xs
xsm
sm
md
lg

“ธงทอง” แนะปฏิรูปการศึกษารอบสองใช้ รธน.40 เป็นตัวตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ธงทอง” แนะปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ให้ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นตัวตั้งในการปรับแก้กฎหมาย โดยต้องรอบคอบ พอเหมาะ และไม่ใส่รายละเอียดมากเกินไป จะทำให้นำไปใช้ยาก ย้ำ สกศ.ทำความเข้าใจเรื่องกฎหมายกับหน่วยงานการศึกษาอื่นๆ เพื่อให้ใช้กฎหมายขับเคลื่อนยุทธศาศตรอย่างได้ผล

รศ.ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาหากใช้กฎหมายเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ต้องระมัดระวังว่ากฎหมายไม่ใช่มาตรการเดียวที่จะทำให้เกิดการพัฒนา หรือการเปลี่ยนแปลง กฎหมายถือเป็นมาตรการหนึ่งเท่านั้น และถ้าใช้กฎหมายไม่พอเหมาะกับเวลา กฎหมายอาจเป็นตัวสร้างปัญหาอุปสรรคได้ หากจะเขียนกฎหมายหรือเพิ่มเติมอะไร ควรคำนึงถึงหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1.การศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน รอบคอบ เพราะมีตัวอย่างจาก พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนที่ประกาศใช้ในปี 2551 ทำให้ครูเอกชนหลุดออกจากระบบการประกันสังคม เป็นตัวอย่างการไม่ได้ศึกษาข้อมูลอย่างครบถ้วน 2.ต้องมีความพอเหมาะพอดี มีความพร้อมในเรื่องของงบประมาณ ความเข้าใจของผู้คนทั้งหลาย ความร่วมมือ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และประการสุดท้าย ไม่ควรใส่รายละเอียดทั้งหมดเข้าไปในตัวกฎหมาย เพราะทำให้ตัวกฎหมายยากต่อการใช้งาน เนื่องจากมีเนื้อหาซับซ้อนเกินไป และแข็งกระด้าง ไม่สามารถอ่อนตัวเข้ากับการปฏิบัติได้ การใช้มาตรการทางบริหาร เพื่อเสริมการใช้กฎหมายให้ควบคู่กันไปนั้น น่าจะเป็นข้อพิจารณาในลำดับต้นๆ ในการปฏิรูปการศึกษา

รศ.ธงทอง กล่าวต่อไปว่า มิติใหม่ในการเชื่อมโยงระหว่างกฎหมายกับการศึกษาควรเอารัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นปฐมบท และมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาอีกหลายฉบับเป็นกฎหมายลูกตามมา รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมบางประเด็น ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ การเริ่มต้นด้วยการเรียนฟรี 12 ปี ที่เขียนในปี 40 เป็นคราวแรก และมีการปรับเล็กน้อยในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และจะเร่งรัดการดำเนินการให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

“ส่วนที่มีคำถามว่า กฎหมายในปัจจุบันนี้เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 หรือไม่ ผมตอบว่า โดยภาพใหญ่ผมไม่รู้สึกว่าเป็นข้อจำกัด ถือว่าได้วางหลักที่เป็นแนวทางกว้างๆ เหลือพื้นที่ภายใน เนื้อหาที่เป็นรายละเอียด สามารถบริหารจัดการ ทำงานได้พอสมควร แต่แน่นอนมีกฎหมายบางฉบับ ที่อาจต้องปรับปรุงบ้าง แต่ไม่ใช่เรื่องยากเย็น เพราะเป็นรายละเอียดเล็กน้อย แต่กฎหมาย ถูกวิจารณ์ว่าเป็นภาษาเฉพาะ การสร้างความรู้ความเข้าใจของคนในวงกว้างจึงเป็นเรื่องสำคัญ จึงฝากให้สำนักพัฒนากฎหมายของสำนักงานสภาการศึกษา ร่วมมือหน่วยงานต่างๆ พัฒนาความรู้ ความเข้าใจในส่วนนี้ให้มาก เพื่อให้เราสามารถนำกฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการทำงาน ขับเคลื่อนนโยบายยุทธศาสตร์ได้”เลขา กกศ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น