เอเอฟพี - กลุ่มประเทศอาเซียน จะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด ในระหว่างการประชุมสุดยอดที่ประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันศุกร์ (27 ก.พ.) ถึงวันอาทิตย์ (1 มี.ค.) แม้ว่าเวทีการประชุมนี้จะมีความสำคัญน้อยลง เพราะชาติสำคัญบิ๊กเบิ้ม อย่าง จีน อินเดีย และญี่ปุ่น ไม่ได้เข้าร่วมด้วย ขณะเดียวกัน ปัญหาทางการเมืองและภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็กำลังเป็นแรงกดดันใหม่ที่จะพิสูจน์ศักยภาพของกลุ่ม ท่ามกลางเสียงวิจารณ์มาตลอดว่าอาเซียนเป็นเพียงกลุ่มพูดคุยกันเท่านั้น
ประเทศไทยซึ่งเป็นทั้งเจ้าภาพและประธานของสมาคมอาเซียนในเวลานี้นั้น กำลังเร่งแก้ไขปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่มาจ่อรออยู่ อีกทั้งยังต้องเผชิญกับความผันผวนทางการเมือง และยังมีความขัดแย้งกับกัมพูชาในเรื่องชายแดนด้วย
ส่วนที่มาเลเซีย รัฐบาลก็ต้องรบรากับฝ่ายค้านที่มีคะแนนนิยมดีวันดีคืน ในขณะที่สิงคโปร์ แม้จะเป็นชาติที่มีรายได้ต่อหัวประชากรสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน แต่ก็กำลังผจญอยู่กับภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ประกาศเอกราช
ด้านรัฐบาลเผด็จการทหารพม่านั้น ยังคงยืนกรานไม่ทำตามเสียงเรียกร้องของนานาชาติให้ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี รวมทั้งไม่ปฏิรูปการเมืองให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย
พวกนักวิเคราะห์บอกว่า หลังจากที่วิกฤตเศรษฐกิจโลกลุกลามบานปลายมาหลายเดือน กลุ่มอาเซียนก็ยังไม่สามารถออกมาตอบโต้ในลักษณะของการประสานร่วมมือกัน
“ปัญหาหลักของกลุ่มอาเซียน ก็คือ การขาดผู้นำ จึงทำให้เกิดความแตกแยกกันภายใน” บริดเจต เวลช์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ในสหรัฐฯ บอกและเสริมว่า “การประชุมไม่มีจุดเน้นชัดเจน และคงจะไม่มีทางมีด้วย เพราะแรงกดดันจากภายใน”
ส่วนเจ้าหน้าที่ประจำอาเซียนกล่าวว่าวาระหลักของการประชุมสุดยอดคราวนี้ ก็คือภูมิภาคอาเซียนจะรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างไร
ทั้งนี้ ในวันอาทิตย์ (22) ที่ผ่านมา รัฐมนตรีคลังของกลุ่มอาเซียนได้ประชุมร่วมกับขุนคลังของ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยตกลงกันว่าจะจัดตั้งกองทุนมูลค่า 120,000 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยให้ภูมิภาคอาเซียนรับมือกับวิกฤตทางการเงินครั้งนี้ โดยกลุ่มอาเซียนจะร่วมลงขันในกองทุนนี้เป็นสัดส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 80 เปอร์เซ็นต์ มาจากอีก 3 ชาติ แต่ที่ประชุมไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการ
“(กลุ่มอาเซียน) คงจะทำอะไรไม่ได้มากนัก” ซงเซงวุน นักเศรษฐศาสตร์แห่งซีไอเอ็มบี-จีเค รีเสิร์ชของสิงคโปร์ บอก เขาให้ความเห็นด้วยว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยกำลังส่งผลกระทบต่อทุกชาติอาเซียน แต่มีระดับมากน้อยต่างกันไป โดย “ประเทศที่มีตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ พอจะหันกลับไปสนใจตลาดในประเทศเพื่อบรรเทาปัญหา”
ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดอาเซียนต้องเลื่อนกำหนดการจากเดิมในเดือนธันวาคมปีที่แล้วมาเป็นเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เนื่องจากเกิดปัญหาทางการเมืองภายในประเทศไทย จนถึงขั้นมีการยึดสนามบินสองแห่งในกรุงเทพฯ และทำให้การประชุมต่อเนื่องกับผู้นำจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย อินเดีย นิวซีแลนด์ หรืออาเซียน+6 ต้องเลื่อนออกไปเป็นช่วงเดือนเมษายน การประชุมในคราวนี้จึงเป็นประเด็นของอาเซียนทั้งหมด และขาดน้ำหนักของการเป็นเวทีประชุมสำคัญเนื่องจากไม่มีชาติผู้นำสำคัญๆ ร่วมด้วย
แม้ว่า นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน จะเร่งมือสร้างความแข็งแกร่งภายในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่เขาก็ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจาก “บริบททางการเมืองในภูมิภาค รวมทั้งการหดตัวของเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย”
เวลช์ เห็นว่า อาเซียนยังคงมีคุณค่าก็ในฐานะเป็นเวทีการปรึกษาหารือและแถลงถึงผลประโยชน์ของกลุ่มเท่านั้น ทว่า ไม่เคยทำได้ตามความคาดหวังอันสูงลิ่วต่อการประชุมนี้
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคน เช่น โรโดลโฟ เซเวริโน อดีตเลขาธิการอาเซียน ระบุว่าอาเซียนผ่านพ้นปัญหาต่างๆ ในอดีตมาได้ไม่น้อย จึงน่าจะเป็นพลังผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันในระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่งขึ้นได้ในอนาคต