xs
xsm
sm
md
lg

ลีกวนยูชี้ศก.สิงคโปร์ปีนี้อาจลบ10% ยอมรับกองทุนGICเจ็บเจ๊งไปถึง25%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์/เอเอฟพี – ลีกวนยู รัฐบุรุษอาวุโสของสิงคโปร์ กล่าวยอมรับว่า จีไอซี ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ กำลังพิจารณากลับมาลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์และไพรเวตอิควิตี้ หลังจากที่เจ็บหนักนับพันนับหมื่นล้านดอลลาร์จากการลงทุนในธนาคารระหว่างประเทศในช่วงก่อนหน้านี้ จนมูลค่าของพอร์ตลงทุนลดลงถึง 25% ขณะเดียวกัน เขาก็คาดว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์ปีนี้อาจจะติดลบสูงถึง 10% ทีเดียว

ลีกวนยู ซึ่งเป็นบิดาของลีเซียนลุงนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และดำรงตำแหน่งประธานของจีไอซีด้วย กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์รอยเตอร์เมื่อวันพุธ(4)ว่า ธุรกิจดูแลสุขภาพน่าจะไม่ถูกกระทบมากนักจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่เขาก็เห็นว่าในที่สุดภาคการเงินจะกระเตื้องขึ้น และจีไอซีจึงควรจะอยู่ในภาคการเงินต่อไป

ลียังได้กล่าวอีกว่าจีไอซีสามารถที่จะทนทานต่อพายุเศรษฐกิจไปได้ถึง 10 ปีหากว่าจำเป็น เนื่องจากจีไอซีเป็นหนึ่งในกองทุนรัฐบาลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก แม้ว่าปีนี้เศรษฐกิจของสิงคโปร์อาจจะหดตัวถึง 8% อันเนื่องมาจากการส่งออกที่ลดลงก็ตาม

ลีกล่าวว่าจีไอซีเข้าซื้อหุ้นธนาคารระดับโลกอย่างเช่น ซิตี้กรุ๊ป และยูบีเอส “เร็วเกินไป” เพราะว่าสถานการณ์ของธนาคารทั้งสองในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้วย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าเมื่อจีไอซีเข้าลงทุน

“แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความเสียหายจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม เพราะบรรดาธนาคารยักษ์ใหญ่ที่ล้มครืนแล้วเหล่านั้นก็มองสถานการณ์ผิดไปเหมือนกันและทำให้หมดอนาคตในเส้นทางนี้ไปเลย” เขากล่าว

“เมื่อตลาดหุ้นตก เราจึงไปซื้อหุ้นยูบีเอสและซิตี้ แต่เราซื้อเร็วเกินไปแล้วทำให้เราต้องติดอยู่กับสถานการณ์ที่ดิ่งลงไปด้วย”

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จีไอซีได้แปลงสภาพหุ้นบุริมสิทธิของซิตี้กรุ๊ปมูลค่า 6,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯให้มาเป็นหุ้นสามัญ ที่มีมูลค่าเพียง 3.25 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อหนึ่งหุ้น เพื่อช่วยประคองธนาคารเอาไว้ แม้ว่าในการแปลงหุ้นจะทำให้จีไอซีเสียมูลค่าการลงทุนไปมากกว่าครึ่งก็ตาม

พวกนักวิเคราะห์คาดว่ามูลค่าของกองทุนจีไอซีนั้นอยู่ที่ 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อหนึ่งปีที่แล้ว แม้ว่าจีไอซีจะบอกว่ามีเม็ดเงินให้บริหารเพียงแค่ 100,000 ล้านเท่านั้น

“การที่มูลค่าพอร์ตลงทุนลดลง 25% หากเทียบกับสถานการณ์ในตลาดโลกแล้ว ก็ยังถือว่าดีกว่ามาก” ซงเสิงวุน นักเศรษฐศาสตร์จากซีไอเอ็มบีในสิงคโปร์วิเคราะห์แบบถูกใจผู้นำสิงคโปร์

นอกจากจีไอซีแล้ว กองทุนของรัฐบาลสิงคโปร์อีกกองทุนหนึ่งที่มีขนาดเล็กกว่า นั่น คือ เทมาเส็กก็เข้าไปลงทุนในธนาคารตะวันตกไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมอริลลินช์ ซึ่งถูกแบงก์ออฟอเมริกาควบรวมเข้าไป ผลก็คือพอร์ตของเทมาเส็กหดไปถึง 31% หรือลดลงไปถึง 58,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเวลาเพียง 8 เดือนซึ่งสิ้นสุดที่พฤศจิกายนปีที่แล้ว

เวลานี้ สิงคโปร์ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยอันหนักหน่วง ได้เริ่มดึงเอาทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ซึ่งกองทุนของจีไอซีและเทมาเส็กก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของทุนสำรองฯด้วยนั้น มาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกในเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยนำเอามาช่วยจุนเจืองบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 20,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป้าหมายคือช่วยบริษัทต่าง ๆที่ขาดสภาพคล่อง, ว่าจ้างพนักงานไว้ดังเดิม รวมทั้งสร้างงานและเดินหน้าโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ

“เราเก็บเงินไว้สำหรับวันยากลำบาก และวันนั้นมันก็มาถึงแล้ว” ลีวัย 85 ปีกล่าว

ลียังบอกกับรอยเตอร์ว่า เป็นไปได้ที่จีดีพี(ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ)ของสิงคโปร์ในปีนี้จะหดตัว 8% เนื่องมาจากการส่งออกไปยังตลาดตะวันตกหลัก ๆที่ย่ำแย่อย่างมาก และหากว่าการส่งออกหดตัวลงไปอีก 30-40% ในไตรมาสที่สองที่จะถึงนี้ ก็อาจทำให้เศรษฐกิจของสิงคโปร์หดตัวไปถึง 10% ในปีนี้

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ลีซึ่งปัจจุบันอายุ 85 ปีแล้ว และมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีชี้นำแนวทางในคณะรัฐบาลของบุตรชาย ยังไปกล่าวในงานประชุมสัมมนาด้านการเงินที่สิงคโปร์ และหนังสือพิมพ์สิงคโปร์นำมาเผยแพร่วานนี้(5) ในเรื่องจีดีพีสิงคโปร์ปีนี้อาจติดลบถึง 10%

แต่ลีก็บอกกับที่ประชุมสัมนนาว่า เมื่อสหรัฐฯและประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ฟื้นตัว เศรษฐกิจของสิงคโปร์ก็จะกระเตื้องขึ้นมาได้รวดเร็วกว่าคนอื่นๆ เนื่องจากจีดีพีของสิงคโปร์มีน้ำหนักอยู่ที่การส่งออกนั่นเอง

นอกจากนั้น เขาย้ำด้วยว่าสิงคโปร์ยังตั้งอยู่ในย่านเอเชียตะวันออก ซึ่งครอบคลุมถึงจีนที่เป็นเศรษฐกิจใหญ่บิ๊ก

“เมื่อไม่พูดถึงเรื่องภาวะขึ้นๆ ลงๆ กันในทันทีทันใดแล้ว เอเชียตะวันออกคือภูมิภาคที่พร้อมที่จะเติบโตต่อไป ... นี่คือภาวะแวดล้อมที่ดีสำหรับสิงคโปร์ที่อยู่ในภูมิภาคนี้ด้วย”

ลีลาออกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 1990 แต่ก็ยังมีบทบาททางการเมืองในฐานะรัฐมนตรีอาวุโส เขาได้กลายเป็น “รัฐมนตรีชี้นำแนวทาง” ไปในปี 2004 เมื่อบุตรชายของเขาขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่สาม นับตั้งแต่สิงคโปร์ประกาศเอกราชเป็นต้นมา

ลีผู้พ่อได้ชื่อว่าเป็นผู้วางนโยบายสำคัญในการก่อร่างสิงคโปร์ให้กลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ แต่เขาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มสิทธิมนุษยชนจากการที่เขาใช้กฎหมายเล่นงานพรรคฝ่ายค้านและสื่อมวลชนที่ไม่เห็นด้วยกับเขา
กำลังโหลดความคิดเห็น