xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหลังคำประกาศคุมสมุนไพรบทพิสูจน์คนจึงเป็น ‘วัตถุอันตราย’ตัวจริง

เผยแพร่:   โดย: สุวิชชา เพียราษฎร์

เหมือนดูว่าจะม้วนเสื่อ แต่ก็ไม่อาจวางใจ เพราะสถานภาพวันนี้ของประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตรายปี 2535 ที่ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 โดยให้พืชสมุนไพรที่คนไทยคุ้นเคยกันดีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษจำนวน 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก เป็น “วัตถุอันตราย” ถือว่า ‘ดองไว้’ ชั่วคราว

นับแต่ข่าวแพร่สะพัดออกไป ประกาศฉบับนี้ก็ถูกต่อต้านอย่างหนัก แม้ ‘กรมวิชาการเกษตร’ พยายามจะอธิบายต่อสังคมว่า เจตนารมณ์ของประกาศ คือ เจตนาดี แต่ก็ไม่สามารถตอบคำถามได้เต็มปากเต็มคำว่า เมื่อใช้ๆ ไปจากเจตนาดีจะไม่ประสงค์ร้ายในบั้นปลายหรือไม่?

ความประสงค์ร้ายที่ว่าก็คือเงื่อนงำและเบื้องหลังของประกาศที่ชวนให้ระแวงสงสัย!

ทั้งนี้ หากย้อนไปศึกษาพฤติกรรมในอดีต กรณีโครงการอื้อฉาวต่างๆ ของกระทรวงเกษตรฯ ในระยะหลังไม่ว่าจะเป็นโครงการเซ็ลทรัลแล็บ โครงการกล้ายาง 90 ล้านต้น โครงการพืชสวนโลก รวมทั้งการผลักดันฝ้ายและมะละกอจีเอ็มโอ เหล่านี้ต่างมีต้นทางมาจากเจตนาดี แต่จบด้วยประสงค์ร้ายทั้งสิ้น

ทุกอย่างมีจุดเริ่มจากนักการเมืองฉ้อฉลรับวาระมาจากนายทุน-บรรษัทข้ามชาติแล้วใช้ข้าราชการเป็นเครื่องมือกระทำเพื่อตักตวง หรือรักษาผลประโยชน์ของตนเองที่มีมูลค่ามหาศาล

กล่าวเฉพาะกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ ต้นเรื่องที่รับผิดชอบเรื่องนี้น่าเห็นใจเป็นที่สุด กรมนี้อดีตคือผู้ปิดทองหลังพระทำงานให้กับเกษตรกร เพราะบ้านเราเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่เมื่อทุนนิยมสามานย์แผ่อิทธิพลเหนืออุดมการณ์ข้าราชการไทยในสมัยระบอบทักษิณคุมอำนาจ ทุกอย่างก็ถูกบั่นทอนทำลาย

จะเห็นว่า นักการเมืองใหญ่ที่วนเวียนยึดกุมอำนาจในกระทรวงเกษตรฯ เปลี่ยนหน้าไม่บ่อยนักจนสามารถวางโครงข่ายคนของตัวเองยึดกุมหน่วยงานในกระทรวงนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

อดีตข้าราชการใหญ่หลายคนของกระทรวงพอเกษียณอายุไม่ถูกซื้อตัวไปทำงานกับบรรษัทข้ามชาติก็มาทำงานให้พรรคการเมืองนี่เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน

ด้วยรากฐานอำนาจและสายสัมพันธ์ล้ำลึกกับบรรษัทข้ามชาติเช่นนี้ นช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผู้บริหารในกรมสำคัญของกระทรวงแห่งนี้ต่างตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนักการเมืองและอดีตข้าราชการที่แสวงหาประโยชน์ทำงานใกล้ชิดกับบรรษัทข้ามชาติและบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศมาโดยตลอด

นักการเมืองและอดีตข้าราชการเลวๆ บางคนพวกนี้ได้ทำให้กรมวิชาการเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่มีนักวิชาการที่ซื่อสัตย์ต้องมีภาพลักษณ์ที่แปดเปื้อนเพราะมีโครงการฉาวโฉ่เต็มไปด้วยผลประโยชน์มหาศาลผุดขึ้นมาเป็นระยะๆ ดังกล่าว

ดังนั้นจึงไม่มีข้อยกเว้นใดๆ หากหลายฝ่ายจะมองว่า ประกาศ ‘วัตถุอันตราย’ คือการทำลายอนาคตของสมุนไพรไทยอย่างเลือดเย็น เพื่อประโยชน์ของนักการเมืองและบรรษัทข้ามชาติ!

ทุกวันนี้ กรมวิชาการเกษตรถือว่าเป็นกรมเกรดเอ เพราะกลายเป็นกรมที่จะกำหนดทิศทางและวางกติกาในการใช้เมล็ดพันธุ์และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบรรษัทเคมีเกษตรข้ามชาติ (Multinational Agro-Industries) สามารถพัฒนาพืชจีเอ็มโอที่กำหนดทางพันธุกรรมได้ว่า เมื่อปลูกเมล็ดพันธุ์ของตนแล้วจะต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ตัวเองกำหนดได้

กรมนี้เป็นผู้ดูแล พ.ร.บ.กักพืช ซึ่งเป็นผู้วินิจฉัยว่าจะให้พืชจีเอ็มโอปลูกได้ในเชิงพาณิชย์หรือไม่ และยังเป็นผู้ควบคุมการอนุมัติสารเคมีกำจัดพืชทุกชนิดว่าจะให้นำมาขายได้หรือไม่ ภายใต้หลักเกณฑ์อะไร ซึ่งแน่นอนว่าต้องเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาลอีกแล้ว

ข้อมูลปี 2551 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่า ผลประโยชน์จากเคมีเกษตรนั้นมีมูลค่าสูงนับแสนล้านบาททีเดียว โดยแบ่งเป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 18,566 ล้านบาท และปุ๋ยเคมี 78,944 ล้านบาท

ขณะที่ตลาดเมล็ดพันธุ์พืชในเมืองไทยนั้น ถ้าหากบริษัทข้ามชาติเหล่านี้สามารถผลักดันเมล็ดพันธุ์ลูกผสมหรือพันธุ์พืชจีเอ็มโอเข้ามาเปิดตลาดได้เป็นผลสำเร็จ นักวิชาการจากกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าตลาดสูงมากกว่า 100,000 ล้านบาท

นั่นหมายความว่าผลประโยชน์จากสารเคมีการเกษตรและเมล็ดพันธุ์จะมียอดขายรวมกันหลายแสนล้านบาท นี่คือผลประโยชน์มหาศาลที่บริษัทเหล่านี้จะได้รับ!

คำประกาศที่ระบุให้พืชสมุนไพร 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตราย ซึ่งเนื้อหาระบุว่า หากใครนำไปใช้ผลิตเพื่อขายเป็นสารกำจัดศัตรูพืช และควบคุมการเจริญเติบโตของพืช โดยหากไม่ไปจดแจ้งจะมีความผิดถึงขั้นติดคุก 6 เดือน ปรับ 50,000 บาทนั้น นอกจากสร้างผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อภาพลักษณ์ของสมุนไพร และต่อขบวนการเกษตรกรรมอินทรีย์แล้ว ผลกระทบแก่บรรดาอุตสาหกรรมเคมีข้ามชาติในอนาคตอันใกล้ย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้น

คำโบราณว่าไว้ ใจมนุษย์สุดจะหยั่งถึง ถึงบรรทัดนี้สรุปได้เลยว่า ‘วัตถุอันตราย’ ที่ต้องควบคุมกำจัดคือ นักการเมืองเลว-ข้าราชการชั่ว นี่เอง!

///////
ท่านผู้อ่านสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ที่ เอ็มบล็อก http://mblog.manager.co.th/suwitcha67 หรือ E-mail suwitcha@manager.co.th
กำลังโหลดความคิดเห็น