xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนถกผลกระทบมาบตาพุดวันนี้ กรณีซัลเฟอร์จ่ออุทธรณ์ใน30วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ภาคเอกชนนัดถกวันนี้ เล็งหารือปัญหาการประกาศมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษก่อนสรุปเสนอกรอ. ขณะที่กรณีศาลมีคำสั่งให้ทุเลาบังคับประกาศพรบ.วัตถุอันตรายพืช 13 ชนิดทำให้การนำข้าซัลเฟอร์ถูกชะลอไปด้วยคาดจะมีการหารือในเรื่องของการอุทธรณ์

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันนี้(9มี.ค.) ภาคเอกชนจะหารือถึงผลกระทบต่อกรณีที่ศาลปกครองกลางจังหวัดระยองประกาศให้พื้นที่บริเวณมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษว่าจะมีข้อเสนอใดเพื่อนำไปหารือกับภาครัฐในเวทีคณะกรรมการร่วมรัฐและเอกชนหรือ(กรอ.)ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป

“ข้อเสนอจะเป็นอย่างไรก็คงจะต้องรอผลการประชุมโดยเฉพาะกรณีจะเสนอให้อุทธรณ์หรือไม่อย่างไร แต่ก่อนหน้าที่ได้หารือกนอ.เอกชนต้องการให้มีการทุเลาการประกาศบังคับใช้ไปก่อนเพื่อรอให้มีการตั้งคณะทำงานศึกษาด้านมลพิษที่จะเป็นหน่วยงานกลางที่แท้จริงก่อน”นายพยุงศักดิ์กล่าว

ขณะเดียวกันภายในสัปดาห์นี้ผู้ประกอบการ ในอุตสาหกรรม รถยนต์ ยางรถยนต์ เคมี จะหารือถึงแนวทางการอุทธรณ์ ในกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับคดีตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย(ฉบับที่ 6) พ.ศ.2542 ลงวันที่ 29 ม.ค.2552 ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมีผลทำให้การยกเลิกให้สารซัลเฟอร์(กำมะถัน) เป็นวัตถุอันตรายต้องชะลอออกไป

ทั้งนี้ก่อนหน้ากระทรวงอุตสาหกรรมได้ยกเลิกประกาศให้สารซัลเฟอร์เป็นวัตถุอันตรายเนื่องจากเอกชนได้ร้องขอไปเพราะเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนทำให้บางรายอาจต้องปิดกิจการหากรัฐไม่ยกเลิกเพราะกฏหมายมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมกล่าวคือผู้ที่นำเข้าสารดังกล่าวได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)การนำเข้าจะไม่ต้องเสียภาษีแต่เมื่อถูกจัดอยู่ในพรบ.วัตถุอันตรายต้องจ่ายภาษีแต่ปรากฏว่าเอกชนไม่ได้แจ้ง โดยมีผู้ประกอบการนำเข้า 6 ราย ถูกกรมศุลกากรและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมจะฟ้องร้องคดีอาญาเพื่อเรียกค่าปรับ 10,000 ล้านบาทกับผู้นำเข้า

นายรัชดา สิงคาลวณิช อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมฯอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลในเรื่องของการยกเลิกประกาศให้สารซัลเฟอร์เป็นวัตถุอันตราย เพื่อชี้แจงต่อศาล โดยเตรียมจะยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วันตามกำหมดเวลาของกฎหมาย หลังจากศาลมีคำสั่งมาเมื่อ 4 มี.ค.52 ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ฟ้องไม่ได้มุ่งเน้นในเรื่องของสารซัลเฟอร์ แต่มุ่งเน้นในเรื่องของให้ยกเลิกประกาศพืชสมุนไพร 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตราย

“ วันที่มีการฟ้องร้องเรื่องพืชสมุนไพร 13 ชนิดนั้นเราไม่ทราบว่ามีการแทรกเรื่องของซัลเฟอร์เข้าไปด้วยทางกระทรวงอุตสาหกรรมและผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้เตรียมข้อมูลซัลเฟอร์ไปชี้แจง ทางกระทรวงชี้แจงรายละเอียดได้ไม่ครบ ตรงนี้ผู้ที่ได้รับความเสียหายคงต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาล”นายรัชดากล่าว

ส่วนกรณีพืชสมุนไพรนั้นขณะนี้กรมวิชาการเกษตรในฐานะต้นเรื่องกำลังรับฟังความเห็นว่าควรจะยกเลิกประกาศจากการเป็นวัตถุอันตรายหรือไม่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ คำสั่งทุเลาของศาลคงจะไม่สร้างผลกระทบให้ใคร เพราะขณะนี้ประกาศดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย เพราะกรมวิชาการเกษตรยังไม่ประกาศวิธีปฏิบัติและเมื่อศาลฯสั่งให้ทุเลาการประกาศก็เท่ากับไม่มีผลในทางปฏิบัติไปโดยปริยาย
กำลังโหลดความคิดเห็น