xs
xsm
sm
md
lg

มองอาเซียน360องศาผ่าน"สุรพงษ์ ชัยนาม"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

***การประชุมสุดยอดอาเซียน หรือ “ASEAN SUMMIT” ครั้งที่ 14 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 27 ก.พ.-1 มี.ค. นี้ มีความสำคัญอย่างไร บทบาทของประเทศไทยต่อภูมิภาคนี้ควรเป็นอย่างไร และ การประชุมครั้งนี้จะนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง? นายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตเอกอัครราชทูตประจำ 5 ประเทศ (ประจำเวียดนาม โปรตุเกส กรีซ เยอรมนี แอฟริกาใต้) และอดีตอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก เปิดโอกาสให้ ASTVผู้จัดการ ได้สัมภาษณ์พิเศษเพื่อสอบถามถึง อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของอาเซียน***

***‘อาเซียน’ กับการแสวงหาอัตลักษณ์ใหม่

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน (ASEAN) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2510 โดยถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก 10 ประเทศ
“เหตุผลของการก่อตั้งอาเซียนขึ้นมาก็เพราะว่าผู้นำของแต่ละประเทศมีวิสัยทัศน์และเห็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเกิดความเจริญก้าวหน้าขึ้นมาได้จะต้องมีความร่วมมือรวมตัวกันของประเทศในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้เพื่อต่อต้านภัยสำคัญที่สุดในตอนนั้นก็คือภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ทำให้อาเซียนใช้ข้ออ้างทางด้านร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมมารวมตัวกัน
พอสิ้นสุดสงครามเย็น คือช่วงที่กำแพงเบอร์ลินถูกทำลายในปี ค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) อาเซียนก็ประสบกับปัญหาในเรื่องการหาแสวงหาอัตลักษณ์ใหม่ของตน เพราะว่าอาเซียนมีบทบาทมากในช่วงสงครามเย็น ในยุคของขัดแย้งทางลัทธิอุดมการณ์ ความมั่นคงทาง การเมือง ทั้งๆ ที่จุดประสงค์ของอาเซียนก่อตั้งขึ้นมาเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ แต่ในตอนนั้นแทบไม่มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจอะไรเลย
หลังจากสิ้นสุดสงครามเย็นมาแล้ว 18 ปี ยุคแรกๆ 10 ปีแรก อาเซียนเขวมาก เพราะพยายามศึกษาบทบาทของตัวเองในบริบทยุคหลังสงครามเย็นควรจะเป็นอย่างไร โดยผลงานชิ้นสำคัญของอาเซียยุคหลังสงครามเย็น คือ ในปี พ.ศ.2535 ได้มีการเสนอให้มีเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) โดยนายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในขณะนั้น โดยอาฟตาถือว่าเป็นหัวใจ เป็นจุดกระตุ้นที่สำคัญที่สุดของการนำไปสู่การร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เป็นระบบ” นายสุรพงษ์อธิบาย

***กฎบัตรอาเซียน คือ รัฐธรรมนูญของอาเซียน

กรณีที่ประเทศไทยมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาการลงนามในกฎบัตรอาเซียนและกฎหมายประกอบไปเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม 52 ที่ผ่านมา นายสุรพงษ์กล่าวถึงรายละเอียดว่า กฎบัตรและกฎหมายประกอบทั้งหมดมี 43 ฉบับ โดยในเอกสารทั้งหลาย มี 11 ฉบับที่เกี่ยวกับกระทรวงต่างประเทศ อีก 20 กว่าฉบับเกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนั้นเกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ กระทรวงเกษตร กระทรวงพลังงาน อย่างไรก็ตาม เขาได้ชี้ให้เห็นว่า บุคลากรในฝ่ายนิติบัญญัติของไทยยังขาดความใส่ใจในเนื้อหาของ กฎบัตรและกฎหมาย เหล่านี้ทั้งๆ ที่มีความสำคัญมาก
“ผมยังไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ท่าน ส.ส.-ส.ว. ในสภาเอาเวลาที่ไหนไปพิจารณาเอกสารทั้ง 43 ฉบับ อันนี้ก็เป็นข้อบกพร่องของระบบรัฐสภาไทย วุฒิสภา กรรมาธิการกระทรวงต่างประเทศของรัฐสภา ต้องมีบทบาทมากกว่านี้ ไม่ใช่เห็นเป็นพรรคเดียวกันในรัฐบาลก็รีบยกมือให้ แต่จริงๆ แล้วท่านต้องขอและติดตามเอกสาร เอกสารเหล่านี้ต้องอ่าน นี่เป็นข้อที่เราบกพร่อง ที่ต่อไปจะต้องปรับปรุง” นายสุรพงษ์กล่าว
สำหรับ “กฎบัตรอาเซียน” นั้นถือเป็น “กฎหมายสูงสุดของอาเซียน” และเป็นร่างสนธิสัญญาที่ทำร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือในการวางกรอบทางกฎหมายและโครงสร้างองค์กรของอาเซียน และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของอาเซียน ตามที่ผู้นำอาเซียนได้ตกลงกันไว้ ภายในปี พ.ศ. 2558 โดยวัตถุประสงค์ของกฎบัตรฯ คือ ทำให้อาเซียนเป็นองค์การที่มีประสิทธิภาพ มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเคารพกฎกติกาในการทำงานมากขึ้น นอกจากนี้ กฎบัตรฯ จะให้สถานะนิติบุคคลแก่อาเซียนเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาล
“ถือเป็นเรื่องที่น่าชมเชยที่มี (กฎบัตรอาเซียน) ขึ้นได้ อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้อาเซียนตระหนักได้ดีขึ้นว่า จำเป็นต้องมีสถานะเป็นนิติบุคคล เพราะแต่ก่อนมันหลักลอย อาเซียนมีสัญญาเยอะแยะเลย ข้อตกลงอะไรทางด้านเศรษฐกิจ สังคม แต่อาเซียนไม่ได้มีหน้าที่ในฐานะนิติบุคคลเลย ที่เคารพกันมาก็ด้วยสัญญาสุภาพบุรุษ มันก็จะมีปัญหาถ้าอาเซียนไม่เป็นนิติบุคคลแล้วไปเซ็นสัญญา กับ อียู-อาเซียน จีน-อาเซียน ก็จะไม่มีสถานะ อย่างน้อยก็เป็นจุดเริ่มต้น การมีกฎบัตรก็เหมือนกับการมีรัฐธรรมนูญ คุณลองนึกภาพประเทศไทยไม่มีรัฐธรรมนูญซิ มันจะปกครองกันได้ยังไง”
ซึ่งเรื่องดังกล่าวนายสุรพงษ์อธิบายว่ามี 3 เสาหลัก ที่อาเซียนจำเป็นต้องผลักดัน ประกอบไปด้วย 1.ประชาคมด้านเศรษฐกิจ 2.ประชาคมด้านการเมืองและความมั่นคง และ 3.ประชาคมด้านสังคมวัฒนธรรม
อย่างไรก็ตาม นายสุรพงษ์ชี้ว่าปัญหาที่จะเกิดตามมากจากการผลักดัน ทั้ง 3 เสาหลัก ก็คือข้อที่ 2 และ 3 เนื่องจากมีความเกี่ยวพันกับเรื่องของการส่งเสริมการเมืองการปกครอง หลักนิติรัฐ นิติธรรม เรื่องของการเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการเดินหน้าต่อไปของอาเซียน นอกจากนี้กฎบัตรอาเซียนยังมีจุดอ่อนที่สำคัญมากอีกด้วย นั่นคือ ใน 55 มาตราของกฎบัตรอาเซียนนั้นไม่มีมาตราใดเลยที่ระบุถึงบทลงโทษหากสมาชิกไม่ปฏิบัติตาม นอกจากนี้อุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งของอาเซียนก็คือ การยึดติดกับเรื่องฉันทามติ
“ถ้าอาเซียนไม่ยอมหลุดจากเรื่องของฉันทามติ โดยเรื่องที่สำคัญคอขาดบาดตายขององค์กรจะต้องมีการใช้ระบบโหวต ลงคะแนนเสียงกัน เรื่องสำคัญมากอาจจะใช้คะแนน 3 ใน 4 เรื่องสำคัญรองลงมาอาจจะใช้คะแนนเสียงครึ่งหนึ่งหรือกึ่งหนึ่งก็ได้ แต่ที่ผ่านมาไม่มีเพราะอาเซียนกลัวเสียหน้ากัน กลัวว่าถ้าเป็นประเด็นเรื่องการเมืองจะกระทบตัวเอง เพราะเหตุนี้อาเซียนถึงไปไหนไม่ได้”

***EU คือ อนาคตของ ASEAN?

เมื่อ ASTV ผู้จัดการ ถามต่อว่า ในอนาคต 10-20 ปี ข้างหน้า อาเซียนมีโอกาสที่จะพัฒนาไปในแนวทางใด และ มีโอกาสที่จะพัฒนาความร่วมมือไปถึงขั้นเป็นประชาคมคล้ายๆ กับประชาคมยุโรปได้หรือไม่ นายสุรพงษ์ให้คำตอบว่า เป็นเรื่องยากที่อาเซียนจะยกระดับประชาคมไปสู่แนวทางของประชาคมยุโรป หรือ สหภาพยุโรป
“ประการแรก คือ อาเซียนไม่ได้ถูกออกแบบมาในลักษณะนั้น อาเซียนถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เพื่อให้เกิดการรวมตัวทางเศรษฐกิจ ประการที่สอง ขณะนี้อาเซียนยังอยู่ในขั้นตอนความร่วมมือทางเศรษฐกิจเฉยๆ ในความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อาเซียนเป็นองค์กรความร่วมมือส่วนภูมิภาคที่เก่าแก่ อันดับ 2 ของโลก โดยอันดับแรกคือสหภาพยุโรป (EU) ทั้งนี้การรวมตัวทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะต้องมีพัฒนาการ ดังนี้ 1.เป็นเขตการค้าเสรี 2.พัฒนามาเป็นสหภาพศุลกากร 3.ตลาดร่วม และ 4.การรวมตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงการมี กฎหมายภาษี กฎหมายศุลกากร กฎหมายแพ่ง-พาณิชย์ ที่เหมือนกัน
ซึ่งขณะนี้อาเซียนขณะนี้อยู่ในขั้นตอนแรกเท่านั้น แต่ EU ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 4 แล้ว เช่น การรวมตัวกันใช้สกุลเงินเดียวกัน และมีนโยบายต่างประเทศสำคัญๆ ที่เป็นนโยบายของทั้ง 27 ประเทศ ซึ่งมีท่าทีเหมือนกันหมดเลย นี่คือการรวมตัวกันแล้ว” นายสุรพงษ์อธิบาย
พร้อมกันนั้นได้ชี้แจงต่อว่า กว่าที่สหภาพยุโรปจะพัฒนามาเป็นอย่างทุกวันนี้ได้ก็ต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายประการ คือ หนึ่ง มีพัฒนาการ 4 ขั้นตอนตามที่กล่าวไป สอง สหภาพยุโรปเป็นความร่วมมือของกลุ่มประเทศที่รากฐานทางอารยธรรม-วัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน สาม มีระบบการเมืองการปกครองและเศรษฐกิจเหมือนกัน
“อียูเป็นความร่วมมือ ของประเทศที่มีอารยธรรม-วัฒนธรรม เหมือนกัน ซึ่งยุโรปก็คือ อารยธรรมคริสต์ อารยธรรมตะวันตก แล้วก็มีระบอบการเมืองการปกครอง ก็คือ ระบอบเสรีประชาธิปไตย ส่วนระบบเศรษฐกิจ ก็คือ ระบบทุนนิยมเสรี ที่เหมือนกัน ดังนั้นเมื่อถามว่าอาเซียนจะไปพัฒนาไปเป็นอียูได้ไหม คำตอบก็คือไม่ได้ ปัจจุบันอาเซียนไม่มีเงื่อนไขในการรวมกลุ่มอะไรเลย นอกจากที่ตั้งด้านภูมิศาสตร์ นี่คือปัญหาใหญ่ของอาเซียน นี่คือเหตุผลสำคัญที่ผมบอกว่าไม่มีทางที่อาเซียนจะเป็นแบบอียูได้
สุดท้ายยังไงก็แล้วแต่ อาเซียน จึงเป็นได้แค่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ยกเว้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการทางการเมือง มีกระบวนการประชาธิปไตยเกิดขึ้นในพม่า กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในมาเลเซีย ในสิงคโปร์ ในเวียดนาม ในลาว ในกัมพูชา ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานานถึงจะนำไปสู่การรวมตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างแท้จริงได้” อดีตนักการทูตผู้คร่ำหวอดให้ทัศนะ

***“อาเซียน” นัยยะต่อการเมืองระดับภูมิภาค-โลก

ต่อข้อถามกรณีที่ว่า เหล่าประเทศมหาอำนาจในเอเชียตะวันออก ประกอบไปด้วย ประเทศจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เข้ามาจับมือกับอาเซียนจนกลายเป็น “อาเซียนบวกสาม” นั้น เกิดจากมิติทางด้านการค้าเสรี-ด้านเศรษฐกิจอย่างเดียวหรือไม่ หรือ มีนัยยะแฝงทางด้านการเมืองมาด้วย นายสุรพงษ์ให้ความเห็นว่า ในส่วนของเกาหลีใต้อาจมองประเด็นด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ในส่วนของจีนและญี่ปุ่นนั้นเขาคิดว่ามีเรื่องการเมืองผสมผสานอยู่ด้วยแน่นอน
“ผมคิดว่า เกาหลีใต้ก็คงมองด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ผมคิดว่าจีน ญี่ปุ่น ไม่แน่นอน ในหมู่ 3 ประเทศนี้ ประเทศที่ล็อกกลุ่มประเทศอาเซียนไว้โดยมีข้อตกลงและความร่วมมือหลายด้าน ทั้งทางด้านความมั่นคงด้วย คือ จีน ... ซึ่งหากมองในมุมชาติอาเซียนส่วนใหญ่ รวมทั้งไทยด้วย เรื่องอะไรจะให้จีนเข้ามาอย่างเดียว ต้องดึงข้างนอกมาให้มีตัวเลือกมาเล่นมากๆ เราจะได้มีตัวเลือก เราจะเล่นไพ่สำรับเดียวทำไม เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมคิดว่า อาเซียนเองโดยลึกๆ แม้ไม่พูด ก็ไม่อยากให้จีนมีบทบาทผู้ขาด โดยในที่นี้ก็ดึงญี่ปุ่นเข้ามา ดึงเกาหลีเข้ามา แล้วก็จะดึงอินเดียเข้ามา แล้วก็บทบาทของสหรัฐฯ จะมีก่อนเหมือนในยุคสงครามเย็นมันไม่ได้แล้ว แต่ตอนนี้สหรัฐฯ ก็พยายามที่จะอย่างน้อย ให้ญี่ปุ่น ทำหน้าที่เป็นนอมินีของอิทธิพลตะวันตกให้ได้ อิทธิพลเสรีประชาธิปไตยให้ได้
ผมคิดว่าก็ไม่มีใครอยากให้เป็นระบบพึ่งพากับใคร กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดโดยเฉพาะมันต้องมีตัวเลือกให้มากๆ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าอันนี้ก็เป็นสิ่งที่ดี ตอนนี้เวทีอาเซียนมันก็มี 1+3 เสร็จแล้วก็ยังมี Dialogue Partners อาเซียน-สหรัฐ, อาเซียน-ออสเตรเลีย, อาเซียน-นิวซีแลนด์, อาเซียน-เกาหลี, อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-อินเดีย คือเวทีกว้างมากขึ้น ทางเลือกก็มากขึ้น บทบาทก็มีความยืดหยุ่นมากขึ้นได้” นายสุรพงษ์กล่าวทิ้งท้ายถึง แนวโน้มอนาคตของอาเซียน พร้อมทั้งแนะนำถึงแนวทางยุทธศาสตร์ในการประสานความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและประชาชนชาวไทย.
กำลังโหลดความคิดเห็น