xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นร้องเจอวิกฤตร้ายแรงที่สุด หลังจีดีพีล่าสุดติดลบหนักหน่วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - ญี่ปุ่นออกมาเตือนเมื่อวานนี้ (16) ว่า แดนอาทิตย์อุทัยกำลังประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุด นับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา เมื่อตัวเลขล่าสุดยืนยันว่าเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของเอเชียแห่งนี้ กำลังอยู่ในภาวะหดตัวหนักที่สุดในรอบเกือบ 35 ปี

ในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคมปี 2008 ซึ่งเป็นไตรมาส 4 ของปี แต่เป็นไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ 2008/09 ของญี่ปุ่น ปรากฏว่าเศรษฐกิจแดนอาทิตย์อุทัยได้หดตัวเป็นไตรมาสสามติดต่อกันแล้ว อันเนื่องมาจากความต้องการสินค้าของญี่ปุ่นในตลาดโลกนั้นเหือดหายไปหมด ขณะที่การส่งออกนี้เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจของประเทศ

รัฐบาลแถลงว่าการตกต่ำของเศรษฐกิจครั้งนี้สาหัสยิ่งกว่าเมื่อทศวรรษ 1990 ที่ญี่ปุ่นเกิดฟองสบู่แตก และทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจและเงินฝืดนานถึงสิบปี

ตามตัวเลขที่ประกาศเมื่อวานนี้ ในไตรมาส 4 ของปี 2008 เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัว 3.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หรือเท่ากับหดตัว 12.7% เมื่อคำนวณเป็นระยะเวลาหนึ่งปี นับเป็นภาวะที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่ปี 1974 อันเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันพุ่งโด่งทะลุฟ้าครั้งแรก หรือที่เรียกกันว่า "ออยล์ ช็อก" ครั้งที่ 1

รัฐบาลญี่ปุ่นยังเตือนด้วยว่าสถานการณ์น่าจะยากลำบากมากกว่านี้อีก

"ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสถานการณ์ตอนนี้ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา" รัฐมนตรีเศรษฐกิจและนโยบายการเงิน คาโอรุ โยซาโนะกล่าวและเตือนว่าการที่ญี่ปุ่นฟื้นตัวได้ก่อนที่เศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นนั้น เป็นไปไม่ได้เลย

ตัวเลขที่ออกมาคราวนี้ย่ำแย่มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ก่อนหน้านี้ และเมื่อเทียบกับไตรมาสสามที่ติดลบ 0.6% แล้ว ก็นับว่าไตรมาส 4 มีการดิ่งลงที่รวดเร็วและรุนแรง

ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่นี้จะเป็น "วิกฤตที่ยาวนานที่สุด ตกลงมากที่สุด และสาหัสที่สุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา" เกลน แมกไกวร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอเชียของโซซิเอเต้ เจเนราลในฮ่องกง ให้ความเห็น

เมื่อแยกแยะพิจารณารายการใหญ่ๆ ปรากฏว่าในช่วงไตรมาส 4 นี้ ยอดส่งออกของญี่ปุ่นดิ่งลง 13.9% เพราะความต้องการรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าอื่น ๆของญี่ปุ่นในต่างประเทศหดตัวลง เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก

"การส่งออกปีที่แล้วพังทลายโดยสิ้นเชิง" ฮิโรชิ ชิราอิชิ จากบีเอ็นพี ปารีบาส์กล่าว "ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้จะแย่กว่านี้อีก ในเดือนมกราคมยอดการส่งออกดิ่งลงไปอีก และผู้ผลิตกำลังวางแผนจะลดกำลังการผลิตลงมหาศาล"

นอกจากการส่งออกแล้ว การลงทุนของภาคธุรกิจก็สะดุดหยุดลงเช่นกัน เพราะว่าบริษัทต้องลดต้นทุนเพื่อให้อยู่รอดในภาวะตกต่ำ ในขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนก็ติดลบ ผู้บริโภครัดเข็มขัดกันยกใหญ่เนื่องจากกระแสการลอยแพปลดพนักงาน

เมื่อวานนี้ มีผู้ตกงานหลายร้อยคนพากันไปประท้วงที่หน้าสำนักงานใหญ่ของ "เคดันเรน" อันเป็นสมาคมธุรกิจที่ทรงอิทธิพลที่สุดของญี่ปุ่น พร้อมทั้งเรียกร้องให้บริษัทนายจ้างช่วยเหลือผลักดันให้มีระบบประกันสังคมที่ดีกว่าเดิม

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา บริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น อย่างเช่น โซนี่ นิสสัน มอเตอร์, และฮิตาชิประกาศลดคนงานมากมายเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจ

ก่อนที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ ญี่ปุ่นยังสามารถรื่นรมย์อยู่กับภาวะเศรษฐกิจขยายตัวครั้งยืนยาวที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา แต่การเติบโตนับตั้งแต่หลังทศวรรษ 1990 เป็นต้นมานั้น ขับเคลื่อนจากการส่งออกอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อความต้องการซื้อลดลงรวดเร็วในตลาดต่างประเทศทำให้ญี่ปุ่นเจ็บหนักรุนแรงและรวดเร็วกว่าครั้งใด ๆ

นักวิเคราะห์เห็นว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะตกต่ำถึงที่สุดและฟื้นตัวในราวไตรมาส 3 ของปีนี้ เพราะน่าจะได้ผลพวงมาจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯและจีนที่เน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆอย่างขนานใหญ่เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินให้กับระบบเศรษฐกิของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น