“มณฑล” ยันแอดมิชชันปี 53 ยังต้องใช้องค์ประกอบเดิม เตรียมนำข้อเสนอ “มาร์ค” ให้ปรับระบบแอดมิชชันเข้าที่ประชุม ทปอ.ระบุ ระบบคัดเลือกเด็กต้องการไม่ให้เด็กวิ่งสอบ ซึ่งเป็นภาระแก่ตัวเด็กเอง “หมอกมลพรรณ" ออกโรงหนุนยกเครื่องแอดมิชชัน ทวงถามค่าสมัคร GAT/PAT เอาไปใช้ทำอะไร
จากที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือ แอดมิชชัน โดยต้องการให้ปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น รวมถึงแนะให้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ใช้คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ จีแพ็กซ์ กำหนดเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำในการมีสิทธิ์แอดมิชชัน
รศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี ประธานคณะทำงานศึกษาแอดมิชชันปี 2553 กล่าวว่า คงต้องนำข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณาในที่ประชุมคณะทำงานฯ ร่วมกับการพิจารณาผลวิจัยข้อดี ข้อเสีย ของระบบแอดมิชชันในปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแอดมิชชันปี 2553 นั้น คงไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากได้ประกาศให้นักเรียนรับทราบล่วงหน้าไปแล้ว โดยส่วนของจีแพ็กซ์ ปี 2553 ได้ลดสัดส่วนการนำคะแนนจีแพ็กซ์มาใช้เป็นองค์ประกอบแอดมิชชันจาก ร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 20 ซึ่งในอนาคตจะมีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไรนั้น คงต้องพิจารณาทบทวนกันใหม่
“การปรับเปลี่ยนต้องไม่ให้เกิดความยุ่งยากแก่นักเรียนที่เรียนอยู่ แต่ต้องเป็นการเชื่อมโยงหลักสูตร ม.6 เข้าด้วยกัน ดังนั้น 4-5 ปี ที่ผ่านมา ได้มีการนำปัญหาจากระบบแอดมิชชันมาปรับปรุงให้ดีขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งการแอดมิชชันในปี 2553 การเปลี่ยนแปลงระบบการคัดเลือกฯ ทั้งหมด ต้องไม่ให้มหาวิทยาลัยเปิดรับตรง หรือออกข้อสอบเองมาก เพราะจะทำให้เด็กวิ่งสอบ และรับภาระมากขึ้น”รศ.ดร.มณฑล กล่าว
ประธานคณะทำงานศึกษาแอดมิชชันปี 2553 กล่าวต่อไปว่า สำหรับการสอบกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ที่สอบฟิสิกส์ เคมี ชีวะ รวมกันนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ที่การเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายรวมหมวดวิทยาศาสตร์เป็นกลุ่มสาระเดียวกัน ทำให้การสอบเข้ามหาวิทยาลัยสอบรวมกลุ่มเช่นเดียวกัน แต่การปรุบปรุงแก้ไข สามารถกระทำได้ โดยการประชุม ทปอ.กลางปี จะมีการนำเรื่องนี้ไปพิจารณา
ด้าน พญ.กมลพรรณ ชีวพันธุศรี ประธานเครือข่ายพ่อแม่เยาวชนเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวแสดงความเห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรีที่ต้องการปรับเปลี่ยนระบบแอดมิชชั่นอีกครั้ง เพราะขณะนี้ ตนเองได้รับเรื่องร้องเรียนจากนักเรียนจำนวนมากในเรื่องของค่าสมัครคะแนนการทดสอบความถนัดทั่วไป (General Aptitude Test) หรือ GAT และความถนัดเฉพาะด้าน/วิชาการ (Professional Aptitude Test) หรือ PAT ว่าแพงเกินไป อีกทั้งยังให้ตัดสินใจครั้งเดียว สอบ 3 ครั้งทำให้เด็กต้องตัดสินใจทันที อาจทำให้บางคนตัดสินผิดพลาดในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ เพราะเด็กบางคน อาจจะมาชอบคณะอื่นหลังจากที่สมัครสอบอีกคณะหนึ่งก็เป็นได้
“การที่ ทปอ.บอกว่า ปรับเปลี่ยนระบบสอบคัดเลือกไม่ได้ เพราะต้องประกาศก่อนล่วงหน้า 3 ปีนั้น ในสมัยที่จะสร้างระบบเอนทรานซ์ เพื่อเด็กไม่ต้องวิ่งสอบ ก็ไม่ได้แจ้งเด็กล่วงหน้า ดังนั้น การสอบ GAT/ PAT ซึ่งเป็นข้อสอบวิเคราะห์ วัดความสามารถของเด็กได้จริงเหมือนระบบเอนทรานซ์ ดิฉันเห็นด้วยที่วางระบบได้อย่างดี แต่การตัดสินใจในการสมัครครั้งเดียว สอบ 3 ครั้งไม่ยุติธรรมกับเด็ก อีกทั้งค่าสมัครแพงมาก อยากทราบว่า ค่าสมัครที่เด็กต้องจ่าย อย่างต่ำ 1,000 พันบาทนั้น ถ้าเด็กสมัคร 2 แสนคน เป็นเงิน 200 ล้านบาท เงินตรงนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปทำอะไร” พญ.กมลพรรณ กล่าว
ประธานเครือข่ายพ่อแม่ฯ กล่าวอีกว่า หากไม่มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงระบบแอดมิชชันให้ดีขึ้น เชื่อว่า เด็กไทยยังคงต้องวุ่นวายกับระบบไปเรื่อยๆ เพราะหากมีการปรับแล้วถูกเด็กด่า หรือฟ้องร้อง อยากให้ทำความเข้าใจกับเด็ก เนื่องจากการปรับให้ดีขึ้น และไม่มีการปรับอีกต่อไป จะเป็นประโยชน์ต่อเด็กมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มคณะกรรมการสิทธิฯต่างๆ ต้นเดือนมีนาคมนี้ จะมีการจัดเสวนาถกถึงปัญหาระบบแอดมิชชัน โดยจะเชิญตัวแทนจากผู้คิดค้น ดูแลระบบ นักเรียน และนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับระบบดังกล่าว มาถกข้อดี ข้อเสีย และปัญหาเรื่องแอดมิชชัน
อย่างไรก็ตาม ในการประชุม ทปอ.เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น นายอภิสิทธิ์ ก็ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดย นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ ในฐานประธาน ทปอ.กล่าวภายหลังการประชุมฯ ว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่มีการปรับมาใช้ระบบแอดมิชชั่นก็ถือเป็นบทเรียนที่สำคัญ ซึ่ง ทปอ.จะได้นำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจด้วยว่าควรที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบกันใหม่อีกหรือไม่ รวมทั้งจะได้ให้มีการศึกษาวิจัยการใช้ระบบแอดมิชชันด้วยว่า ควรจะต้องมีการปรับปรุงอย่างไร
ด้าน นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะรองประธาน ทปอ. กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2553 ทปอ.ยืนยันว่าจะยังคงใช้ระบบแอดมิชชั่น ตามองค์ประกอบที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ คือ คะแนนทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ (โอเน็ต) ร้อยละ 30 GAT ร้อยละ 10-50 PAT ร้อยละ 0-40 และคะแนนจีแพ็กซ์ ร้อยละ 20 ในส่วนข้อเสนอของนายกฯ นั้น ทปอ.จะได้นำไปพิจารณากันที่ที่ประชุมสามัญ ของ ทปอ.ในราวกลางปีนี้ โดย ทปอ.จะนำประเด็นต่างๆ มาทบทวน ว่า การคัดเลือกนักศึกษาควรมีระบบการบริหารจัดการอย่างไรให้การเป็นไปด้วยความราบรื่นยิ่งขึ้น รวมทั้งจะต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบตามที่นายกฯ เสนอหรือไม่ ซึ่งหาก ทปอ.พิจารณาแล้วเห็นว่าควรจะต้องมีการปรับระบบการคัดเลือกนักศึกษาเข้าสู่มหาวิทยาลัยก็จะต้องแจ้งล่วงหน้าให้นักเรียนได้ทราบอย่างน้อย 3 ปีแน่นอน
“ต้องยอมรับว่าระบบการคัดกรองไม่ว่าระบบใด หากต้องนำมาใช้กับนักเรียนกว่า 2 แสนคน ก็ย่อมที่จะต้องมีทั้งข้อดี และข้อบกพร่องเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ทปอ.ที่จะต้องตรวจสอบและดำเนินการให้เหมาะสมต่อไป”นายสุรพล กล่าว