xs
xsm
sm
md
lg

“ท่องเที่ยว” แนวโน้มปีนี้ดิ่งเหวทั่วเอเชีย ไทย-ฮ่องกง-อินเดีย-มาเก๊า แย่กันหมด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักท่องเที่ยวต่างชาติกำลังถ่ายรูปที่จุดชมวิวในฮ่องกง
เอเจนซี - คาด แนวโน้มธุรกิจท่องเที่ยวในปีนี้ทรุดดิ่งกันทั่วเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม สายการบิน บริษัทนำเที่ยว ต่างเตรียมรับผลพวงจากวิกฤตการเงินทั่วโลกที่ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง ขณะที่พวกซึ่งยังเดินทางมาก็จะรัดเข็มขัดเต็มที่ ทั้งด้วยการลดจำนวนวันท่องเที่ยวลงและใช้จ่ายอย่างสุดประหยัด

“ธุรกิจจะต้องทรุดลงอย่างแน่นอน นักท่องเที่ยวจะน้อยลง” เป็นความเห็นของ ลอเรนซ์ ไล ผู้เป็นเจ้าของกิจการร้านถ่ายภาพสองแห่งในฮ่องกง ซึ่งตั้งอยู่ในย่านท่องเที่ยว โดยที่แห่งหนึ่งอยู่ที่ท่าเรือสตาร์ เฟอร์รี และเน้นจำหน่ายภาพบรรยากาศสัญลักษณ์ความเป็นอดีตอาณานิคมอังกฤษของดินแดนแห่งนี้

“ผมคาดว่า ยอดจะตก 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นอย่างน้อยนะ ผมกำลังจะปรับกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อรับมือกับสึนามิทางการเงินครั้งนี้ แต่ยังไงคุณก็ต้องยืนให้มั่นและเผชิญหน้ากับพายุให้ได้” ไล กล่าว ทั้งนี้ ยอดขายของเขาถึงครึ่งหนึ่งทีเดียวได้มาจากพวกนักท่องเที่ยว

แหล่งท่องเที่ยวในเอเชียนั้นโดดเด่นในเรื่องความหลากหลาย ทั้งในแง่วัฒนธรรม, สภาพภูมิประเทศ, ค่าใช้จ่าย และความแปลกตา มีทั้งดินแดนบนเทือกเขาหิมาลัย ที่ปกคลุมด้วยหิมะไปจนถึงบรรยากาศแสงสีเสียงแบบเมืองหลวง มีแหล่งโบราณสถานเก่าแก่ในเขมร และหาดทรายขาวสะอาด ทั้งหมดนี้ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียเติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในโลกในระยะหลายปีมานี้ เคียงข้างกับภูมิภาคตะวันออกกลาง

ทว่า นับตั้งแต่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะทรุดตัวทั่วโลกเมื่อปลายปีที่แล้ว แหล่งท่องเที่ยวสำคัญในเอเชีย ไล่ตั้งแต่ ฮ่องกง ไทย ไปจนถึงอินเดีย ต่างก็ได้รับผลกระทบจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่ลดน้อยลงอย่างมาก และบางช่วงยังถูกสภาพความวุ่นวายทางการเมืองฉุดรั้งซ้ำเติมด้วย ทำให้มีการคาดการณ์อัตราการขยายตัวของปี 2009 ในเชิงลบ

ฮ่องกง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในเอเชีย และมีนักท่องเที่ยว 29.5 ล้านคน เมื่อปีที่แล้ว คาดการณ์ว่า ในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวลดลง 1.6 เปอร์เซ็นต์ และส่วนที่เป็นนักท่องเที่ยวที่ไม่ใช่ชาวจีนจะลดลงมากถึง 9.2 เปอร์เซ็นต์

ส่วน สิงคโปร์ มียอดนักท่องเที่ยวลดลง 2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปีที่แล้ว และคาดว่า จะลดลงอีกในปีนี้ ขณะที่ ไทย และ มาเลเซีย คาดหมายจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้ลดลง 9 เปอร์เซ็นต์

องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดับเบิลยูทีโอ) ระบุว่า ผลประกอบการของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปี 2008 “อยู่ในภาวะถดถอยลงอย่างรวดเร็วที่สุด” เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา โดยที่จะส่งผลต่อไปทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง

สมาคมการเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) ก็เตือนว่า สายการบินต่างๆ จะเผชิญกับวิกฤตทางธุรกิจครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 50 ปี โดยอาจมีสายการบินที่ถึงขั้นล้มละลาย ขณะที่รายได้จะทรุดดิ่ง และมีพนักงานอีกหลายแสนสุ่มเสี่ยงกับการตกงาน

ผู้อำนวยการใหญ่ของไออาต้า กล่าวเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ว่า บุคลากรที่ทำงานอยู่ในภาคธุรกิจการขนส่ง, การเดินทาง และการท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งมีทั้งหมด 32 ล้านคนกำลังเสี่ยงที่จะต้องตกงานเป็นจำนวนราว 300,000-400,000 คน

ทว่า แม้สถานการณ์ดูย่ำแย่สุดๆ เช่นนี้ สมาคมการท่องเที่ยวแปซิฟิกเอเชีย (พาต้า) ก็ยังมองการณ์แง่ดี โดยคาดว่าเอเชียซึ่งเคยดึงนักท่องเที่ยวได้ราว 280 ล้านคนในปี 2008 จะยังคงมีอัตราการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยวราว 4-5 เปอร์เซ็นต์ ตลอดช่วงสามปีข้างหน้า

“เราใช้ความระมัดระวังอย่างที่สุดในการมองในแง่ดีของเรา แต่เรายังคงเชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในช่วงสองสามปีข้างหน้า” จอห์น โคลดาวสกี ผู้อำนวยการของศูนย์ข่าวเชิงกลยุทธ์ของพาต้า บอก

แต่ โคลดาวสกี กล่าวด้วยว่า นักท่องเที่ยวที่มากันส่วนใหญ่จะประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น โดยลดทั้งจำนวนวันที่มาท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ลง ซึ่งแปลว่าธุรกิจส่วนที่พึ่งพิงกับการท่องเที่ยว อย่างเช่น ร้านค้า อาหาร และโรงแรม จะเดือดร้อนมากกว่าที่คาดคิด

ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อัตราการจองห้องพักโรงแรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกลดลงมาอยู่ที่ 66.7 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับ 76.4 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

"ถึงแม้ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะยังมีการเพิ่มขึ้นอยู่บ้าง แต่เราก็เข้าใจดีถึงข้อเท็จจริงที่ว่า พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวกำลังเปลี่ยนไป เราไม่อาจคาดหวังว่าจะมีรายได้เท่าเดิมได้อีก” โคลดาวสกี บอก
ยูเอ็นดับเบิลยูทีโอ ก็เช่นกัน ออกมาเตือนว่า สิ่งที่ควรคำนึงถึงให้มากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวก็คื จำนวนวันที่นักท่องเที่ยวเข้ามาและการจับจ่ายระหว่างที่เข้ามา

ดังที่ เจมส์ สแตนเดน นักท่องเที่ยวอเมริกันคนหนึ่ง เล่าว่า เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของสหรัฐฯ ไม่ได้ทำให้เขายกเลิกแผนการมาท่องเที่ยวเอเชีย 10 วัน แต่เขาและภรรยาเลื่อนกำหนดการออกไปเป็นหลังช่วงปีใหม่ เพื่อประหยัดค่าเครื่องบิน

“เศรษฐกิจไม่ได้ทำให้เราเที่ยวไม่ได้ แต่เราประหยัดเงินไปตั้งครึ่งหนึ่งถ้าหากมาเที่ยวช้าหน่อย” เขาบอก

**ปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง**

ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและการเปลี่ยนนโยบายรัฐบาลบ่อยๆ ก็มีส่วนทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวในหลายประเทศหลายดินแดนย่ำแย่หนักขึ้น ไม่ว่าจะเป็นใน ศรีลังกา อินเดีย ไทย และมาเก๊า

การยึดสนามบินสุวรรณภูมินานนับสัปดาห์ ได้ทำลายชื่อเสียงของไทยที่เคยเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวลง และทำให้นักท่องเที่ยวราวหนึ่งล้านคนยกเลิก หรือเปลี่ยนเป้าหมายการท่องเที่ยวไปที่อื่นแทน

เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในปีนี้จะลดลง 9 เปอร์เซ็นต์ มาอยู่ที่ 12.8 ล้านคน นับเป็นสถานการณ์เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เกิดหายนภัยสึนามิ

ส่วนที่ อินเดีย หลังเหตุการณ์โจมตีนครมุมไบจนมีผู้เสียชีวิตถึง 179 คน เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผานมา ธุรกิจท่องเที่ยวก็ซบเซาลงทันที และแผ่ขยายไปยังแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอื่นๆ เช่น เมืองกัว ซึ่งมียอดนักท่องเที่ยวตกลงถึง 25 เปอร์เซ็นต์แม้ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว

“เรามองเห็นแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เศรษฐกิจชะลอตัว และโดยเฉพาะหลังเหตุโจมตีมุมไบ” ราล์ฟ เดอเซาซา นายกสมาคมการท่องเที่ยวเมืองกัว บอก “เมื่อคุณไปท่องเที่ยวในช่วงหยุดงาน คุณย่อมต้องการพักผ่อนสบายๆ แต่ปัจจัยต่างๆ ที่มีอยู่ในเหล่านี้ จะไม่ทำให้รู้สึกเช่นนั้นเลย”

ในแดนสวรรค์นักพนันอย่างมาเก๊า ซึ่งสถานกาสิโนเคยบูมมาก และเป็นตัวดึงดูดทำให้จำนวนนักเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าตัวในระยะหกปีที่ผ่านมา โดยมีจำนวนสูงกว่า 30 ล้านคนในปีที่แล้ว แต่เมื่อรัฐบาลจีนสั่งจำกัดการออกวีซาให้นักท่องเที่ยวจากจีน ธุรกิจท่องเที่ยวของมาเก๊าก็ตกลงทันที

“ถ้าหากปีนี้เราสามารถคงตัวเลขนักท่องเที่ยวให้ได้เท่ากับปี 2008 หรือเพียงแค่เพิ่มขึ้น/ลดลงเล็กน้อยแล้ว ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จแล้วล่ะ” โจอัว มานูเอล คอสตา อันตูเนส ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวของมาเก๊าบอก
กำลังโหลดความคิดเห็น