xs
xsm
sm
md
lg

โครงการทวงสิทธิลูกหนี้ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โครงการทวงสิทธิลูกหนี้ไทย


ด้วยระบบสัญญาเงินกู้ สัญญาจำนองที่ขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 เกี่ยวกับเรื่องการรับผิดของลูกหนี้เจ้าของทรัพย์จำนองและวิธีการคิดดอกเบี้ยที่แตกต่างกันระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝากทำให้ลูกหนี้ไทยทุกประเภทไม่ว่ากู้เงินซื้อบ้านอยู่อาศัย กู้เงินซื้อรถ เงินกู้ทางธุรกิจ ประสบสภาวะล้มละลายกันเป็นจำนวนมาก ปัญหาดังกล่าวเป็นรากฐานของการเกิดหนี้เน่าที่ไม่รู้จบ ปัจจุบันเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกประชาชนกำลังจะต้องเผชิญกับปัญหาระลอกใหม่ หากไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างถูกจุด ลูกหนี้ไทยจะไม่มีวันพ้นจากสภาพการเป็นหนี้เน่าที่เปรียบเสมือนเป็นทาสของเจ้าหนี้ตลอดไปและเป็นที่น่าตกใจว่าเจ้าหนี้สถาบันการเงินเหล่านี้คิดค้นวิธีที่เอาเปรียบทำให้ลูกหนี้ตกอยู่ในสภาพที่แก้ปัญหายากมาก ต้องถูกยึดบ้านแล้วยังต้องล้มละลายซึ่งทำให้...เห็นว่าการเป็นหนี้สถาบันการเงินกลับเสียเปรียบมากกว่าการกู้จากเจ้าหนี้นอกระบบหรือแม้นการพึ่งพาโรงรับจำนำก็ยังปลอดภัยกว่าการกู้เงินในระบบ รวมไปถึงปัญหาที่มีการขายหนี้ให้กับกองทุนต่างชาติกรณี ปรส. เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ซึ่งปัจจุบัน ดีเอสไอ. ได้ดำเนินคดีอาญากับผู้บริหาร ปรส. และผู้บริหารกองทุนเหล่านั้นโดยมิได้มีแนวทางการแก้ไขปัญหาของฝ่ายลูกหนี้ไทย รวมไปถึงการดำเนินการแก้หนี้ของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยมูลค่า 800,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก. บสท. 2544 ซึ่งมีความไม่โปร่งใสนานัปการและทำให้ลูกหนี้ของ ปรส. จำนวนมากถูกบังคับใช้ พ.ร.ก. บสท. 2544 อย่างไม่เป็นธรรม

ASTV และศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ องค์กรสาธารณประโยชน์ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2546 เล็งเห็นว่าการแก้ปัญหาหนี้ภาคประชาชน ลูกหนี้จำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อทำให้สังคมเห็นถึงความไม่ชอบธรรมที่ลูกหนี้ได้รับและเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ความเป็นธรรมทั้งทางด้านกฎหมายและสังคมและต้องทำโดยทันที เพื่อแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังให้จบสิ้นก่อนที่จะต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่ จึงจัดทำ “โครงการทวงสิทธิ์ลูกหนี้ไทย” โดยมีแนวทางในการร่วมมือกันดังต่อไปนี้

1) เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน เยียวยาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของลูกหนี้ทุกประเภท ทุกอาชีพ จะรวบรวมรายชื่อส่งข้อเรียกร้องให้รัฐบาล แจ้งสถาบันการเงินพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่คิดกับลูกหนี้ให้อยู่ในอัตราที่สมดุล รวมทั้งร่วมมือกันในการช่วยให้ลุกหนี้สามารถรักษาบ้านที่อยู่อาศัยไว้ได้ เป็นการสร้างความมั่นคงให้แก่สังคม โดยจะแยกเป็นแต่ละสถาบันการเงินเพื่อช่วยให้การต่อรอง ขอความร่วมมือช่วยเหลือที่จะทำได้ง่ายสะดวกและรวดเร็ว

2) รวบรวมรายชื่อเพื่อขอแก้ไขสัญญาเงินกู้และสัญญาจำนองทุกประเภทของสถาบันการเงินให้เป็นไปตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 ที่มิให้ผู้กู้และผู้จำนองทรัพย์สินรวมถึงผู้ค้ำประกันเมื่อถูกยึดทรัพย์แล้วหากขายทอดตลาดได้ราคาไม่พอไม่ต้องถูกยึดทรัพย์อื่นๆ อีกเพื่อป้องกันมิให้มีการยึดทรัพย์เป็นลูกโซ่มีหนี้ไม่รู้จบ

3) ตรวจสอบปัญหาหนี้สินของท่านให้ชัดเจนในกรณี
3.1 ท่านถูกยึดทรัพย์และทรัพย์ถูกขายทอดตลาดไปแล้วท่านยังคงเหลือหนี้สินค้างชำระเท่าใด เพื่อเตรียมตัวหากต้องถูกฟ้องล้มละลายต่อไป
3.2 หากท่านยังอยู่ในการประนอมหนี้ท่านต้องเตรียมตัวหากท่านเกิดปัญหาติดขัดในการประนอมหนี้และถูกยึดทรัพย์-ล้มละลายในที่สุด

4) หากท่านเป็นลูกหนี้ ปรส. (ทุกกองทุน) ทั้งที่ถูกยึดทรัพย์ไปแล้ว กำลังถูกฟ้องล้มละลายหรือล้มละลายไปแล้ว ลูกหนี้จะรวมกันทวงสิทธิคืนจากกองทุน โดยขอให้เตรียมข้อมูลพร้อมเอกสารตามแบบฟอร์มเพื่อรวมกันฟ้องคดีมหาชนทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อกองทุนแต่ละกองทุนเพื่อความรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเรียกคืนทรัพย์และเรียกความเสียหายและให้ลูกหนี้รวมกันเสนอต่อรัฐบาลแจ้งให้เจ้าหนี้ระงับการบังคับคดีฟ้องล้มละลายจนกว่าคดีอาญาที่ ดีเอสไอ. ดำเนินการจะเสร็จสิ้น

5) หากท่านเป็นลูกหนี้ บสท. ทั้งที่ถูกบังคับโอนทรัพย์ตาม พ.ร.ก.บสท. กำลังถูกฟ้องล้มละลายหรือล้มละลายไปแล้วโดย บสท. ขอให้ร่วมกรอกข้อมูลจัดเตรียมเอกสารเพื่อรวมกันฟ้องคดีความทั้งทางแพ่งและทางอาญา เป็นกรณีมหาชนต่อ บสท. ในกรณีการบังคับใช้ พ.ร.ก. บสทโดยไม่สุจริต

ผู้ลงทะเบียนไม่จำเป็นต้องเป็นนิติบุคคล อาจจะเป็นพ่อค้า แม่ค้า นักธุรกิจ เกษตรกร ทุกสาขาอาชีพ หากท่านเป็นหนี้ ท่านก็สามารถลงทะเบียนในแบบฟอร์มนี้ได้อย่างไม่มีข้อจำกัดหรือบอกต่อๆ กันไปถึงบุคคลอื่นๆ ที่กำลังประสบปัญหา

สำหรับท่านผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มจากเว็บไซต์ผู้จัดการ www.manager.co.th หรือสามารถรับแบบฟอร์มลงทะเบียนได้ที่บ้านพระอาทิตย์ ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ

ดาวน์โหลดแบบฟอร์มร่วมทวงสิทธิลูกหนี้ไทย=>

เมื่อกรอกข้อความเสร็จแล้วส่งไปรษณีย์ไปที่ เลขที่ 2 ตรอกโรงไหม ถ.เจ้าฟ้า แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 โทร.02-629-5183 โทรสาร 02-629-5180
กำลังโหลดความคิดเห็น