xs
xsm
sm
md
lg

มอง อาเซียน แบบ 360° กับ ‘สุรพงษ์ ชัยนาม’ ตอนที่ 2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

‘สุรพงษ์ ชัยนาม’ อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และอดีตเอกอัครราชทูตประจำ 5 ประเทศ
การประชุมสุดยอดอาเซียน หรือ “ASEAN SUMMIT” ครั้งที่ 14 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 27 ก.พ.-1 มี.ค. นี้ มีความสำคัญอย่างไร บทบาทของประเทศไทยต่อภูมิภาคนี้ควรเป็นอย่างไร และ การประชุมครั้งนี้จะนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง? ‘สุรพงษ์ ชัยนาม’ อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตเอกอัครราชทูตประจำ 5 ประเทศ (ประจำเวียดนาม โปรตุเกส กรีซ เยอรมนี แอฟริกาใต้) และอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ เปิดโอกาสให้ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ได้สัมภาษณ์พิเศษเพื่อสอบถามถึงข้อสงสัยดังกล่าว ......


‘อาเซียน’ กับการแสวงหาอัตลักษณ์ใหม่

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) หรือ อาเซียน (ASEAN) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1967 หรือ ประมาณ พ.ศ.2510 โดยอาเซียนถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Economic Cooperation) ไม่ใช่ถูกออกแบบมาให้เพื่อให้เกิดการรวมตัวทางเศรษฐกิจ (Economic Integration) โดยประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้งอาเซียนมี 5 ประเทศ ประกอบไปด้วย ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ต่อมาในปี พ.ศ.2527 ประเทศบรูไนดารุสซาลามได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเป็นลำดับที่ 6 จากนั้นประเทศเวียดนาม (พ.ศ.2538) ลาว พม่า (พ.ศ.2540) และ กัมพูชา (พ.ศ.2542) ก็เข้ามาเป็นสมาชิกตามลำดับ

“เหตุผลของการก่อตั้งอาเซียนขึ้นมาก็เพราะว่าผู้นำของแต่ละประเทศมีวิสัยทัศน์และเห็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเกิดความเจริญก้าวหน้า ความเป็นปึกแผ่นของมันจะเกิดขึ้นมาได้จะต้องมีความร่วมมือรวมตัวกันของประเทศในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้เพื่อต่อต้านภัยสำคัญที่สุดในตอนนั้นก็คือภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ทำให้อาเซียนใช้ข้ออ้างทางด้านร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมมารวมตัวกัน ซึ่งผลงานของอาเซียน อย่างน้อยสุดในช่วง 30 ปีแรก มันเป็นผลงานด้านการเมืองและความมั่นคง

พอสิ้นสุดสงครามเย็น คือช่วงที่กำแพงเบอร์ลินถูกทำลายในปี ค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) อาเซียนก็ประสบกับปัญหาในเรื่องการหาแสวงหาอัตลักษณ์ใหม่ของตน เพราะว่าอาเซียนมีบทบาทมากในช่วงสงครามเย็น ในยุคของขัดแย้งทางลัทธิอุดมการณ์ ความมั่นคงทาง การเมือง ทั้งๆ ที่จุดประสงค์ของอาเซียนก่อตั้งขึ้นมาเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ แต่ในตอนนั้นแทบไม่มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจอะไรเลย

หลังจากสิ้นสุดสงครามเย็นมาแล้ว 18 ปี ยุคแรกๆ 10 ปีแรก อาเซียนเขวมาก เพราะพยายามศึกษาบทบาทของตัวเองในบริบทยุคหลังสงครามเย็นควรจะเป็นอย่างไร โดยผลงานชิ้นสำคัญของอาเซียยุคหลังสงครามเย็น คือ ในปี พ.ศ.2535 ได้มีการเสนอให้มีเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) โดยนายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในขณะนั้น โดยอาฟตาถือว่าเป็นหัวใจ เป็นจุดกระตุ้นที่สำคัญที่สุดของการนำไปสู่การร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เป็นระบบ เพราะหลังจากที่มีอาฟตาหลังจากนั้นก็มีเรื่องของอาเซียน+3 (อาเซียน + จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น) มีเรื่องทางด้านความมั่นคงของ ARF (ASEAN Regional Forum) ตามมา” นายสุรพงษ์อธิบาย

นายสุรพงษ์เล่าต่อว่า ในอดีตการประชุมอาเซียนจะเป็นการประชุมของเหล่ารัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนเท่านั้น อย่างไรก็ตามหลังยุคสงครามเย็น ก็เริ่มมีการประชุมของรัฐมนตรีฝ่ายอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาอย่าง เช่น ฝ่ายเศรษฐกิจ-สังคม การคลัง พาณิชย์ วิทยาศาสตร์ เกษตรและสหกรณ์ อย่างไรก็ตามการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่มีความสำคัญสูงสุดก็ยังคงเป็นการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิก

“สิ่งที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมของอาเซียนมันขยายไปมากเลย และมีการหันมาเน้นด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก มีความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ และวิชาการเต็มไปหมดเลย”
สัญญาลักษณ์สหภาพยุโรป (European Union)
EU คือ อนาคตของ ASEAN?

เมื่อ ASTV ผู้จัดการ ถามต่อว่า ในอนาคต 10-20 ปี ข้างหน้า อาเซียนมีโอกาสที่จะพัฒนาไปในแนวทางใด และ มีโอกาสที่จะพัฒนาความร่วมมือไปถึงขั้นเป็นประชาคมคล้ายๆ กับประชาคมยุโรป (European Community หรือ EC) ได้หรือไม่? นายสุรพงษ์ให้คำตอบว่า เป็นเรื่องยากที่อาเซียนจะยกระดับประชาคมไปสู่แนวทางของประชาคมยุโรป หรือ ยิ่งไปกว่านั้นคือสหภาพยุโรป (European Union)

“ประการแรก คือ อาเซียนไม่ได้ถูกออกแบบมาในลักษณะนั้น อาเซียนถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เพื่อให้เกิดการรวมตัวทางเศรษฐกิจ ประการที่สอง ขณะนี้อาเซียนยังอยู่ในขั้นตอนความร่วมมือทางเศรษฐกิจเฉยๆ ในความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อาเซียนเป็นองค์กรความร่วมมือส่วนภูมิภาคที่เก่าแก่ อันดับ 2 ของโลก โดยอันดับแรกคือสหภาพยุโรป (European Union : EU) ซึ่งเดิมทีเดียวใช้ชื่อว่า ตลาดร่วมยุโรป (EEC) ทั้งนี้การรวมตัวทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะต้องมีพัฒนาการ ดังนี้

1.เป็นเขตการค้าเสรี
2.พัฒนามาเป็นสหภาพศุลกากร (Custom Union)
3.ตลาดร่วม (Common Market)
4.การรวมตัวทางเศรษฐกิจ (Economic Union) ซึ่งหมายถึงการมี กฎหมายภาษี กฎหมายศุลกากร กฎหมายแพ่ง-พาณิชย์ ที่เหมือนกัน

ซึ่งขณะนี้อาเซียนขณะนี้อยู่ในขั้นตอนแรกเท่านั้น แต่ EU ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 4 แล้ว เช่น การรวมตัวกันใช้สกุลเงินเดียวกัน และมีนโยบายต่างประเทศสำคัญๆ ที่เป็นนโยบายของทั้ง 27 ประเทศ ซึ่งมีท่าทีเหมือนกันหมดเลย นี่คือการรวมตัวกันแล้ว” นายสุรพงษ์อธิบาย

พร้อมกันนั้นได้ชี้แจงต่อว่า กว่าที่สหภาพยุโรปจะพัฒนามาเป็นอย่างทุกวันนี้ได้ก็ต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายประการ คือ หนึ่ง มีพัฒนาการ 4 ขั้นตอนตามที่กล่าวไป สอง สหภาพยุโรปเป็นความร่วมมือของกลุ่มประเทศที่รากฐานทางอารยธรรม-วัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน สาม มีระบบการเมืองการปกครองและเศรษฐกิจเหมือนกัน

“อียูเป็นความร่วมมือ ของประเทศที่มีอารยธรรม-วัฒนธรรม เหมือนกัน ซึ่งยุโรปก็คือ อารยธรรมคริสต์ อารยธรรมตะวันตก แล้วก็มีระบอบการเมืองการปกครอง ก็คือ ระบอบเสรีประชาธิปไตย ส่วนระบบเศรษฐกิจ ก็คือ ระบบทุนนิยมเสรี ที่เหมือนกัน นอกจากนี้อียูยังมีเงื่อนไขย่อยในการรับสมาชิกอีกกว่า 30 เงื่อนไข

ดังนั้นเมื่อถามว่าอาเซียนจะไปพัฒนาไปเป็นอียูได้ไหม คำตอบก็คือไม่ได้ แล้วไม่ใช่จะไม่ได้ตลอดไปนะไม่ได้บนเงื่อนไข ซึ่งปัจจุบันอาเซียนไม่มีเงื่อนไขในการรวมกลุ่มอะไรเลย นอกจากที่ตั้งด้านภูมิศาสตร์ โดยมีเงื่อนไขว่าขอให้อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แค่นั้น นี่คือปัญหาใหญ่ของอาเซียน นี่คือเหตุผลสำคัญที่ผมบอกว่าไม่มีทางที่อาเซียนจะเป็นแบบอียูได้

ข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งแม้อาเซียนจะอยู่ในภูมิภาคเดียวกันหรือความใกล้ชิดกันในที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ มันไม่ใช่เป็นสิ่งการันตี หรือรับประกันว่าจะเกิดความกลมเกลียว ความปรองดอง ความสมานฉันท์ ความร่วมมือ ไม่ สิ่งที่จะให้เกิดอันนี้ก็คือตั้งมี อารยธรรม ค่านิยม ประเพณี ปรัชญาการเมืองการปกครองและเศรษฐกิจที่เหมือนกัน ดังนั้นที่บอกว่าอาเซียนเป็นตัวอย่างขององค์กรความร่วมมือส่วนภูมิภาค ที่มีความหลากหลายทางอารยธรรม แล้วก็ยกย่อง แต่ความจริงแล้วถ้าดูกันให้ชัดเจน นี่คือตัวอย่างของการไม่สามารถรวมตัวกันได้ เพราะว่ามาจากอารยธรรมที่แตกต่างกันมาก”

ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน
อดีตอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศอธิบายต่อด้วยว่า เมื่อมองในแง่ของ “อารยธรรม” จะสังเกตได้ชัดว่าประเทศสมาชิกอาเซียนมีพื้นฐานทางอารยธรรมที่แตกต่างกันมาก ยกตัวอย่างคือ ประเทศที่มีพื้นอารยธรรมศาสนาพุทธ คือ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา ประเทศที่มีพื้นอารยธรรมคริสต์ ฟิลิปปินส์ ประเทศที่มีพื้นอารยธรรมอิสลาม คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน ประเทศที่มีพื้นอารยธรรมขงจื๊อ คือ เวียดนาม สิงคโปร์

“มันหลากหลายมากเลย เพราะฉะนั้นประเพณี วัฒนธรรม ค่านิยม การเมือง การปกครอง มันแตกต่างกันมาก ส่วนการเมืองการปกครองที่คุณจะเห็นว่าที่พอจะอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยที่ค่อนข้างจะเต็มปากหน่อย ขณะนี้ก็มี ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย แค่นั้นส่วน มาเลเซีย สิงคโปร์ ก็เป็นอำนาจนิยมทางรัฐสภา พม่า ก็เผด็จการฟาสซิสต์ทหาร เวียดนามและลาวก็ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ส่วนกัมพูชา สมเด็จฮุนเซ็นก็เป็นพวกขุนศึกศักดินา เห็นไหมว่ามันแตกต่างกันมากเลย

แต่ว่าอาเซียนจะมีความร่วมมือเศรษฐกิจที่ดีได้ ผมไม่เป็นห่วงเลยเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพราะมันสามารถเห็นความร่วมมือทางรูปธรรมได้ แต่เรื่องของการรวมตัว ซึ่งการรวมตัวในที่นี้หมายความว่าคุณต้องมีบรรทัดฐานเดียวกันหมดนะ กฎหมายอาญา กฎหมายเพ่ง กฎหมายพาณิชย์ กฎหมายศุลกากร ระบบการปกครอง ระบบทางสังคมวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ ค่านิยมประเพณีทางการเมืองต้องเหมือนกัน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าประชาคมอาเซียนมีความละเอียดอ่อนและมีมิติมาก แล้วประเด็นที่จะไม่มีทางลงเอยกันได้เลย ก็คือระบบการเมืองการปกครอง ปรัชญาความคิด ค่านิยมทางการเมืองการปกครองที่แตกต่างกันมาก เพราะฉะนั้นอาเซียนไม่สามารถมีนโยบายที่ตรงกันได้ ในด้านปัญหาพม่า ไม่มีเลย มีไม่ได้ และปัญหาอื่นๆ ในโลกนี้เหมือนกัน ยกตัวอย่างสมมุติว่ามีการคุยกันปัญหาอิหร่าน ก็คงได้แค่เพียงคุยกัน เพราะยังไงอาเซียนก็ไม่มีท่าทีที่จะเหมือนกัน เวียดนามก็จะมีท่าทีอย่างหนึ่ง อินโดนีเซียก็จะมีท่าทีอย่างหนึ่ง มาเลเซียก็จะมีท่าทีอย่างหนึ่ง เพราะนับถือศาสนาอิสลามเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันจะไม่มีอะไรที่เหมือนกันเลย

สุดท้ายยังไงก็แล้วแต่ อาเซียน จึงเป็นได้แค่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ยกเว้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการทางการเมือง มีกระบวนการประชาธิปไตยเกิดขึ้นในพม่า กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในมาเลเซีย ในสิงคโปร์ ในเวียดนาม ในลาว ในกัมพูชา ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานาน นั่นแหละถึงจะนำไปสู่การรวมตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างแท้จริงได้” อดีตนักการทูตผู้คร่ำหวอดให้ทัศนะ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
กฎบัตรอาเซียน คือ รัฐธรรมนูญของอาเซียน

ส่วนกรณีที่ประเทศไทยมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาการลงนามในกฎบัตรอาเซียนและกฎหมายประกอบไปเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม 52 ที่ผ่านมานั้น นายสุรพงษ์กล่าวถึงรายละเอียดว่า กฎบัตรและกฎหมายประกอบทั้งหมดมี 43 ฉบับ โดยในเอกสารทั้งหลาย มี 11 ฉบับที่เกี่ยวกับกระทรวงต่างประเทศ อีก 20 กว่าฉบับเกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนั้นเกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ กระทรวงเกษตร กระทรวงพลังงาน อย่างไรก็ตาม เขาได้ชี้ให้เห็นว่า บุคลากรในฝ่ายนิติบัญญัติของไทยยังขาดความใส่ใจในเนื้อหาของ กฎบัตรและกฎหมาย เหล่านี้ทั้งๆ ที่มีความสำคัญมาก

“ผมยังไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ท่าน ส.ส.-ส.ว. ในสภาเอาเวลาที่ไหนไปพิจารณาเอกสารทั้ง 43 ฉบับ อันนี้ก็เป็นข้อบกพร่องของระบบรัฐสภาไทย วุฒิสภา กรรมาธิการกระทรวงต่างประเทศของรัฐสภา ต้องมีบทบาทมากกว่านี้ ไม่ใช่เห็นเป็นพรรคเดียวกันในรัฐบาลก็รีบยกมือให้ แต่จริงๆ แล้วท่านต้องขอและติดตามเอกสาร เอกสารเหล่านี้ต้องอ่าน เพราะอย่างนี้เอกสารของกระทรวงพาณิชย์ที่จะต้องมีการลงนาม ท่านนายกรัฐมนตรีลงนามรู้สึกมีอยู่ 7-8 ฉบับ ที่ผู้นำรัฐบาลต้องลงนาม นอกจากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ลงนามอีกประมาณ 10 ฉบับ และเอกสารที่เหลือก็เกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีว่าการพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการพลังงาน เป็นต้น

เอกสารเหล่านี้อย่างพวกเขตการค้า ข้อตกลงการค้าเสรี อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-ไทย อาเซียน-เกาหลี อันนี้ต้องอ่าน แต่ส่วนใหญ่เอาเวลาที่ไหนมาอ่าน ท่านไม่อ่าน ไม่สนใจ แล้วก็เห็นว่าเป็นพรรครัฐบาลก็ยกมือให้ เพราะตัวเองอยู่ในพรรค นี้เป็นข้อที่เราบกพร่อง ที่ต่อไปจะต้องปรับปรุงคุณภาพ ซึ่งมันเป็นเอกสารที่ท่านต้องสนใจ” นายสุรพงษ์กล่าว

ก่อนหน้าที่จะมีกฎบัตรอาเซียน อาเซียนก่อตั้งขึ้นโดยตราสารที่เรียกว่า ปฏิญญาอาเซียน (ASEAN Declaration) หรือที่รู้จักในชื่อ ปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 40 ปียึดแนวปฏิบัติที่เรียกว่า “The ASEAN Way” โดยหลีกเลี่ยงที่จะแทรกแซงทางการเมืองภายในของชาติสมาชิก

สำหรับ “กฎบัตรอาเซียน” นั้นถือเป็น “กฎหมายสูงสุดของอาเซียน” และเป็นร่างสนธิสัญญาที่ทำร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือในการวางกรอบทางกฎหมายและโครงสร้างองค์กรของอาเซียน และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของอาเซียน ตามที่ผู้นำอาเซียนได้ตกลงกันไว้ ภายในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) โดยวัตถุประสงค์ของกฎบัตรฯ คือ ทำให้อาเซียนเป็นองค์การที่มีประสิทธิภาพ มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเคารพกฎกติกาในการทำงานมากขึ้น นอกจากนี้ กฎบัตรฯ จะให้สถานะนิติบุคคลแก่อาเซียนเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Organization)

“ถือเป็นเรื่องที่น่าชมเชยที่มี (กฎบัตรอาเซียน) ขึ้นได้ อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้อาเซียนตระหนักได้ดีขึ้นว่า จำเป็นต้องมีสถานะเป็นนิติบุคคล เพราะแต่ก่อนมันหลักลอย อาเซียนมีสัญญากันเยอะแยะเลยนะ เซ็นกันเยอะแยะเลย ข้อตกลงอะไรทางด้านเศรษฐกิจ สังคม แต่อาเซียนไม่ได้มีหน้าที่ในฐานะนิติบุคคลเลย ที่เคารพกันมาก็ด้วยสัญญาสุภาพบุรุษ มันก็จะมีปัญหาถ้าอาเซียนไม่เป็นนิติบุคคลแล้วไปเซ็นสัญญา กับ อียู-อาเซียน จีน-อาเซียน ก็จะไม่มีสถานะ

อย่างน้อยก็เป็นจุดเริ่มต้น ถ้าอาเซียนอยากการรวมตัวทางเศรษฐกิจ และทำการค้าร่วม ก็ต้องมีชาร์เตอร์ (Charter) โดยชาร์เตอร์ ก็เหมือนกับการมีรัฐธรรมนูญ คุณลองนึกภาพประเทศไทยไม่มีรัฐธรรมนูญซิ มันจะปกครองกันได้ไง แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีข้อด้อยของมันเช่นกัน”

ในส่วนบทบาทของประเทศไทยต่อเวทีอาเซียน นายสุรพงษ์กล่าวว่า ไทยเป็นแกนนำในการผลักดันให้อาเซียนยึดถือประชาชนเป็นศูนย์กลางและให้ความสำคัญในเรื่องของความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งหมายความว่าอาเซียนต้องตอบสนองความมั่นคงของมนุษย์ คือ ประชาชาติอาเซียน

“หมายความว่า ประชาชนของทั้ง 10 ประเทศ มีปัญหาอะไร อาเซียนจะต้องต้องตอบสนองความต้องการของประชนทั้ง 10 ชาติ และความมั่นคงของมนุษย์ ก็หมายถึงว่า เรื่องของสิทธิมนุษยชน ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน การดำรงอยู่ของความเป็นมนุษย์ สิ่งเหล่านี้ หลักนิติธรรมหลักนิติรัฐ ทุกอย่างอาเซียนต้องเอามนุษย์เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาผลประโยชน์ของรัฐเป็นตัวตั้ง”

ซึ่งเรื่องดังกล่าวนายสุรพงษ์อธิบายว่ามี 3 เสาหลัก ที่อาเซียนจำเป็นต้องผลักดัน ประกอบไปด้วย
1.ประชาคมด้านเศรษฐกิจ
2.ประชาคมด้านการเมืองและความมั่นคง
3.ประชาคมด้านสังคมวัฒนธรรม

กฎบัตรที่ปราศจากบทลงโทษ

อย่างไรก็ตาม นายสุรพงษ์ชี้ว่าปัญหาที่จะเกิดตามมากจากการผลักดัน ทั้ง 3 เสาหลัก ก็คือข้อที่ 2 และ 3 ประชาคมด้านการเมืองและความมั่นคง และ ประชาคมด้านสังคมวัฒนธรรม เนื่องจากมีความเกี่ยวพันกับเรื่องของการส่งเสริมการเมืองการปกครอง หลักนิติรัฐ นิติธรรม เรื่องของการเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการเดินหน้าต่อไปของอาเซียน นอกจากนี้กฎบัตรอาเซียนยังมีจุดอ่อนที่สำคัญมากอีกด้วย นั่นคือ ใน 55 มาตราของกฎบัตรอาเซียนนั้นไม่มีมาตราใดเลยที่ระบุถึงบทลงโทษหากสมาชิกไม่ปฏิบัติตาม

“สิ่งที่ทำให้ต่างชาติก็งง คนสัญชาติอาเซียนทั้งหลายรวมทั้งประเทศไทยด้วยก็งง คือในกฎบัตรฯ บทบาทอาเซียนมันมี 55 มาตรา อย่างไรก็ตามตั้งแต่มาตรา 1 ถึงมาตรา 55 ไม่มีมาตราไหน ระบุว่า ถ้าหากสมาชิกไม่ปฏิบัติตามกฎบัตรของอาเซียนจะโดนลงโทษ แต่เป็นแบบแล้วแต่ความสมัครใจ ลักษณะสัญญาสุภาพบุรุษ เหมือนเขียนกฎหมายแต่ไม่เขียนบทลงโทษมันประหลาดมากนะ แต่ผมคิดว่าเป็นเพราะว่าความแตกต่างระบบการเมืองการปกครองและค่านิยมไง มันถึงเขียนอะไรไม่ได้ พอจะเขียนปั๊บ อันนี้บอกไม่เอา ไม่เอาแล้ว แล้วอาเซียนบอกเป็นฉันทามติ หมายความว่า พอ 1 ประเทศไม่เอาก็ล้มหมด นี่คือปัญหา

ด้วยเหตุนี้ อุปสรรคอีกประการหนึ่งของอาเซียนก็คือ “เรื่องฉันทามติ” ถ้าอาเซียนไม่ยอมหลุดจากเรื่องของฉันทามติ โดยเรื่องที่สำคัญคอขาดบาดตายขององค์กรจะต้องมีการใช้ระบบโหวต ลงคะแนนเสียงกัน เรื่องสำคัญมากอาจจะใช้คะแนน 3 ใน 4 เรื่องสำคัญรองลงมาอาจจะใช้คะแนนเสียงครึ่งหนึ่งหรือกึ่งหนึ่งก็ได้ แต่ที่ผ่านมาไม่มีเพราะอาเซียนกลัวเสียหน้ากัน กลัวว่าถ้าเป็นประเด็นเรื่องการเมืองจะกระทบตัวเอง เพราะเหตุนี้อาเซียนถึงไปไหนไม่ได้

ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดอารยะธรรมแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการเมืองที่แตกต่างกัน แต่เศรษฐกิจไม่แตกต่างกันมาก เพราะทุกประเทศก็ทุนนิยมกันทั้งนั้นในอาเซียน เพราะยุคนี้ยุคโลกาภิวัตน์ ทุนนิยมครองความเป็นใหญ่อยู่แล้ว วาทกรรมทางเศรษฐกิจคือ “ทุนนิยมสามานย์ทางเศรษฐกิจ” วาทกรรมทางการเมืองคือ “เสรีประชาธิปไตย”

แต่อย่างที่บอกในแง่ดีก็น่าชมเชย เมื่อมองตามข้อเท็จจริงว่าอาเซียนมาได้ถึงขณะนี้มาได้ถึงขั้นนี้ก็บุญนักหนาแล้ว แม้อาเซียนมีความแตกต่างกันมาก ก็ยังรู้จักมีนวัตกรรมใหม่ของตัวเอง ว่าบทบาทใหม่ของตัวเองในยุคโลกาภิวัตน์จะเป็นอย่างไร”

อาเซียนใน “มิติการค้า” กระทบชีวิตชาวบ้านแน่

เมื่อถามว่า ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้จะบอกถึงการเปลี่ยนแปลงอะไรในอาเซียน และจะส่งผลกระทบอะไรบ้างกับประชาชนที่พอจะมองเห็นเป็นรูปธรรม นักการทูตอาวุโสให้คำตอบว่า ผลกระทบในเรื่องเศรษฐกิจน่าจะมีมากที่สุด

“อย่างเรื่องการค้าเสรี อาเซียนมีการค้าเสรีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 นับถึงปัจจุบันก็เกือบ 20 ปีแล้ว อย่าลืมว่าในประเทศสมาชิกนอกจากจะมีความแตกต่างกันมากในเรื่องการเมืองการปกครองแล้ว พัฒนาการเรื่องเศรษฐกิจก็มีความแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะ 4 ประเทศที่เข้ามาเป็นสมาชิกที่หลังคือ ลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม การพัฒนาทางเศรษฐกิจยังอยู่อีกระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นการที่เอา 4 ประเทศใหม่นี้เข้ามาก นอกจากดูว่าตัวเลข มันใหญ่ จาก 6 ประเทศ กลายเป็น 10 ประเทศ เหมือนกับอำนาจการต่อรองมันจะมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงมันก็เป็นทุกข์ลาภนะ ธรรมดาคุณจะเอาประเทศสมาชิกใหม่เข้ามา คุณต้องไม่เอาสมาชิกที่มันมาถ่วง แต่อนาคตของคุณต้องเอามาช่วย เอาประเทศที่อยู่ในระดับเดียวกัน

เพราะฉะนั้นอาเซียนตอนนี้ มีกำลังที่จะดึงเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ให้มันใกล้เคียงกันมากขึ้น ก็เป็นภาระมากขึ้นอีก เพราะฉะนั้นในด้านเศรษฐกิจ ผมก็คิดว่ามันไม่ควรจะมีปัญหาอะไรที่เป็นรูปธรรม แม้แต่กระนั้น ตั้งแต่ พ.ศ.2535 อาฟตา มาเลเซียก็ยังมีเรื่องชิ้นส่วนรถยนต์ที่ยังขอผัดผ่อน ในที่สุดทุกประเทศต่างมีข้อยกเว้นกันทั้งนั้น แล้วลองคิดดูในหมู่อาเซียน 5 ประเทศ ดั้งเดิม ยังมีการผัดผ่อนกันเลย แล้ว 4 ประเทศใหม่จะไม่มีการผัดผ่อนหรือ ดังนั้นแทนที่จะมีภายใน ค.ศ.2010 (พ.ศ.2553) ควรจะปลอดภาษีหมด นี้ยังเลื่อนไป ค.ศ.2015 (พ.ศ.2558) แล้วตอนนี้รับสมาชิกมาใหม่ๆ ก็คงเลื่อนไป ค.ศ.2020 (พ.ศ.2563) ละมั้ง” นายสุรพงษ์ให้ทัศนะ

“อาเซียน” นัยยะต่อการเมืองระดับภูมิภาค-โลก

ต่อข้อถามกรณีที่ว่า เหล่าประเทศมหาอำนาจในเอเชียตะวันออก ประกอบไปด้วย ประเทศจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เข้ามาจับมือกับอาเซียนจนกลายเป็น “อาเซียนบวกสาม” นั้น เกิดจากมิติทางด้านการค้าเสรี-ด้านเศรษฐกิจอย่างเดียวหรือไม่ หรือ มีนัยยะแฝงทางด้านการเมืองมาด้วย นายสุรพงษ์ให้ความเห็นว่า ในส่วนของเกาหลีใต้อาจมองประเด็นด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ในส่วนของจีนและญี่ปุ่นนั้นเขาคิดว่ามีเรื่องการเมืองผสมผสานอยู่ด้วยแน่นอน

“ผมคิดว่า เกาหลีใต้ก็คงมองด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ผมคิดว่าจีน ญี่ปุ่น ไม่แน่นอน ในหมู่ 3 ประเทศนี้ ประเทศที่ล็อกกลุ่มประเทศอาเซียนไว้ โดยมีข้อตกลงและความร่วมมือหลายด้าน ทั้งทางด้านความมั่นคงด้วย คือ จีน เพราะจริงๆ แล้วทางด้านเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นเข้ามาในภูมิภาคนี้ก่อนจีนเยอะแยะ ถึงปัจจุบันญี่ปุ่นก็ยังเป็น เบอร์ 1 ของการลงทุน ในภูมิภาค เพราะฉะนั้นในด้านเศรษฐกิจผมไม่เป็นห่วงเท่าไหร่ แต่ว่าญี่ปุ่น คงต้องพยายาม สร้างกรอบความร่วมมือในด้านอื่นๆ

ซึ่งหากมองในมุมชาติอาเซียนส่วนใหญ่ รวมทั้งไทยด้วย เรื่องอะไรจะให้จีนเข้ามาอย่างเดียว ต้องดึงข้างนอกมาให้มีตัวเลือกมาเล่นมากๆ เราจะได้มีตัวเลือก เราจะเล่นไพ่สำรับเดียวทำไม เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมคิดว่า อาเซียนเองโดยลึกๆ แม้ไม่พูด ก็ไม่อยากให้จีนมีบทบาทผู้ขาด โดยในที่นี้ก็ดึงญี่ปุ่นเข้ามา ดึงเกาหลีเข้ามา แล้วก็จะดึงอินเดียเข้ามา แล้วก็บทบาทของสหรัฐฯ จะมีก่อนเหมือนในยุคสงครามเย็นมันไม่ได้แล้ว หมดแล้ว แต่ตอนนี้สหรัฐฯ ก็พยายามที่จะอย่างน้อย ให้ญี่ปุ่น ทำหน้าที่เป็นนอมินีของอิทธิพลตะวันตกให้ได้ อิทธิพลเสรีประชาธิปไตยให้ได้

ผมคิดว่าก็ไม่มีใครอยากให้เป็นระบบพึ่งพากับใคร กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดโดยเฉพาะมันต้องมีตัวเลือกให้มากๆ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าอันนี้ก็เป็นสิ่งที่ดี ตอนนี้เวทีอาเซียนมันก็มี 1+3 เสร็จแล้วก็ยังมี Dialogue Partners อาเซียน-สหรัฐ, อาเซียน-ออสเตรเลีย, อาเซียน-นิวซีแลนด์, อาเซียน-เกาหลี, อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-อินเดีย คือเวทีกว้างมากขึ้น ทางเลือกก็มากขึ้น บทบาทก็มีความยืดหยุ่นมากขึ้นได้” นายสุรพงษ์กล่าวทิ้งท้ายถึง แนวโน้มอนาคตของอาเซียน พร้อมทั้งแนะนำถึงแนวทางยุทธศาสตร์ในการประสานความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและประชาชนชาวไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม :
รวมข้อมูลอาเซียน จากเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น