xs
xsm
sm
md
lg

เล็งฟ้อง2อดีตบิ๊กกลต.ร่วมทุจริต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน – ดีเอสไอ รับเป็นเจ้าภาพตรวจสอบการเลี่ยงภาษีนับแสนล้านบาทจากการขายสินทรัพย์ของปรส. ให้กับกองทุนต่างๆ โดยมิชอบ ขณะที่ศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ เตรียมฟ้อง 2 บิ๊กก.ล.ต. “ธารินทร์-ปกรณ์” ฐานสนับสนุนให้จดทะเบียนกองทุนรวมโดยมิชอบ

นายสงวน สงวนรักษ์ศักดิ์ นักกฎหมายศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในวันที่ 2 เมษายน 2552 นี้ ศูนย์ประสานงานลูกหนี้ฯ จะร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ โดยดีเอสไอจะรับเป็นเจ้าภาพจัดประชุมลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ที่รัฐบาลออกพระราชกำหนดปิดสถาบันการเงิน 56 แห่ง ก่อนจะประมูลขายทรัพย์สินให้แก่กองทุนรวมต่างๆ ที่จดทะเบียนโดยมิชอบ

โดยการประชุมในครั้งนี้ ศูนย์ประสานงานลูกหนี้จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ทั้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อัยการ อธิบดีกรมสรรพากร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นต้น

สำหรับกองทุนรวมที่รับโอนหนี้จากปรส. ที่จัดตั้งขึ้นโดยมิชอบ มีทั้งหมด 8 แห่ง ประกอบด้วยกองทุนต่างประเทศ 3 แห่ง คือ กองทุนโกลบอลไทย พร็อพเพอร์ตี้ กองทุนบางกอกแคปปิตอล กองทุนเอเชียรีคอฟเวอรี่ 1, 2 และ 3 กองทุนรวมแกรมมาแคปปิตอล กองทุนรวมไทยรีสตรัคเจอริ่ง และกองทุนรวมธนชาติพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ 6

ทั้งนี้ หากกองทุนเหล่านี้ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย อาจจะส่งผลต่อผู้ถือหุ้นกองทุนดังกล่าว เช่น ธนาคารธนชาต ที่เป็นผู้ถือหุ้นกองทุนรวมชาติพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ 6 หรือธนาคารเกียรตนาคิน ถือหุ้นกองทุนเอเชียรีคอฟเวอรี่ 1, 2 และ 3 ได้รับความเสียหายถึงขั้นล้มละลายได้

“บริษัทที่ชนะการประมูล ไม่ได้เข้าทำสัญญากับปรส. เอง แต่ไปตั้งกองทุนรวมเพื่อหลบเลี่ยงภาษี เช่น เลห์แมน บราเดอร์ส โฮลดิ้ง อิงค์ ที่โอนสิทธิให้กับกองทุนรวมโกลบอลไทย พร็อพเพอร์ตี้ หรือโกลด์แมน แซคส์ เอเชีย ไฟแนนซ์ โอนสิทธิให้กับกงอทุนรวมบากกองแคปปิตอล ซึ่งใช้รูปแบบในลักษณะหลบเลี่ยงภาษีเหมือนกันหมด โดยมีผู้ให้คำปรึกษาอยู่เบื้องหลังการดำเนินการในครั้งนี้ ดังนั้นการดำเนินการดังกล่าวอาจจะทำรัฐบาลได้สูญเสียรายได้จากภาษีนับแสนล้านบาท”

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ศูนย์ประสานงานลูกหนี้ฯ จะดำเนินการฟ้องนายธารินทร์ นิมนามเหมินท์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และดำรงตำแหน่งประธานสำนักงาน ก.ล.ต. รวมถึงนายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการสำนักงานก.ล.ต. ในข้อหาส่งเสริมสนับสนุนหรือให้ความสะดวกแก่เจ้าพนักงานกระทำผิด โดยจดทะเบียนกองทุนรวมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ และละเว้นปฏิบัตหน้าที่โดยมิชอบ

อย่างไรก็ตาม การฟ้องร้องดำเนินคดีนั้น จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่าย อาทิ ค่าทนาย และค่าติดตามคดีต่างๆ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาสืบพยานนานเป็นปี ดังนั้นอาจจำเป็นต้องร่วมลงขันช่วยกันรายละ 5,000 – 10,000 บาท ทั้งนี้ แม้คดีจะกินระยะเวลามานานกว่า 10 บาท อาจจะมีปัญหาเรื่องขาดอายุความ แต่บางกองทุนที่ประมูลในปี 2541 และเริ่มขายมีรายได้เข้าในปี 2542 ดังนั้นอาจจะต้องมีการเสียภาษีในปี 2542-2543 ซึ่งยังอยู่ในอายุความไม่เกิน 10 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น