xs
xsm
sm
md
lg

ปรองดองด้วยกฎหมาย : การบังคับให้สามัคคี

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

คำว่า ปรองดอง เป็นคำที่คนไทยคุ้นหู และใช้กันจนติดปากในความหมายที่ว่า ยุติความขัดแย้งระหว่างคนสองคนหรือคนสองกลุ่มที่ขัดแย้งกัน และมุ่งทำร้ายต่อความเสียหายทั้งในด้านทรัพย์สิน ร่างกาย ตลอดถึงการใส่ร้าย ทำลายชื่อเสียงของกันและกัน จากจุดเล็กๆ จนกลายเป็นเรื่องใหญ่โตในระดับชุมชน และระดับชาติโดยรวมได้ ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขด้วยวิธีการที่ถูกต้อง และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และการที่ให้ทุกฝ่ายยอมยุติความขัดแย้งด้วยความเต็มใจปราศจากเงื่อนไข นี่เองคือการปรองดอง และความปรองดองที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้จะนำไปสู่ความสามัคคี คือ ความพร้อมเพรียงเกิดขึ้นตามมา

โดยนัยแห่งคำว่า ปรองดอง ดังกล่าวข้างต้น ความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความสมัครใจของทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันที่จะยุติความขัดแย้ง และหาแนวทางอยู่ร่วมกันด้วยสันติวิธีเท่านั้น

แต่การบังคับโดยการออกกฎหมายเพื่อบังคับให้เกิดความสามัคคีย่อมเกิดขึ้นได้ยาก ถึงแม้ว่าจะออกเป็นกฎหมายได้ แต่ผลที่ได้คงจะนำไปสู่การยุติความขัดแย้ง และก่อให้เกิดความสามัคคีได้ยาก

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้และเวลานี้ได้มีคนกลุ่มหนึ่งที่มีทั้งนักการเมือง และนักวิชาการที่รับใช้การเมืองพยายามผลักดันให้นำกฎหมายภายใต้ชื่อ พ.ร.บ.ปรองดอง เข้าสู่การพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ นัยว่าเพื่อแก้ไขปัญหาความแตกแยกของคนในชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างกลุ่มเสื้อเหลือง และเสื้อแดง

ในทันทีที่ข่าวนี้ปรากฏทางสื่อ ได้มีกระแสต้านดังกระหึ่มจากหลายๆ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และเหตุอ้างในการไม่เห็นด้วย ส่วนใหญ่มุ่งไปที่เนื้อหาของ พ.ร.บ.ที่ต้องการจะนิรโทษกรรมแก่คนกลุ่มหนึ่งที่ได้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง จนได้รับการวินิจฉัยตัดสินให้เว้นวรรคทางการเมืองทั้งกลุ่ม 111 คน และ 109 คน แต่ที่ดูเหมือนจะมีเสียงคัดค้านอย่างรุนแรงกว่านี้ก็คือ การที่จะมุ่งนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่กระทำผิดกฎหมายอาญา ทั้งที่ถูกศาลพิจารณาโทษแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดี อันถือได้ว่าเป็นการล้มล้างอำนาจของศาลเพื่อคืนความถูกต้องให้กับคนที่ทำผิด

ในจำนวนผู้ที่อยู่ในข่ายจะได้รับโทษกรรม และดูเหมือนว่าจะเป็นจุดมุ่งหมายหลักของ พ.ร.บ.นี้ก็คือ อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งขณะนี้อยู่ในฐานะนักโทษหนีคุกอยู่ในต่างประเทศ

ถ้ามองทั้งในด้านเนื้อหาและเจตนาในการเสนอออกกฎหมายที่ว่านี้แล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นการเสนอกฎหมายด้วยเจตนาที่ซ่อนเร้น ไม่โปร่งใส และที่สำคัญมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยในเชิงตรรกศาสตร์ดังต่อไปนี้

1. โดยปกติการปรองดองจะเกิดด้วยความสมัครใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง และเกิดความสามัคคีตามมาได้ก็ต่อเมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง และได้รับผลกระทบเกิดความเสียหาย ยินยอมพร้อมใจกันยุติปัญหาความขัดแย้ง และให้อภัยแก่กันเท่านั้น

แต่ในกรณีที่กฎหมายปรองดองจะถูกนำมาใช้กับความขัดแย้งในสังคมไทย เริ่มตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงที่ขัดแย้งกันด้วยมีจุดยืนต่างกัน กล่าวคือ คนเสื้อแดงออกมาต่อต้านเสื้อเหลืองภายใต้วัตถุประสงค์ปกป้องทักษิณ และคนในระบอบทักษิณเพื่อต้องการให้กลับมามีอำนาจทางการเมืองเหมือนเดิม และในขณะเดียวกัน โจมตีฝ่ายที่ต่อต้านระบอบทักษิณว่าเป็นฝ่ายที่ไม่ถูกต้อง และไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ทักษิณ

แต่ในขณะเดียวกัน ฝ่ายต่อต้านทักษิณและคนในระบอบทักษิณซึ่งนำโดยกลุ่มเสื้อเหลือง มีเหตุอ้างในการต่อต้านระบอบทักษิณโดยยึดความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และปกป้องความเสียหายอันจะเกิดขึ้นแก่ประเทศชาติโดยรวม จากการครองอำนาจของทักษิณและคนในระบอบทักษิณ

ดังนั้นโอกาสที่คนสองกลุ่มจะปรองดองด้วยความสมัครใจจึงเกิดขึ้นได้ยาก และถึงแม้จะยุติความขัดแย้งได้ด้วยการออกกฎหมายมาบังคับ ก็จะไม่ก่อให้เกิดความสามัคคีตามมา เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนเสื้อเหลือง หรือกลุ่มคนที่เป็นแนวร่วมกับคนเสื้อเหลือง คงไม่ยอมปรองดองด้วยใจแน่นอน

2. สิ่งที่กลุ่มเสื้อแดงอันเป็นกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่อดีตนายกฯ ทักษิณ และคนในระบอบทักษิณยิ่งนานวันยิ่งพิสูจน์ชัดว่ามีเจตนาซ่อนเร้นและแอบแฝงด้วยวัตถุประสงค์ที่มากกว่าขอความเป็นธรรมในแง่ของกฎหมายที่ศาลลงโทษ และอยู่ระหว่างการดำเนินคดี จะเห็นได้จากแถลงการณ์สยามแดงของนายใจ อึ๊งภากรณ์ ที่พูดความต้องการในทางการเมืองที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงชนิดที่คนไทยเกือบทั้งประเทศรับไม่ได้ และไม่ยอมให้การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้เกิดขึ้น ในขณะที่คนไทยทั้งประเทศยังคงมีความจงรักภักดีเฉกเช่นในทุกวันนี้

ดังนั้น ถ้าฝ่ายเสื้อเหลืองยอมปรองดองด้วยความสมัครใจ ก็เท่ากับว่าคนกลุ่มนี้ละทิ้งอุดมการณ์ของตนเอง และคนทั้งประเทศจะต้องกังขากับการปรองดองว่ามีอะไรเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนหรือไม่

3. ถ้ามองในแง่ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่คนกลุ่มเสื้อแดงเรียกร้อง ก็จะพบว่าแนวคิดและการกระทำของคนกลุ่มนี้ขัดแย้งกันเอง ในประเด็นที่ว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะต้องมี 3 องค์กรหลัก คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ

แต่การกระทำที่กลุ่มเสื้อแดง รวมถึงทักษิณและคนในกลุ่มของระบอบทักษิณกระทำอยู่ มีอยู่ไม่น้อยที่ขัดต่อกฎหมายที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน จึงเท่ากับไม่เคารพกฎหมาย แล้วจะให้เชื่อได้อย่างไรว่า ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศไทย โดยให้ทุกตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองมาจากเลือกตั้งแล้วจะไม่มีการร่างกฎหมายเพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดผลประโยชน์แก่ตัวเองและพวกพ้อง เพราะขณะที่มีกฎหมายบังคับอยู่ยังมีการกระทำผิดกฎหมาย ดังนั้น เมื่อมีโอกาสแก้กฎหมายและมีอำนาจรัฐในการใช้กฎหมายแล้ว จะไม่มีการหาประโยชน์เข้าตัวเอง โดยมีการร่างกฎหมายออกมารองรับการแสวงหานั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น