xs
xsm
sm
md
lg

"โวล์คเกอร์"ที่ปรึกษาสำคัญโอบามา ชี้วิกฤตศก.คราวนี้ "ต่าง"จากครั้งอื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ - พอล โวล์คเกอร์ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ซึ่งเวลานี้เป็นที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจคนสำคัญของว่าที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามาชี้ วิกฤตการเงินที่ฉุดเอาสหรัฐฯให้ดิ่งลงสู่ภาวะถดถอยรุนแรงครั้งนี้นั้น มีความซับซ้อนและขอบเขตที่แตกต่างจากความตกต่ำครั้งก่อนๆ หน้านี้
โวล์คเกอร์ ผู้เป็นประธานเฟดก่อนหน้า อลัน กรีนสแปน และได้รับการยอมรับในฝีมือการกู้เศรษฐกิจสหรัฐฯให้พ้นจากภาวะเงินเฟ้อร้ายแรง ก่อนที่ชื่อเสียงของเขาจางหายไปเพราะถูกบดบังจากความโด่งดังของกรีนสแปน ได้ออกมาแสดงสุนทรพจน์ในนครนิวยอร์กเมื่อวันจันทร์(12)ว่า เขาไม่รู้ว่าความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจเที่ยวนี้จะยังคงอยู่ไปอีกนานเท่าใด แต่บรรดาผู้กำหนดนโยบายทั้งควรจะใช้โอกาสนี้สร้างระบบการเงินขึ้นใหม่บนรากฐานที่มีเสถียรภาพมากขึ้น
"แม้ว่าวิกฤต(ทางเศรษฐกิจ)จะเคยเกิดขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่เนื้อหาของวิกฤตครั้งนี้แตกต่างออกไป" โวล์คเกอร์กล่าว คาดหมายกันว่าเขาจะมีบทบาทในทางเศรษฐกิจมากขึ้นในคณะรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ เนื่องจากว่าที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามาได้ประกาศแต่งตั้งให้โวล์คเกอร์เป็นประธานคณะที่ปรึกษาการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก่อนหน้านี้ไม่นานนัก
"ความแตกต่างนั้นอยู่ที่ความซับซ้อนอย่างพันลึกของวิกฤตครั้งนี้ นอกจากนี้ก็ยังแตกต่างกันตรงที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลมากกว่าเดิม และลุกลามไปยังนานาชาติอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งมากกว่าวิกฤตครั้งก่อน ๆด้วย" เขาแจกแจง
นอกจากนี้โวล์คเกอร์ยังได้กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจและตลาดเงินตลาดทุนตอนนี้กำลังมีอาการ "เมาค้าง" จากแรงสั่นสะเทือนทางเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
เขาชี้ว่าวิกฤตครั้งนี้เริ่มต้นจากราคาหุ้นที่พุ่งขึ้นต่อเนื่องในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 และต่อด้วยฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่พองตัวถึงจุดสูงสุดในทศวรรษนี้และก็ระเบิดออกในที่สุด
"เมื่อรวมปัจจัยเหล่านั้นเข้าด้วยกันแล้ว สำหรับผมแล้วเห็นว่าเป็นการพุ่งขึ้นของมูลค่าและราคาสินทรัพย์ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์" โวล์คเกอร์กล่าว
เชาชี้ว่าาทางการสหรัฐฯยังคงต้องลงมือทำอีกมากมายเพื่อกอบกู้ฟื้นฟูความเชื่อมั่น, ความซื่อตรงรักศักดิ์ศ,รี และความรับผิดชอบด้านความน่าเชื่อถือ
โวล์คเกอร์มิได้ให้รายละเอียดว่าเขาอยากจะเห็นหลักการต่างๆ ถูกสร้างขึ้นมาภายในโครงสร้างทางการเงินที่จะเกิดขึ้นมาใหม่กันอย่างไร โดยเขากล่าวว่ามันคงจะขึ้นอยู่กับรัฐสภา และคณะรัฐบาลใหม่ซึ่งจะเริ่มทำงานในวันที่ 20 มกราคมนี้
เขายอมรับว่าความพยายามที่จะซ่อมสร้างระบบการเงินขึ้นมาใหม่จะไม่สำเร็จได้ในเร็วพลัน และถ้าออกมาในรูปของกฏหมายรองรับระบบต่าง ๆให้แข็งแกร่งมากขึ้นก็น่าจะต้องเป็นในปี 2010 มากกว่าปี 2009 นี้ส
"แต่ผมก็อยากจะคิดว่าวิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาสด้วย" โวล์คเกอร์กล่าว "มันเป็นโอกาสที่จะทำอะไรสักอย่างที่ในสถานการณ์ปกติไม่สามารถจะทำได้"
สหรัฐฯนั้นกำลังเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งที่น่าจะยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำร้ายแรง (the Great depression) เมื่อทศวรรษ 1930 เป็นต้นมา นอกจากสหรัฐฯแล้ว วิกฤตครั้งนี้ยังได้ดึงเอาทั่วโลกให้ล้มลุกคลุกคลานตามไปด้วย
หลักฐานล่าสุดที่ชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังดำดิ่งลงไปสู่ภาวะที่ยากลำบากกว่าเดิมนั้นก็คือ ตัวเลขคนว่างงานเดือนธันวาคมที่ออกมาเมื่อวันศุกร์(9) ซึ่งพุ่งลิ่วแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 16 ปีเลยทีเดียว
นอกจากนั้น ตัวเลขตลอดทั้งปี 2008 แสดงว่ามีคนตกงานราว 2.6 ล้านคน อันเป็นจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา โดยในปีนั้นซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองพอดี มีคนว่างงาน 2.75 ล้านคน และแม้ขณะนี้สหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาถึงหนึ่งปีแล้ว ก็ยังไม่มีท่าทีเลยว่าสถานการณ์ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเงินจะดีขึ้นเมื่อไร
"ผมเองก็ไม่รู้ว่ามันจะลงไปลึกอีกเท่าไร" โวล์คเกอร์กล่าว
โวล์คเกอร์เป็นผู้ที่ได้รับความเคารพนับถือมากจากบทบาทของเขาที่เป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐฯในช่วงปี 1979-1987 ซึ่งเขาได้ช่วยยุติภาวะเงินเฟ้อรุนแรงที่พุ่งขึ้นมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 โดยการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น