xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมคิด-ชวนคุย กับ ก.ล.ต. :ตราสารหนี้ มีดีอะไร (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในบทความครั้งที่แล้ว เราได้พูดคุยกันถึงความหมายและประเภทของตราสารหนี้กันไปแล้ว (ติดตามอ่านบทความย้อนหลังได้ที่ www.sec.or.th > ความรู้ผู้ลงทุน > การให้ความรู้ผ่านสื่อ > บทความ) ครั้งนี้เรามาคุยกันเรื่องที่ผู้ลงทุนมักจะคิดถึงเป็นเรื่องแรกๆ ก่อนจะลงทุนนั่นคือเรื่อง 'ผลตอบแทน' จากตราสารหนี้ ซึ่งมีได้หลายรูปแบบ ส่วนจะมีวิธีการดูอย่างไร วันนี้จะได้ทราบกัน

ผลตอบแทนรูปแบบหนึ่งจากการลงทุนในตราสารหนี้ก็คือ 'ดอกเบี้ย' (coupon rate เป็นอัตราที่กำหนดไว้ที่หน้าตราสารตามที่ได้เล่าให้ทราบไปเมื่อครั้งที่แล้ว) โดยผู้ออกตราสารหนี้จะจ่ายดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ตั้งแต่เริ่มลงทุน และเมื่อถือตราสารไปจนครบอายุ ผู้ลงทุนจะได้รับเงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ยงวดสุดท้าย ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ว่านี้มีทั้งประเภทจ่ายเป็น อัตราดอกเบี้ยคงที่ ซึ่งจะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่จะจ่ายไว้อย่างแน่นอน ส่วนอีกประเภทคือ แบบ อัตราดอกเบี้ยลอยตัว ซึ่งจะเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบมีเงื่อนไขที่ผูกติดอยู่กับอัตราผลตอบแทนอื่น เช่น อัตราดอกเบี้ย MLR* หรือ MRR* ตัวอย่างเช่น หุ้นกู้ ABC จ่ายดอกเบี้ยในอัตรา MLR +1% ดังนั้น หาก MLR ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนที่ไปอ้างอิง ขยับขึ้นลง อัตราดอกเบี้ยที่ผู้ลงทุนจะได้รับในแต่ละงวดก็จะขยับขึ้นลงตามไปด้วย

ในด้าน ภาระภาษีสำหรับรายได้จากดอกเบี้ย นั้น ดอกเบี้ยที่ได้รับจากตราสารหนี้จะถูก หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% และมีสิทธิเลือกที่จะไม่นำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้สิ้นปี (ลักษณะเดียวกับดอกเบี้ยที่ได้รับจากการฝากเงินแบบประจำกับธนาคาร) อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ผู้ลงทุนมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี หรือเสียภาษีต่ำกว่า 15% สามารถนำดอกเบี้ยที่ได้รับไปรวมคำนวณเพื่อขอคืนเงินภาษีได้

*MLR มาจากคำว่า Medium Lending Rate หรือ Minimum Loan Rate หมายถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบมีระยะเวลาที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี MRR มาจากคำว่า Minimum Retail Rate หมายถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี

นอกเหนือจากผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย ผู้ลงทุนอาจมีลุ้นได้รับผลตอบแทนอีกรูปแบบหนึ่ง คือ กำไรจากส่วนต่างของราคา (capital gain) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเราขายตราสารหนี้ที่ถืออยู่ออกไป (ก่อนที่จะครบอายุ) แล้วได้กำไร โดยตราสารหนี้จะมีราคาในตัวเอง (หรือมูลค่าที่ตราไว้ (face/par value) ที่เราคุยกันครั้งที่แล้ว) เช่น par value ของหุ้นกู้ ส่วนใหญ่เริ่มที่ 1,000 บาท เมื่อเวลาผ่านไป ราคาหุ้นกู้ก็จะเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น อัตราดอกเบี้ยในตลาด (market interest rate) ซึ่ง หากอัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลง ราคาหุ้นกู้จะเพิ่มขึ้น ตัวอย่างดังนี้

หุ้นกู้ ABC ดอกเบี้ย 5% ณ วันแรกราคาอยู่ที่ 1,000 บาท เวลาผ่านไป 6 เดือน อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดลดลง เหลือ 4% หุ้นกู้ ABC ที่ให้ผลตอบแทนถึง 5% ซึ่งสูงกว่าตลาด จะมีราคาสูงขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดสูงขึ้นเป็น 6% หุ้นกู้ ABC ที่ให้ผลตอบแทนเพียง 5% ซึ่งน้อยกว่าตลาด ก็จะมีราคาที่ลดลง (จำให้ขึ้นใจ ดอกเบี้ยลด-ราคาสูง ดอกเบี้ยสูง-ราคาลด)

จากการที่ราคาเคลื่อนไหวขึ้นๆ ลงๆ ได้เช่นนี้ ผู้ลงทุนจึงมีโอกาสที่จะทำกำไรได้ตามหลักการ 'ซื้อถูกขายแพง' อย่างไรก็ดี กำไรที่ได้จากการซื้อขายตราสารหนี้จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ด้วยเช่นกัน

ถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านก็รู้จักทั้ง 'ดอกเบี้ย' และ 'ราคา' แล้ว ที่นี้มาดูกันว่าจะใช้ประโยชน์จาก 2 ปัจจัยนี้ได้อย่างไรบ้าง?

ดอกเบี้ย และ ราคา เป็นเรื่องเฉพาะของตราสารหนี้แต่ละตัว ลองนึกดูว่าหากมีตราสารหนี้ที่น่าสนใจอยู่หลายตัว แต่มีความแตกต่างกันทั้งอายุ ดอกเบี้ย ราคา จะรู้ได้อย่างไรว่าตัวไหนน่าสนใจกว่าเพื่อน วิธีการคือต้องทำให้ผลตอบแทนของแต่ละตราสารหนี้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน เสียก่อนจึงจะเปรียบเทียบได้ โดยการใช้ 'ดอกเบี้ย' และ 'ราคา' ของตราสารแต่ละตัวนั้น มาคำนวณให้อยู่ในรูปของ อัตราผลตอบแทน ซึ่งจากนี้ไปจะขอเรียกสั้นๆ ว่า yield

หากเครื่องไม้เครื่องมือในการคำนวณไม่ได้มีพร้อมมือ มีวิธีคำนวณ yield แบบใช้เครื่องคิดเลขธรรมดาได้คือ current yield โดยใช้ จำนวนดอกเบี้ยรับหารด้วยราคา เช่น หุ้นกู้ราคา 1,000 บาท ดอกเบี้ย (coupon rate) 5% ก็คือ 50 บาท นำ 50 หารด้วย 1,000 จะได้ yield ที่ 5% (หากซื้อตราสาร หนี้มือหนึ่งเลยที่ par value อัตราดอกเบี้ย กับ yield จะเท่ากัน) อย่างไรก็ดี อัตราผลตอบแทนที่ใช้กันเป็นมาตรฐานในการพิจารณาลงทุนคือ yield to maturity:YTM (อัตราผลตอบแทนที่คาดว่าผู้ถือตราสารหนี้จะได้รับถ้าถือตราสารหนี้นั้นจนครบกำหนดไถ่ถอน) เพราะ YTM เป็นผลจากการคำนวณโดยรวมดอกเบี้ยที่จะได้รับตลอดอายุตราสาร และผลประโยชน์ที่เกิดจากการนำดอกเบี้ยนั้นไปลงทุนต่อ (reinvestment income) เป็นต้น ซึ่งวิธีการคำนวณจะสลับซับซ้อนขึ้นไปอีก อย่าเพิ่งกุมขมับไป เพราะ YTM มักจะมีการคำนวณไว้ให้พร้อมสรรพแล้ว ผู้ลงทุนสามารถสอบถามจากโบรกเกอร์ที่ให้บริการซื้อขายตราสารหนี้ได้โดยตรง

เมื่อรู้จัก current yield และ YTM กันแล้ว ผู้ลงทุนก็ สามารถเปรียบเทียบผลตอบแทนเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนได้แล้ว ซึ่งจะเปรียบเทียบระหว่างตราสารหนี้ด้วยกันเอง หรือเปรียบเทียบกับการลงทุนในทางเลือกอื่นๆ ก็ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี ก่อนตัดสินใจลงทุน ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่ควรต้องพิจารณา เช่น อายุคงเหลือของตราสารหนี้ สภาพคล่องในการซื้อขาย ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารซึ่งสะท้อนได้จากการดู credit rating เป็นต้น ซึ่งจะได้คุยกันในรายละเอียดในตอนต่อๆ ไป

ในครั้งหน้า เรามาคุยกันต่อว่าวิธีการดูข้อมูลและตัดสินใจลงทุนในตราสารหนี้จะทำอย่างไรได้บ้าง และต้องไปติดต่อซื้อขายที่ใคร ลาไปก่อนสำหรับวันนี้

จะลงทุนใน Gold Futures ต้องเริ่มอย่างไร จะไปติดต่อใคร? ติดตามชมรายการ Inside ก.ล.ต. ตอน 'Gold Futures...จุดเริ่มที่ดีของคนชอบทอง ตอน 2' ในวันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ เวลา 15.30-16.00 น. ทาง ททบ. 5 และ True Visions 80
กำลังโหลดความคิดเห็น