xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

เวทีนโยบาย:มนุษย์สมบูรณ์ : มรรคาคู่ขนานการศึกษากระแสหลัก-ทางเลือก

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

จะว่าไปแล้วการศึกษากระแสหลักมักขยายเกลียวคลื่นอยุติธรรมแผ่ซ่านทุกอณูสังคม ด้วยสถาบัน หลักสูตร จนถึงบุคลากรล้วนกระทำการเป็นตัวแทนของสายพานการผลิตแบบทุนนิยมที่เชื่อถือมือใครยาวสาวได้สาวเอา เพราะต่างตั้งวางอยู่บนหลักการและทฤษฎีตัวเลขกำไร ต่อให้ ‘คิดค้น’ กลยุทธ์ธุรกิจหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ก็ไม่ค่อยพ้นแง่มุมผลประกอบการที่ต้องทวีคูณทุกๆ ปี

ผลผลิตของการศึกษากระแสหลักนับแต่อนุบาลถึงมหาวิทยาลัยจึงเป็นน้ำหล่อเลี้ยงเลิศรสขของระบบทุนนิยม ดังมนุษย์บนส่วนยอดของระบบการศึกษาที่ผันตัวเองเป็นกลจักรไร้ใจขับหมุนกงล้อทุนนิยมบดขยี้เพื่อนมนุษย์ปลายอ้อปลายแขมฐานล่าง ทั้งตั้งใจหลีกเลี่ยงเพราะตระหนักว่าไม่ใช่วิถีทางสร้างสุขแท้ และก้าวไม่ทันถูกเบียดขับกีดกันเพราะขาดแคลนปัจจัยและโอกาส

การก้าวออกนอกลู่การศึกษากระแสหลักเท่านั้นจึงประจักษ์ความอยุติธรรมเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม ถึงแค่ช่วงสั้นๆ ก็ตาม เช่น ฉากชีวิตเช เกวารา (Ernesto ‘Che’ Guevara) ขณะท่องทวีปอเมริกาใต้โดยมอเตอร์ไซค์หลังเข้าเรียนคณะแพทย์ในมหาวิทยาลัยเอโนสไอโรส ได้พานพบความยากจนข้นแค้นมากมายในสังคมที่ห้องเรียนไม่มีสอน กระทั่งเปลี่ยนผ่านเป็นนักปฏิวัตินามกระเดื่องผู้กร้าวว่า ‘ถ้าคุณตัวสั่นเทาด้วยความเดือดดาลเมื่อเห็นความอยุติธรรม คุณคือสหายเรา’

ท่องเที่ยวครั้งนั้นแท้จริงจึงเสมือนการศึกษาทางเลือกที่ชี้ชวนตั้งคำถามเชิงลึก ครุ่นคิดถึงการสร้างความยุติธรรม อันเป็นการเดินทางภายในที่การศึกษากระแสหลักรั้วมหา’ ลัยไม่นำพา

ถึงบริบทสังคมตลอดจนการปกครองละตินอเมริกาสมัยนั้นจะต่างกับประเทศไทยปัจจุบันมาก หากก็มีจุดร่วมคืออุดมความอยุติธรรมเชิงกายภาพ โครงสร้าง และวัฒนธรรม

การทลายกำแพงเหี้ยนเรียบจึงต้องมองทะลุความสำเร็จระดับปัจเจก เพราะลำพังบุคคลย่อมเป็นแรงบันดาลใจ ‘ไอดอล’ ได้ ทว่าท้ายสุดไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในระดับประเทศชาติได้ถ้าโครงสร้างการศึกษายังนิ่งสนิท สร้างความภาคภูมิใจทุกๆ ครั้งจากยอดประกอบการที่เท่าทวีจากการใช้ความรู้สูงกว่าหรือเฉพาะด้านกอบโกย

ถึงการปฏิวัติจะเป็นรูปแบบหนึ่งในการถอนรากโคนอยุติธรรม ทว่าแรงเสียดทาน ผู้ต่อต้าน (Resister) มหาศาลเหลือเกิน การปฏิวัติการปฏิรูปที่มีทุนรอนอยู่แล้วจึงได้มรรคผลยั่งยืนกว่ามาก

ยุทธวิธีต่อกรความอยุติธรรมนานัปการในสังคมไทยจึงปฏิเสธปฏิวัติปฏิรูปการศึกษาทั้งกระแสหลักและทางเลือกไม่ได้ เพราะการศึกษาคือศาสตราทลายปราการกางกั้นความยุติธรรม

ดังนั้น ต้องเร่งแปรถ้อยความด้านการศึกษากระแสหลักใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ว่าการจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ให้เป็นภาคปฏิบัติการเท่าๆ กับผลักดันการศึกษาทางเลือกตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551 ให้เปิดโอกาสประชาชนได้เรียนรู้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ตามศักยภาพ เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และภูมิปัญญาจริงๆ

รวมทั้งยังต้องสร้างกลไกให้สอดรับกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ด้านสิทธิและเสรีภาพในการศึกษา ที่นอกจากคุ้มครองกลุ่มบุคคลที่อยู่ในสภาวะยากลำบากให้สามารถเข้าถึงการศึกษา (Equal Accessibility to Education) อย่างเท่าเทียมกับผู้อื่นแล้ว ยังเปิดกว้างให้ทุกคนมีความเสมอภาคและอิสระเลือกรับการศึกษาได้ทุกรูปแบบ

ตลอดจนต้องดึงภาคประชาสังคมให้เข้ามากำกับการดำเนินนโยบายการศึกษาที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะในการคิด วิเคราะห์ของผู้เรียน และคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นคุณธรรมนำความรู้อย่างแท้จริง เพราะจะเป็นกระจกสะท้อนความสำเร็จหรือล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบตามที่สัญญาไว้

แม้นว่ามรรคาการปฏิรูปการศึกษากระแสหลักและทางเลือกเสมือนสวนทางกันเพราะสะท้อนค่านิยมและความคาดหวังหลังจบการศึกษาต่างกันขนาด 360 ํ ทว่าการธำรงเป้าหมายสรรสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบของทั้งสองกระแส รวมทั้งยังสอดคล้องกับ ‘คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา’ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) ที่ต่อเนื่องมาจากฉบับที่ 8 ก็น่าจะทำให้พบจุดร่วมหลักเดียวกันคือ ‘การพัฒนามนุษย์’

แง่เศรษฐกิจคือการเตรียมพร้อมให้คนและระบบสามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต แสวงประโยชน์อย่างรู้เท่าทันโลกาภิวัตน์ และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับทุกภาคส่วนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ขณะมุมสังคมก็คือสร้างความสุข สนุกแก่ผู้เรียนระหว่างศึกษาตามหลักสูตรที่คำนึงถึงความเชื่อ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงความก้าวหน้าทางวิชาการ

ทว่าสำคัญกว่าและสังคมยังไม่ใคร่คำนึงถึงคือความสัมพันธ์ระหว่าง ‘พฤติกรรม จิตใจ ปัญญา’ อันเป็น 3 ด้านของชีวิตมนุษย์ กล่าวคือ ด้านความสัมพันธ์กับโลกภายนอกทั้งวัตถุ คน สังคม พฤติกรรมนั้นเบียดเบียนเดือดร้อนหรือเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ด้านจิตใจที่กำหนดให้เราสัมพันธ์อย่างไร โดยมีเจตนาหรือเจตจำนงเป็นตัวกำหนดว่าปรารถนาดีหรือมุ่งร้าย และด้านปัญญาที่เริ่มจากความคิดเห็น ความรู้ ความเข้าใจเท่าที่มีและยึดถือไว้ ทำไปแล้วเกิดผลดีหรือเสียอะไรบ้าง

ถ้าระบบการศึกษาตั้งมั่นบนหลัก ‘ไตรสิกขา’ ตามพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) อรรถาธิบายไว้ในการศึกษาทางเลือก ฉบับง่าย (Education Made Easy) โดยเริ่มจากสร้างวินัยหรือวิถีชีวิตผู้เรียนให้อยู่ในแนวทางธรรมชาติ มีจิตใจและปัญญามาช่วยฝึกวินัยหรือศีลแล้ว ก็จะทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึง ‘ความจริงของธรรมดา’ ได้ ยิ่งมากเท่าใดยิ่งเข้าใกล้ความเป็นมนุษย์สมบูรณ์มากขึ้นเท่านั้น

การได้รับการศึกษาที่มีสัจธรรมเป็นฐาน มีจริยธรรมเป็นภาคปฏิบัติการที่สืบเนื่องจากธรรมดานั้น สามารถลดคอร์รัปชันทั้งในแวดวงการศึกษาที่รุนแรงขั้นฉ้อฉลสมองของเด็กจากการทุจริตนมโรงเรียนในช่วงวัยพัฒนาการทางสมองมากสุด จนถึงการเก็บเงินกินเปล่า เงินบริจาค เงินบำรุง อันขัดกับกฎหมายสูงสุดของชาติ แต่ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติโรงเรียนดังเกือบทุกแห่ง

มากกว่านั้นระยะยาวยังขจัดทั้งความรุนแรงและการทุจริตที่ระบาดหนักทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพในสังคมไทยได้มหาศาลด้วย เนื่องจากเด็ก เยาวชนจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีจริยธรรมกำกับการดำเนินชีวิตด้วยถูกจัดสรรหรือจัดตั้งระบบวิถีชีวิตให้อยู่ในครรลองของความดีงามแล้ว

กิจกรรมชีวิตจึงตั้งมั่นใน ‘ศีล’ มีพฤติกรรมกาย วาจา ใจที่ดี การหลุดกรอบศีลธรรมขนาดรุมทำร้ายนักเรียนต่างสถาบัน หรือยอมรับคอร์รัปชันถ้าทำให้ชีวิตและเศรษฐกิจดี จึงไม่น่ามากนัก

ความเคยชินในทางที่ดีเช่นนี้เองจะทำให้ความอยุติธรรมมากมายในสังคมไทยลดน้อยถอยลงจนไม่มีนัยสำคัญถึงขั้นทำลายประเทศชาติทั้งทางกายภาพและภาพลักษณ์จากการจัดอันดับความโปร่งใสได้ ด้วยกิจกรรมเศรษฐกิจและการเมืองจะสะอาด ยึดจริยธรรม และความรับผิดชอบเป็นหลัก ไม่ลำพองทำตัวเองหายนะเหมือนคราต้มยำกุ้ง หรือตามรอยอเมริกาที่เศรษฐกิจถดถอยเพราะขาดธรรมาภิบาล ด้วยมีการศึกษาที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้ สิ่งที่ให้ และผู้รับ ไว้อย่างสมบูรณ์จนเป็นวงกลมไม่รู้จักสิ้นสุดและคุ้มครองโลกถึงที่สุดได้ ดังท่านพุทธทาสอรรถาธิบายธรรมไว้อย่างลุ่มลึกในการศึกษาสมบูรณ์แบบ: คือวงกลมที่คุ้มครองโลกถึงที่สุด

ทั้งนี้ การศึกษากระแสหลักและทางเลือกจึงไม่ใช่ศัตรูที่ต้องซัดศัตราวุธใส่กัน อีกทั้งยังไม่อาจนิยามเป็นขั้วตรงข้ามตามแนวคิดทวิภาวะได้ ด้วยมีหมุดหมายสำคัญเดียวกันหากยึดมั่นตามลายลักษณ์อักษรทั้งของรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง คือสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์

อนึ่ง การศึกษากระแสหลัก-ทางเลือกอาจแผ้วถางทางขนานกัน ตัดผ่าน หรือร่วมถนนเดียวกันก็ได้ในมรรควิธี หากทว่าในเป้าหมายท้ายสุดแล้วต้องหนึ่งเดียวกันคือสร้างมนุษย์สมบูรณ์ ที่ไม่ใช่การคัดเลือกสายพันธุ์ตามธรรมชาติผสานระบบทุนนิยมที่ผู้แข็งแรงกว่าย่อมอยู่รอดและมีสิทธิชอบธรรมเอารัดเอาเปรียบผู้อ่อนแอกว่า.

คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น