเขาในวันลอยอังคาร โดยกล่าวว่า “ลุงป๋วยเปรียบเสมือนมาตรฐานทองคำของครอบครัว เป็นตัวอย่างที่พวกเราพยายามดำเนินรอยตาม เมื่อใครได้รับการเปรียบเทียบว่าเหมือนลุง ก็จะเป็นคำชมที่ดีที่สุดที่พึงจะได้รับ พวกเรารู้ว่าลุงเป็นมาตรฐานที่สูงมาก และส่วนมากแล้วเราก็ไปไม่ถึง”

ดร.ยงยุทธเมื่อตอนเป็นเด็กเคยไปอยู่บ้านลุงป๋วยนานๆ ได้บรรยายคุณค่า ความรู้ ที่ได้รับ ตลอดจนความสนุกที่เล่นกับ “ลูกๆ ของลุงและป้า” “ผมจำได้ว่าจอนซนมาก และมีเรื่องแผลงๆ เล่นอยู่เสมอ ปีเตอร์มีผมหยิกสีทอง น่ารักและมักตามใจคนอื่นอยู่เรื่อย ส่วนใจ น้องคนสุดท้องยังเล็กอยู่”

ผมนำเรื่องนี้มาเล่า เพื่อตั้งคำถามว่า Mr.Giles ได้รับ “มาตรฐานทองคำ” มาจากอ.ป๋วย และมาตรฐานดีงามอื่นๆ จากวงศาคณาญาติหรือไม่

ขณะนี้จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้จำเริญรอยตามพ่อได้รับรางวัลแมกไซไซเหมือนกัน กำลังถูกมรสุมกฎหมายและการเมืองถาโถมโจมตีอย่างหนัก ส่วนหนึ่งก็เพราะเขาเป็นพี่ชายของ Mr.Giles และอีกส่วนหนึ่งเพราะเป็นเจ้าของเว็บไซต์ประชาไท

เพื่อจะแสดงว่า อาจารย์ป๋วย จอน และ Mr.Giles ต่างก็เป็นปัจเจกชนที่เป็นตัวของตัวเอง ไม่จำเป็นจะต้องคิด เชื่อ และทำอะไรเหมือนๆ กัน ผมขอยกตัวอย่างจากจดหมายที่จอนตอบสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้วิพากษ์อ.ป๋วยดังต่อไปนี้

1. “ผมไม่รู้จักคุณพ่อมากนักในแง่การทำงานและความคิดในการทำงานในสมัยนั้น”

2. (ข้อ 4) “คุณแม่คิดแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย แต่คุณพ่อคิดแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย”

3. (ข้อ 7) “ ผมไม่รู้ว่าคุณพ่อทราบข้อมูลและตระหนักแค่ไหนต่อบทบาทการฆ่าและจำคุกนักโทษการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ แต่ก็คงต้องทราบพอสมควรและก็คงไม่เห็นด้วยกับการกระทำแบบนั้นแน่นอน เพราะคุณพ่อเชื่อมั่นคงในเรื่องกระบวน การยุติธรรมและสิทธิของผู้ต้องหาตลอดจนเสรีภาพทางความคิดและอุดมการณ์ แม้ว่าคุณพ่อจะไม่ชอบ “คอมมิวนิสต์” ก็ตาม”

ผมอยากจะนำข้อ 3 มาย้อนถาม Mr.Giles ว่า “ทราบข้อมูลและตระหนักต่อ บทบาทของพ.ต.ท.ทักษิณ ในเรื่องเดียวกันนี้อย่างไรหรือไม่ ทำไมจึงไปเกลือกกลั้วกับ สุนัขเสื้อแดง”

สำหรับข้อมูลจาก 1 และ 2 ชี้ชัดแล้วว่าความคิดและการกระทำของ Mr.Giles นั้นไม่มีอะไรเชื่อมโยงถึงอ.ป๋วย

ผมขอพิมพ์และเสนอภาพถ่ายจดหมายอ.ป๋วยถึงผมบางส่วน ดังนี้

“ผมมีลูกชาย 2 คนเรียนอยู่อังกฤษ คนโตชื่อจอน เรียนปีที่ 2 ชั้นปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ที่ Sussex คนที่สองชื่อไมตรีกำลังเรียน GCE ‘A’ level คาดว่าคงจะได้เข้ามหาวิทยาลัยกันยายน 2512 ดูเหมือนเลือก LSE เป็นลำดับแรก เพราะจะเรียนเศรษฐศาสตร์ แต่ผมชักจะหวั่นๆ เพราะรู้สึก LSE ระส่ำระสายจนเกินไปอาจจะเป็นโทษแก่การเรียน คุณคงจะได้พบหลานชายผมคือยงยุทธ ยุทธวงศ์ (ลูกของน้องสาวผม) ที่ Oxford แล้ว”

สำหรับ Mr.Giles ที่ดร.ยงยุทธบอกว่า “ยังเล็กอยู่” อาจารย์กับใครๆ ก็ไม่พูดถึง 42 ปีผ่านไป ผมอยากจะพูดว่าการกระทำของ Mr.Giles ตอนนี้ก็เหมือน “ยังเป็นเด็กเล็กอยู่” แต่เป็นเด็กเล่นไม้ขีดไฟ อาจเกิดระส่ำระสายได้ จะไม่พูดถึงหรือคอยหักมือเสียบ้าง ก็คงจะเหลิง.
กำลังโหลดความคิดเห็น