xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อผมอายุ 65 ปี

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ปีนี้ผมอายุครบ 65 ปีในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่จริงแล้วผมสามารถอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล (วิทยาลัยการจัดการ) ได้ถึงสิ้นปีงบประมาณ (30 กันยายน 2552) แต่ผมตกลงใจว่าจะหยุดทำงานประจำหลังวันเกิด แต่ยังคงมีงานในคณะกรรมการบางแห่งอยู่ และมีงานกรรมการสภามหาวิทยาลัย 2 แห่ง ซึ่งประชุมเดือนละครั้ง ส่วนคณะกรรมการอื่นๆ ก็มีการประชุมเดือนละครั้งเช่นกัน รวมทั้งที่ราชบัณฑิตยสถานด้วย

เหตุที่ผมตัดสินใจหยุดทำงานประจำก็เพราะรู้สึกตัวว่า “หมดไฟ” เสียแล้ว คนอายุ 65 ปีจะหวังให้ไปทำงานบุกเบิกก็เห็นจะยาก อาจเป็นเพราะเมื่ออายุยังน้อย ผมทำงานมากเกินไปก็ได้ พอแก่ตัวเข้าก็เลยหมดไฟ

เมื่อมองย้อนกลับไปแล้ว ผมทำงานหลายอย่างก็เพราะสถานการณ์บังคับแท้ๆ การเป็นอาจารย์หนุ่มสมัย 14 ตุลา 16 ทำให้ต้องเข้าไปมีบทบาทในการเคลื่อนไหวนอกมหาวิทยาลัย เวลานั้นมีการอภิปรายบ่อยมาก และหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 แล้ว ก็ยังมีการร่างรัฐธรรมนูญที่มีการเผยแพร่รัฐธรรมนูญด้วย ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นประธานคณะอนุกรรมการเผยแพร่มติของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผมมีหน้าที่จัดเวทีการรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศ

หลังจากนั้นผมก็ไปช่วยงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทดลองทำหน่วยวิชาการคอยช่วยเหลือสมาชิกสภา ด้วยการทำเอกสารประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ โดยมีนิสิตนักศึกษาช่วยงานแค่ 10 คน จากงานนี้ทำให้เกิดการปรับปรุงโครงสร้างสำนักงานเลขาธิการัฐสภา เพิ่มฝ่ายวิชาการขึ้น และเป็นที่มาของการให้ ส.ส.มีผู้ช่วยได้

หลังจากทุกอย่างเข้าที่แล้ว ผมก็ไปทำงานด้านการปฏิรูประบบราชการ สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งผมเป็นที่ปรึกษานายกฯ อยู่ด้วย ทำให้รู้งานการเมืองมากขึ้น เพราะต้องช่วยวิเคราะห์เรื่องที่เข้าสู้การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี ช่วงนี้ทำให้ผมเข้าใจงานของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งต่อมาผมได้ทำการศึกษาวิจัย และแนะนำการจัดโครงสร้างใหม่

แม้จะมีงานภายนอกมาก แต่ผมก็ยังมีงานวิจัยและงานเขียนออกมาอย่างสม่ำเสมอ ในช่วงงเวลาที่อยู่คณะรัฐศาสตร์ ผมได้ไปประชุมทางวิชาการในต่างประเทศมากมาย ได้ทำการบริหารโครงการวิจัยทางประวัติศาสตร์ของประเทศกลุ่มอาเซียน จัดการโครงการยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ เป็นกรรมการสภาวิจัยสังคมศาสตร์อเมริกัน และได้ช่วยจัดตั้งโครงการเอเชียอาคเนย์ศึกษาของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ผมได้ไปอยู่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินหนึ่งเทอมโดยสอน 2 วิชา และบรรยายในมหาวิทยาลัยในอเมริกา และอังกฤษหลายแห่ง

เมื่อออกจากจุฬาฯ ผมไปอยู่โรงเรียนวชิราวุธซึ่ง 5 ปีแรก ผมไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย จนทุกอย่างเข้าที่แล้ว ผมจึงไปช่วยปรับปรุงงานของรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง ทำให้ได้ความรู้เพิ่มเติมอีกมากมาย และรู้ว่าด้านการเงินเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการจัดการรัฐวิสาหกิจในระยะเวลาเดียวกัน ผมก็ได้ไปทำงานจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ โดยเป็นทั้งประธานคณะกรรมการ และรักษาการผู้อำนวยการอยู่ระยะหนึ่ง

ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ผมมาเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นงานประจำเต็มเวลา ทางมหาวิทยาลัยให้คนอายุเกิน 60 ปีทำงานได้จนถึงอายุ 65

ผมมีโอกาสได้พักผ่อน และเล่นกีฬามากขึ้นหลังอายุ 60 แล้ว สมัยก่อนการไปต่างประเทศ และต่างจังหวัดของผม เป็นการไปประชุม แม้บางครั้งครอบครัวจะตามไปด้วย แต่ผมก็ไม่ค่อยมีโอกาสเล่นกับลูกๆ เพราะแม้เลิกประชุมแล้ว นักวิชาการก็ยังคุยกันอยู่ กว่าจะกลับห้องได้ก็หลังสองยาม ลูกๆ หลับกันหมดแล้ว เมื่อท่านอาจารย์ป๋วยยังมีชีวิตอยู่ เวลาท่านไปร่วมสัมมนากับเรา ตกดึกก็จะมีการพูดคุยกันต่อเรื่องของบ้านเมือง

ผมมีความรู้สึกว่าได้ทำอะไรมามาก ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ผมได้ไปเกี่ยวข้องกับวงการศึกษามาก โดยเฉพาะระหว่างที่มีการปฏิรูปการศึกษา เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ผมได้เป็นประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ดังนั้น ผมจึงเป็นนักวิชาการที่ไปเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการเมือง โดยเป็นสมาชิกวุฒิสภา เป็นประธานฯ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดแรก และเป็นกรรมการพัฒนาระบบราชการมาตลอดเวลา 30 ปี

ผมจึงรู้สึกว่าผมทำงานมามาก และอยากหยุด ผมเห็นคนรุ่นก่อนผมทำงานจนถึงอายุ 70-80 ปี และได้เห็นคนอายุ 90 กว่าปี ที่ยังไม่ยอมยุติบทบาท ทั้งๆ ที่เลอะเทอะ และทำความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่สถาบันมาแล้ว

ผมเคยเป็นคนอายุน้อยที่สุดในชั้นเรียน จึงรู้สึกตัวว่าเป็นเด็กเสมอ และเมื่อผมอายุยังไม่ถึง 30 ปี ผมก็โชคดีได้ร่วมงานกับผู้ใหญ่ที่อายุ 60-70 ปี และผู้ที่ร่วมงานกับผมก็ล้วนแล้วแต่อายุมากกว่าเป็น 10 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น

ผมคงอยู่ใน “วงการ” มานาน วันก่อนจึงมีคนมาบอกว่าคิดว่าผมอายุ 80 แล้ว คงเป็นเพราะเคยได้ยินชื่อมานานแล้วนั่นเอง

เมื่ออายุ 65 ปีแล้ว ผมอยากทำอะไรบ้าง แน่นอนผมอยากอยู่กับครอบครัว เล่นกีฬา และอ่านหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือทางวิชาการ นอกจากนั้นผมก็จะเลือกทานอาหารดีๆ และอร่อย ลูกคนสุดท้องบ่นว่าผมพูดน้อยลง เห็นจะจริง และผมเบื่อที่จะไปบรรยายหรือเสนอผลงานทางวิชาการแล้ว

ผมเขียนบทความลง “ผู้จัดการ” อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 25 ปี ตั้งแต่เขียนโดยมีความคิดใหม่ๆ จนเวลานี้เขียนแต่เรื่องในอดีต และรู้สึกว่าการเมืองบ้านเราอยู่ในสภาพที่ไม่มีอะไรจะให้เขียนแล้ว

ผมคงจะเดินทางไปต่างประเทศน้อยลง อาจจะปีละครั้งเท่านั้น เพราะครูของผมก็เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อเร็วๆ นี้เอง

หลังอายุ 65 ผมตั้งใจจะลดงานลงเรื่อยๆ จนไม่ทำอะไรมากไปกว่าการพักผ่อน แม้อายุตัวจะ 65 แต่การที่ผมทำงานหนักตอนหนุ่มๆ ทำให้ผมอ่อนล้าลงมาก

ในเดือนเมษายนนี้ ผมก็จะครบวาระการเป็นราชบัณฑิตยสถานแล้ว ผมได้รับเลือกให้เป็นนายกราชบัณฑิตยสถาน 2 สมัย (สมัยละ 2 ปี) ติดต่อกัน แต่ก่อนผมเห็นราชบัณฑิตยสถานเป็นสถาบันของคนชรา เพราะหลายท่านต้องนั่งรถเข็นมาประชุม

ยังดีที่ผมยังเป็นราชบัณฑิตที่หนุ่มอยู่ในวัย 65 ปี เพราะราชบัณฑิตส่วนใหญ่ท่านอายุ 70 ปีขึ้นไปทั้งนั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น