xs
xsm
sm
md
lg

“กรีนสแปน”ชี้ราคาบ้านUS”แตะพื้น”ปีหน้า “ว้าก”รัฐบาลทำผิดแก้ปัญหาแฟนนี-เฟรดดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ - อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ซึ่งยังคงทรงอิทธิพลในโลกการเงิน ออกมาคาดหมายว่า สถานการณ์ราคาที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯที่ร่วงลงอย่างรุนแรง จะเริ่มมีเสถียรภาพในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้สหรัฐฯพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงเศรษฐกิจโลกด้วย ขณะเดียวกันเขาก็มองว่ารัฐบาลอเมริกันทำผิดพลาด ในเรื่องวิธีการเข้าไปช่วยเหลือ “แฟนนี เม และ เฟรดดี แมค” 2 ยักษ์ใหญ่สถาบันสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์
“ราคาบ้านในสหรัฐฯจะเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นหรือแตะระดับต่ำสุดในราวครึ่งแรกของปี 2009” กรีนสแปนกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล วานนี้ (14) แต่เขาก็เตือนด้วยว่าช่วงที่ราคาบ้านลงถึงระดับต่ำสุด อาจจะกินเวลายาวนานไปตลอดทั้งปี 2009 หรือกระทั่งเลยออกไปอีกก็เป็นได้
การสิ้นสุดของวิกฤตราคาที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ มีความหมายไม่เพียงแต่กับเจ้าของบ้านอเมริกันเท่านั้น แต่ยังเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการสิ้นสุดวิกฤตการเงินในตลาดโลกที่กำลังดำเนินไปในขณะนี้ด้วย
“ราคาบ้านที่มีเสถียรภาพจะทำให้มูลค่าของบ้านที่ใช้ค้ำประกันตราสารสินเชื่อที่อยู่อาศัยไม่เคลื่อนไหวอย่างผันผวนเช่นในปัจจุบัน เราไม่สามารถจะหามูลค่าตลาดของสินทรัพย์ที่ระบบการธนาคารถืออยู่ในตอนนี้ รวมทั้งทุนของธนาคารด้วย จนกว่าจะถึงเวลานั้น” เขากล่าว
การคาดการณ์ของกรีนสแปนนั้น วางอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลสองตัวคือ จำนวนบ้านสำหรับครอบครัวเดี่ยวที่บอกขายในตลาดซึ่งรวมทั้งบ้านที่สร้างเสร็จใหม่ ๆหรือบ้านที่อยู่ในมือนักลงทุนและผู้ให้กู้ต่าง ๆ โดยกรีนสแปนบอกว่าตอนนี้มีบ้านเกินความต้องการอยู่ถึง 800,000 หน่วย แต่ก็คาดว่าจำนวนนี้จะลดลงไปในไม่ช้า
ส่วนข้อมูลอีกหนึ่งก็คือ การเปรียบเทียบระหว่างราคาบ้านในปัจจุบัน กับประมาณการของทางการสหรัฐฯที่ว่าค่าโสหุ้ยในการเช่าบ้านหนึ่งหลังสำหรับครอบครัวเดี่ยวนั้นอยู่ที่เท่าไร กรีนสแปนเปรียบเทียบโดยใช้ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศของเอสแอนด์พี เคส-ชิลเลอร์ เนื่องจากดัชนีตัวนี้รวมข้อมูลทั้งเขตเมืองและชนบทเข้าด้วยกัน เพื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลทางการ
การเปรียบเทียบนี้ก็เหมือนกับที่นักเศรษฐศาสตร์คนอื่น ๆทำ นั่นคือ ดูว่าเมื่อไรจึงควรจะซื้อบ้าน หรือเมื่อไรจึงควรจะขายบ้าน เอาเงินไปลงทุนอย่างอื่นและเช่าบ้านอยู่แทน
นอกจากนี้กรีนสแปนก็ยังเสนอการกระตุ้นตลาดบ้านของสหรัฐฯในแบบที่ไม่เหมือนใครนั่นคือ เพิ่มจำนวนผู้ที่คาดว่าน่าจะซื้อบ้านในสหรัฐฯขึ้น โดยการรับเอาชาวต่างชาติย้ายถิ่นที่มีความชำนัญเฉพาะทางด้านต่าง ๆเข้าไปในสหรัฐฯเพิ่มมากขึ้น
กรีนสแปนยังได้วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการที่รัฐบาลอเมริกันเข้าไปช่วยเหลือแฟนนี เม และเฟรดดี แมค สองสถาบันสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ว่าผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง เขาบอกว่า รัฐบาลควรต้องกำจัดผู้ถือหุ้นของสถาบันทั้งสองไปให้หมด ทำให้สองสถาบันดังกล่าวกลายมาเป็นของรัฐทั้งหมด จากนั้นก็ตั้งขึ้นใหม่เป็นบริษัทเล็ก ๆราว 5-10 แห่งและเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลซื้อไป
เขายอมรับว่ารัฐบาลสหรัฐฯไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเข้าไปถือหุ้นสถาบันการเงินทั้งสองแห่งได้เลย เพราะว่าทั้งแฟนนี เม และเฟรดดี แมคนั้นมีความสำคัญต่อตลาดที่อยู่อาศัยอย่างมาก ยิ่งกว่านั้น จากการที่ก่อนหน้านั้น เฟดเข้าไปมีส่วนอุดหนุนทางการเงินแก่การควบรวมกิจ แบร์สเติร์น วาณิชธนกิจที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง จึงทำให้รัฐบาลต้องทำแบบเดียวกันกับหนี้ที่ทั้งแฟนนีและเฟรดดีถือครองอยู่
เนื่องจากเมื่อสถาบันการเงินเอกชนถอยออกจากตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยกันหมด ทำให้แฟนนี และเฟรดดี ในฐานะสถาบันที่ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ จำต้องเข้ารับประกัน หรือถือครองสินเชื่อมากกว่าครึ่งหนึ่งของสินเชื่อที่อยู่อาศัย 12 ล้านล้านดอลลาร์ของทั้งประเทศเอาไว้เสียเอง
“หากว่าการช่วยให้ควบรวมแบร์สเติร์นได้สำเร็จเป็นสิ่งที่ควรทำ ไม่มีใครมาตั้งคำถามว่าทำไมต้องทำแล้วไซร้ การควบรวมสถาบันสินเชื่อนโยบายทั้งสองก็เป็นสิ่งควรทำเช่นกัน” เขากล่าว นอกจากนี้ก็ยังเสริมด้วยว่าความกลัวที่ว่าตลาดการเงินจะมีปฏิกิริยาในทางลบ ถ้าหากรัฐบาลโอนสถาบันการเงินทั้งสองเข้าเป็นของรัฐ รวมทั้งเข้าจัดการหนี้มูลค่าเกือบ 5ล้านล้านดอลลารนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีพื้นฐานแห่งความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง
กำลังโหลดความคิดเห็น