xs
xsm
sm
md
lg

สอบ 7 ตุลาชุด"สมชาย"สุดอัปยศ ป้องคนผิดโยนบาปประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - "สาทิตย์"แถลงผลสอบ 7 ตุลาเลือด ของคณะกรรมการที่"สมชาย"แต่งตั้ง ไม่ชี้ชัดคนผิด อ้างไม่ได้รับความร่วมมือจากพยาน แต่เสนอกม.คุมม็อบ "สุริยะใส" จวกผลสอบไม่น่าเชื่อถือ ระบุที่มากรรมการมิชอบ แนะรัฐไม่จำเป็นต้องสอบต่อ ควรใช้ผลสอบชุดกก.สิทธิฯ เอาผิดผู้เกี่ยวข้องและเยียวยาคนเจ็บดีกว่า ด้านอดีต สนช. แฉ กก.สอบฯสอดไส้ข้อมูล ปกป้องคนผิดโยนบาปประชาชนที่บาดเจ็บ ล้มตาย แปลกใจผ่านมา 4 เดือนกว่า ยังไม่มีใครทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ แนะญาติผู้เตาย-บาดเจ็บ-พิการ เลิกหวังพึ่งตำรวจ ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเรียกร้องค่าเสียหายเอง

เมื่อเวลา14.00 น.วานนี้ (20 ก.พ.) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร แถลงข่าว เปิดผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ความไม่สงบ 7 ต.ค.51 ว่า ครม.ได้มอบหมายให้ตนพิจารณารายงานฉบับนี้ว่าจะเปิดเผยได้หรือไม่ ซึ่งก็ได้หารือกับ ผอ.สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร และตรวจสอบรายงานเบื้องต้นแล้ว เห็นว่ากรรมการชุดนี้สอบพยานและผู้เชี่ยวชาญ และได้ยุติการปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่17 ธ.ค.51 ซึ่งเนื้อหาในรายงานทั้งหมด เกิดก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามาบริหารประเทศ

นายสาทิตย์ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะทั้งหมด เป็นความเห็นของคณะกรรมการฯ ที่มีการตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมา 5 ชุด คือ 1.อนุกรรมการฝ่ายตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่รัฐ 2. อนุกรรมการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงจากประชาชน 3. อนุกรรมการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงจากสื่อมวลชนเละส่วนอื่นๆ 4.อนุกรรมการศึกษารวบรวมกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับต่างๆ 5. อนุกรรมการฝ่ายเลขานุการและสรุปรายงานฉบับนี้

ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดนี้ได้ส่งเอกสารไปยังหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยมีจำนวน 3 กล่อง 11 แฟ้ม 2,289 แผ่น แบ่งเป็นการให้ปากคำ 6 แฟ้ม เอกสารธุรการ 5 แฟ้ม และรายงานทั้งหมดเก็บไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ ประชาชนทั่วไปสามารถทำหนังสือมาขอเอกสารสำเนาจากสำนักงานข้อมูลข่าวสารภาครัฐได้ สามารถเปิดเผยได้หมดไม่มีอะไรน่าปกปิด มีเพียงรายชื่อพยาน และเอกสารชั้นลับมาก

"นายกฯยินดีให้เปิดเผยรายงานฉบับนี้ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถขอดูรายงานนี้ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป แต่คงต้องปกปกปิดรายชื่อของพยานที่ให้ปากคำไว้ เพราะเกรงจะกระทบต่อพยานได้ และต้องปกปิดในส่วนของแผนปฏิบัติการของส่วนราชการที่ตีตราลับมากด้วย เพราะกรณีนี้ถือเป็นสิทธิของหน่วยงานนั้นๆว่าจะเปิดเผยหรือไม่" นายสาทิตย์ กล่าว

นายสาทิตย์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ทางนปช. อ้างว่า นายกรัฐมนตรีพยายามปกปิด เพราะผลการสอบสวนไม่ตรงกับสิ่งที่นายกฯคิดไว้ ว่า ไม่เกี่ยวกัน ครม.ยินดีเปิดเผยทั้งหมด แต่เป็นเพราะเพิ่งได้รับรายงาน ส่วนการลาออกของ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร. ที่ลาออกจากประธานกรรมการสอบสวนการยึดสนามบินของพันธมิตรฯนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาว่า รัฐบาลแทรกแซงการทำงานาของตำรวจแต่อย่างใด

"การที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. รู้เรื่องนี้ดี อาจเป็นเพราะได้ถ่ายสำเนารายงานนี้ไว้ เนื่องจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี หากเปิดเผยรายงานฉบับนี้ เพราะจะได้ตรวจสอบรายละเอียดข้อมูลให้ตรงกัน หากเปิดเผยโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาจยกบางเรื่องให้มีผลกระทบทางการเมืองกับอีกฝ่ายได้ ขอเรียนฝ่ายที่ครอบครองเอกสารชุดนี้ไว้ว่า การได้มานั้นถูกต้องหรือไม่ เปิดเผยข้อมูลด้วยความรับผิดชอบหรือไม่ และจะยอมรับผลกระทบทางกฎหมายที่เกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่" นายสาทิตย์กล่าว

อ้างฝ่ายการเมืองไม่ได้สั่งยิงแก๊สน้ำตา

เมื่อถามว่าในรายงานระบุใครเป็นคนสั่งการ หรือสั่งให้ยิงแก๊สน้ำ นายสาทิตย์ กล่าวว่า มีการระบุว่าเป็นการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติการอยู่ในขณะนั้น และจากพยานฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนยืนยันว่า ไม่มีการสั่งการจากฝ่ายการเมือง ถือเป็นรายงานที่ปรากฏข้อเท็จจริง ที่กรรมการชุดนี้สอบสวน หากกระบวนการยุติธรรมสอบสวน คงเป็นเรื่องที่ต้องหาข้อเท็จจริงต่อไป

ส่วนการระเบิดรถจิ๊ปที่บริเวณพรรคชาติไทยนั้น เป็นการพูดถึงรายละเอียดทางนิติวิทยาศาสตร์ พูดถึงลักษณะศพ หรือรถที่เกิดเหตุเป็นอย่างไร พบอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนใดๆบ้าง และมีข้อสันนิษฐานของผู้เชียวชาญ ถือเป็นการคาดการณ์ของผู้กระทำ

เมื่อถามว่า กรณีการเสียชีวิตของน.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือน้องโบว์ มีข้อสรุปชัดเจนหรือไม่ นายสาทิตย์ กล่าวว่า มีข้อโต้แย้งเรื่องการพบสารที่เสื้อตามที่ผู้เชี่ยวชาญสรุป แต่มีผู้เชียวชาญอีกฝ่ายระบุว่า อาจพบสารดังกล่าวในแก๊สน้ำตาก็ได้ จึงไม่มีข้อสรุป รัฐบาลจึงยังไม่มีความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการเรื่องนี้ต่อ นอกจากการให้ความยุติธรรมต่างๆ ดำเนินการไปก่อน

เมื่อถามว่า มีการระบุถึงผลการประชุม ครม.ในคืนวันที่ 6 ต.ค. เพื่อวางแผนรับมือกับสถานการณ์วันที่ 7 ต.ค. หรือไม่ นายสาทิตย์ กล่าวว่า มีการระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ครม.ได้มอบหมายให้ใครในส่วนที่ต้องประสานงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลกับการปฏิบัติการ กับกลุ่มผู้ชุมนุม และบุคคลดังกล่าวก็ได้ชี้แจงกับคณะกรรมการซึ่งสอดรับการการประชุมครม.ในคืนวันที่ 6 ต.ค. ด้วย

นายสาทิตย์ ยังกล่าวถึง เอกสารในส่วนที่ระบุว่า “ลับมาก” ว่า ส่วนใหญ่เป็นพวกแผนปฏิบัติการต่างๆ ที่คณะอนุกรรมการต้องสรุป เป็นระเบียบคำสั่งไว้ ซึ่งบางส่วนอาจเกี่ยวกับเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค. และบางส่วนไม่เกี่ยวข้อง แต่เนื่องจากต้องแนบมา ซึ่งบางแผนสามารถนำมาใช้ได้ในภายหลังเช่น “แผนกรกฎ” เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามอีกว่า ในผลสอบมีการพูดชัดเจนหรือไม่ ถึงเช้าวันที่ 7 ต.ค. ก่อนรัฐบาลเข้าแถลงนโยบาย นายสาทิตย์ กล่าวว่า ชัดเจนในส่วนนี้ว่า ครม.คืนวันที่ 6 ต.ค. มีการพูดคุยอย่างไร ในแนวทางปฏิบัติ เท่าที่ฝ่ายการเมืองให้ปากคำ เป็นไปในทำนองว่า

"ให้ไปพร้อมกันที่สภา ส่วนจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้เป็นอำนาจประธานสภา ส่วนหากมีผู้ชุมนุมอยู่ให้เป็นการผลักดัน หรือไม่ให้เป็นการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ" นายสาทิตย์ กล่าวอ้างถึงการสรุปการให้ปากคำ ของพยาน ทั้งนี้มีรายงานการใช้อาวุธต่างๆ ทั้งไม้ เหล็ก แก๊สน้ำตา หนังสติ๊ก

เผยเนื้อหาบางส่วนในรายงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการสอบสวนของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ 7 ต.ค.51 ที่มีนายปรีชา พาณิชวงศ์ เป็นประธานฯ ตามคำสั่งสำนักนายกฯ 237/2551 ลงนามโดยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้สรุปผลการสอบสวนเบื้องต้นเสนอ ครม.ชุดปัจจุบันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยผลสรุปการสอบสวนดังกล่าวที่เสนอ ครม.มีดังนี้ คือ กรรมการตรวจสอบผลการสอบสวนต่างๆ และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวน 5 คณะ โดยคณะกรรมการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในช่วงเวลาที่จำกัด และไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเท่าที่ควร และคณะกรรมการไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะสรรหาข้อมูลได้อีก จึงขอยุติการทำงาน

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า คณะกรรมการ ได้ตรวจสอบข้อมูลจากขั้นตอนการทำงานของตำรวจ-ทหาร ข้าราชการสำนักนายกฯ และข้าราชการรัฐสภา สื่อมวลชน ประชาชนที่ร่วมชุมนุม ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ รวมทั้งผลวิเคราะห์สภาพอาการบาดเจ็บ และเสียชีวิตของประชาชนแล้วนั้น สรุปว่า

ครม.ชุดที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯนั้นได้ประชุมครม.ในเวลา 23.00 น.วันที่ 6 ต.ค.51 และครม.มีความเห็นสองฝ่าย คือ

1. ครม.บางส่วนเห็นว่าควรเลื่อนเวลา หรือเปลี่ยนสถานที่การแถลงนโยบายรัฐบาล เพราะในเวลาใกล้เคียงกัน พันธมิตรฯได้ชุมนุมปิดล้อมอาคารรัฐสภาแล้ว

2. ครม.ส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของประธานรัฐสภา (นาย ชัย ชิดชอบ )ในการสั่งว่าจะแถลงนโยบายรัฐบาลต่อไป หรือเปลี่ยนเวลาและสถานที่ ฉะนั้นควรรับฟังความเห็นและเหตุผลของประธานรัฐสภา

ครม.ชุดนั้นได้มีความเห็นว่า 1. ควรแถลงนโยบายรัฐบาล ณ อาคารรัฐสภา ในวันที่ 7 ต.ค.51 เว้นแต่ประธานรัฐสภา จะสั่งเลื่อนการประชุม

2. มอบให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯในขณะนั้นเป็นผู้ติดตามสถานการณ์ และสั่งการเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ส.ส.เข้ารัฐสภาได้ โดยเวลา 01.00 น. ของวันที่ 7 ต.ค. 51 ที่ พล.อ.ชวลิต เดินทางไปประชุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ บช.น. เพื่อวางแผนเตรียมการรับมือกับกลุ่มผู้ชุมนุม จนเป็นชนวนเหตุให้เกิดการสลายการชุมนุม และทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตเกิดขึ้น

ส่วนสาเหตุที่เกิดการปะทะกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ-พันธมิตรฯ นั้น ในช่วงเช้าวันที่ 7 ต.ค.51 เนื่องจากพันธมิตรฯปิดล้อมอาคารรัฐสภา และเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังผลักดัน เพื่อเปิดเส้นทางให้ส.ส.เข้ารัฐสภา และในช่วงเวลา 15.00 น. นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังผลักดัน เพื่อเปิดทางให้ส.ส.ออกจากอาคารรัฐสภา

เสนอออกกฎหมายคุมม็อบ

คณะกรรมการยังวิเคราะห์ถึงสาเหตุของผู้เสียชีวิต และผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว และสรุปว่า ควรเสนอให้มีการออกกฎหมายควบคุมการชุมนุมในที่สาธารณะ เพราะคณะกรรมการเห็นว่า การปะทะกันขั้นรุนแรงของกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมอ้างสิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าต้องรักษากฎหมาย ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้นั้น กลุ่มผู้ชุมนุมมีอาวุธ และกีดขวางการจราจร

กรณีนี้จะเป็นการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธหรือไม่ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่า อำนาจหน้าที่ในการรักษาความสงบนั้น มันมีปัญหาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ และควบคุมฝูงชนตามความเหมาะสมหรือไม่ ฉะนั้นคณะกรรมการเห็นว่า ควรมีกฎหมายการควบคุมการชุมนุมในที่สาธารณะโดยเฉพาะ

ผบ.ตร.เบี้ยวให้ปากคำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานฉบับนี้แบ่งเป็นส่วนๆ โดยระบุถึงขั้นตอนการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ กรรมการชุดนี้ รายงานปัญหาอุปสรรค 4 ประการคือ 1.การไม่ได้รับความร่วมมือจากพยานต่างๆ ที่เชิญมาให้ปากคำ โดยเชิญพยานทั้งหมด 199 ราย แต่มีผู้ให้ความร่วมมือเพียง 72 ราย แบ่งเป็นฝ่ายการเมือง 9 ราย คือนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ นายชูศักดิ์ ศิรินิล อดีตเลขาธิการนายกฯ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ นายสุรชัย ภู่ประเสริฐ เลขาธิการครม. นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนฯ นางสุวิมล ภูมิสิงหราช เลขาธิการวุฒิสภา ส่วนฝ่ายข้าราชการประจำ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ นั้นไม่ปรากฏว่า ผบ.ตร. มาให้ปากคำแต่อย่างใด มีเพียงรองผบช.น.และฝ่ายปฏิบัติการอื่นๆ ที่ส่งเพียงรองผู้บัญชาการมา

สำหรับฝ่ายประชาชนมาชี้แจง 7 ราย ฝ่ายสื่อมวลชน 5 ราย ซึ่งตรงนี้ถือเป็นปัญหาและอุปสรรคในรายงานฉบับนี้ นอกจากนี้คณะกรรมการชุดนี้ ยังขาดแคลนกรรมการสอบสวนบางส่วนที่ทาบทามแล้วมักไม่มีใครตอบรับ และด้วยการทำงานที่เร่งรีบ แม้ไม่มีกรอบระยะเวลาการทำงานแต่สังคมเร่งรัดให้เปิดเผยการสอบสวนโดยเร็ว จึงค่อนข้างกดดัน

ไม่มีผลสอบการเสียชีวิต"น้องโบว์"

ทั้งนี้ในรายงานฉบับนี้ยังสรุปเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ 2 ประเด็นคือ ข้อมูลรายชื่อผู้บาดเจ็บจากโรงพยาบาล 343 ราย สูญเสียอวัยวะทั้งพลเรือนและตำรวจ 13 ราย เเละเสียชีวิต 2 ราย โดยได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญถึงสาเหตุและวิเคราะห์เหตุของการเสียชีวิตไว้แล้ว โดยบางรายยังมีข้อโต้แย้งที่ระบุไว้ในรายงาน เช่น น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ ที่มีการระบุว่า ควรตรวจสอบต่อไปโดยต้องวิจัยและสรุปผลเป็นวิชาการ แต่รายงานฉบับนี้ ยุติการสอบสวนไปแล้ว การตรวจสอบดังกล่าวจึงไม่เกิดขึ้น

การทำงานของตำรวจมีปัญหา

อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้มีข้อเสนอแนะ 8 ข้อ โดย ครม.รับทราบแล้วและยังไม่มีการกำหนดท่าทีและนโยบายใดๆ ซึ่งข้อเสนอแนะที่น่าสนใจคือ การเสนอให้มีกฎหมายควบคุมการชุมนุมในที่สาธารณะโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ควรมีการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ในการควบคุมฝูงชน และควรอบรมผู้ช่วยเหลือตำรวจด้วย ส่วนเครื่องมือและอุปกรณ์ในการควบคุมและสลายการชุมนุมควรให้เป็นไปตามหลักสากล เพราะกรรมการเห็นว่า การทำงานของตำรวจในการควบคุมฝูงชนมีปัญหา และก่อนที่ตำรวจจะสลายฝูงชนควรชี้แจงให้ประชาชนรับทราบเสียก่อนที่จะปฏิบัติการ

"ขอเรียนว่าข้อสรุปนี้ เป็นผลจากรัฐบาลที่ผ่านมา และเป็นคนละส่วนกับการที่ป.ป.ช. กำลังสอบสวนเรื่องนี้ เท่าที่ทราบป.ป.ช.ไม่ได้ใช้รายงานฉบับนี้ประกอบการพิจารณาด้วย และรายงานฉบับนี้ระบุว่าพยานที่มาให้การนั้น พาดพิงบุคคลที่ 3 เป็นจำนวนมาก ฉะนั้นขอความกรุณาให้ใช้ดุลพินิจในการพิจารณารายงานฉบับนี้ด้วย" ในรายงานฉบับนี้ระบุ

พันธมิตรฯไม่ยอมรับผลสอบ

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ผลการสอบสวนกรณีเหตุการณ์ 7 ตุลาฯ โดยคณะกรรมการฯ ที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นคนแต่งตั้ง และระบุว่าไม่สามารถเอาผิดใครได้นั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าสามารถระบุคนผิดได้ นายสมชาย ก็คงไม่ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง จุดยืนของพันธมิตรฯไม่ยอมรับคณะกรรมการสอบสวนชุดนี้ตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเข้าข่ายมีส่วนได้เสีย เพราะผู้ลงนามคือ นายสมชาย ถูกกล่าวหาว่าสั่งการให้มีการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม ซึ่งผลสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว

ฉะนั้นใช่วงที่มีการสอบสวนแกนนำพันธมิตรฯ จึงไม่ไปให้การกับคณะกรรมการชุดดังกล่าว เพราะเท่ากับไปสร้างความชอบธรรมให้กับความไม่ชอบธรรม จึงไม่แปลกที่ในรายงานการสอบสวนเป็นการให้ข้อมูลจากตำรวจฝ่ายเดียว และกล่มบุคคลที่ไปให้ข้อมูลต่อคะกรรมการ ก็ไม่รู้ว่าจัดตั้งมาหรือเปล่า ซึ่งกรรมการสอบสวนหลายคนก็รู้ตัวดีอยู่แล้วว่า ทำงานต่อไปไม่ได้ จึงสรุปรายงานการทำงานต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่รายงานสรุปผลการสอบสวนแต่อย่างใด ซึ่งนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.สำนักนายกฯ ก็ระบุไว้เช่นกันว่า ไม่ใช่ข้อสรุป

"กรณีเหตุการณ์ 7 ตุลา ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องสอบสวนต่อ เพราะองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการขอวุฒิสภา ได้สอบสวนและมีการชี้มูล และระบุผู้รับผิดชอบไปแล้ว ผลการสอบสวนได้ถูกส่งให้ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ เพื่อสอบสวนต่อ และเอาผิดผู้เกี่ยวข้องอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้บางส่วนได้เข้าสู่ศาลกระบวนการยุติธรรมไปแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องสอบสวนต่อ

แต่รัฐบาลควรจะใช้รายงานสรุปผลการสอบสวนของกรรมการสิทธิฯ และคณะกรรมาธิการวุฒิสภาฯ เพื่อดำเนินการเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้อง และเยียวยาผู้บาดเจ็บ และได้รับความเสียหายในระยะยาวน่าจะดีกว่า

จวกอุ้ม จนท.-โยนบาปประชาชน

นายไพศาล พืชมงคล อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ในรายการ "สภาท่าพระอาทิตย์" ทาง เอเอสทีวี เมื่อเช้าวานนี้ (20ก.พ.)ว่า เหตุการณ์ 7 ตุลาฯ เป็นเหตุการณ์ใหญ่ มีคนตาย 10 กว่าคน ถ้ารวมเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีคนพิการหลายสิบคน คนบาดเจ็บ 700 กว่าคน แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่า นับจากวันนั้นมาถึงวันนี้ 4 เดือนกว่าแล้วยังไม่มีการกระทำใดๆ ที่ปรากฏถึงความต้องการที่จะรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายเลย

นายไพศาล ยังกล่าวถึงผลสอบของคณะกรรมการชุดที่รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ตั้งขึ้น ว่า คณะกรรมการชุดนี้ตั้งขึ้นโดยคนที่กำลังตกเป็นผู้ต้องหา หรือผู้ถูกกล่าวหาของเหตุการณ์ในครั้งนั้น แล้วการตั้งขึ้นมา ก็ไม่ได้ตั้งเพื่อเอาผิดตามกฎหมาย เป็นแค่การตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการสอบเพื่อที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่ม

"การอ้างในรายงานฉบับนั้นว่า ไม่ได้รับความร่วมมือนั่นแหละครับ มีการเตรียมข้อเท็จจริงสอดอยู่ เพื่อปกป้องคุ้มครองคนกระทำความผิด ถึงวันหนึ่งก็จะมีการใช้รายงานตัวนี้ไปยื่นต่อศาล ไปแสดงต่อศาลว่า นี่ขนาดไม่มีฝ่ายไหนได้ให้ความร่วมมือนะ ผลการสอบยังปรากฏว่า เนี่ย ฆาตกรนี่ไม่ได้เป็นผู้ผิดเลย ไอ้คนที่มันถูกฆ่า ถูกเก็บต่างหากที่ผิด เกมมันจะออกมาอย่างนั้น ผมจึงห่วง ผมไม่อยากพูดลงไปลึกกว่านั้นนะครับ เพราะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่นับถือกันทั้งนั้น" นายไพศาลกล่าว

รอป.ป.ช.ชี้มูล 23 ก.พ.นี้

นายไพศาล กล่าวว่า ในส่วนที่มีการดำเนินการกันมาแล้วโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่ได้ไต่สวนตรวจสอบแล้วเห็นว่า มีการกระทำความผิด ตามกฎหมาย จึงส่งไปให้ ป.ป.ช. ดำเนินการ ซึ่งป.ป.ช. ก็กำลังตรวจสอบไต่สวนกันอยู่ และมีกรรมการ ป.ป.ช.ท่านหนึ่งบอกว่า จะมีการชี้มูลเรื่องนี้ ในวันที่ 23 ก.พ.นี้ ว่าจะมีมูลความผิดหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่หยุดอยู่ที่ป.ป.ช.เท่านั้น เพราะป.ป.ช.จะส่งมาดำเนินคดีได้เฉพาะกรณีที่เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในความผิดบางประเภทเท่านั้น ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจที่จะไปชี้ให้ใครใช้ค่าเสียหายให้ใครได้

"ส่วนนี้มันจะเนิ่นนาน เนิ่นช้าไป จนกระทั่งว่าพี่น้องประชาชนที่เขาทำการต่อสู้ และบาดเจ็บ เขาเดือดร้อนเสียหาย ไม่ได้รับการเยียวยา ผมห่วงตรงนี้ครับ เวลาเนิ่นไปนานไป พยานก็ค่อยๆ เลือนลางไป ก็จะเจ็บเปล่า ตายเปล่า มันเป็นเรื่องน่าเศร้า ผมจึงเห็นว่าถึงเวลาที่จะต้องทวง คืนความชอบธรรมให้กับญาติของผู้ตาย ซึ่งเป็นวีรชน กับคนเจ็บคนป่วยทั้งหลายนี้"

แนะผู้เสียหายฟ้องศาล ปค.ให้รัฐชดใช้

นายไพศาล กล่าวต่อว่า ตนเห็นว่า ส่วนที่ ป.ป.ช.จะดำเนินการชี้มูลความผิด ดำเนินคดี ก็ว่ากันไป แต่ขณะเดียวกันบรรดาผู้เจ็บผู้ป่วย หรือพันธมิตรฯ เองก็ต้องเข้ามารับผิดชอบอันนี้ แล้วก็ให้ความสำคัญในเรื่องด่วนนี้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่มาก ควรต้องรีบดำเนินคดี ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยญาติผู้ตาย ผู้เจ็บหรือผู้พิการไปฟ้องต่อศาลปกครองให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย

ทั้งนี้ ระบบไต่สวนของศาลปกครอง จะทำให้ได้พยานอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ จากนั้นผู้เสียหายก็จะมีพยานหลักฐาน ที่อาจไปฟ้องคดีอาญาด้วยตัวเองได้

"ถ้ารอทางการเขาไปทำนะครับ เกิดเขาไปทำคดีที่อ่อนขึ้นมา หรือว่าฟ้องคดีบางข้อหาไม่ฟ้องบางข้อหา แล้วไม่รู้อีกกี่ชาติจึงจะฟ้องกัน แล้วประชาชนจะทำอย่างไร ผมห่วงใยเรื่องนี้"

ชี้ตร.มีส่วนได้เสียไม่ควรสอบเอง

นอกจากนี้ นายไพศาล ยังเห็นว่า อย่าไปหวังว่ารัฐบาลจะดำเนินการ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะเรื่องนี้ตำรวจเป็นผู้มีส่วนได้เสียอยู่ ไม่ใช่ไม่เชื่อถือ แต่โดยหลักความยุติธรรมนั้น อย่าให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาเป็นผู้ตรวจสอบไต่สวนเสียเอง เรื่องนี้ฝ่ายตำรวจถือว่ามีส่วนได้เสียในคดี ให้ตำรวจสอบสวนก็จะไม่เป็นที่สบายใจของทุกฝ่าย เพราะฉะนั้นประชาชนนี่แหละ ที่จะทำเอง

นายไพศาล ย้ำว่า การช่วยประชาชนฟ้องคดีเรื่องเสียหายนั้นเป็นหน้าที่ของศาลปกครองโดยตรง บรรดาญาติผู้ตาย ผู้พิการ ผู้บาดเจ็บ จะฟ้องเป็นรายคนหรือร่วมกันฟ้องก็ได้ แต่ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาล เพราะขณะนี้ 4 เดือนแล้ว มีใครแสดงความรับผิดชอบอะไร บ้างหรือไม่ ไม่มี

"คำหนึ่งก็เป็นผู้ก่อการร้าย สองคำก็เป็นผู้ก่อการร้าย ใครได้ยินได้ฟังมันก็เจ็บช้ำน้ำใจ แล้วอย่างนี้ความสงบสุขในบ้านเมือง มันก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นควรจะนำคดีให้ศาลชี้ขาด ให้เสร็จสิ้นไปเสีย ทางหน่วยงานทั้งหลายเขาจะได้ถือเป็นแบบอย่างว่า ทำอย่างนี้ถูก ทำอย่างนี้ไม่ถูก แล้วประชาชนที่เดือดร้อนจะได้รับการเยียวยา บรรเทาความเสียหายทุกข์ร้อนของตนไป" นายไพศาลกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น