xs
xsm
sm
md
lg

ไขปริศนาคดีฆ่า "พระสุพจน์" ไฉนต้องเบี่ยงประเด็นชู้สาว!?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – คดีสะเทือนขวัญฆาตกรรม “พระสุพจน์ สุวโจ” ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ สถานปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรมกว่า 1,500 ไร่ในพื้นที่ ต.สันทราย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย.2548 ซึ่งมีผู้พบ “พระสุพจน์” เสียชีวิตบริเวณพงหญ้าริมทางเดิน ในเขตสถานปฏิบัติธรรม เบื้องต้นพบว่าพระสุพจน์ ถูกคนร้ายหลายคนรุมทำร้ายจนมรณภาพ ด้วยของมีคมอย่างเหี้ยมโหด จวบปัจจุบัน ตำรวจยังไม่สามารถนำคนร้ายมาดำเนินคดีได้ แม้แต่คนเดียว

เมื่อเวลาผ่านไปเกือบ 4 ปีก็ยังมีเงื่อนงำให้สงสัยเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิตว่า อาจเกิดจากการแสดงความคิดเห็นกรณีการใช้ความรุนแรง หรือฆ่าตัดตอน หรือประเด็นการขัดขวางการบุกรุกที่ดินของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่เชื่อมโยงกับนักการเมืองระดับชาติ ซึ่งคดีดังกล่าวเกิดขึ้นสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

ในช่วงแรกการคลี่คลายคดีฆ่าพระสุพจน์ อยู่ในความรับผิดชอบของ สภ.อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ (ขณะนั้น) แต่เมื่อคดีไม่มีความคืบหน้า ต่อมาพระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ พระมหาเชิดชัย กวิวํโส ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์เดียวกับพระสุพจน์ และประชาชน ได้ไปยื่นร้องขอความเป็นธรรมกับ รมว.ยุติธรรม จนมีการโอนเป็นคดีพิเศษ ซึ่งมี พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขณะนั้นรับผิดชอบ แต่ก็ยังไม่สามารถคลี่คลายคดีและนำตัวคนร้ายมาดำเนินคดีได้ ทั้งที่คดีได้รับความสนใจจากประชาชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยหลายแห่ง จนมีการออกมาเรียกร้องกดดันให้มีการปฏิรูปกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ และเสนอให้ยุบองค์กร เนื่องจากเห็นว่าดีเอสไอถูกใช้เป็นเครื่องมือของนักการเมืองสมัยนั้น โดยล่าสุดมีความพยายามเบี่ยงเบนสาเหตุการเสียชีวิตไปเป็นประเด็นชู้สาว

คดีดังกล่าว หัวหน้าพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ที่รับผิดชอบในปัจจุบัน คือ พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ ซึ่งแต่งตั้งในสมัยนายสุนัย มโนมัยอุดม เป็นอธิบดีดีเอสไอ เผยว่า ได้รับมอบหมายให้เข้ามารับผิดชอบคดีสำนวนคดีดังกล่าวต่อจาก ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษคนก่อน เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว จึงได้ตั้งชุดสืบสวนและสอบสวน 2 ชุดประมาณ 10 กว่าคนมาคลี่คลายคดี

แต่ข้อเท็จจริงพบว่า พยานหลักฐานถูกทำลายไปบางส่วน และบางส่วนสูญหายไปบ้าง เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่ต้นปี 2548 แต่ตนพยายามทำคดีเต็มที่ ซึ่งได้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ มากพอสมควร พอจะสรุปประเด็นสาเหตุการเสียชีวิตได้ 2 ประเด็นหลักๆ คือ
1.เรื่องการบุกรุกที่ดินของสำนักสงฆ์หรือสถานที่ปฏิบัติธรรมจากกลุ่มผู้บุกรุกที่ดิน ประเด็นนี้ พระสุพจน์ เคยไปแจ้งความเป็นหลักฐานไว้ที่ สภ.ฝาง จนต่อมามีการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปห้ามปรามกลุ่มผู้บุกรุกที่ดินให้เลิกกระทำการแผ้วถางหรือฮุบที่ดินสงฆ์ไปทำประโยชน์ และพบอีกว่ากลุ่มผู้บุกรุกได้ส่งคนไปเจรจากับพระสุพจน์ และพระกิตติศักดิ์ ที่สถานปฏิบัติธรรมดังกล่าวหลายครั้ง

ประเด็นที่ 2 คือ เดิมพระสุพจน์ และพระกิตติศักดิ์ เป็นพระที่มาจาก อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านพระพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม องไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อย้ายมาตั้งสำนักสงฆ์ที่ จ.เชียงใหม่ ต่อมาพระทั้ง 2 ได้เขียนบทความในหนังสือ รวมทั้งเว็บไซต์เผยแพร่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลสมัยนั้น โดยเฉพาะประเด็นเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี และเหตุการณ์ตากใบ จ.นราธิวาส ที่มีการใช้ความรุนแรงกับประชาชน จนกระทั่งมีการเข้าไปตรวจสอบการเขียนหนังสือและบทความของพระทั้งสองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเด็นนี้ ทางพนักงานสอบสวนกำลังรวบรวมหลักฐานอยู่

สำหรับกลุ่มผู้ต้องสงสัยฆ่าพระสุพจน์ ทั้งจากประเด็นบุกรุกที่ดินและประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ความรุนแรงของรัฐบาลนั้น อาจจะเป็นผู้ต้องสงสัยกลุ่มเดียวกัน แต่อาจจะมีมูลเหตุจูงใจทั้งสองอย่าง เพราะฉะนั้น ตนจึงให้น้ำหนักกับประเด็นทั้งสองค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่ได้ทิ้งประเด็นที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชุดเดิมทำมา ก็ยังสืบสวนอยู่

"ให้น้ำหนักประเด็นการบุกรุกที่ดิน และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเกือบเท่าๆ กัน ใกล้เคียงกันมาก เพราะจากการรวบรวมพบพยานหลักฐานก็มีประเด็นที่บ่งชี้ แต่ยังเปิดเผยไม่ได้ ซึ่งจากนี้ไปก็คงต้องพยายามรวบรวมพยานหลักฐานให้ได้ เพราะว่าพยานหลักฐานบางอย่างถูกทำลายไป เช่นอาวุธที่ใช้ฆ่าพระสุพจน์" ผบ.สำนักคดีอาญา กล่าว

ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ ยอมรับว่า หนักใจพอสมควร เพราะได้เข้ามาทำงานคดีนี้หลังเหตุการณ์ผ่านมาค่อนข้างนาน แต่ยืนยันว่าคดีคืบหน้าไปมากและพนักงานสอบสวนชุดนี้ มีอัยการพิเศษข้ามาร่วมหาหลักฐานด้วย ซึ่งทั้งชุดสืบสวนและชุดสอบสวนมีความกระตือรือร้นในการคลี่คลายคดีให้เร็วที่สุด

ขณะที่พระกิตติศักดิ์ กล่าวถึงสาเหตุการเสียชีวิตของพระสุพจน์ว่า น่าจะมาจากประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์การใช้ความรุนแรง ในรัฐบาลสมัยนั้นเนื่องจากตนและพระสุพจน์ ได้เขียนบทความลงในหนังสือและเผยแพร่เกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงลงในเว็บไซต์ และเคยร่วมเขียนบทความลงหนังสือ "รู้ทันทักษิณ" เล่มที่ 2 ร่วมกับอาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว.นักคิดนักเขียน อาจทำให้เกิดความไม่พอใจ

"ก่อนเกิดเหตุ 2 วัน ก็มีการส่งคนไปข่มขู่ที่วัด ซึ่งมีพระสุพจน์อยู่เพียงลำพัง ส่วนอาตมาเข้ามาทำธุระที่กรุงเทพฯ ส่วนตัวคิดว่าคนร้ายมุ่งจะทำร้ายอาตมามากกว่าเสียด้วยซ้ำ แต่บังเอิญไม่เจออาตมา เคราะห์ร้ายจึงตกอยู่ที่พระสุพจน์" พระกิตติศักดิ์กล่าว

พระกิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า หลังเกิดเหตุ ได้มาร้องเรียนกับรมว.ยุติธรรม ต่อมามีการนำเข้าเป็นคดีพิเศษแต่ 3 ปีผ่านไปคดีไม่มีความคืบหน้า องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย จึงออกมาแถลงเรียกร้องให้มีการปฎิรูปหรือยุบกรมสอบสวนคดีพิเศษ เนื่องไม่มีความคืบหน้าในคดีสำคัญๆ และตั้งข้อสงสัยว่า ดีเอสไอ อาจตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง ต่อมาจึงมีความพยายามเบี่ยงเบนประเด็นการเสียชีวิตของพระสุพจน์ว่ามาจากเป็นเด็นชู้สาว อ้างว่าหลักฐานภาพลามก ในเครื่องคอมพิวเตอร์ และเจอขนเพชร ตกอยู่ในที่เกิดเหตุ

พระกิตติศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เคยเรียกพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ชุดเก่าที่ทำคดีนี้ไปชี้แจง ก็ไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจนว่า พระสุพจน์ เข้าไปเกี่ยวข้องในประเด็นชู้สาวได้อย่างไร ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุพระสุพจน์ถูกฆ่า ตนเป็นคนที่เอาฮาร์ดดิส ในเครื่องคอมพิวเตอร์ไปให้กับพนักงานสอบสวน แต่ตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากพนักงานสอบสวนเอาฮาร์ดดิสไปแล้วประมาณ 8 เดือน จึงปรากฎข่าวประเด็นชู้สาว และเจอภาพลามกในฮาร์ดดิสเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้น ซึ่งเคยมีผู้หวังดีเตือนเหมือนกันว่า ให้เก็บฮาร์สดิสไว้กับตัว อย่าเพิ่งมอบให้พนักงานสอบสวน แต่ตนไม่เชื่อ ส่วนกรณีพบกระดาษทิสชูและขนเพชร นั้นเรียนว่าปกติพระจะใส่ชีวร ไม่สวมกางเกงใน ประเด็นขนเพชรตกอยู่ก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ตรวจสอบแล้วก็ไม่พบขนเพชรของเพศตรงข้ามแต่อย่างใด

"ข่าวดังกล่าวเป็นเพียงข่าวปล่อยเพื่อให้พระสุพจน์เสียหายเท่านั้น ซึ่งอาตมาสังเกตว่า จะเกิดข่าวปล่อยทุกครั้งที่มีความพยายามรื้อฟื้นคดีขึ้นมา"พระกิตติศักดิ์กล่าวย้ำ

พระกิตติศักดิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 11 ก.พ.52 ได้ไปพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม ที่รัฐสภา เพื่อพูดคุยคดีฆ่าพระสุพจน์ ซึ่งนายกฯรับปากว่าจะดูแลคดีให้ พร้อมทั้งมอบหมายให้ พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รอง ผบ.ตร.รับผิดชอบคดีแล้ว โดยสั่งให้มีการติดตามความคืบหน้าคดีดังกล่าวกับดีเอสไอ เพราะถือว่า การฆ่าพระ เป็นคดีสำคัญที่สะเทือนขวัญและกระทบสิทธิมนุษยชน พร้อมกับจัดส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปคุ้มครองความปลอดภัย กระทั่งเมื่อวันที่ 12 ก.พ. จึงมีข่าวของพระสุพจน์ว่า มาจากประเด็นชู้สาว จึงรู้สึกแปลกใจ และล่าสุดเมื่อกลางดึกคืนวันที่ 12 ก.พ.ระหว่างจำวัดที่สถานปฏิบัติธรรมก็ได้ยินเสียงยิงปืนขู่ 9 นัด คาดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการพยายามรื้อฟื้นคดีพระสุพจน์ขึ้นมาอีก

**สรุปเปิดประวัติ ”พระสุพจน์”
สำหรับพระสุพจน์ สุวโจ เกิดเมื่อ 24 มิ.ย.2509 จบการศึกษาจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลังจากทำงานได้ระยะหนึ่งแล้วได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ ในปี 2535 (อายุ 26 ปี)

หลังอุปสมบทแล้ว ได้ไปศึกษาปฏิบัติธรรมที่ จ.กาญจนบุรี จากนั้นได้มีผู้ชักชวนไปที่สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ในระยะต่อมา เดิมพระสุพจน์ ไม่ได้คิดที่จะพำนักอยู่ที่สวนโมกข์เป็นการถาวร คิดเพียงแต่จะไปศึกษาชั่วคราวเท่านั้น แต่เมื่อได้เข้าร่วมการอบรมอานาปานสติ ประกอบกับบรรยากาศอันร่มรื่นและความเป็นกัลยาณมิตรในชุมชนสวนโมกข์ ทำให้พระสุพจน์ ตัดสินใจที่อยู่ศึกษาและปฏิบัติธรรมต่อไป ทั้งยังมีโอกาสช่วยงานของวัดในการอบรมอานาปานสติ และการจัดค่ายเยาวชนอีกด้วย

นอกจากนี้ ในระหว่างนั้นทางสวนโมกข์ได้มีคณะทำงานเกี่ยวกับห้องสมุดธรรมะ (โมกขพลบรรณาลัย) โดยมีอุบาสิการัญจวน อินทรกำแหง เป็นผู้วางระบบการจัดหนังสือ พระสุพจน์ จึงมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบและดูแลงานของห้องสมุดดังกล่าวอีกทางหนึ่ง และเนื่องจากพระสุพจน์ เป็นผู้ที่มีความสนใจและมีทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์เป็นพิเศษ จึงได้มีส่วนช่วยงานด้านเอกสารต่าง ๆ ของวัด ร่วมกับพระเลขานุการของท่านอาจารย์พุทธทาส และได้รับผิดขอบงานด้านนี้อย่างเต็มตัวในระยะต่อมา

หลังจากท่านอาจารย์พุทธทาสมรณภาพลงในปี 2536 ได้มีการปรึกษาหารือกันว่าจะมีวิธีการใด ที่จะสืบสานปณิธานของท่านอาจารย์พุทธทาสให้ยั่งยืนสืบไป และได้มีการเสนอว่า น่าจะมีจัดตั้งกลุ่มพระหนุ่มที่ศึกษาผลงานของท่านอาจารย์พุทธทาสอย่างเป็นระบบและนำไปประยุกต์ใช้กับสังคมอย่างสมสมัย เพื่อให้สวนโมกข์กลับมามีบทบาทเป็นผู้นำความคิดทางสังคมอีกครั้ง โดยมี นพ.ประเวศ วะสี อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และคณะศิษย์ของสวนโมกข์จำนวนหนึ่งเป็นที่ปรึกษา ซึ่งพระสุพจน์ ได้มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการจัดตั้งกลุ่มดังกล่าวด้วย

ในช่วงเดียวกันนี้เอง ได้เกิดแนวคิดที่จะรื้อฟื้นหนังสือพิมพ์ “พุทธสาสนา” ซึ่งเป็นสื่อในการเผยแพร่แนวคิดของท่านอาจารย์พุทธทาสมาแต่เริ่มต้น โดยพยายามที่จะปรับปรุงให้สามารถสื่อกับคนร่วมสมัยได้มากขึ้น รวมทั้งจัดพิมพ์ธรรมะของท่านอาจารย์พุทธทาสในรูปลักษณะที่น่าดึงดูดใจมากขึ้น ท่านสุพจน์ได้ใช้เวลาในช่วงนี้ศึกษาและพัฒนาความสามารถในการจัดอาร์ตเวิร์ค หรือการจัดรูปเล่มหนังสือต่าง ๆ จนกระทั่งเกิดความเชี่ยวชาญในด้านนี้เป็นพิเศษ ผลงานหนังสือที่สำคัญในช่วงนี้คือ ผลงานหนังสือชุด”ปณิธาน : เพื่อสืบสานปณิธานพุทธทาส” จำนวน 6 เล่ม

ราวปลายปี 2541 ได้มีผู้เสนอที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยทางเลือกขึ้นในบริเวณสวนเมตตาธรรม อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งพระอาจารย์สิงห์ทน นราสโภ หรือ ดร.สิงห์ทน คำซาว เจ้าของที่ดินได้มอบที่ดินให้ใช้ประโยชน์ซึ่งอาจารย์สุลักษณ์ จึงได้นิมนต์พระสุพจน์และเพื่อน ๆ ในกลุ่มพุทธทาสศึกษาไปดูสถานที่ และพบว่าบริเวณดังกล่าวมีความเหมาะสมในการทำงานตามปณิธานของกลุ่ม จึงได้ตัดสินใจเข้าไปจำพรรษาในสวนเมตตาธรรม

ในปี 2543 จึงได้จัดตั้งมูลนิธิ “เมตตาธรรมรักษ์” ขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตตามหลักธรรมะและสนับสนุนกิจกรรมทางด้านชุมชน การศึกษาและสิ่งแวดล้อมและได้รับใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ในวันที่ 20 ธ.ค.2543 (ใบอนุญาตเลขที่ ก.ท.1064 )โดยมี นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นายพิภพ ธงชัย นายอนันต์ วิริยพินิจ นายสุรสีห์ โกศลนาวิน เป็นกรรมการชุดแรก เพื่อให้สถานปฏิบัติธรรมอยู่ภายใต้การดูแลของทางมูลนิธิที่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง มูลนิธิดังกล่าวใช้ชื่อว่า “มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์” ซึ่งระยะต่อมาพระสุพจน์ได้รับเลือกให้เป็นรองประธานของมูลนิธิอีกด้วย
ระหว่างที่พำนักอยู่ที่สวนเมตตาธรรมนี้ พระสุพจน์ได้ใช้ความสามารถเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อสื่อสารหลักธรรมผ่านอินเตอร์เน็ต และจัดทำเว็บไซต์ธรรมะขึ้น ต่อมาได้พัฒนาให้เกิดเว็บไซต์ของกลุ่มพุทธทาสศึกษา โดยมีผู้เข้ามาใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกันพระสุพจน์ ยังคงรับหน้าที่ในการจัดรูปเล่มหนังสือ ตลอดทั้งให้คำปรึกษาและถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์กับองค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานทางด้านสังคมอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะองค์กรในเครือข่ายของมูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป และมูลนิธิโกมลคีมทอง ผลงานสำคัญในระยะนี้คือ การเป็นบรรณาธิการฝ่ายศิลป์ของจดหมายข่าวเสขิยธรรม ตั้งแต่ปี 2542 – 2548 และการจัดรูปเล่มหนังสือชุดสรรนิพนธ์พุทธทาส ชุดธรรมทัศน์ ชุดบางแง่มุม หนังสือในชุดฉลาดทำบุญ เอกสารเผยแพร่ของกลุ่มเสขิยธรรม และหนังสือธรรมะอื่น ๆ จำนวนทั้งหมดไม่น้อยกว่า 100 เล่ม กระทั่งถูกฆาตกรรมเสียชีวิตปริศนา
กำลังโหลดความคิดเห็น