xs
xsm
sm
md
lg

นาทีแห่งการ‘เซิร์ป’ครั้งใหญ่ของประธานเบน (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: จูเลียน เดอลาซังเทลลิส

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Ben's big ZIRP! Moment
By Julian Delasantellis
17/12/2008

ความเคลื่อนไหวใหม่ล่าสุดของธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ ที่เป็นการเคลื่อนเข้าสู่อาณาจักรเซิร์ป (ZIRP - Zero Interest Rate Policy) แห่งนโยบายดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซนต์ อันเป็นพื้นที่ใหม่ที่สหรัฐฯ ไม่เคยทำการสำรวจหรือมีประสบการณ์กันมาก่อน นับได้ว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่แสดงให้เห็นกันอย่างลึกซึ้ง ถึงความล้มเหลวในการบริหารงานของ เบน เบอร์นันกี้ ในขณะที่ทำงานอยู่กับ เฟด ดังนั้น การดำเนินการในเรื่องนี้อย่างสุดความสามารถ ในทุกกาละและทุกเทศะ โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีอำนาจหน้าที่อยู่ในมือทุกคน อาจจะเป็นความหวังเดียวที่ยังเหลืออยู่ในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา

*รายงานชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ในระหว่างช่วงของซีรีส์การ์ตูนดีซีที่เริ่มกันในปี 1940 (ตอนนั้นยังถูกเรียกเป็นแค่หนังสือการ์ตูน) กับซีรีส์ของภาพยนตร์เคลื่อนไหวในปัจจุบัน ตัวการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่อย่างแบทแมนได้โลดแล่นอยู่ในเครือข่ายโทรทัศน์ของเอบีซี โดยเป็นซีรีส์ที่ฉายต่อเนื่องจากปี 1966-1968

โดยที่ต้นกำเนิดของแบทแมนนั้นอยู่ในรูปแบบของหนังสือการ์ตูน และโดยที่หนังทีวีเรื่องแบทแมนถูกฉายบนจอสี พวกผู้ผลิตจึงเติมบรรยากาศแบบการ์ตูนแนมเข้าไปในภาพยนตร์ทีวีอเมริกัน ด้วยการแปะอักษรบรรยายสุ้มเสียงกำกับไปกับภาพบู๊ล้างผลาญต่างๆ อาทิ ยามปล่อยหมัดเปรี้ยงปร้าง หรือยามที่เหล่าร้ายถูกจับโยนออกนอกหน้าต่าง บนจอก็จะขึ้นตัวบรรยายสว่างวาบแบบกราฟฟิกสีบรรเจิดว่า "Pow!" บ้าง "Crash!" บ้าง เพื่อเพิ่มรสชาดและการตอกย้ำลีลาหมัดมวยจอมบู๊ทั้งหลาย

การดำเนินการของธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ (เฟด) ที่หั่นลดดอกเบี้ยพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจอเมริกันลงเหลือแค่ช่วงระหว่าง 0% - 0.25% นั้น หากนำลีลากราฟฟิกประกอบภาพยนตร์มาใช้แบบหนังแบทแมน ก็จะช่วยประกอบภาพเหตุการณ์ได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ ขณะที่ข่าวปรากฏบนจอทีวีเบื้องหน้าพวกเทรดเดอร์และนักวิจารณ์ประเด็นเศรษฐกิจ ภาพข่าวควรจะใส่อักษรบรรยายเพื่อย้ำสีสันของเหตุการณ์ด้วยเสียงแนวระเบิดเปรี้ยงว่า เซิร์ป(ซะแล้ว) – "ZIRP!" (คำติดปากทางเศรษฐศาสตร์แทนวลียาวๆ ว่า นโยบายอัตราดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซนต์ - zero interest rate policy) ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ภาพสัญลักษณ์ว่าเฟดได้เลือกเดินสู่ถนนที่ไม่เคยได้รับการสำรวจหรือไม่เคยมีประสบการณ์กันมาก่อน

การณ์ครั้งนี้ นับเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหนสุดท้ายสำหรับคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของท่านประธานเบน เบอร์นันกี้ ทั้งนี้ มันเป็นการปรับลดเป้าหมายดอกเบี้ยเฟดฟันด์สเรต ครั้งที่ 10 นับจากเมื่อเดือนกันยายน 2007 จนกระทั่งว่าอัตราดอกเบี้ยนี้ฮวบลงไป 1% เต็มๆ สู่ระดับ 0.0%-0.25% พร้อมๆ กับการหั่นลดดอกเบี้ยดิสเคาน์เรต (ซึ่งเฟดเรียกเก็บจากการให้เงินกู้ชั่วข้ามคืนแก่แบงก์สมาชิก) ลงฮวบเดียว 0.75% สู่ระดับ 0.5%

การหั่นดอกเบี้ยดังกล่าวนับเป็นเครื่องแสดงให้เห็นกันลึกๆ ถึงความล้มเหลวในการบริหารงานของ เบน เบอร์นันกี้ ในขณะที่ทำงานอยู่กับเฟด ทั้งในช่วงที่ยังไม่ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานเฟด และยามที่ดำรงตำแหน่งประธานเฟดนับจากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2006 ทั้งนี้ ในช่วงที่ยังเป็นผู้ว่าการเฟดระดับสาขาคนหนึ่ง ระหว่างปี 2002 – 2005 เบอร์นันกี้เป็นตัวเอ้ที่ให้ความสนับสนุนอย่างสุดๆ แก่ความเชื่อมั่นตนเองแบบหลุดขั้วของบิ๊กบอส ซึ่งก็คือ อลัน กรีนสแปน ประธานเฟด ในขณะนั้น

นับจากที่เริ่มหั่นดอกเบี้ยเมื่อ 15 เดือนที่แล้ว เบอร์นันกี้มิได้เจริญรอยตามกระบวนการทยอยปรับลดแบบช้าและมั่นคง แบบว่าค่อยๆ เล็มลงคราวละ 0.25% แต่ไปเลือกใช้กระบวนการดุเดือดคือฟันไปคราวละ 50% - 75%

ดังเช่นที่ได้เคยเขียนไว้ในบทความเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2008 (Bernanke Hits the Joy Button) ว่ามันเป็นการเล่นเกมพนัน (ซึ่งเบอร์นันกี้ดูน่าเชื่อว่าได้แพ้พนันราบคาบแล้ว) บนเดิมพันว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ก่อนที่อัตราดอกเบี้ยจะถูกหั่นหมดเกลี้ยง ตามรูปการณ์แล้ว เบอร์นันกี้คงไม่อยากลดดอกเบี้ยลงถึงระดับ 1% อย่างที่ถูกบีบให้ต้องทำไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพราะนั่นเป็นอัตราเฟดฟันด์สเรตที่กรีนสแปนปักธงเป็นพรมแดนสุดท้ายไว้ตลอดตั้งแต่กลางปี 2003 ถึงกลางปี 2004 พร้อมกับถูกฟันธงว่าเป็นปัจจัยหลักของการขยายตัวอย่างบ้าคลั่งแห่งภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดสินเชื่อในช่วงหลายปี ดังนั้นเมื่อเบอร์นันกี้หั่นดอกเบี้ยลงแตะระดับ 1% ในเดือนตุลาคมแล้ว ความอ่อนแอที่ทวีความรุนแรงต่อเนื่องไม่รู้จบภายในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และกลายมาเป็นความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก ได้จับจูงให้เฟดต้องเคลื่อนไปสู่ปฏิบัติการเซิร์ป ที่ดอกเบี้ยของประเทศต้องดิ่งสู่ระดับต่ำที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา

หากจะมองหาสถานที่ใดที่จะอยู่ได้โดยไม่ต้องรับรู้รับฟังถ้อยคำน่าท้อใจ ขอจงอย่าอ่านคำแถลงหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ซึ่งเอ่ยถึงสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบันว่า

“นับจากการประชุมคณะกรรมการครั้งก่อน สภาพการณ์ในตลาดแรงงานมีแต่จะเสื่อมถอย และข้อมูลที่มีอยู่ก็ชี้ว่าการจับจ่ายของผู้บริโภค การลงทุนภาคธุรกิจ และการผลิตในภาคอุตสาหกรรมล้วนแต่ลดลง ตลาดการเงินยังอยู่ในสภาวะค่อนข้างตึงตัว ขณะที่สภาพการณ์ด้านสินเชื่อก็ตึงมาก โดยองค์รวมแล้ว แนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจทวีความอ่อนล้ามากขึ้น”

ในด้านหนึ่ง การตัดสินใจของเฟดเป็นเพียงภาพสะท้อนความเป็นจริง เพราะอัตราดอกเบี้ยเป้าหมายในเฟดฟันด์สเรตมีธรรมชาติต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ คือเป็นการตั้งเป้าหมายที่ว่าเฟดจะตั้งเครื่องบังคับกำลังของกระแสกิจกรรมทางเศรษฐกิจไว้ที่ระดับใด เช่น ในช่วงปี 2004-06 อัตราดอกเบี้ยถูกปรับขึ้นไปเมื่อมองกันว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจดำเนินอยู่อย่างรุนแรงเกินไป และอัตราจะถูกปรับลงเมื่อมองว่าการขยายตัวอยู่ในภาวะตกต่ำ

กลไกดำเนินการสำหรับกระบวนการนี้ประกอบด้วยการซื้อหรือขายตราสารของกระทรวงการคลังโดยเฟดสำนักงานนิวยอร์ก ซึ่งดำเนินการในท่ามกลางแบงก์พาณิชย์รายใหญ่ตามความต้องการเงินทุนสำรองเพื่อปรับฐานะการปล่อยสินเชื่อของแบงก์ ทั้งนี้ ในความเป็นจริงแล้ว แม้อัตราดอกเบี้ยเป้าหมายที่ระดับ 1% บรรลุผลในวันที่ 29 ตุลาคม แต่อัตราดอกเบี้ยได้วิ่งสู่ระดับต่ำกว่านั้นเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ระบบเศรษฐกิจซึ่งอ่อนแอรุนแรง ได้บั่นทอนความต้องการเงินกู้ในแวดวงพวกแบงก์รายใหญ่ไปหมดสิ้นจนกระทั่งว่าเฟดย่อมจะไม่สามารถงัดดอกเบี้ยขึ้นไปได้หากว่าเฟดเกิดจะต้องการอย่างนั้นขึ้นมา

มันก็เหมือนเกมการพนันใหญ่ๆ ทั่วไปที่ต้องมีการเสี่ยงและการเจ๊ง ดังนั้น บัดนี้ทั้งเฟดและระบบเศรษฐกิจโดยรวม ต้องเผชิญกับผลสืบเนื่องที่ตามมากับความประมาทของเฟด ในกรณีการรับนโยบายดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์มาใช้ สิ่งที่สูญเสียไปคือการใช้ประโยชน์จากผลดีเชิงจิตวิทยาอันสำคัญที่เคยมีอยู่ในการดำเนินการต่างๆ ของเฟดเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย กล่าวคือ ตลอดที่ผ่านมา เมื่อถูกกระทบจากข่าวร้ายต่างๆ อาทิ รายงานข่าวเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ตลาดหุ้นจะแสดงปฏิกิริยาไปตามทิศทางข่าวว่าเฟดจะตัดสินใจใช้เครื่องมือดอกเบี้ยหรือจะดำเนินการใดบ้างเพื่อตอบโต้กับข่าวร้ายเหล่านั้น ช่องทางทำนองนี้ได้หมดไปแล้ว และในเมื่อป๊ะป๋าโบกมือลาไป ในครั้งหน้าที่ลูกๆ ติดขัดเดือดร้อน ลูกๆ ก็จะต้องเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยตนเอง

แต่เดี๋ยวก่อน! แม้เบอร์นันกี้หมดไต๋และเสียไพ่ใบสุดท้ายแล้ว แต่เจ้าตัวบอกว่าตนยังมีทีเด็ดซ่อนอยู่ที่จะเอื้อให้ตนยังไม่หมดบทบาทเสียทีเดียว

ทั้งนี้ ในทางทฤษฎีแล้ว ความตั้งใจทั่วไปในการขยับดอกเบี้ยขึ้นหรือลงนั้น มุ่งเพื่อกำหนดปริมาณเงินและกำหนดอัตราหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ (ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นหมายถึงการกดดันให้กู้ยืมน้อยลง ส่วนดอกเบี้ยที่ต่ำลงหมายถึงการส่งเสริมให้กู้ยืมมากขึ้น) อย่างไรก็ตาม ปัญหาอยู่ที่ว่าการหั่นลดดอกเบี้ยทั้งหลายทั้งปวงที่เฟดดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่สามารถส่งผ่านตัวกลางออกไปสร้างผลเป็นการกระตุ้นกิจกรรมด้านการกู้ยืมเพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวต่างๆ อันจะช่วยส่งผลไม่ให้เศรษฐกิจหดตัว ในเมื่อฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะ องคาพยพที่ทำหน้าที่ตัวลางในตลาดการเงิน มีแต่จะแตกตื่นตัดขายสินทรัพย์เพื่อลดภาระหนี้

เบอร์นันกี้จึงเสนอไอเดียว่าทำไมไม่กำจัดตัวกลางที่ไม่ยอมทำหน้าที่ไปเสียล่ะ พวกแบงก์พาณิชย์น่ะ ในเมื่อพวกแบงก์ไม่ยอมถ่ายโอนเม็ดเงินเข้าสู่มือของประชาชน เราจะทำหน้าที่นั้นเอง

จูเลียน เดอลาแซงเทลลิส เป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการ เป็นนักลงทุน และเป็นนักการศึกษาด้านธุรกิจระหว่างประเทศในมลรัฐวอชิงตัน ติดต่อเขาได้ที่ juliandelasantellis@yahoo.com

(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
  • นาทีแห่งการ‘เซิร์ป’ครั้งใหญ่ของประธานเบน (ตอนจบ)

  • กำลังโหลดความคิดเห็น